8 ก.พ. 2020 เวลา 00:19
ไฟป่าที่กาญจนบุรี ชาวบ้านได้อะไร (ใจเกษตร EP16)
ช่วงนี้อากาศแห้งและร้อน ทำให้เกิดไฟป่าได้ง่าย สาเหตุไม่รู้ว่ามาจากคนที่ตั้งใจเผาป่า หรือเกิดจากอุบัติเหตุเช่น ทิ้งก้นบุหรี่ เผาขยะแล้วไฟลามเข้าป่า
ไฟป่าที่กาญจนบุรี
หรืออาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
เช่น กิ่งไม้เสียดสีกัน หรือแสงแดดตกกระทบผลึกหิน
สาเหตุเกิดจากอะไรไม่รู้
แต่ที่แน่ๆ เกิดขึ้นทุกปี และเกิดขึ้นในบริเวณกว้าง จนเป็นเรื่องปรกติ ตามภูเขาที่กาญจนบุรี
โชคยังดีที่ ไฟป่าที่กาญจนบุรี แตกต่างกับ ไฟป่าที่ป่าอเมซอน (ประเทศบราซิล) และไฟป่าที่ทวีปออสเตรเลีย ที่สร้างความเสียหายรุนแรง
ไฟป่าที่กาญจนบุรี จะเผาไหม้แค่เศษกิ่งไม้ ใบไม้ หรือทำลายพืชบางชนิดเท่านั้น
แต่แน่นอน สัตว์ป่าขนาดเล็ก เช่น ไก่ป่า นก หนู งู แมลง ที่ทำรังใกล้ผิวดิน จะต้องถูกทำลาย หรือถูกทำให้เสียหายจากไฟป่า (ลดประชากรสัตว์ป่าลดลง)
แต่ต้นไม้ประจำถิ่นหลายชนิด เช่น สัก ประดู่ มะค่าโมง พยุง ชิงชัน พี้จั่น ตะแบก เสลา แดง เต็ง รัง เป็นต้น จะไม่เป็นอะไร หรือไม่ตาย "ถ้าต้นโตพอสมควรแล้ว"
1
ภาพถ่ายภูเขาลูกเดียวกัน ถ่ายเมื่อ 1 เดือน ก่อนถูกไฟเผาทั้งภูเขา
ผมเห็นว่าสวยดี เป็นใบไม้เปลี่ยนสี คล้ายๆที่ต่างประเทศ
และอีกภาพ เมื่อต้นสัปดาห์นี้เลยครับ
เป็นสวนต้นจามจุรีของผมเอง ปลูกเพื่อเก็บใบจามจุรี เป็นปุ๋ยพืชสดไนโตรเจน
ถูกไฟป่าลามมาจากสวนติดกัน (ผมลืมทำแนวกันไฟ) ต้นไม้ที่ปลูกคงมีตายไป ส่วนหนึ่ง
กลับมาที่คำถาม " ชาวบ้านได้อะไร จากไฟป่า "
ผมฟังความมาจากหลายคน ชาวบ้านเขามีความเชื่อกันว่า
ถ้ามีไฟป่า จะเกิดเห็ดโคนช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งของชาวบ้าน
คือการหาของป่า เช่น เห็ดโคน หน่อไม้ สมุนไพร และอื่นๆ จากในป่า นั้นเป็นวิถีชีวิต
แต่ชาวบ้านบางท่าน ได้ให้เหตุผลที่ดูน่าเชื่อถือมากกว่า
ไฟป่าจะเผาไหม้เศษกิ่งไม้ ใบไม้ตามพื้นป่า
*** ทำให้การหาเห็ดโคน มองเห็นได้ง่าย ***
ไม่ใช่แค่เห็ดโคน ของป่าอย่างอื่น ก็จะถูกค้นหาได้ง่ายเช่นกัน
ถ้าป่าไม่รกไปด้วย เศษกิ่งไม้ ใบไม้ หญ้า หรือพืชขนาดเล็ก ที่ปกคลุมพื้นป่า
ส่วนการเผาอ้อย การเผาซังข้าว การเผาป่า จะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือเกิด PM2.5 นั้น ยิ่งห่างไกลจาก ความตระหนักรู้ถึงผลกระทบ ของชาวบ้าน
ข้อเท็จจริง และความเชื่อของผม
ไฟป่าที่กาญจนบุรี แม้จะไม่ทำให้ต้นไม้ใหญ่ในป่าตาย แต่ก็ทำให้ป่า กลายเป็นป่าแห้งแล้ง ขาดความชุ่มชื้นในหน้าแล้ง ต้นไม้แคระแกรน จะหาต้นเท่าคนโอบไม่รอบ ได้ยาก
การเผาไหม้ ทำให้แร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นปัจจัยอาหารพืชและอาหารสัตว์ และโดยเฉพาะคาร์บอน (C) ธาตุหลักของอินทรีย์วัตถุ ให้ลอยสูญเสียออกไปจากพื้นที่ป่านั่น
ทำให้ป่าลดความอุดมสมบูรณ์ ขาดแร่ธาตุไปอย่างน่าเสียดาย
อีกทั้ง คาร์บอน (C) ที่ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ยังส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจก ทำให้โลกร้อนขึ้น แล้วทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆตามมา ที่เจอกันบ่อยทุกวันนี้
กลับมาโฟกัสที่การเกิดเห็ดโคน
มีข่าวเกษตรกรที่เชียงราย เลี้ยงปลวกรวมกับ ไร่นาสวนผสม รวมทั้งหมดแค่ 3 ไร่
แล้วมีรายได้เกินแสนบาทต่อปี เฉพาะจากการเลี้ยงปลวก แล้วขายเห็ดโคนขาวและจาวปลวกเท่านั่น ซึ่งการเลี้ยงปลวกนั้น ใช้พื้นที่ไม่ถึงงาน
สวนมะม่วงกับขนุน ของผมอีกแปลง
เนื่องจากคนงานมีจำกัด เราไม่มีเวลาดูแลสวนนี้ จึงถูกปล่อยให้รก ไปด้วยเศษกิ่งไม้ใบไม้และวัชพืช
วันนั้นตั้งใจไปเก็บพริก ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีพริกที่นกช่วยปลูกหลายสิบต้น เก็บทีได้เป็นกิโลกรัม ..แล้วดันไปเจอเห็ดโคนโดยบังเอิญ ในสวนของตัวเองไม่ต้องเดินป่าเลย
ผมคิดว่า เห็ดโคนเกิดขึ้นง่ายมาก นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจอเห็ดโคน ในจุดต่างๆในสวน แต่เคยเจอเรื่อยๆ ขอให้รกมีความชุ่มชึ้นระดับหนึ่ง และมีเศษกิ่งไม้ใบไม้เป็นอาหารปลวก
น่าทำการศึกษาและทดลองทำฟาร์มปลวกใต้ต้นผลไม้ สาธิตให้ชาวบ้านเห็นว่า
การใช้พื้นที่ขนาดเล็ก (ไม่ถึงไร่) ทำฟาร์มปลวก ซึ่งปลวกมีอยู่ในธรรมชาติเยอะมาก
แทน การเดินป่าระยะทางไกลๆ และมีรายได้ไม่แน่นอน จะเจอเห็ดมากน้อยเท่าไรไม่รู้
แทน การทำไร่อ้อย ที่ขั้นต่ำต้องทำเกิน 10 ไร่ จึงจะคุ้มค่าเครื่องจักร
แทน การเผาป่า ที่ขั้นต่ำน่าลามไป หลายร้อยไร่ หรือเป็นพันไร่
แทนการเผาใบไม้ กิ่งไม้ ต้นไม้ (ที่ปล่อยคาร์บอน) ให้เปลี่ยนมาเป็นอาหารปลวก
จำเป็นต้องทำให้สำเร็จเสียก่อน โดยเรียนแบบเกษตรกรเชียงรายที่เลี้ยงปลวกตามข่าว
แล้วเชิญชาวบ้านมาดู
น่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดไฟป่า และลดการปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
สนใจการเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม
โปรดติดตาม ใจเกษตร EP ต่อไป
ได้ที่ Blockdit: www.blockdit.com/worklifewinwin

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา