29 ม.ค. 2020 เวลา 04:47
04 - โครงสร้างห้วงอากาศ
Airspace Structures
เพื่อให้การบริหารจัดการและการควบคุมการบินทั้งหมดในห้วงอากาศเป็นไปด้วยความปลอดภัย จำเป็นจะต้องเข้าใจหลักการบริหารห้วงอากาศ เครื่องมือ/อุปกรณ์ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ในแนวคิดเบื้องต้น คือ ความชัดเจนว่า ‘การบริหารจัดการและการควบคุมการบินจะเกิดขึ้น ณ พื้นที่ใด และการให้บริการการควบคุม ณ พื้นที่นั้นคืออะไร - ‘where exactly air service control will be provided and what kind of service it is’
นอกจากนั้น ท่านต้องทราบหลักใหญ่อีกข้อหนึ่งคือ เราไม่ได้ควบคุมการบินทุกไฟล์ทที่เกิดขึ้น เราจะควบคุมเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แล้วการบินอย่างไรคือจำเป็น ห้วงอากาศถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ห้วงอากาศที่จะควบคุม (Controlled Airspace) และห้วงอากาศที่ไม่ควบคุม (Uncontrolled Airspace)
การพิจารณาว่าจะควบคุมห้วงอากาศหรือไม่นั้น มีปัจจัยมากมาย ตั้งแต่จำนวนอากาศยานที่ใช้งานในห้วงอากาศนั้น ๆ และเป็นการบินแบบใด เช่น เป็นห้วงอากาศที่ใช้ในการขึ้น-ลง หรือเป็นห้วงอากาศที่ใช้ในการสัญจร หรือเป็นห้วงอากาศที่มีบินด้านการทหาร หรือเป็นห้วงอากาศที่มีกิจกรรมการฝึกบินหรือแม้กระทั่งกิจกรรมสัณทนาการ
ซึ่งโดยทั่วไปห้วงอากาศที่ถูกควบคุมมักจะมีเป้นห้วงอากาศที่ประกอบด้วยกิจกรรมที่หลากหลายตามกล่าวมาแล้ว นอกจากนั้น ชนิดของอากาศยาน ภูมิประเทศ ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการพิจารณา
เมื่อ ATC ตัดสินใจได้ว่า ห้วงอากาศใดที่จะควบคุมแล้ว ประการแรกที่พิจารณาต่อไปคือ จะควบคุมรูปทรงห้วงอากาศขนาดไหน - ความสูงระยะใดและกว้างแค่ไหน จากจุดไหนถึงจุดไหน
โดยทั่วไปแล้ว ห้วงอากาศควบคุมเหนือสนามบิน จะเริ่มจากผิวพื้นสูงขึ้นไปราว 4000 ฟิต (บางครั้งอาจถึง 10000 ฟิตก็ได้) - เราเรียกห้วงอากาศควบคุมเหนือสนามบินนี้ว่า ‘Control Zone’
Control Zone
Control Zone
นอกจากนั้นเหนือ ‘control zone’ จะมีห้วงอากาศใหญ่ ๆ อีกก้อนหนึ่งเสมอ - เราเรียกห้วงอากาศควบคุมนี้ว่า ‘Terminal Control Area’
Terminal Control Area
โดยทั่วไป Terminal Control Area มักจะประกอบด้วยหลาย Control Zone ก็ได้ (มีหลายสนามบิน)
การทำการบินขึ้น-ลงในห้วงอากาศควบคุมนี้ จะถูกควบคุมตำแหน่ง (position) และลำดับ (sequench) อย่างเคร่งครัดโดย ATC
Control Zone
เส้นห้วงอากาศที่ใช้ในการบินเชื่อมต่อระหว่าง Terminal Control Area - เราเรียกห้วงอากาศนี้ว่า ‘Airways’ ซึ่งมักจะมีความกว้าง 10 nm เมื่อต่อเชื่อมห้วงอากาศที่ประกอบด้วยกลุ่ม Terminal Control Area และ Airways - เราเรียกห้วงอากาศทั้งหมดนี้ว่า ‘Control Area’
อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยในการทำการบิน ATC ก็มักจะประกาศควบคุมทั้งพื้นที่ห้วงอากาศทั้งผืนแทน
Control Area
Control Area แบบทั้งห้วงอากาศ
เนื่องจาก ‘Control Area’ มักจะเป็นห้วงอากาศที่กว้างใหญ่ และเช่นกันเพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการควบคุม โดยทั่วไปเราจึงมักจะแบ่ง ‘Control Area’ ออกเป็นหลาย ๆ ‘Flight Information Region’
Flight Information Region
แม้จะแบ่งห้วงอากาศออกเป็น ‘Flight Information Region’ แล้ว แต่บางครั้ง ‘Flight Information Region’ ก็ยังคงมีขนาดใหญ่และกินความสูงมาก ซึ่งในหลายกรณี จึงสามารถแบ่งการควบคุมออกเป็น 2 ระดับ คือ ห้วงอากาศด้านบน เรียก Upper Information Region-UIR โดยห้วงอากาศด้านล่างยังคงเป็น Flight Information Region-FIR ซึ่งการแบ่งแบบนี้ สร้างประสิทธิภาพในการควบคุมที่ดีขึ้นอย่างมาก โดย UIR จะถูกควบคุมโดยหน่วยงานควบคุมหนึ่ง และ FIR จะถูกควบคุมโดยอีกหน่วยงานหนึ่ง
Upper Information Region-UIR และ Flight Information Region-FIR
เพื่อช่วยให้ง่ายและมีประสิทธิภาพในการควบคุม ระหว่าง ATC และนักบิน นักบินต้องทำแผนการบิน หรือที่เรียกกันว่า Flight Plan ส่งให้กับ ATC ได้รับทราบ ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญได้แก่ เครื่องบินรุ่นอะไร มีอุปกรณ์ประจำเครื่องอะไรบ้าง สนามบินปลายทางที่ใด สนามบินสำรอง กรณีเครื่องลงสนามบินปลายทางไม่ได้ เชื้อเพลิงในเครื่องสามารถบินได้นานเท่าไร เส้นทางบินที่จะไป ความเร็ว เพดานบินที่ต้องการ (ความสูงที่นักบินขอมาจะเป็นความสูงที่เครื่องบินสามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้มากที่สุด แต่บางครั้ง ATC ไม่สามารถให้ความสูงตามที่ขอได้ เนื่องจากมีการจราจรที่คับคั่ง) เวลาที่คาดว่าจะวิ่งขึ้น เวลาที่คาดว่าจะไปถึง รวมถึงเวลาที่จะผ่านเข้าไปยังเขตประเทศต่างๆ (หากเป็นการบินระหว่างประเทศ) และข้อมูลสำคัญอีกมากมาย - อย่างไรก็ตาม ในการที่จะบอกเส้นทางบินที่จะไป ความเร็ว เพดานบินที่ต้องการได้ จำเป็นจะต้องมีการกำหนด Air Traffic Service Route -ATS route โดยหลักการเหมือนการกำหนดถนนหลักในอากาศเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการเดินอากาศจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งอย่างไร ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการจะบินจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง ต้องเป็นไปตาม ATS route ดังตัวอย่างเช่น
ในกรณีต้องการบินจาก A ไป B ต้องบินไปตามเส้นทางการบิน UA23 เมื่อถึงตำแหน่งที่กำหนดแล้วจึงสามารถเปลี่ยนทิศเพื่อบินตามเส้นทางการบิน UB23 และเช่นกัน เมื่อถึงตำแหน่งที่กำหนดแล้วจึงสามารถเปลี่ยนทิศเพื่อบินตามเส้นทางการบิน D45 ไปสู่ B ได้
ในความเป็นจริง ATS route ในแต่ละ Control Area มีความซับซ้อนมาก ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐ ที่จะออกแบบเพื่อให้เพียงพอต่อการเดินอากาศและปริมาณจราจรทางอากาศของตน และจำเป็นต้องประกาศให้ผู้เกี่ยวข้องในการเดินอากาศทั้งหมดรับรู้ การประกาศ ATS route จะทำผ่านระบบที่เรียกว่า Aeronautical Information Publication – AIP หรือ ‘ข้อมูลการบินและแผนภูมิ’
ถึงตอนนี้ เราเข้าใจหลักการกำหนดห้วงอากาศควบคุมแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการที่จะทำให้การเดินอากาศเป็นไปด้วยความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ... อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นจะต้องกำหนด นั้นก็คือ ATC จะให้บริการ บริหารจัดการและควบคุมอากาศยานในห้วงอากาศนั้น ๆ อย่างไร
โฆษณา