Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Savvy Investor
•
ติดตาม
15 ม.ค. 2020 เวลา 04:59 • ธุรกิจ
12 วิธีเอาตัวรอดจากพายุเศรษฐกิจในปี 2020 (ตอนจบ 2/2)
โดย Savvy Investor (แซฟวี่ อินเวสเตอร์)
“Slow Life แต่ไม่ Slow Rich”
ขออภัยที่ทำให้รอครับ (แต่รับรองว่าเข้มข้นแน่นอน) เรามาต่อข้อ 7-12 กันเลย ครับ...
7. ป้องกันการเกิดสภาพ 3ซ (ซวยซ้ำซ้อน) หรือ “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” ไว้บ้างก็ดีครับ บางครั้งอุบัติเหตุ หรือโรคภัยไข้เจ็บ ป้องกันไม่ได้100% ซึ่งหากเกิดกับ คนในครอบครัว ก็อาจเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ และหากเป็นกับหัวหน้าครอบครัว ยิ่งลำบาก เพราะรายได้ก็หาย รายจ่ายก็เพิ่ม โดยเฉพาะในยาม เศรษฐกิจแบบนี้ จึงควรทำประกันสุขภาพและประกันชีวิตไว้บ้าง เทคนิคการทำประกัน เบื้องต้น ควรเริ่มทำกับคนที่เป็นผู้หารายได้หลัก ของครอบครัวก่อน เพราะหากรายได้หลักหายไปจะได้มีประกันช่วยเหลือบ้าง นอกจากนี้ก็ควรพิจารณาทำประกันให้กับสมาชิกในครอบครัวที่มีความเสี่ยงในด้านต่างๆมากน้อย ตามความจำเป็น นอกจากนี้ การกระจายบริษัทประกัน ก็ช่วยกระจายความเสี่ยง เช่นกันครับ โรคบางโรค ประกันบางแห่งจ่ายให้เราเลย บางแห่งให้เราสำรองเงินก่อนก็มี ขึ้นกับดุลยพินิจ ของ จนท. ของประกันแห่งนั้น ซึ่งผมเจอมากับตัวเอง ทำประกันสุขภาพกับบริษัทแห่งหนึ่ง ไว้ที่เดียว เบี้ยปีละเฉียดแสนบาท พอเข้า รพ. และมี คชจ. สูงหน่อย ประกันดันให้สำรองจ่ายไปก่อน และเรียกขอประวัติ การรักษาทั้งหมด เพื่อพิจารณาว่าจะจ่ายหรือไม่ ตอนนั้นรู้สึกได้เลยว่าถ้าคนพิจารณา ของบริษัทประกันแห่งนี้ไม่จ่าย เราคงแย่แน่ แต่หากเราทำไว้สัก2 แห่ง การพิจารณาอาจจะไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นช่วยกระจายความเสี่ยงอีกทางหนึ่ง
8. ลงทุนสร้างเครื่องผลิตเงิน (Create Money Making Machine) ไว้บ้าง อันนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องของเงินทุนสะสมเราแล้ว ยังเป็นเรื่องของไอเดียและความถนัดด้วยนะครับ เช่น บางท่านเงินสดเยอะหน่อย อาจจะเอาไปลงทุนในหุ้นปันผลในบริษัทดีๆมีอนาคต (ดียังไง มีอนาคตแบบไหนคงต้องศึกษาเยอะๆนะครับเพราะความเสี่ยงสูงสำหรับคนไม่รู้) ซึ่งดีกว่าให้เงินส่วนใหญ่เรานอนขี้เกียจอยู่ในธนาคารที่ดอกเบี้ยอันแสนน้อยนิด (ซึ่งมีแนวโน้มจะลดลงอีกเรื่อยๆ) แต่ถ้าเราไม่อยากใช้เงินสดมาก (แต่ต้องมีเครดิตที่ดี) การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นทางเลือกที่ดีมากๆอีกทางหนึ่ง ที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดี ทั้งในรูปแบบค่าเช่า (Yield) และกำไรเมื่อราคาขยับขึ้น(Capital Gain) โดยที่เราไม่ต้องใช้เวลากับมันมากนัก เมื่อก่อนผมคิดว่า มีอาคารพาณิชย์ สัก 5-6 แห่ง ให้7-11 หรือแฟมมิลี่มาร์ท เช่า เดือนละ 4-50,000 บาท ก็หรูแล้ว เพราะรายได้เดือนละ200,000 บาท ก็พอเพียงที่จะช่วยจ่ายในครอบครัวสบายๆ และยังเหลือไว้ลงทุนต่ออีกด้วย (ไว้วันหลัง ผมจะมาเล่าว่าผมทำสำเร็จกว่าที่ผมตั้งเป้าไว้แล้วก่อนอายุ35 ปีได้อย่างไร)
หรือ หากคุณมีฝีมือในการทำร้านอาหาร ได้ดี การสร้างเครื่องผลิตเงินอีกทางหนึ่ง คือการขายแฟรนไชส์ ออกไป ซึ่งคุณจะได้ส่วนแบ่งรายได้และค่าแฟรนไชส์ทุกปี โดยที่คุณไม่ต้องลงทุนลงแรงเอง เจ๋งไหมครับ?? นอนหลับยังมีรายได้เลย!! แต่เคล็ดลับสำคัญคือ คุณต้องทำสิ่งสำคัญ 3 สิ่งนี้หลักๆให้ได้ก่อน คือมีแบรนด์ของตัวเอง อาหารคุณอร่อยและคนชอบ และ สุดท้าย โนว์ฮาว ของคุณต้องสามารถถ่ายถอดได้และให้แฟรนไชส์ซี่ ของคุณปฎิบัติตามมาตรฐานของคุณได้ แบบคงเส้นคงวา ให้ลูกค้า แวะทานสาขาไหนก็ไม่ผิดหวัง (ดูอย่างบะหมี่1,000 ล้่น อย่างชายสี่บะหมี่เกี๊ยว สิครับ)
นอกจากนี้หากคุณมีไอเดียที่ดี คุณสามารถ เขียนหนังสือ หรือเป็นโค้ชแบ่งปันความรู้ให้คนอื่นๆ ซึ่งด้วยเทคโนโลยีสมัยนี้ คุณอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เวลาและเงินทุนมากเลย ซึ่งลิขสิทธิ์ต่างๆ ก็ถือเป็นเครื่องปั๊มเงินชั้นยอดเช่นกันครับ
9. ทำความดี สร้างบุญบารมีโดยการช่วยเหลือ พี่น้อง,เพื่อนและคนรอบข้าง ไว้เยอะๆ โดยเฉพาะในยามเศรษฐกิจแบบนี้ ถ้าคนรอบตัวเราแข็งแกร่ง แม้ใครพลาดพลั้งไป เราที่เหลือก็ช่วยเหลือกันได้บ้าง ในทางกลับกัน หากเราพลาดพลั้งไป คนรอบข้างเราอาจจะพอช่วยเหลือ เราได้ หรือแนะนำเราได้เช่นกัน เหมือนคำว่า “ไปด้วยกัน ไปได้ไกล” เปรียบดั่ง นักปีนเขาสูงชัน ที่จะมีเชือกยึดโยงไว้กับเพื่อนคู่หูร่วมทาง เพื่อคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระหว่างทาง ที่ปีนเขาสูง ซึ่งการพลาดพลั้งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งการมีเพื่อนที่ดี คอยช่วยเหลือกัน และเปลี่ยนคำว่าพวกเขา เป็นพวกเรา สามารถทำให้เราฟันฝ่าอุปสรรคถึงจุดหมายปลายทางได้ง่ายกว่า เดินทางไกลคนเดียวแน่นอน ครับ
10. บริหารเงินสด และสภาพคล่องให้ดี จัดลำดับการชำระหนี้ ให้เหมาะสม เพราะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไม่ดีนั้น กระแสเงินสด เปรียบเสมือนอากาศ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากเราสามารถ พยุงตัวเองให้ผ่านพ้นช่วงพายุเศรษฐกิจไปได้ เราก็จะอยู่รอดปลอดภัย
ด้านรายรับ : รับน้อยแต่รับเร็ว หรือ กำไรน้อย แต่ได้เงินชัวร์ เป็นอะไรที่น่าสนใจมากกว่า การได้กำไรมากแต่ ได้เงินช้าครับ (เพราะอาจจะไม่ได้เงินในที่สุด)
ด้านการชำระหนี้สิน : เราควรต้องแบ่งหนี้ ที่มีกำหนดการชำระเงินคืนเป็น ระยะสั้น (1-12 เดือน) -ระยะกลาง (1-7 ปี) -ระยะยาว( 8-30 ปี) ก่อน และ พิจารณา อัตราดอกเบี้ย สูง หรือ ต่ำ ด้วยครับ แต่ไม่ควรชำระหนี้ระยะยาวหรือกลาง มากกว่ากำหนด ถ้าหากยังมีหนี้ระยะสั้น(เช่นพวกบัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคลซึ่งต้องชำระทุกเดือนและดอกเบี้ยแพง)
ที่สำคัญเราควรมีเงินสดสำรองไว้บ้างครับ ถามว่าปริมาณเงินสดมากน้อยแค่ไหน เงินสำรองขั้นต่ำก็ลองเอารายจ่ายเฉลี่ยของเราแต่ละเดือน(รวมค่าผ่อนต่างๆด้วย) มาคูณด้วยจำนวนเดือน ที่เราคิดว่า ถ้าตกงานหรือไม่มีรายได้ แล้วเราจะหางานได้ภายในกี่เดือน บวกเผื่อสัก 3เดือน ครับ เช่น คุณมีรายจ่ายเฉลี่ย เดือนละ 30,000 บาท และคุณคิดว่าต้องหางานใหม่ทำได้ใน 4 เดือน เงินสำรองขั้นต่ำที่คุณควรมี คือ 30,000x(4+3)= 210,000บาท นั่นเอง แต่หากจะต้องการ มั่นใจสบายใจปลอดภัยก็ควรใช้สูตรคือ รายจ่ายเฉลี่ยแต่ละเดือน มาคูณด้วยจำนวนเดือน ที่เราคิดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้น หรือผ่านจุดต่ำสุด (ซึ่งส่วนใหญ่จะประมาณ 24-36เดือน ) ดังนั้น คุณควรมีเงินสำรองประมาณ 36(30,000)= 1,080,000บาท ครับ โดยเงินสำรองเหล่านี้ ควรเก็บไว้หรือลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและปลอดภัย เช่น ฝากในธนาคาร ที่ดอกเบี้ยไม่ต่ำเกินไป หรือแบ่งบางส่วนมาซื้อตราสารหนี้ ที่ให้เงินปันผลสูงกว่าธนาคาร เล็กน้อย แต่ความเสี่ยงต่ำมากครับ แต่เงินที่เกินจากส่วนนี้ ค่อยนำไปลงทุน ที่มีความเสี่ยงมากกว่าการฝากธนาคารหรือตราสารหนี้ได้ โดยเฉพาะเอาไปลงทุนสร้างเครื่องผลิตเงิน ในข้อ8. ครับ
( สูตรคำนวณเงินสำรอง มีสมมติฐาน ว่าคุณได้ทำประกันสุขภาพไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะได้ไม่มีอะไรมาเซอร์ไพรส์ได้มากนัก )
11. ซื้อของที่ไม่จำเป็น (แต่อยากได้มากๆๆๆ) ก็ต่อเมื่อคุณอยู่ในสถานะที่มั่นคงในระดับนึงแล้วเท่านั้น โดยผมจะตั้งกฎง่ายๆ (แต่อาจจะทำยาก555) ไว้ 2 ข้อ ดังนี้คือ หนึ่ง : เราต้องมีเงินเก็บสำรอง แบบ 36 เดือนเสียก่อน และ สอง : เราต้องจะใช้เงินที่ได้จาก “เครื่องผลิตเงิน” หรือ Passive Income (เงินที่คุณแทบไม่ต้องทำงานลงแรงลงเวลา) ในข้อ8. มาซื้อของเหล่านั้น (ไม่ใช้เงินที่ได้จากรายได้หลักมาซื้อ) นั่นหมายความว่า คุณต้องลงทุนก่อนที่จะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยได้ แล้วค่อยเอาดอกผล หรือผลตอบแทน จากการลงทุนมาซื้อของที่คุณต้องการ เท่านั้น ซึ่งทำให้คุณมีวินัยทางการเงินมากขึ้น ยกตัวอย่าง สมมติผมอยากเปลี่ยนรถยนต์ใหม่ เป็นรถยุโรปสุดสวยราคาสูง (นี่ถือเป็นความชอบที่ไม่ค่อยจำเป็นเพราะรถญี่ปุ่นก็ขับได้เหมือนกันแต่ถูกกว่าเยอะ) และสมมติว่า ต้องผ่อนรถยนต์ คันนี้เดือนละ 45,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี ผมจะยังไม่ซื้อก่อน และจะเก็บเงินจากรายได้หลัก มาได้ลงทุนซื้อที่ดินผืนงามสร้างร้านอาหารวิวสวยๆไว้ วางแผนว่าจะมีรายได้จากค่าเช่าเดือนละ 100,000 บาท หักค่าภาษีและสำรองค่าซ่อมแซมในอนาคตไว้เดือนละ 20,000 บาท ผมจะเหลือเงินสด จากร้านกาแฟนี้ เดือนละ 80,000 บาท ซึ่งถือเป็นเงินสดที่ได้จาก เครื่องผลิตเงิน เมื่อสร้างเสร็จและมีผู้เช่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมจึงสามารถซื้อรถคันดังกล่าวได้ ซึ่ง ค่าใช้จ่าย 45,000 บาท ต่อเดือน จะถูกผ่อนโดยเครื่องผลิตเงิน (ร้านกาแฟของผม) อย่างสบายใจครับ *** ข้อนี้แหละจะเป็นแรงบันดาลใจ ให้คุณทำข้อ 8. ให้สำเร็จและจะทำให้คุณมีอิสระภาพทางการเงิน(Finanacial Freedom) ได้ในสักวัน เมื่อคุณลดความอยากลง (ภาระลดลง) รายได้จากเครื่องผลิตเงินเหล่านี้จะทำให้คุณไม่ต้องทำงานตลอดชีวิตเลยทีเดียว
ร้านอาหารในบทความ
12. ดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจตัวเองให้เข้มแข็งและมีสติ เพราะร่างกายและจิตใจ คือ ทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด ดังนั้น อย่าลืมแบ่งเวลา ให้ในร่างกายและจิตใจคุณเองนะครับ เปรียบสถานการณ์ทางเศรษฐกิจตอนนี้ ดังในพระราชนิพนธ์ เรื่องพระมหาชนก ในตอนที่ พายุกำลังมา และเรือกำลังจะล่ม บรรดากลาสีเรือต่างตื่นตระหนก พากันวิงวอนต่อเทพแห่งมหาสมุทร มีแต่พระมหาชนกที่ครองสติ หาหนทางที่จะพ้นภัย โดยการเสวยอาหารอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งใช้ผ้าชุบน้ำมันชุ่ม มาพันรอบกาย อย่างแน่นหนา เพื่อป้องกันสัตว์ร้าย และเมื่อเรือใกล้จะล่ม ท่านก็มีไหวพริบและพละกำลังปีนขึ้นไปบนเสากระโดงเรือ เพื่ออยู่บนเรือให้นานที่สุดและกระโดดออกไปให้ไกลจากจุดเรืออัปปาง เพื่อพ้นภัยอันตรายต่างๆ ในช่วงที่เรือล่มได้ ไม่ว่าพายุเศรษฐกิจ จะใหญ่ขนาดไหน ขอเพียงเราไม่ย่อท้อ และเราอดทนมากพอ ผมเชื่อว่าเราจะสามารถฟันผ่าไปด้วยกันได้ และผมเชื่อว่า หลังพายุฝน ท้องฟ้าจะกลับมาสวยเสมอครับ
ท้ายนี้ผมขอให้ผู้อ่านที่รักทุกท่านได้รับพรอันประเสริฐ จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามพระราชนิพนธ์นี้ทุกท่านครับ
“ ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์…"
1
จากใจจริง แซฟวี่ อินเวสเตอร์
*ถ้าชอบอย่าลืมกด Like ใช่กด Share และกดติดตาม (Follow) เพื่อเป็นกำลังใจให้ด้วยนะครับ
32 บันทึก
116
75
30
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
วิธีเอาตัวรอดจากพายุเศรษฐกิจและ Covid19 ในปี 2020
32
116
75
30
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย