26 มี.ค. 2020 เวลา 06:58 • ความคิดเห็น
Universal do-not-resuscitate
สงคราม COVID-19 เรื้อรังมากว่าสามเดือน แผนการรับมือแต่ละประเทศ มีให้เห็นทั้งได้ผลมากน้อย และยังไม่มีใครรู้ว่าประเทศใดสงบสงครามแล้ว หรือจะมีโอกาสเกิดระลอกสองหรือไม่
ประเทศไทยยื้อสถานการณ์ในช่วงแรกได้ยาวนาน จนกระทั่งถึงช่วงชี้เป็นชี้ตายนี้เอง ที่จะกำหนดชะตาชีวิตของคนทั่วประเทศ ทุกพื้นที่
ทุกท่านคงทราบดีว่าระบบสาธารณสุขไทย เป็นแบบอย่างไปทั่วโลกในด้านความเท่าเที่ยม และเข้าใกล้ความเสมอภาค/ยุติธรรม แต่อีกด้านของเหรียญ คือความเปราะบาง
บุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ ตั้งแต่หน้ากากอนามัยตลอดจนเครื่องช่วยหายใจในต่างจังหวัดในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา สู้อิตาลีไม่ได้เลย เราใช้หัวใจและคำสั่งสอนเชิงล้างสมองกับบุคลากรเหล่านี้มาแสนนาน และพึ่งพิงทิ้งน้ำหนักบนรากฐานที่เปราะบาง ละเลยการแก้ปัญหา รอเส้นผมเส้นสุดท้าย ร่วงหล่นลงเพื่อชี้ตายระบบให้พังครืน
โชคร้ายที่มวลสารสุดท้ายนี้ไม่ใช่เส้นผม แต่เป็นไวรัสตัวจ้อย ที่ก่อเกิดน้ำหนักมหาศาล
ตัวเลขในไทยพุ่ง ไม่สูงพอจะสะท้อนความจริง เพราะต่างจังหวัดเข้าถึงการตรวจได้ยากกว่ากทม.หลายเท่าตัว พบหลายร้อยอาจมีถึงพัน
ชุมชนตัวอย่างที่สวยงาม สร้างรอยยิ้มและความหวังไปทั่วประเทศ โผล่ยอดพ้นน้ำให้ได้เห็นกันผ่านสื่อต่าง ๆ และชุมชนตัวอย่างที่ไม่สวยงาม ก็ตั้งเด่น สูงชะลูดทอดเงาครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่เหลือเกิน
โรงพยาบาลจังหวัดพบแพทย์ติดเชื้อ โรงพยาบาลชุมชนนับถอยหลัง เพราะความพร้อมรับมือย่อมน้อยกว่ากันชัดเจน ไม่ว่าผู้ติดเชื้อที่เดินเข้ามาจะมีอาการมากน้อย ความเสี่ยงก็จะไม่มีทางเป็นศูนย์ได้เลย
เพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรไม่เพียงพอในต่างจังหวัด มาตรการต่าง ๆ จึงถูกหยิบยกมาถกเถียง เช่น อาการน้อยไม่มีความเสี่ยง ให้กักตัวกินยาอยู่บ้าน ปฏิบัติเสมือนติดเชื้อโดยไม่ต้องตรวจ จนผ่านพ้นระยะแพร่กระจายเชื้อ
Universal do-not-resuscitate (กว่าจะเข้าเรื่อง)
Do-not-resuscitate หรือการปฏิเสธการกู้ชีพ โดยปกติถูกใช้เมื่อผู้ป่วยเซ็นเอกสารยินยอมด้วยปัจเจกนิยม เช่น ไม่อยากถูกยื้อความตายธรรมชาติ ไม่อยากเสี่ยงถูกปั๊มหัวใจใส่ท่อช่วยหายใจแล้วกลับมาใช้ชีวิตพิกลพิการ
เมื่อผู้ป่วยหรือผู้แทนเซ็นยินยอม แพทย์จะต้องทำตามข้อกำหนดในเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นการห้ามปั๊มหัวใจ ห้ามใส่ท่อช่วยหายใจ หรือแม้กระทั่งห้ามให้ยากระตุ้นความดัน
แต่ในกรณีนี้ ที่แพทย์อเมริกาปรึกษาหารือ เป็นสถานการณ์ที่แตกต่างออกไปมาก
Universal do-not-resuscitate COVID-19 patients แปลตรงตัวคือการปฏิเสธการกู้ชีพที่จะใช้สำหรับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทุกราย โดยอาจวางแนวทางที่ชัดเจน เช่นปฏิเสธเฉพาะการปั๊มหัวใจ หรือเฉพาะ ECMO หรือรวมถึงการใส่ท่อช่วยหายใจ เนื่องจาก
1. ไม่ได้ผล - หรือได้ผลลัพธ์ไม่ต่างกัน พูดง่าย ๆ คือตายอยู่ดี ซึ่งต้องใช้ข้อเท็จจริงที่มีทั้งหมด ว่าระยะไหนที่การยื้อชีวิตต่อจะไม่ได้ช่วยอะไรผู้ป่วย
เช่นหากมีงานวิจัยชี้ชัดว่า ECMO (เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด) ไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาดีขึ้น เราก็ควรที่จะยุติการยื้อชีวิต ก่อนใช้เครื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตามสำหรับโควิด ที่แย่ลงจนเป็นปอดอักเสบรุนแรง ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว การเพิ่มแรงดันในทางเดินหายใจโดยไม่ว่าจะใส่ท่อช่วยหายใจหรือใส่ออกซิเจนทางจมูกแบบ high flow เป็นสิ่งที่จำเป็น และมีโอกาสหายได้
2. ไม่คุ้มทุน - ฟังดูโหดร้ายแต่อาจเป็นความจริงในสถานการณ์ฉุกเฉิน เสี่ยงต่อการล่มสลายของระบบสาธารณสุขเช่นนี้
ลองนึกภาพโรงพยาบาลชุมชน แพทย์พยาบาลไม่สามารถใส่ท่อช่วยหายใจตามหลักปฏิบัติสำหรับผู้ติดเชื้อที่มีระบบหายใจล้มเหลว เพราะไม่มีบุคลากร ยา และอุปกรณ์เพียงพอ ซึ่งความเป็นจริงดังกล่าว เพิ่มความเสี่ยงในเกิดการแพร่กระจายเชื้อทั้งสู่บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยคนอื่นอย่างมหาศาล
แนวคิดใหม่ที่สุดแสนจะ controversial นี้จึงเกิดขึ้น และต้องการข้อเท็จจริงจากทั่วโลก หากจะผลักดันให้เป็นนโยบายของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
สิ่งที่เราต้องทำ คือยื้อยุดสุดชีวิต เพื่อไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงรวดเร็ว จนต้องใช้มาตรการอันสุ่มเสี่ยงเช่นนี้
โฆษณา