14 ม.ค. 2020 เวลา 02:23 • ปรัชญา
คัมภีร์กตัญญู (คำสอนขงจื่อเรื่องความกตัญญู)
หมวดที่ ๗ ว่าด้วยสามคุณ
เจิงจื่ออุทานออกมาว่า “ความยิ่งใหญ่ของความกตัญญู ช่างกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก”
ขงจื่อกล่าวว่า “อันความกตัญญูนั้น คือหลักแห่งฟ้า คือฐานแห่งดิน คือวัตรแห่งปวงประชาแล
“หลักแห่งฟ้าดิน จึงเป็นสิ่งที่ประชาราษฎร์ควรยึดถือแล
“ยึดในความจรัสแห่งฟ้า อิงในทรัพย์แห่งดิน เพื่อยังประโยชน์แก่ปวงชนทั่วหล้า ด้วยเช่นนี้ แม้นอบรมไม่เข้มก็จักสำเร็จ แม้นปกครองไม่เคร่งก็จักร่มเย็น
“บูรพกษัตริย์ทรงเล็งเห็นว่าการอนุศาสน์สามารถกล่อมเกลาประชาราษฎร์ได้ ดังนั้นจึงทรงนำปฏิบัติด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ เช่นนี้ประชาราษฎร์ก็จะไม่ทอดทิ้งบุพการี ทรงอนุศิษฏ์ด้วยหลักคุณธรรม เช่นนี้พสกนิกรก็จะนำไปปฏิบัติอย่างนิยม ทรงดำเนินด้วยการให้เกียรติและเสียสละ เช่นนี้ปวงประชาก็จะไม่พิพาท ทรงโน้มนำด้วยจริยธรรมและการดนตรี เช่นนี้ปวงชนก็จักปรองดอง ทรงแสดงให้เข้าใจซึ่งความดีและชั่ว เช่นนี้ผองสิระจักรู้ยับยั้ง”
ในคัมภีร์ซือจิงได้กล่าวไว้ว่า “อิ่นไท่ซือผู้เกรียงไกร ประชาราษฎร์ล้วนสรรเสริญเชิดชู”
三才章第七
曾子曰﹕甚哉﹗孝之大也。
子曰﹕夫孝﹐天之經也﹐地之義也﹐民之行也。
天地之經﹐而民是則之﹐則天之明﹐因地之利﹐以順天下。
是以其教不肅而成﹐其政不嚴而治。
先王見教之可以化民也﹐是故先之以博愛﹐而民莫遺其親。陳之以德義﹐而民興行。先之以敬讓﹐而民不爭。道之以禮樂﹐而民和睦。示之以好惡﹐而民知禁。
詩云﹕「赫赫師尹﹐民具爾瞻。」
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา