28 มี.ค. 2020 เวลา 16:53 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การยืดอายุอาหารแบบง่ายๆให้มีอาหารไว้กินนานๆในยามฉุกเฉิน
ในช่วงที่ทุกคนกักตัวกันอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ covid 19 อาหารที่แต่ละคนกักตุนไว้ก็คงจะค่อยๆหมดลงไปทีละนิดๆ ถึงแม้ว่าพวกเราจะพยายามกินอย่างประหยัดแค่ไหนก็ตาม แถมอาหารบางชนิดก็มีอายุการเก็บรักษาสั้นซะเหลือเกิน ดังนั้นในบทความนี้จึงมี วิธีถนอมอาหารง่ายๆ ที่ทำให้เราสามารถเก็บอาหารไว้กินได้นานๆโดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งตู้เย็นมาฝากผู้อ่านทุกท่านครับ
ก่อนอื่นเลยต้องอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์การอาหารก่อนว่า ในอาหารของเราเนี่ยมีน้ำอยู่ข้างใน และแบ่งน้ำที่อยู่ในอาหารเป็น 2 ประเภทคือ
1.น้ำอิสระ (free water) คือน้ำที่อยู่อย่างอิสระในเซลล์ของอาหารไม่ได้ทำพันธะหรือยึดติดอยู่กับองค์ประกอบทางเคมีภายในอาหาร ซึ่ง น้ำอิสระนี่แหละที่จุลินทรีย์ในอาหารสามารถดึงไปใช้ในการเจริญเติบโต เมื่อมีน้ำอิสระมากเพียงพอในอาหาร ก็จะทำให้จุลินทรีย์เติบโตจนส่งผลให้อาหารเสีย
2. น้ำไม่อิสระ (bound water) คือน้ำที่ทำพันธะกับองค์ประกอบในอาหารอยู่จุลินทรีย์ในอาหารไม่สามารถนำมาใช้ในการเติบโตได้
ซึ่งวิธีการถนอมอาหารทั้ง 3 วิธีที่จะนำมาเสนอในวันนี้ ได้แก่ ตากแห้ง ดองน้ำเกลือ แช่อิ่ม ล้วนเป็นวิธีที่จะลดปริมาณน้ำอิสระในอาหารส่งผลให้จุลินทรีย์มีน้ำอิสระไม่เพียงพอที่จะใช้เติบโต อาหารจึงมีอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้นนั่นเอง มาเริ่มที่วิธีแรกกันเลย
1.ตากแห้ง
นิยมใช้กับเนื้อสัตว์ โดยเอาเนื้อสัตว์ไปตากแดด เพื่อให้น้ำในอาหารระเหยออกมา โดยต้องตากแดดให้น้ำอิสระที่คงเหลืออยู่ในอาหารน้อยจนจุลินทรีย์ในอาหารไม่สามารถเติบโตได้ สังเกตุง่ายๆคือผิวของอาหารที่นำไปตากแดดต้องแห้ง และเนื้อสัมผัสไม่มีความยืดหยุ่น
เนื้อตากแห้งหรือที่เรียกกันว่าเนื้อแดดเดียว
2.ดองน้ำเกลือ
เป็นการดองอาหารนิยมใช้กับไข่ ทำโดย แช่ไข่ในน้ำเกลือความเข้มข้นสูง ส่วนใหญ่นิยมใช้ความเข้มข้นของน้ำเกลือร้อยละ 25ร้อยละ 25 หมายความว่า ในน้ำ 100 มล. จะมีเกลือละลายอยู่ 25 กรัม ซึ่งเกลือในน้ำเกลือจะเข้าไปจับและทำพันธะกับโมเลกุลน้ำอิสระในอาหาร ให้กลายเป็นน้ำไม่อิสระ จุลินทรีย์ในอาหารจึงไม่สามารถเติบโตได้ เพราะ ปริมาณน้ำอิสระไม่เพียงพอ และด้วยสภาพความเค็มของเกลือเอง
ไข่ดองเกลือ
3.แช่อิ่ม
นิยมใช้กับผลไม้ หลักการเดียวกันกับการดองน้ำเกลือ แต่สารที่เข้าไปทำพันธะกับน้ำอิสระคือน้ำตาลในน้ำเชื่อมไม่ใช่เกลือ โดยทั่วไปนิยมใช้ความเข้มข้น ของน้ำเชื่อมประมาณ 35 องศาบริกซ์ (องศาบริกซ์คืออะไร? ขออนุญาติ อธิบายแยกในอีกบทความเพราะอาจทำให้ผู้อ่านสับสนได้) จุลินทรีย์จะเติบโตได้ยากเนื่องจาก มีปริมาณน้ำอิสระในอาหารน้อย และความหนืดของน้ำเชื่อมส่งผลให้เซลล์ของจุลินทรีย์ถูกบีบอัดเนื่องจากแรงดันที่มาจากความหนืด
มะม่วงแช่อิ่ม
นี่ก็เป็นวิธีง่ายๆที่จะทำให้เราสามารถเก็บอาหารที่เหลือน้อยนิดของเราไว้กินได้นานขึ้น หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านนะครับ
แหล่งอ้างอิง
Food preservation :ผศ.ดร.พรพล รมย์นุกูล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา