7 เม.ย. 2020 เวลา 11:09 • สุขภาพ
อนาคตตลาดหลักทรัพย์ หลังโควิด-19
เมื่อวานนี้ (6 เมษายน 2563) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ขึ้นทั่วโลก ดัชนีดาวโจนส์บวกถึง 1,627.46 จุด เป็น 22,679.99 ดอลลาร์ สร้างความคึกคักแก่นักลงทุนทั่วโลก แต่มีคำถามว่าแล้วดัชนีจะขึ้นไปต่อไหมหรือจะตก เดือนหน้าจะเป็นอย่างไร 3 เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร บทความนี้จะให้ข้อมูลแก่ทุกท่านเพื่อการตัดสินใจ
Concept ตลาดหลักทรัพย์
ในสมัยโบราณ การขยายธุรกิจต้องอาศัยกระบวนการสั่งสมทุนที่ยาวนาน เช่น นาย A เป็นเจ้าของร้านอาหาร ทำอาหารอร่อย ขายดี ก็ค่อยๆ สะสมกำไร พอมีทุนพอก็เปิดร้านที่ 2, 3 อาจใช้เวลา 20-30 ปี ในการเปิดร้านให้ได้สัก 10 สาขา จึงมีคนฉลาดคิดว่า ทำไมไม่ขยายกิจการให้เร็วกว่านี้ โดยให้นาย B ซึ่งเป็นคนที่มีเงินเก็บแต่ทำธุรกิจเองไม่เก่งมาร่วมทุนด้วย เมื่อนาย A มีสูตรเด็ด ทำอาหารอร่อย บริหารกิจการร้านอาหารเก่ง ก็เปิดโอกาสให้นาย B และคนอื่นๆ ที่มีเงินมาร่วมทุน เมื่อนาย A ได้รับเงินทุนจำนวนมากก็สามารถเปิดสาขาได้ 10 แห่งภายในปีเดียว ราคาหุ้นที่ขายให้นาย B ก็ตั้งให้สูงกว่าราคาสินทรัพย์ของกิจการที่ตนมีจริงได้ตามแต่ตกลงกัน เช่น สินทรัพย์ของกิจการมีมูลค่า 1 ล้านบาท ทำเป็นหุ้น 10,000 หุ้น มูลค่าสินทรัพย์ตามบัญชี (book value) คือ หุ้นละ 100 บาท นาย A อาจเสนอขายให้นาย B หุ้นละ 500 บาท ถ้านาย B เห็นว่านาย A เก่งมาก อนาคตกิจการรุ่งเรืองแน่นอน ราคาแพง 5 เท่าก็คุ้ม ก็จะซื้อ นาย A ออกหุ้นใหม่ 1,000,000 หุ้น ขายให้นาย B และนักลงทุนรายอื่นๆ ได้เงินมา 5 ล้านบาท ก็เอาไปขยายกิจการได้อย่างรวดเร็ว ได้กำไรเพิ่มขึ้น 10 เท่าในปีเดียว แบ่งให้นาย B และนักลงทุนคนอื่นๆ ไปครึ่งหนึ่งตามสัดส่วนหุ้นที่เขาถือ นาย A ก็ยังได้กำไรมากกว่าเดิม 5 เท่า นาย B และพวก ก็คุ้มเพราะส่วนแบ่งกำไรที่ตนได้รับคุ้มค่า นี่คือ concept ของการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO : Initial Public Offering) กิจการใดที่มีแนวโน้มอนาคตดีมาก ก็สามารถตั้งราคา IPO ให้สูงๆ ได้
เราจะสังเกตเห็นว่า เม็ดเงินที่มีจริง ๆ คือ ทุนเดิมของนาย A 1 ล้านบาท กับทุนใหม่ของนาย B และพวก 5 ล้านบาท รวม 6 ล้านบาท แต่มูลค่าหุ้นรวมกลายเป็น 10 ล้านบาทแล้ว เพราะส่วนของนาย A ถูกประเมินว่าควรมีราคาเพิ่มขึ้น 5 เท่า บางกิจการ เช่น บริษัท Facebook ตอนเสนอขายหุ้นครั้งแรกแก่ประชาชน สินทรัพย์ที่เป็นตัวเงิน อุปกรณ์ ที่ดินอาคาร สิ่งที่จับต้องได้ อาจมีแค่ 2-3% ของราคาเสนอขาย นักลงทุนซื้อเพราะดูที่อนาคตของกิจการ เมื่อ FB ขายหุ้นไป มูลค่าหุ้นรวม (Market Capitalisation : คำนวณโดยนำราคาหุ้นคูณจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท) ของบริษัทก็ขึ้นไปถึง 3.3 ล้านล้านบาท เงินที่นักลงทุนมาซื้อหุ้น IPO ของ FB รวมราว 3 แสนล้านบาท (เพราะ FB เสนอขายหุ้นไปราวไม่ถึง 10% ของหุ้นทั้งหมด) ทำให้มูลค่าหุ้นของ FB รวมเพิ่มเป็น 3.3 ล้านล้านบาท นี่คือ การเร่งความเร็วของกระบวนการสะสมทุนของธุรกิจและของประเทศอย่างมหาศาล เพราะได้รวมเอาฝีมือและความคาดหวังต่ออนาคตมาเป็นทุนปัจจุบันด้วย ถ้าใช้ประโยชน์ของตลาดหลักทรัพย์เป็น จะมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างรวดเร็ว
1
ขอให้คุณเก่งจริง มีฝีมือจริง คุณสามารถรวยได้อย่างรวดเร็ว เพราะจะมีคนจำนวนมากพร้อมจะมาลงทุนร่วมกับคุณ และคุณสามารถบวกค่าฝีมือของคุณเข้าไปในราคาหุ้นที่เสนอขายให้เขาได้ ได้ประโยชน์ทั้งเจ้าของกิจการ และผู้มาลงทุน
2
กำเนิดตลาดหลักทรัพย์
เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ลงทุนบางคนอาจมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ต้องการขายหุ้นของตนออกไป แล้วก็มีคนมีเงินบางคนต้องการมาลงทุนซื้อหุ้นในกิจการนี้ จึงจำเป็นต้องเกิดตลาดหลักทรัพย์เป็นสถานที่ซื้อขายหุ้น
ตลาดหลักทรัพย์ในความหมายปัจจุบัน เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2154 ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม (เมืองหลวงประเทศเนเธอแลนด์ ในปัจจุบัน) เพราะในยุคนั้นเนเธอร์แลนด์ คือ เจ้าแห่งการค้าของโลก เหนือกว่าอังกฤษและฝรั่งเศส ส่วนอเมริกายังปกครองโดยอินเดียนแดงอยู่
ตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกที่กรุงอัมสเตอร์ดัม
ในการซื้อขายหุ้น ราคาหุ้นก็จะขึ้นลงตามผลประกอบการของบริษัทและแนวโน้มในอนาคต ซึ่งจะมีตัวเลขที่สำคัญอีกตัวคือ อัตราส่วนของราคาหุ้นต่อผลกำไร(P/E ratio) เช่น ค่า P/E 10 เท่า หมายถึง ณ ราคาหุ้นนั้น มูลค่ารวมของหุ้นทั้งบริษัท (Market Cap.) สูงกว่าผลกำไร 10 เท่า (ผลกำไรนี้บริษัทอาจจะจ่ายเป็นเงินปันผลให้คุณส่วนหนึ่ง และกันส่วนหนึ่งไปลงทุนทำวิจัยหรือขยายกิจการเพิ่มก็ได้ แล้วแต่นโยบายของผู้บริหาร) หุ้นที่นักลงทุนมองว่ามีอนาคตดี มูลค่าหุ้นอาจจะขึ้นสูงจนค่า P/E สูงมาก เช่น หุ้น FB บางช่วงมีค่า P/E เกือบ 100 เท่า นักลงทุนก็ซื้อเพราะมองว่าอนาคตของ FB สดใส กิจการจะเติบโตมีกำไรมาก แต่ถ้านักลงทุนดูว่าธุรกิจนั้นกำลังจะย่ำแย่ แนวโน้มอนาคตไม่สดใส แม้ปัจจุบันมีค่า P/B และค่า P/E ต่ำๆ คนก็ไม่ซื้อ
สภาพตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกก่อนโควิด
ก่อนวิกฤตโควิดจะลุกลามทั่วโลก มูลค่าหลักทรัพย์รวมของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกมีประมาณ 80 ล้านล้านดอลลาร์(ราว 2,500 ล้านล้านบาท) ตลาดหลักทรัพย์ที่สำคัญที่สุดอยู่ในอเมริกา
ในอเมริกามีตลาดหลักทรัพย์ที่สำคัญที่สุด 2 แห่งคือ ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก(ดัชนีดาวโจนส์) มีมูลค่าราว 2/3 กับตลาดหลักทรัพย์แนสแดค ซึ่งเน้นบริษัทใหม่ๆ ทางเทคโนโลยี มีมูลค่าราว 1/3 ของหลักทรัพย์รวมในอเมริกา ทั้ง 2 ตลาดหลักทรัพย์นี้ตั้งอยู่ใกล้ๆ กันในเมืองนิวยอร์ก ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก การขึ้นลงของดัชนีดาวโจนส์มีผลต่อตลาดหลักทรัพย์อื่นทั่วโลก ในบทความนี้จึงจะวิเคราะห์ความเป็นไปของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เพื่อให้เห็นแนวโน้มของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก
ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
ในสภาพตลาดที่ดี มูลค่าหลักทรัพย์รวมของตลาดหลักทรัพย์ของประเทศ ส่วนใหญ่มีมูลค่าพอๆ กับ GDP ของประเทศ และมีค่า P/E ratio ประมาณ 12 เท่า แต่ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ดัชนีดาวโจนส์ขึ้นสูงสุดที่ 29,551 จุด มูลค่าหลักทรัพย์รวมในตลาดหลักทรัพย์อเมริกามีค่าประมาณ 160% ของ GDP และมี P/E ratio ประมาณ 18 เท่า สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ราวครึ่งหนึ่ง
ทำไมดัชนีหุ้นในอเมริกาถึงขึ้นสูง จน P/E ratio สูงถึง 18 เท่า
การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อเมริการ้อนแรงผลักดันดัชนีหุ้นพุ่งสูง จนค่า P/E ratio สูงถึง 18 เท่านั้น มีสาเหตุใหญ่ๆ 4 ประการ
1.คนอเมริกาสนใจการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มาก 55% ของบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วในอเมริกา ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อาจเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นโดยตรง หรือ ลงทุนผ่านกองทุนซื้อขายหุ้น เปรียบเทียบกับในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2562 ประเทศไทยมีจำนวนนักลงทุนที่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ 1,364,720 คน คิดเป็นราว 2% ของประชากร และที่มีการซื้อขายจริงในรอบ 6 เดือน มี 652,106 คน ราว 1% ของประชากรไทยเท่านั้น
เมื่อมีนักลงทุนจำนวนมาก demand ในตลาดจึงสูง ผลักดันให้ดัชนีหุ้นขึ้นสูง แม้นักลงทุนส่วนใหญ่ถือหุ้นอยู่ไม่มากก็ตาม
2.ในการแก้วิกฤตการเงินเลแมน บราเดอร์ส (หากท่านผู้อ่านสนใจจะเขียนเรื่องนี้ต่างหากเป็นอีกบทความ) เมื่อปี พ.ศ.2551 ธนาคารกลางของอเมริกา (เฟด) ได้อัดฉีดเงินเข้าในระบบจำนวนมหาศาล โดยใช้ชื่อเพราะๆ ฟังดูดีว่า การผ่อนคลายทางปริมาณ (quantitative easing : QE) จริงๆ พูดภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายคือ เอากระดาษมาพิมพ์เป็นเงินใส่เข้าไปในตลาดการเงินนั่นเอง
QE 1 (พ.ย.2551-มิ.ย.2553) พิมพ์เงินเพิ่ม 1,725,000 ล้านดอลลาร์ เท่ากับราว 55 ล้านล้านบาท
QE 2 (พ.ย.2553-มิ.ย.2554) พิมพ์เงินเพิ่ม 600,000 ล้านดอลลาร์ เท่ากับราว 19 ล้านล้านบาท
QE 3 (ตั้งแต่ ก.ย.2555) พิมพ์เงินเพิ่มเดือนละ 40,000 ล้านดอลลาร์ เท่ากับราวเดือนละ 1.3 ล้านล้านบาท
ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและญี่ปุ่นก็ทำเช่นกัน พิมพ์เงินออกมาเพิ่มขึ้นรวมกันมากกว่า 300 ล้านล้านบาท ทำให้เงินท่วมตลาดโลก ดอกเบี้ยจึงต่ำ เหลือเกือบเท่าศูนย์ บางประเทศก็มีอัตราดอกเบี้ยติดลบ เงินจึงทะลักไปลงในตลาดหุ้นจำนวนมาก ทำให้ดัชนีหุ้นขึ้น
ภายใต้สถานการณ์ที่เงินท่วมโลกมีต้นทุนที่ถูกมากนี้ ทำให้บริษัทกองทุนเพื่อการลงทุนเติบโตขึ้นอย่างมาก บริษัทเพื่อการลงทุนที่ใหญ่ที่สุด คือ บริษัท BlackRock ของอเมริกา บริหารเงินกองทุนมีมูลค่าถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ เท่ากับ GDP ของอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลีรวมกัน ด้วยเงินกองทุนจำนวนมหาศาล บริษัทการลงทุนเหล่านี้จึงมีอิทธิพลต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และตลาดการเงินโลกอย่างมาก
3. ทรัมป์ลดภาษีให้กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จาก 35% เหลือ 21% ทำให้บริษัทต่างๆ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาก ผลักดันให้ดัชนีหุ้นในตลาดสูงขึ้น
4. บริษัทต่างๆ ทุ่มเงินซื้อคืนหุ้นตัวเอง บริษัทใหญ่ๆ ในอเมริกา มักทำสัญญาว่าจ้างผู้บริหารโดยผูกกับราคาหุ้นของบริษัทตนในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าผู้บริหารมีผลงานดี ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปถึงระดับที่กำหนด ทางบริษัทก็จะเพิ่มเงินตอบแทน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น สิทธิในการซื้อหุ้นราคาพิเศษ (stock option) เป็นต้น ยิ่งราคาหุ้นของบริษัทขึ้นสูง ผู้บริหารก็ยิ่งได้ผลประโยชน์เยอะ ผู้บริหารของบริษัทต่างๆ จึงพยายามทุกวิถีทาง ที่จะผลักดันให้ราคาหุ้นขึ้น วิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันคือ การซื้อหุ้นบริษัทตนเองคืน บริษัทที่มีผลกำไรมากๆ เกินปีละ 1 ล้านล้านบาท เช่น บริษัทApple ยังมีการกู้เงินจำนวนมากเพราะดอกเบี้ยถูกมาก แล้วเอากำไรของบริษัทไปซื้อหุ้นตัวเองคืนจากตลาดเป็นหมื่นๆ ล้านดอลลาร์ ทำให้ราคาหุ้นของบริษัททะยานสูงขึ้น
แม้บริษัทที่ผลประกอบการไม่ค่อยดี อย่างโบอิ้ง ที่พบปัญหาเครื่องบินรุ่น 737 MAX 8 ประสบอุบัติเหตุขัดข้องติดๆ กันถึง 3 ลำ ต้องหยุดการผลิตและให้เครื่องรุ่นนี้หยุดทำการบินทั่วโลกนำกลับมาตรวจสอบแก้ไขใหม่ กำไรที่เหลือเพียงน้อยนิด แทนที่ผู้บริหารจะเอาไปใช้ในการวิจัยพัฒนา ลงทุนปรับปรุงเครื่องจักร กลับนำไปซื้อหุ้นโบอิ้งในตลาดหลักทรัพย์เพื่อผลักดันราคาหุ้น นี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เมื่อพบวิกฤตไวรัส โบอิ้งต้องขอเงินกู้ช่วยเหลือจากรัฐบาลจำนวน 2 ล้านล้านบาท แล้วถูกคนคัดค้านโจมตีมาก
เมื่อบริษัทใหญ่ๆ ทุ่มเงินซื้อหุ้นตัวเอง รวมกันเป็นเงินหลายล้านล้านบาท ทำให้ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อเมริกาพุ่งสูงขึ้นจนมีค่า P/E ถึง 18 เท่า
ผลกระทบจากโควิด และมาตรการเยียวยา
ก่อนโควิดระบาดถึงอเมริกา ดัชนีดาวโจนส์ก็สูงค้างอยู่บนยอดดอยอยู่แล้ว หากให้ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กมีค่า P/E 12 เท่า เหมือนตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ทั่วโลก ดัชนีดาวโจนส์ก็ควรอยู่ราว 20,000 จุด เท่านั้น
พอวิกฤตโควิดถาโถมเข้าใส่อเมริกา นักลงทุนก็ตื่นตระหนกเทขายหุ้นกันมากมาย ดัชนีดาวโจนส์ร่วงวันละกว่า 1,000 จุด บางวันถึงกว่า 2,000 จุด ต้องพักการซื้อขายชั่วคราว (circuit breaker) หลายวัน ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์เศษ ดัชนีดาวโจนส์ตกลงมากว่า 1 หมื่นจุด ดัชนีแนสแดคก็ตกลงมากเช่นกัน รวมมูลค่าราคาสินทรัพย์ (Market Cap.) ที่หายไปมากกว่า 300 ล้านล้านบาท
ทางธนาคารกลางของอเมริกา (Fed;เฟด) ต้องเรียกประชุมฉุกเฉิน 2 ครั้งใน 2 สัปดาห์ และประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% และ 1% ตามลำดับ จนอัตราดอกเบี้ยเหลืออยู่เพียง 0-0.25% ในปัจจุบัน และประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดอย่างไม่จำกัดจำนวน
เฟดมีอำนาจในการออกเงินดอลลาร์ได้ไม่จำกัดจำนวน วิธีการอัดฉีดเงินของเฟดปกติจะทำโดยการซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยรัฐบาลออกพันธบัตรมากู้เงิน เฟดก็ไปซื้อพันธบัตร รัฐบาลก็จะมีเงินนำไปใช้ในโครงการต่างๆ นำไปอุดการขาดดุลงบประมาณที่มีมากถึงปีละกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่รัฐบาลก็ต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ซื้อพันธบัตร
แต่วิกฤตครั้งนี้ผลกระทบหนักมาก เมื่อคราววิกฤตเลแมน บราเดอร์ส ดัชนีหุ้นค่อยๆ ตกกว่าจะถึงจุดต่ำสุดก็ใช้เวลาราวครึ่งปี แต่ครั้งนี้เพียง 2 สัปดาห์เศษ ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงมากว่าหมื่นจุดแล้ว หากแก้ปัญหาช้าระบบเศรษฐกิจจะพังทลาย เพราะไม่ใช่ตลาดหุ้นอย่างเดียว ในช่วงเงินท่วมโลก ดอกเบี้ยถูก บริษัทต่างๆ ออกตราสารหนี้ กู้ยืมเงินไปลงทุนขยายกิจการจำนวนมาก ตราสารหนี้ของบริษัททั่วโลกรวมกันมีมูลค่าราว 430 ล้านล้านบาท พอวิกฤตเกิดขึ้นแบบฉับพลันและรุนแรง บริษัทห้างร้านจำนวนมากต้องปิดทำการ เครื่องบินหยุดบิน รถหยุดวิ่ง เกือบทุกอย่างชะงักหมด ถ้าแก้ปัญหาช้า บริษัทจำนวนมากจะล้มละลาย ตราสารหนี้จะกลายเป็นหนี้สูญ กระทบภาคการเงินและธนาคาร กระทบทุกภาคธุรกิจ เฟดจึงต้องประกาศอัดฉีดเงินเข้าระบบแบบไม่จำกัดจำนวน และประกาศจะเข้าซื้อตราสารหนี้ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวของบริษัทต่างๆ โดยตรง เพื่อให้บริษัทต่างๆ มีสภาพคล่องทันการณ์
ทางรัฐบาลอเมริกา ก็ต้องรีบประสานกับสภาคองเกรส ออกกฎหมายกู้และอัดฉีดเงินเยียวยาเศรษฐกิจจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 60 ล้านๆ บาท ประมาณ 10% ของ GDP ประเทศ
เมื่อรัฐบาลและเฟดทุ่มมาตรการเยียวยาขนาดใหญ่เข้าช่วย นักลงทุนก็เริ่มคลายความตื่นตระหนก ดัชนีดาวโจนส์ก็กระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ 21,000 - 22,000 จุด แต่อัตราการขึ้นลงยังหวือหวามาก แสดงถึงความหวั่นไหวของนักลงทุน
เมื่อวานนี้ (6 เมษายน) ทรัมป์ และประธานสภาคองเกรส (พรรคเดโมแครต) ต่างก็ออกมาพูดว่า มาตรการเยียวยาเดิมไม่เพียงพอ จะต้องอัดฉีดมาตรการช่วยเหลือเพิ่ม ยอดเงินก็คงเป็นหลักล้านล้านดอลลาร์ เมื่อข่าวนี้ออกไปประกอบกับยอดผู้ติดเชื้อใหม่ในอเมริกาเริ่มลดลง ทำให้เมื่อวานนี้ ดัชนีดาวโจนส์บวกถึง 1,627 จุด ดัชนีหุ้นทั่วโลกก็ขึ้น
ต่อไปดัชนีหุ้นจะตกไหม หรือจะขึ้นไปอีก
จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่พยุงดัชนีราคาหุ้นไม่ให้ตกลงไปมากขึ้น เป็นผลทางจิตวิทยาจากมาตรการเยียวยาที่ทางรัฐบาลประกาศออกมาเป็นหลัก ทั้งที่เม็ดเงินจากมาตรการชุดแรกที่ออกเป็นกฎหมายแล้ว เงินจะเริ่มเบิกจ่ายได้ก็ในปลายสัปดาห์นี้
แต่ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือ ผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด ดัชนีดาวโจนส์ที่เหมาะสมก็ควรอยู่ที่ P/E 12 เท่า ราว 20,000 จุด แล้วเมื่อเกิดวิกฤตโควิด ผลประกอบการของบริษัทส่วนใหญ่ก็จะทรุดลงอย่างมาก มาตรการของรัฐบาลสหรัฐที่ออกมาเพียงเพื่อให้คนจนพอมีกินและพยุงช่วยให้บริษัทไม่ล้มละลาย พอประคองตัวอยู่ได้ เมื่อผลประกอบการไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2563) ประกาศออกมา เราอาจจะพบว่าราคาหุ้นที่ทำให้ค่า P/E อยู่ที่ 12–18 เท่า คือ ดัชนีดาวโจนส์ที่ 12,000–15,000 จุดก็ได้ ซึ่งนักลงทุนก็คงจะมองไปที่ ไตรมาสที่ 3, 4 ว่าการฟื้นตัวจะเป็นแบบรูป V shape หรือเปล่า ถ้าใช่ดัชนีก็ยังพอประคองตัวได้ แต่ถ้าไม่ก็คงได้เห็นดัชนีทรุดลงหนักระลอก 2
ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ จะควบคุมการระบาดของไวรัส และเริ่มกลับมาทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจแบบปกติอย่างที่จีนทำได้เมื่อไหร่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่เริ่มลดลงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป หมายความเพียงว่าสถานการณ์ดีขึ้นบ้าง หมอ โรงพยาบาล พอมีเวลาตั้งหลักรับมือได้ดีขึ้น แต่เมื่อยังมีการติดเชื้ออยู่เป็นหมื่นเป็นแสนคน คนจะกล้านั่งเครื่องบิน นั่งรถบัส รถไฟ ไปจับจ่ายใช้สอย ไปเรียน ไปทำงานตามปกติหรือ สถานการณ์ก็จะยืดเยื้อไป รัฐบาลกลางอเมริกาต้องออกมาตรการเยียวยารอบที่ 3, 4 แล้วเงินก็ไม่ใช่เสกได้จากอากาศ แต่ละมาตรการที่ออกไปหมายถึงรัฐบาลเป็นหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลจะไหวหรือเปล่าถ้าเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักไป 4-8 เดือน
มีประเทศที่น่าจับตาคือ ออสเตรีย ในยุโรป เมื่อประกาศล็อคดาวน์อย่างเข้มข้น ตั้งแต่ 16 มีนาคม พร้อมๆ กับสเปนและฝรั่งเศส จนควบคุมผู้ติดเชื้อใหม่ให้เริ่มน้อยลงได้จากวันละกว่าพันคน เหลือราววันละ 200 คน รัฐบาลประกาศเมื่อวานนี้ว่า ตั้งแต่ 14 เมษายน จะเริ่มผ่อนคลายการควบคุม โดยร้ายขายของชำและร้านค้าเล็กๆ ทั่วไปเริ่มเปิดทำการได้ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ร้านค้าอื่นๆ นอกนั้น ร้านเสริมสวย ห้างสรรพสินค้า เปิดทำการได้ และ 15 พฤษภาคม
ร้านอาหารและโรงแรมเปิดทำการได้ ถือว่าออสเตรียเป็นประเทศแรกในยุโรปที่จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมให้เศรษฐกิจเริ่มเดินได้ใหม่ แต่ถ้าไวรัสกลับระบาดเพิ่มขึ้นก็ต้องกลับมาควบคุมใหม่ ถ้าได้ผลดีก็จะเป็นโมเดลให้ประเทศอื่นต่อไป
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการควบคุมโรค คือ วัคซีน ถ้าพัฒนาสำเร็จผลิตออกใช้ได้เมื่อไหร่ สถานการณ์ก็จะฟื้นคืนโดยเร็ว ซึ่งตอนนี้หน่วยวิจัยวัคซีนของประเทศต่างๆ ล้วนประกาศว่าจะใช้ได้ต้นปีหน้า ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องชะลอตัวไปอีกร่วม 9 เดือน ไม่ว่ารัฐบาลมีมาตรการเยียวยาอย่างไร ก็จะมีบริษัทล้มละลายมากมาย ตลาดหุ้นดาวโจนส์ต้องร่วงหนักรอบ 2 แน่นอน แต่ถ้าเร่งการพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จเร็วขึ้นเป็น กันยายน หรือเร็วกว่านั้น ตลาดหุ้นก็มีสิทธิ์ฟื้น แต่อย่างมากดัชนีดาวโจนส์ก็คงไปได้เพียงไม่เกิน 25,000 จุด ในปีนี้
ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย ก็จะมีลักษณะคล้ายๆกัน
การเล่นหุ้นเป็นการพนันหรือไม่
อาตมภาพเคยได้รับคำถามหลายครั้งว่า การเล่นหุ้นถือเป็นการพนันไหม คำตอบ คือ
ตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญของธุรกิจและของประเทศ แม้ประเทศที่ปกครองแบบคอมมิวนิสต์ เมื่อจะพัฒนาเศรษฐกิจการตลาดก็ต้องตั้งตลาดหลักทรัพย์ เช่น ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น ในประเทศจีน
ส่วนตัวนักลงทุนนั้น มี 3 แบบ
1.นักลงทุนระยะยาว ซื้อหุ้นโดยศึกษาจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัท แนวโน้มของธุรกิจนั้นในอนาคต ความสามารถและพฤติกรรมที่ผ่านมาของผู้บริหาร เมื่อเข้าใจดีก็เข้าลงทุนระยะยาว มีรายได้จากเงินปันผลและราคาหุ้นที่ขึ้นในระยะยาว
นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากๆ ส่วนใหญ่เป็นประเภทนี้ ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ วอร์เรน บัฟเฟต นักลงทุนอันดับ 1 ของโลก คุมพอร์ตการลงทุนถึง 20 ล้านล้านบาท แต่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากไม่ค่อยชอบ รู้สึกว่ารวยช้า ลุ้นไม่ค่อยมัน
2. นักลงทุนแบบเก็งกำไร โดยอิงการศึกษาปัจจัยพื้นฐานด้วย นักลงทุนประเภทนี้ ซื้อขายเร็วกว่าประเภทแรก แต่ก็ศึกษาปัจจัยพื้นฐานของบริษัท บ้างก็อิงนักวิเคราะห์ตามบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ศึกษาปัจจัยทางเทคนิค เส้นกราฟ ต่างๆเป็นต้น
แต่อย่าลืมว่า ขาใหญ่ในตลาดคือกองทุนต่างๆ มีเงินเป็นจำนวนมาก กองทุนใหญ่จริงๆ อย่าง BlackRock ที่กล่าวมาแล้วมีเงินมากกว่ารัฐบาลของประเทศอย่างอังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น เสียอีก ผู้บริหารกองทุนเหล่านี้ไม่ได้สนใจปัจจัยทางเทคนิคเส้นกราฟอะไรเลย เมื่อเขาดูว่าสภาพพื้นฐานของตลาดของธุรกิจและของบริษัทนั้นๆ เป็นอย่างไร ควรซื้อเขาก็ซื้อ ควรขายเขาก็ขาย เมื่อเขาซื้อหุ้นนั้นก็จะขึ้น เขาขายหุ้นนั้นก็จะตก เพราะหน้าตักเขาใหญ่มาก ซื้อขายทีละมากๆ ทำให้ขึ้นลงได้ไม่เฉพาะหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ทำให้ดัชนีทั้งตลาดหลักทรัพย์ขึ้นหรือลงได้ เมื่อดัชนีขึ้นหรือลง เดี๋ยวนักวิเคราะห์ก็จะพากันให้เหตุผลเองว่าทำไมขึ้นหรือทำไมลง ตัวกองทุนเหล่านี้คือผู้กำหนดตลาด แต่เขาก็ไม่สามารถฝืนสภาพปัจจัยพื้นฐานของตลาดได้ ใหญ่เท่าไหร่ก็ตามถ้าฝืนความจริงสุดท้ายก็ไปไม่รอด
ดังนั้น ถ้าเราซื้อขายแบบเก็งกำไร ดูเทคนิคทางสถิติของกราฟ เราจะมีโอกาสตกเป็นเหยื่อขาดทุนได้มาก แต่นักลงทุนแบบเก็งกำไรนี้ก็มีส่วนช่วยทำให้ตลาดเกิดสภาพคล่อง ซื้อขายหุ้นได้ง่าย
การซื้อขายหุ้นโดยดูปัจจัยพื้นฐานและลงทุนระยะยาวให้ผลดีที่สุด
3. นักลงทุนประเภทเก็งกำไรล้วน คือไม่ได้สนใจปัจจัยพื้นฐานอะไร เห็นหุ้นตัวไหนขึ้นก็เข้าไปซื้อ หุ้นตกก็แห่ขาย คนซื้อขายหุ้นประเภทนี้เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ เสี่ยงที่สุดและพฤติกรรมก็เริ่มมีส่วนคล้ายการพนัน ไม่ควรซื้อขายหุ้นแบบนี้
หมายเหตุ
อาตมภาพ ตั้งแต่ก่อนบวชจนถึงปัจจุบันไม่เคยซื้อหุ้นแม้แต่หุ้นเดียว ได้นำหลักการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ สภาพปัจจัยพื้นฐานรวมของตลาด และแนวโน้มในอนาคต มาถ่ายทอดแบ่งปันสู่ทุกท่านเพื่อจะได้ตั้งหลัก รับมือกับสถานการณ์ที่ร้ายแรงนี้ให้ได้ดีที่สุดเท่านั้น
การไม่โลภ ใช้สติและปัญญาตามหลักการในพระพุทธศาสนาจะให้ผลลัพธ์ดีที่สุด
1
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา