4 ก.พ. 2020 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
“แอนน์ แฟรงค์ (Anne Frank) ดอกไม้งามแสนบริสุทธิ์ยามสงคราม” ตอนที่ 4
บันทึกของแอนน์
ในเวลานี้ แอนน์และมาร์โกต์เริ่มจะรับรู้ถึงสิ่งแปลกๆ รอบตัวแล้ว
ได้มีการติดป้ายห้ามชาวยิวเข้าใช้บริการในที่สาธารณะต่างๆ ทำให้ชาวยิวในอัมสเตอร์ดัมไม่สามารถเข้าไปใช้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ร้านอาหาร สวนสัตว์ อีกต่อไป
ฤดูร้อนของปีนั้น ชาวยิวไม่ได้รับอนุญาตให้ไปเล่นน้ำที่ชายหาดและสระว่ายน้ำ
แต่ถึงแม้ชีวิตจะยากลำบาก ก็ยังมีช่วงเวลาที่ดีเกิดขึ้นกับแอนน์
แอนน์ได้ใช้เวลาท่องเที่ยวกับเพื่อน ไปพักยังบ้านเพื่อนในชนบท และแอนน์ก็เริ่มจะรู้จักเด็กผู้ชาย
ในเวลานั้นยังมีงานแต่งงานอีกด้วย คนที่แต่งงานเป็นคนสนิทของครอบครัวแฟรงค์ชื่อว่า “มีป กีส (Miep Kies)” ซึ่งเป็นพนักงานในบริษัทเพกติน ได้แต่งงานกับชายชื่อ “แจน กีส (Jan Gies)”
ทั้งคู่ไม่ใช่คนยิว แต่มีปก็รู้จักและนับถืออ็อตโต้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
ไม่มีใครรู้ว่าต่อมา คนทั้งคู่จะมีบทบาทอย่างมากต่อครอบครัวแฟรงค์
มีปและแจน กีส
ในเวลานั้น นาซีค่อยๆ กดดันชาวยิวทีละนิดๆ
นาซีพยายามจะทำให้ชาวยิวอับอาย ดังนั้น ค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) นาซีได้ออกกฎห้ามเด็กชาวยิวเรียนในโรงเรียนเดิมที่เรียนอยู่ ต้องไปเรียนในโรงเรียนสำหรับชาวยิวโดยเฉพาะ
แต่แทนที่นาซีจะประกาศเรื่องนี้ในช่วงปิดเทอม นาซีกลับรอให้โรงเรียนเปิดเทอมก่อน เพื่อที่นักเรียนจะได้ถูกย้ายกระทันหัน และทำให้เด็กชาวยิวรู้สึกแปลกแยก
1
แอนน์ต้องย้ายโรงเรียน แต่อย่างน้อย ฮานน์ เพื่อนของแอนน์ก็ได้ย้ายมาด้วย และแอนน์ก็ยังคงคุยเก่งจนถูกอาจารย์ดุเช่นเดิม
ค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) นาซีออกกฎให้ชาวยิวทุกคนที่มีอายุตั้งแต่หกปีขึ้นไป ต้องปักสัญลักษณ์รูปดาวหกแฉกลงบนเสื้อเพื่อแสดงตนว่าเป็นชาวยิว ซึ่งดาวหกแฉกนี้ก็คือสัญลักษณ์ทางศาสนาของชาวยิว
ที่ผ่านมานั้น ชาวยิวไม่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองรถยนต์ส่วนตัว แต่ในตอนนี้แม้แต่ขี่จักรยานก็ไม่ได้ รวมทั้งยังมีการห้ามออกจากบ้านในเวลากลางคืน
ชาวยิวต้องอยู่ในบ้านตั้งแต่สองทุ่ม และจะออกมาได้ในเวลาหกโมงเช้า ซึ่งการห้ามออกจากบ้านนั้นหมายถึงออกไปข้างนอกไม่ได้เลย แม้แต่ในสวนบ้านตัวเองหรือระเบียงบ้านก็ไม่ได้
ดูเหมือนข่าวดีที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ นั่นคือกองกำลังของฮิตเลอร์เริ่มจะพ่ายแพ้และสูญเสียพื้นที่ในการรบ
กองทัพเยอรมันได้ทำการรุกรานฝรั่งเศส แต่ก็ไม่สามารถเข้าตีอังกฤษได้ และในเดือนธันวาคม ค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) สหรัฐอเมริกาก็ได้เข้าร่วมสงคราม
ครอบครัวแฟรงค์ได้แต่หวังว่าฮิตเลอร์จะพ่ายแพ้ และชีวิตของพวกเขาก็จะได้กลับไปเป็นปกติเหมือนเดิม
เมื่อถึงวันเกิดอายุ 13 ปีของแอนน์ นั่นคือเดือนมิถุนายน ค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) โอม่าได้เสียชีวิตไปก่อนแล้ว
แอนน์นั้นเสียใจและบอกว่าไม่รู้สึกมีความสุขในวันเกิดนัก เนื่องจากย่าของเธอไม่อยู่แล้ว
แต่ครอบครัวแฟรงค์ก็ยังคงจัดงานวันเกิดให้แอนน์ โดยแอนน์ได้เชิญเพื่อนๆ ทั้งชายและหญิงมาในงานวันเกิด และแม่ของแอนน์ก็อบเค้กให้แอนน์ ส่วนพ่อก็ฉายหนังให้ทุกคนดู
นี่คืองานวันเกิดสุดท้ายที่ครอบครัวแฟรงค์ได้จัด โดยแอนน์ได้รับของขวัญมากมาย ทั้งหนังสือ จิ๊กซอว์ และขนมต่างๆ
แต่ของขวัญที่ถูกใจแอนน์ที่สุดคือสมุดบันทึกสีแดงเล่มเล็กๆ และมีตัวล๊อกสีเขียวหุ้มไว้
แอนน์ได้นำรูปของตนเองใส่ลงไปในบันทึก โดยหน้าต่อไป แอนน์ได้เขียนว่า
“วิเศษไปเลย ว่ามั้ยล่ะ?”
แอนน์ไม่รู้เลยว่าสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ ของเธอเล่มนี้ ในเวลาต่อมาจะมีชื่อเสียงไปทั่วโลกและทำให้เธอเป็นที่รักของผู้คน
จะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้านะครับ
โฆษณา