Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
30 ธ.ค. 2019 เวลา 03:00 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 9
จุดพลังต้นกำเนิดหรือจุดเอวี๋ยน (原穴)
ตรงบริเวณข้อมือหรือข้อเท้าบนเส้นลมปราณหลัก 12 เส้น จะมีจุดที่มีความสำคัญอยู่จุดหนึ่งคือ จุดพลังต้นกำเนิด (原穴) จุดพลังต้นกำเนิดเป็นจุดที่พลังต้นกำเนิด (元氣) ของเส้นลมปราณไหลเข้าไป ดังนั้น เมื่ออวัยวะภายในเกิดอาการป่วย ยามนั้นก็จะสะท้อนออกมาที่จุดพลังต้นกำเนิดจุดนี้
พลังต้นกำเนิดคือพลังที่มีมาแต่กำเนิด ได้ปรากฏเป็นครั้งแรกในคัมภีร์หนังจิง (難經) ซึ่งได้ระบุว่า “อันว่ามิ่งเหมิน (ประตูชีวิต ; 命門) คือที่สถิตแห่งสารจิง คือที่ผูกพันแห่งพลังต้นกำเนิด” นักวิชาการหลายท่านกล่าวว่า พลังต้นกำเนิดได้รับมาแต่ก่อนกำเนิด เป็นสิ่งที่ได้มาจากสารจิงมาแต่ก่อนกำเนิด มีจุดกำเนิดอยู่ที่จุดมิ่งเหมินระหว่างไต และเก็บซ่อนอยู่ที่ใต้ตันเถียนตรงตำแหน่งใต้สะดือ แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยสารจิงหลังกำเนิดทำการหล่อเลี้ยงเพื่อไม่ให้ขาดสาย พลังนี้จะแผ่ซ่านไปทั่วร่างกายด้วยพลังแห่งซันเจียว เป็นพลังอันจำเป็นสำหรับอวัยวะภายในทั้งหลาย เมื่ออวัยวะภายในได้รับพลังต้นกำเนิดนี้จึงจะมีพลังและผลักดันระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้นหากพลังต้นกำเนิดมีความเปี่ยมล้น การทำงานของระบบอวัยะภายในจึงจะกระฉับกระเฉง ดังนั้นร่างกายจึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ในทางต้นข้าม หากพลังต้นกำเนิดอ่อน อวัยวะภายในก็จะอ่อนแรง เมื่อนั้นก็จะทำให้ร่างกายอ่อนแอและขี้โรคได้
การประยุกต์ใช้จุดพลังต้นกำเนิดในการรักษา
ในตำราการแพทย์จำนวนมากต่างระบุว่า หากจะทำการรักษาอวัยวะภายใน ก็ให้ใช้จุดพลังต้นกำเนิด แต่หากจะนำจุดพลังต้นกำเนิดมาประยุกต์ใช้สำหรับการรักษาแล้ว ก็สามารถสรุปเป็นวิธีการรักษาได้สี่วิธีด้วยกันคือ
1.การผสมเข็มระหว่างจุดพลังต้นกำเนิดของอวัยวะอินและอวัยวะหยาง (臟腑原穴相配)
คือการผสมเข็มระหว่างจุดพลังต้นกำเนิดของอวัยวะอินและอวัยวะหยาง เหมาะสำหรับอาการป่วยของอวัยวะอินที่อยู่ภายในและสะท้อนอาการป่วยออกมาที่อวัยวะภายนอก (แขนขาหน้าตา)
หากพิจารณาในด้านตำแหน่งแล้ว ภายในคืออิน ภายนอกคือหยาง เส้นลมปราณอินก็จะเน้นในการรักษาอวัยวะอิน ส่วนเส้นลมปราณหยางก็จะเน้นการรักษาในส่วนของอวัยวะที่เป็นส่วนภายนอกของร่างกาย ในสภาวะที่อวัยวะอินภายในเกิดอาการป่วย แล้วสะท้อนพยาธิสภาพออกมาที่อวัยวะภายนอกนั้น ก็ให้เลือกจุดพลังต้นกำเนิดของอวัยวะอิน ประกอบกับจุดพลังต้นกำเนิดของอวัยวะหยางเพื่อเสริมประสิทธิภาพการรักษา โดยหลักการในการผสมเข็มคือ เส้นเส้าอินผสมกับเส้นเส้าหยาง เส้นไท่อินผสมกับเส้นไท่หยาง เส้นเจวี๋ยอินผสมกับเส้นหยางหมิง แขนขาบนล่างผสมผสานกัน จนทำให้อินหยางเกิดการผสมผสานซึ่งกันและกัน เป็นต้นว่า หากอินพร่องตับแกร่งจนทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ตาลาย หงุดหงิดโมโหง่าย และแขนขาเป็นตะคริว อาการป่วยเช่นนี้มีต้นเหตุที่ตับ และอาการจะสะท้อนออกที่ศีรษะ ตา และแขนขา ดังนั้น ในยามนี้ให้เลือกจุดไท่ชงบนเส้นเจวี๋ยอินมือตับ ประกอบกับจุดเหอกู่บนเส้นหยางหมิงมือลำไส้ใหญ่ สองจุดผสมผสานกันทั้งบนล่าง ทั้งอินหยาง ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้บ่อยและมีประสิทธิภาพสูงมากวิธีหนึ่ง
2.การผสมเข็มระหว่างจุดพลังต้นกำเนิดและจุดเชื่อม (原絡相配)
หมายถึงการผสมเข็มระหว่างจุดพลังต้นกำเนิดและจุดเชื่อมของ 12 เส้นลมปราณหลัก แบ่งออกเป็นการผสมเข็มระหว่างจุดพลังกำเนิดและจุดเชื่อมบนเส้นลมปราณแบบนอกใน (表裡原絡相配) และ การผสมเข็มระหว่างจุดพลังต้นกำเนิดและจุดเชื่อมบนเส้นลมปราณเดียวกัน (同經原絡相配)
วิธีการผสมเข็มระหว่างจุดพลังกำเนิดและจุดเชื่อมบนเส้นลมปราณแบบนอกใน (表裡原絡相配) จะเหมาะสำหรับเส้นลมปราณใดเส้นหนึ่งที่มีอาการป่วย และมีเส้นลมปราณนอกหรือเส้นลมปราณในอย่างใดอย่างหนึ่งป่วยประกอบ ในวิธีการผสมเข็มคือ ให้เลือกจุดพลังต้นกำเนิดของเส้นลมปราณที่ป่วยเป็นหลักก่อน แล้วเลือกจุดเชื่อมของเส้นลมปราณที่มีความสัมพันธ์แบบนอกในเป็นตัวประกอบ เนื่องจากใช้จุดพลังต้นกำเนิดเป็นหลัก จุดเชื่อมเป็นตัวประกอบ วิธีการฝังเข็มแบบนี้จึงมีลักษณะคล้ายกับเจ้าบ้านแขกเรือน ดังนั้นจึงเรียกวิธีการผสมเข็มเช่นนี้อีกอย่างหนึ่งว่า การผสมเข็มแบบเจ้าบ้านแขกเรือน (主客配穴法) ยกตัวอย่างเช่น หากเส้นปอดมีอาการป่วย และเกิดอาการไอหอบ แน่นหน้าอก บวกกับมีอาการทางลำไส้ใหญ่คืออาการแน่นท้อง ท้องร้อง อุจจาระขัดข้องประกอบแล้ว ในเวลานี้ให้เลือกจุดไท่เยวียนของเส้นปอดเป็นหลัก แล้วนำจุดเพียนลี่ของเส้นลำไส้ใหญ่เป็นจุดประกอบ
นอกจากหลักการตามตัวอย่างข้างต้นแล้ว ก็ยังสามารถใช้หลักการ “ในยามเริ่มป่วยโรคจะอยู่ที่เส้นลมปราณหลัก เมื่อป่วยนานวันโรคจะลุกลามเข้าสู่เส้นเชื่อม” และหลักการที่ “ป่วยเรื้อรังนานวันร่างกายก็จะพร่อง” แล้ว ก็จะทราบว่า เมื่อผู้ป่วยมีอาการป่วยเรื้อรังยาวนาน เลือด ลม ก็จะพร่อง ส่วนเสมหะ ความชื้นหรือพิษร้ายต่าง ๆ ก็จะลุกล้ำเข้าสู่เส้นเชื่อม ดังนั้น วิธีการนี้จึงเหมาะสำหรับโรคที่เกิดจากการสัมผัสพิษร้ายภายนอกและพิษร้ายเข้าทำร้ายภายในจนบาดเจ็บ สุดท้ายอาการป่วยจะรุกรามจนกลายเป็นโรคเรื้อรังประเภทต่าง ๆ หากเป็นอาการป่วยในลักษณะนี้ นอกจากจะเลือกใช้จุดพลังต้นกำเนิดแล้ว ก็ให้เลือกจุดเชื่อมของเส้นลมปราณเดียวกันเป็นตัวประกอบในการรักษา เป็นต้นว่า อาการไอเรื้อรังไม่หาย ให้เลือกจุดพลังต้นกำเนิดของเส้นปอดคือจุดไท่เยวียน บวกกับจุดเชื่อมของเส้นปอดคือจุดเลี่ยเชวียเป็นจุดประกอบ หรือตัวอย่างเช่นหัวใจเต้นเร็วและปวดหน้าอก ให้เลือกจุดพลังต้นกำเนิดของเส้นเยื่อหุ้มหัวใจคือจุดต้าหลิง บวกกับจุดเชื่อมของเส้นเยื่อหุ้มหัวใจคือจุดเน่ยกวนเป็นจุดประกอบ
3.การผสมกันระหว่างจุดพลังต้นกำเนิดและจุดเป้ยซู (原俞相配)
หมายถึงการผสมเข็มระหว่างจุดพลังต้นกำเนิดและจุดเป้ยซู (背俞穴) หรือที่เรียกว่าจุดแผ่นหลัง ซึ่งเป็นจุดฝังเข็มที่อยู่ตรงส่วนของแผ่นหลัง วิธีการผสมเข็มนี้จะเหมาะสำหรับอาการประเภทอิน เป็นต้นว่า อาการภายใน อาการพร่อง หรืออาการเย็น เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น อาการหอบแบบลมปราณพร่อง ก็ให้ใช้จุดไท่เยวียนซึ่งเป็นจุดพลังต้นกำเนิดของเส้นปอด บวกกับจุดเฟ่ยซูซึ่งเป็นจุดแผ่นหลัง (背俞穴) ที่อยู่ตรงแผ่นหลัง หรืออย่างเช่นอาการอสุจิไหล ก็ให้ใช้จุดไท่ซีซึ่งเป็นจุดพลังต้นกำเนิดของเส้นไต บวกกับจุดเซิ่นซูซึ่งเป็นจุดแผ่นหลัง (背俞穴) ที่อยู่ตรงส่วนของแผ่นหลัง เป็นต้น
4.การผสมกันระหว่างจุดพลังต้นกำเนิดและจุดเหอ (原合相配)
หมายถึงการผสมเข็มระหว่างจุดพลังต้นกำเนิดและจุดเหอ (合穴) ของจุดเบญจธาตุ (五俞穴) หรือจุดรวมล่างหก (下六合) สามารถแบ่งย่อยออกเป็น การผสมเข็มระหว่างจุดพลังต้นกำเนิดและจุดเหอบนเส้นลมปราณแบบนอกใน (表裡經原合配穴法) การผสมเข็มแบบจุดพลังต้นกำเนิดและจุดเหอบนเส้นลมปราณเดียวกัน (同經原合配穴法) และการผสมเข็มแบบจุดพลังต้นกำเนิดและจุดเหอบนต่างเส้นลมปราณ (異經原合配穴法)
การผสมเข็มระหว่างจุดพลังต้นกำเนิดและจุดเหอบนเส้นลมปราณแบบนอกใน (表裡經原合配穴法) โดยปกติจะใช้จุดพลังต้นกำเนิดของเส้นลมปราณอิน (ใน) ผสมกับจุดเหอของเส้นลมปราณหยาง (นอก) หรือจุดรวมล่าง (下合穴) เป็นต้นว่าอาการที่กระเพาะม้ามไม่ผสานกัน จนทำให้เกิดอาการพะอืดพะอม อาเจียน ท้องอืด ถ่ายท้อง ในเวลานี้สามารถใช้จุดไท่ป๋ายซึ่งเป็นจุดพลังต้นกำเนิดของเส้นม้าม บวกกับจุดจู๋ซันหลี่ซึ่งเป็นจุดเหอของเส้นกระเพาะอาหาร หรืออาการตัวร้อนไฟแรงจนทำให้เกิดอาการวิงเวียนปากขม ปวดสีข้างและชายโครง ในเวลานี้ก็ให้ใช้จุดไท่ชงซึ่งเป็นจุดพลังต้นกำเนิดของเส้นตับ บวกกับจุดหยางหลิงเฉวียนซึ่งเป็นจุดเหอของเส้นถุงน้ำดี
การผสมเข็มแบบจุดพลังต้นกำเนิดและจุดเหอบนเส้นลมปราณเดียวกัน (同經原合配穴法) ขอยกตัวอย่างเช่น จุดเหอกู่ซึ่งเป็นจุดพลังต้นกำเนิดของเส้นลำไส้ใหญ่ บวกกับจุดชวีฉือซึ่งเป็นจุดเหอของเส้นลำไส้ใหญ่ การผสมเข็มเช่นนี้จะมีสรรพคุณในการปรับเลือดลมแก้อาการปวดตาและศีรษะ อาการปวดฟันหรือเหงือกบวม อาการปากแห้งและมีเลือดกำเดา เป็นต้น หรืออย่างเช่น จุดไท่ชงซึ่งเป็นจุดพลังต้นกำเนิดของเส้นตับ ผสมกับจุดชวีเฉวียนซึ่งเป็นจุดเหอของเส้นตับ ก็จะมีสรรพคุณในการปรับลมปราณตับ คลายเส้นหยุดปวด รักษาอาการก้อนแข็งในท้อง หรือปวดองคชาต เป็นต้น
การผสมเข็มแบบจุดพลังต้นกำเนิดและจุดเหอบนต่างเส้นลมปราณ (異經原合配穴法) ยกตัวอย่างเช่นจุดเหอกู่ซึ่งเป็นจุดพลังต้นกำเนิดของเส้นลำไส้ใหญ่ บวกกับจุดจู๋ซันหลี่ซึ่งเป็นจุดเหอของเส้นกระเพาะอาหาร การผสมเข็มเช่นนี้จะมีสรรพคุณในการปรับสภาพทั้งกระเพาะลำไส้ ปรับลมลดอาการท้องอืด ช่วยทะลวงอุจจาระให้ถ่ายคล่อง เป็นต้น หรืออย่างเช่น จุดไท่ชงซึ่งเป็นจุดพลังต้นกำเนิดของเส้นตับ บวกกับจุดจู๋ซั่นหลี่ซึ่งเป็นจุดเหอของเส้นกระเพาะอาหาร ก็จะมีสรรพคุณในการปรับตับและกระเพาะอาหาร เหมาะกับกลุ่มอาการที่ปวดกระเพาะ ปวดตึงสีข้าง ขี้โมโห เป็นต้น
นอกจากนี้ จุดพลังต้นกำเนิดยังมีสรรพคุณในการวินิจฉัยโรคได้ในระดับหนึ่ง ในหลิงซู (靈樞) ได้กล่าวไว้ว่า “เมื่ออวัยวะอินทั้งห้าป่วย ก็จะสะท้อนออกมาที่จุดพลังต้นกำเนิด” หมายความว่าการสังเกตดูลักษณะอาการจากจุดพลังต้นกำเนิด สามารถนำมาประกอบการวินิจฉัยโรคที่อยู่ภายในของร่างกายได้นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น สำหรับคนที่มีอาการป่วยที่กล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อกดที่จุดต้าหลิงก็จะมีอาการปวดอย่างแรง ผู้ที่มีปัญหาที่หน่วยกรองไต เมื่อกดที่จุดไท่ซีก็จะมีอาการปวดอย่างรุนแรง เป็นต้น
4 บันทึก
2
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตำราฝังเข็ม (針灸學) ภาคทฤษฎี บทที่1-9
4
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย