30 ธ.ค. 2019 เวลา 23:00 • ประวัติศาสตร์
ชีวิตพระ
ตอนที่ ๓๑ ชัยชนะของพระพุทธเจ้า
พระเทวทัตสืบทราบมาเป็นอย่างดีว่า ในแต่ละวันพระพุทธองค์จะเสด็จไปบิณฑบาตในตรอกซอกซอยไหน จึงเลือกวันที่พระพุทธองค์เสด็จบิณฑบาตในตรอกที่แคบที่สุด ให้ช้างไปดักรออยู่ตรงก้นตรอก มอมช้างด้วยเหล้าถึง ๑๖ ไห (วันที่ช้างไปที่นั่นชาวบ้านแถวนั้นก็คงแปลกใจเหมือนกัน ว่าช้างมาที่นี่ทำไม แต่ก็คงไม่มีใครคาดคิดว่า จะมาปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า)
ปกติเวลาพระพุทธองค์นำบิณฑบาต พระองค์จะนำหน้า และจะมีพระภิกษุตามหลังเป็นขบวนยาว ดังนั้นโอกาสที่พระพุทธองค์จะถอยหนีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ผู้ดูแลช้างพอเห็นว่าได้จังหวะแล้ว ก็ขับช้างให้ตรงไปที่พระพุทธเจ้าทันที
ให้เรานึกภาพ ช้างที่กำลังตกมัน เมาเหล้าอาละวาด ร้องแปร๊นๆ วิ่งตรงไปทำร้ายคน จะทำให้ผู้คนบริเวณนั้นตระหนกตกตื่นโกลาหลขนาดไหน หลายคนกำลังจะใส่บาตรพระพุทธเจ้าก็หนีตายเอาตัวรอด แต่พระพุทธองค์สงบนิ่งมาก ไม่มีอาการตื่นตระหนกแต่อย่างใดเลย
ขณะนั้นเองพระอานนท์ พุทธอุปัฎฐาก (ได้กล่าวไว้บ้างแล้วในตอนที่ ๓,๒๕,๒๙) ผู้ยืนอยู่ด้านหลังพระพุทธองค์ ก็ออกมายืนขวางระหว่างพระพุทธเจ้ากับช้างนาฬาคิรี ตั้งใจยอมสละชีวิตเพื่อพิทักษ์พระพุทธองค์
พระองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า
“อานนท์ ไม่มีใครฆ่าพระพุทธเจ้าได้ เธอหลีกไปเถอะ”
พระอานนท์ก็ยังไม่ยอมหลีกไป พระพุทธองค์ตรัสบอกถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์ก็ยังไม่ยอมหลีก เฮ่อ... ไม่หลีก ก็ไม่หลีก แล้วพระองค์ก็แผ่เมตตาไปยังช้างนาฬาคิรีที่กำลังวิ่งเข้ามาอยู่นั้น
พญาช้างสัมผัสถึงกระแสแห่งเมตตานั้น ก็สร่างเมาในทันที จากที่วิ่งมาด้วยกำลังเร็วแรง ก็ค่อยๆ เดินมาหมอบซบศรีษะอยู่ที่แทบพระบาทของพระพุทธองค์
พระองค์ใช้พระหัตถ์ขวา ลูบกระพองพญาช้าง แล้วสื่อสารด้วยภาษามนุษย์ แต่สัตว์เดรัจฉานเข้าใจว่า
“ดูกรเจ้าช้าง เจ้าอย่าเข้าไปหา (ทำร้าย) พระพุทธเจ้า เพราะการเข้าไปหา (ทำร้าย) พระพุทธเจ้าด้วยวธกะจิต (ผู้คิดจะฆ่า) เป็นเหตุแห่งทุกข์ ผู้ฆ่าพระพุทธเจ้าจากชาตินี้ไปสู่ชาติหน้าไม่มีสุคติเลย เจ้าอย่าเมา และอย่าประมาท เพราะคนเหล่านั้น เป็นผู้ประมาทแล้ว จะไปสู่สุคติไม่ได้ เจ้านี่แหละ จักทำโดยประการที่จักไปสู่สุคติได้”
เรียบร้อย.... พญาช้างแสดงอาการให้ความเคารพ ด้วยการเอางวงลูบละอองพระบาท แล้วเอาลงมาพ่นที่กระพองของตน ค่อยๆ ถอยลุกขึ้น เดินถอยหลังไปสักหน่อย ก็หันหลังกลับไปที่อยู่ตน
มหาชนโห่ร้องด้วยความปีติยินดี พระพุทธเจ้าชนะแล้ว ... พระพุทธเจ้าชนะแล้ว ... เป็นชัยชนะที่ยอดเยี่ยมที่ไม่เคยพบเห็นในที่ใดมาก่อน
ข่าวที่พระพุทธองค์ชนะพญาช้างนาฬาคิรีด้วยพระเมตตา ลือลั่นไปทั้งพระนครราชคฤห์ในเวลาที่รวดเร็ว และยังทำความปลื้มปีติให้ก็เกิดขึ้นกับบรรดาเหล่าพระภิกษุสงฆ์สาวกที่ตามเสด็จ และที่ได้ทราบข่าวในภายหลังอย่างจะประมาณมิได้ ความเชื่อมั่นศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพิ่มทับทวีคูณ
หากเราได้เคยดูภาพยนต์อินเดีย เราจะพบเรื่องที่พิเศษกว่าภาพยนต์ชาติอื่นคือ ตัวละครในหนังนั้นชอบร้องเพลง เดี๋ยวก็ร้องเพลง เดี๋ยวก็ร้องเพลง ซึ่งความจริงมันเป็นวัฒนธรรมของของชนชาวอินเดีย ที่สืบทอดยาวนานมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล คือ ชอบแต่งฉันทลักษณ์ (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน) แล้วใส่ทำนองขับออกมาเป็นเพลงร้องกัน แต่สำนวนคำว่า “ฉันทลักษณ์หรือเพลง” ในยุคนั้นเขาเรียกว่า “คาถา” (แต่ในยุคนี้ “คาถา” หมายถึง “วิชาคาถาอาคม”)
เหตุการณ์ชัยชนะของพระพุทธเจ้าในครั้งนี้ก็เช่นกัน ได้มีประชาชนคนหนึ่ง แต่งฉันทลักษณ์ หรือ คาถา ออกมาบทหนึ่ง (บทหนึ่งมี ๔ บาท หรือ ๔ วรรค) แล้วใส่ทำนองขับออกมาเป็นเพลงสรรเสริญพระพุทธเจ้า ว่า
คนพวกหนึ่งย่อมฝึกช้างและม้า
ด้วยใช้ท่อนไม้บ้าง ใช้ขอบ้างใช้แส้บ้าง
สมเด็จพระพุทธเจ้าผู้แสวงพระคุณใหญ่
ทรงทรมาน (ฝึก) ช้างโดยมิต้องใช้ท่อนไม้ มิต้องใช้ศัสตรา
ประชาชนคนอื่นที่ได้ยิน ก็พากันร้องตาม เหมือนเป็นลูกคู่ แล้วร้องต่อๆ กันไป จนขยายไปทั่วทั้งกรุงราชคฤห์ และคงร้องกันหลายชั่วอายุคน คาถาบทนี้จึงได้รับการบันทึกไว้ในอรรถกถาจนมาถึงปัจจุบัน
เสียดายที่ยุคนั้น ไม่มีการบันทึกเป็นตัวโน๊ตดนตรีเหมือนในยุคนี้ เราจึงทราบแค่เนื้อร้อง แต่ไม่ทราบทำนองดนตรี หากใครมีความสามารถจะลองใส่ทำนองดนตรีเข้าไปในคาถาบทนี้ก็ได้นะ
ชัยชนะนี้ โบราณจารย์ ได้นำมาเรียบเรียงไว้ในบทสวดที่ชื่อว่า “ชัยมงคลคาถา” หรือ บางครั้งก็เรียกว่าบท “พาหุง” เพราะขึ้นต้นด้วย “พาหุง” ซึ่งรวบรวมชัยชนะของพระพุทธเจ้าไว้ ๘ อย่าง ชัยชนะที่มีกับพญาช้าง ก็เป็น ๑ ใน ๘ นั้น ซึ่งมีความว่า
“นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ”
แปลความว่า
“พระจอมมุนี ทรงชนะช้างตัวประเสริฐชื่อ นาฬาคิรี ที่ตกมันและแสนจะดุร้าย ประดุจไฟป่าจักราวุธและสายฟ้า ด้วยวิธีรดลงด้วยน้ำ คือ ความมีพระทัยเมตตา, ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแด่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิดฯ”
นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังพระสาวกอีกองค์หนึ่งที่ได้รับการสรรเสริญเป็นอย่างมาก ก็คือพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ในตอนต่อไป เราศึกษาเรื่องราวของพระอานนท์สักเล็กน้อย ... จบตอนที่ ๓๑

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา