12 เม.ย. 2020 เวลา 15:18
สวัสดีครับ นักศึกษาวิชาชีวิตทุกท่าน วันนี้คาบเรียนที่ 4 ของวิชาสัตว์มหัศจรรย์แล้วครับ
ใครยังไม่ได้เรียนในคาบที่ 1, 2 และ 3 สามารถทบทวนวิชาได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้ นะครับ กับซีรี่ส์ ชุดสัตว์มหัศจรรย์
วันนี้ มาต่อกับเจ้าตัววายร้าย ที่จะไปปรากฏในนิยายหรือภาพยนตร์ต่าง ๆ อยู่เสมอครับ นั่นคือปลาหมึกสายหรือ Octopus นั่นเอง
ลำดับที่ 3. ปลาหมึกสาย (octopus)
ปลาหมึกสาย มีลักษณะลำตัวกลม คล้ายถุง ไม่มีครีบ มีรยางค์รอบปาก 4 คู่ ปุ่มดูด หมึกสาย จะมีความแตกต่างไปจากหมึกกล้วยหรือหมึกกระดองอย่างเห็นได้ชัดครับ เพราะมีส่วนหัวที่กลมยาวคล้ายลูกโป่ง หนวดมีทั้งหมด 8 เส้น และไม่มีหนวดเส้น ยาว 2 เส้นสำหรับจับเหยื่อแบบหมึกกล้วย ไม่มีครีบลำตัว แต่จะมีพังผืดเชื่อมต่อกันระหว่างหนวดแต่ละเส้น ในโครงสร้างของหมึกสายจะไม่มีแคลเซียมแข็งเป็นแกนกลางลำตัว เหมือนหมึกกล้วยหรือหมึกกระดอง ซึ่งทำให้ร่างกายของหมึกสายนั้นยืดหยุ่นตัวได้สูง หมึกสายจึงสามารถคืบคลานไปตามท้องทะเลได้อย่างคล่องแคล่วในธรรมชาติ
ภาพจาก https://www.scientificamerican.com
หมึกสาย เป็นหมึกที่อาศัยอยู่ตามลำพังไม่เป็นฝูงเหมือนหมึกกล้วยหรือเป็นคู่เหมือนหมึกกระดอง โดยหลบซ่อนตัวอยู่ตามรูหรือโพรงใต้น้ำ นอกจากนี้แล้ว ร่างกายของหมึกสายนั้นสามารถ ลอดรูเล็ก ๆ ที่มีความกว้างเพียงไม่กี่เซนติเมตรได้ เจ้าตัวนี้มีความยืดหยุ่นสูงมากครับ
จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ มันสามารถ ลอดรูเล็ก ๆ ได้ ด้วยการใช้หนวดวัดขนาดความกว้างของรู แล้วค่อยเอาหนวดทั้งหมดค่อย ๆ มุดรอดไป และส่วนหัวจะเป็นส่วนสุดท้ายที่จะมุดลอดออกมา แต่ต้องไม่น้อยกว่ารูที่มีความกว้างน้อยกว่าระยะระหว่างดวงตาทั้งคู่ของหมึกสาย ที่จะมีกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ระหว่างนั้น อีกทั้งหมึกสายยังสามารถที่จะคืบคลานไปมาบนบกได้ โดยอยู่ได้โดยปราศจากน้ำได้นาน ถึง 1 ชั่วโมง
หมึกสาย มีหัวใจทั้งหมด 3 ดวง และมีสมองแยกออกจากกันอยู่ในโคนหนวดแต่ละหนวดถึง 9 สมอง หนวดของหมึกสายนั้นมีประสาทสัมผัสและปุ่มดูดเรียงตัวกัน 1-2 แถว ประกอบด้วยกล้ามเนื้อเป็นจำนวนมาก หนวดจะเปลี่ยนไปเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ โดยเกิดเป็นลิ้นนำถุงน้ำเชื้อเข้าไปผสมกับไข่ของตัวเมียในตัวผู้เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งหนวดเส้นนี้ ของตัวผู้ในตอนปลายจะไม่มีปุ่มดูด อันเป็นลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเพศของหมึกสาย
เอาล่ะ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็เริ่มจะรำคาญผมกันอีกแล้วล่ะสิ แล้วเจ้าตัวนุ่ม ๆ หนวด ยาว ๆ นี่มันมหัศจรรย์ตรงไหน
มา ล้อมวงเข้ามาใกล้ ๆ ครับ เดี๋ยวจะเริ่มเล่าให้ฟังละ
ภาพจาก https://www.octolavb.tv
หมึกสายนั้น อยู่ตรงกลางของห่วงโซ่อาหารครับ เพราะมันกิน ครัสเตเชียน (สัตว์ในจำพวกกุ้ง กั้ง ปู) เป็นอาหารหลัก เช่น กุ้ง หรือปู แต่ก็เป็นอาหารของสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ ด้วยเหตุนี้ หมึกสายจึงต้องมีวิธีการป้องกันตัวที่หลากหลาย โดยสามารถที่จะเปลี่ยนสีผิวลำตัวได้อย่างรวดเร็ว ในบางชนิดผิวหนังสามารถที่จะมีติ่งหรือตุ่มผุดขึ้นมาเลียนแบบสภาพของพื้น ผิวทะเลได้ด้วย หรือในบางชนิดก็สามารถพรางตัวเลียนแบบสัตว์ชนิดอื่นได้อย่างหลากหลาย เช่น ปลาลิ้นหมา หรืองูสมิงทะเล ได้ด้วยครับ นี่มันนินจาแห่งท้องทะเลชัด ๆ
รวมถึงการพ่นหมึก ซึ่งเป็นสารประกอบเมลา มีน และสารเคมีอื่น ๆ ออกมาเหมือนกับหมึกทั่วไป หมึกของหมึกสายนั้นจะพ่นในลักษณะที่แตกต่างไปจากหมึกกล้วย
กล่าวคือ หมึกสายจะพ่นหมึกในลักษณะแบบม่านบังตาเพื่อ ไม่ให้ศัตรูเห็น แล้วหมึกสายก็จะพุ่งตัวหนีไปหลบซ่อนในโพรง แต่กับหมึกกล้วยซึ่งเป็นหมึกที่ว่ายน้ำอยู่กลางน้ำได้อย่างรวดเร็ว หมึกกล้วยจะพ่นหมึกออกมาในลักษณะของกลุ่ม หมึก และซ่อนตัวเองในกลุ่มหมึกนั้น เพราะไม่สามารถหาที่หลบได้เหมือนหมึกสาย
ภาพจาก Pinterest
เป็นไงล่ะครับ วิธีการหลบหนี ฉลาดพอ ๆ กับมนุษย์เลยนะครับ
ยังครับยังไม่พอ หมึกสายเป็นสัตว์ที่มีความฉลาดมาก จนได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีความเฉลียวฉลาดที่สุดในโลก จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์พบว่า หมึกสาย สามารถที่จะเรียนรู้การเปิดฝาขวดเพื่อจับอาหารได้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมมาจากการเรียนรู้มิใช่สัญชาตญาณ รวมถึงสามารถจดจำช่องทางที่จะหลบหนีออกจากที่คุมขังได้ด้วย
นอกจากนี้แล้ว ชาวประมงที่จับหมึกสายมาอย่างยาวนานยังรายงานว่า หมึกสายยังมุดเข้าไปในกรงที่เขาวางล่อเพื่อจับเหยื่อกินเป็นอาหารในหลาย ๆ กรง โดยใช้หนวดหนีบชิ้น ปลาซาร์ดีนติดตัวไปหลายชิ้น ก่อนที่จะเข้าไปกินอย่างสบายอารมณ์ในกรง ๆ หนึ่ง อีกทั้งหมึกสายในธรรมชาติ ยังเรียนรู้ที่จะมุดเข้าไปในกรงจับล็อบสเตอร์หรือกุ้งมังกรเพื่อที่ จะจับกินเป็นอาหารได้ด้วย แม้ล็อบสเตอร์จะหาทางออกไม่ได้ แต่หมึกสายสามารถที่จะมุดหนีออกมาได้อย่างไม่มีปัญหา
ภาพจาก YouTube
หมึกสาย เป็นสัตว์ที่มีวงจรชีวิตสั้น บางชนิดมีอายุแค่ 6 เดือน หรือ 1 ปี บางชนิดที่มีขนาดใหญ่อาจมีช่วงอายุถึง 5 ปี การตายของหมึกสายส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจาก ผสมพันธุ์กัน อีกแล้วครับ แต่คราวนี้เศร้ากว่า คือหมึกสายตัวผู้จะตายลง ขณะที่หมึกสายตัวเมียจะยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกราว 6 เดือน เพื่อดูแลไข่ โดยหมึกสายตัวเมียจะเป็นฝ่ายดูแลไข่ที่วางเรียงตัวไว้ใน โพรงหรือ ผนังถ้ำ โดยที่จะใช้หนวดพัดพาน้ำให้ไหลผ่านเพื่อรับออกซิเจนด้วย ตลอดระยะเวลานี้ หมึกสายตัวเมียจะไม่กินอาหารเลย และจะไม่อยู่ห่างจากไข่ จนกระทั่งไข่ฟัก เป็นตัว หมึก สายตัวเมียก็จะตายลง นี่คือชะตาชีวิตของเจ้าสิ่งมีชีวิตตัวนี้ ที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้จริง ๆ
แต่ถึงจะอายุสั้นแค่นี้ ผมให้ทุกท่านลองคิดดูเล่น ๆ ครับ ว่านอกจากฉลามกับจระเข้ และหอยแอมโมไนต์บางสายพันธุ์แล้ว มีสิ่งมีชีวิตใด ที่อยู่คู่โลกมานานนับล้านปีครับ ขนาดไดโนเสาร์ยังสูญพันธุ์ไปหมดแล้วเลย
ภาพจาก https://www.newstatesman.com/
เพราะพวกมัน ถูกค้นพบแล้วทั้งหมดมากกว่า 1,000 ชนิด แถมยังเป็นสัตว์ที่ถือกำเนิด มาแล้วถึง 550-600 ล้านปีก่อนนะครับ ทั้งหมดอาศัยอยู่ในทะเล กระจายพันธุ์ไปในท้องที่ต่าง ๆ ทั่วโลก หมึกสายเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลเป็นหลัก เช่น แนว ปะการัง บางชนิดพบในเหวลึกกว่า 5,000 เมตร ยิ่งลึกแค่ไหน ผมว่าโอกาสที่ร่างกายจะมีขนาดใหญ่โตขึ้น และมีความดุร้ายมากขึ้น ก็เป็นไปได้นะครับ
เจ้าสิ่งมีชีวิตแสนมหัศจรรย์นี้ แหละครับ อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิต ที่ปกครองท้องทะเลอยู่ก็เป็นได้
ความมหัศจรรย์ของมันสมองของหมึกสายก็คือ มันฝันด้วยนะครับ และเวลาที่ฝัน มันมีความแปลกประหลาดมากมายทางกายภาพ ที่เราเองยังต้องตกใจ เรามาดูกันครับ
อวัยวะพิเศษของหมึกนั้น นอกเหนือจากหนวด ที่มีสมองในแต่ละหนวด และยังกลายเป็นอวัยวะสืบพันธุ์เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์แล้ว ถุงน้ำหมึกก็เป็นอวัยวะเฉพาะอีกหนึ่งสิ่ง ที่พบในปลาหมึกเกือบทุกชนิด ยกเว้นปลาหมึกชนิด nautilus, finned octopus และปลาหมึกชนิดที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรที่มีความลึกมาก ๆ น้ำหมึกของหมึกจะมีสีน้ำตาลจนถึึงดำเข้ม ขึ้นอยู่กับชนิดของปลาหมึก การพ่นน้ำหมึกถือเป็นวิธีการขับไล่ศัตรูหรือเพื่ออำพรางตัวสำหรับหลบหนีศัตรู
ถุงน้ำหมึกนี้จะพบได้บริเวณช่องท้องตอนบนของลำไส้ ณ บริเวณด้านหลังของลำไส้ แต่ปลาหมึกปลาชนิดจะมีถุงน้ำหมึกฝังอยู่ในเนื้อเยื่อภายในตับ ภายในถุงน้ำหมึกบริเวณผนังถุงน้ำหมึกจะพบเซลล์ต่อมน้ำหมึกจำนวนมาก เซลล์เหล่านี้ทำหน้าที่ผลิตน้ำหมึกเก็บสะสมไว้ในถุงน้ำหมึก ส่วนน้ำหมึกที่พร้อมสำหรับพ่นออกทางทวารหนักจะอยู่บริเวณปลายท่อถุงน้ำหมึกใกล้กับบริเวณปาก
บริเวณปากของหมึกจะประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่สามารถบีบตัวได้จำนวน 1 คู่ (sphincter) ขณะที่หมึกพ่นน้ำหมึกออกจากทวารหนัก อวัยวะ sphincter จะบีบรัดน้ำหมึกเข้าสู่ลำไส้ และพ่นออกมาผ่านทางช่องทวารหนัก น้ำหมึกเป็นสารชีวโมเลกุลที่ประกอบด้วยเม็ดสีเมลานิน (malanin) และไทโรซีน (tyrosine) สำหรับปลาหมึกชนิด sepia จะมีเอนไซม์ที่สามารถเปลี่ยน ไทโรซีน (tyrosine) ไปเป็นเมลานิน (malanin)ได้ กระบวนการเปลี่ยนสารไทโรซีน (tyrosine) ไปเป็นเมลานิน (malanin) จะทำให้เกิดสาร 5,6-indolquinone ผสมอยู่ในน้ำหมึก
ภาพจาก Flickr
สารนี้สามารถออกฤทธิ์ทำให้ประสาทรับสัมผัสกลิ่นของศัตรูชาไปได้ชั่วขณะ และมีฤทธิ์ทำให้ตาของศัตรูเกิดการระคายเคืองด้วย ถือเป็นสารที่มีประโยชน์ของปลาหมึกสำหรับการไล่ การอำพราง และการหลบหนีศัตรูของปลาหมึก น้ำหมึกของปลากหมึกจัดเป็นสารย้อมผ้าที่มีความคงทนต่อกาล้างออกมาก หากมีการเปื้อนผ้าหรือไม้จะล้างออกได้ยาก ซึ่งในอดีตมีการนำน้ำหมึกมาใช้ประโยชน์เป็นสีวาดภาพ
เจ้าหมึกสาย คือสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์พยายามศึกษาค้นคว้าถึงความฉลาดในตัวมัน แต่นอกจากหมึกสายนี้แล้ว ความสามารถในการวิวัฒนาการทำให้มันยังมีอีก สองสายพันธุ์ ที่เรายังคงเรียนรู้ได้อีก
จะมีอะไรที่สัตว์มหัศจรรย์ชนิดนี้ ทำให้เราพิศวงได้ยิ่งขึ้นไปอีก โปรดติดตามต่อไป ในตอนหน้านะครับ
#เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด #และไม่ได้หยุดแค่ในห้องเรียน #DeMonstrationSchool

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา