22 เม.ย. 2020 เวลา 11:53 • ท่องเที่ยว
ซีรีย์บันทึกการเดินทางในพม่า
ตอน "ผจญภัยในรัฐฉาน (3)"
แม้ว่าเส้นทางจากเมืองล่าเสี้ยวสู่เมืองมัณฑะเลย์จะห่างกันเพียง 270 กิโลเมตร แต่เราต้องใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 10 ชั่วโมงเพราะสภาพถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ประกอบกับสภาพรถโดยสารเก่าทรุดโทรม รถโดยสารจะต้องวิ่งผ่านเมืองสีป้อ ซึ่งเราแวะพักก่อนเดินทางไปเมืองล่าเสี้ยวอีกครั้ง เมื่อทบทวนประสบการณ์ที่ได้รับจากทั้งสองเมืองรัฐฉาน ฉันรู้สึกถึงความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เมืองล่าเสี้ยวเป็นเมืองเศรษฐกิจอยู่ใกล้ชายแดนจีน ตัวเมืองเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องสมัยใหม่แบบย่านการค้าชาวจีน ขณะที่เมืองสีป้อเปรียบเสมือนฉากนวนิยายรักอิงประวัติศาสตร์ซึ่งมีเจ้าฟ้าจ่าแสง เป็นพระเอกและมหาเทวีอิงเง หรือทุซันตี สาวงามจากออสเตรียเป็นนางเอก ฉากสำคัญในเรื่องคือ หอหลวงสีป้อ วังเจ้าฟ้าไทใหญ่อันเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2467
เจ้าฟ้าจ่าแสงเดินทางไปศึกษาด้านวิศวกรรมที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงพบรักและอภิเษกสมรสกับมหาเทวีอิงเงโดยที่เจ้าสาวไม่รู้มาก่อนว่าเจ้าบ่าวเป็นเจ้าฟ้าไทใหญ่ ชีวิตของหญิงสาวสามัญชนจากโลกตะวันตกจึงพลิกผันกลายเป็นมหาเทวีของชาวเมืองสีป้อนับจากวันที่เธอเหยียบย่างบนแผ่นดินรัฐฉานแผ่นดินโลกตะวันออกที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน
ทว่า เรื่องราวความรักของทั้งคู่ไม่ได้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งเหมือนละครรักโรแมนติค หากจบลงด้วยความพลัดพรากขื่นขมอันเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชาวไทใหญ่และรัฐบาลพม่า หลังจากนายพลเนวินทำการรัฐประหารยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2505 เจ้าฟ้าจ่าแสงได้หายตัวไปอย่างลึกลับเช่นเดียวกับเจ้าฟ้าไทใหญ่องค์อื่น มหาเทวีอิงเงจึงพาธิดาทั้งสองคนหนีออกจากหอหลวงสีป้อลี้ภัยออกนอกประเทศเพื่อความปลอดภัย (ปัจจุบันพำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและจัดตั้งมูลนิธิเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากพม่าในชื่อ “Burma Lifeline”
ต่อมา หลานของเจ้าฟ้าจ่าแสง ชื่อว่า อูจ่า ได้เข้ามาดูแลวังนี้เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลพม่ายึดไปหาผลประโยชน์เหมือนกับหอหลวงอื่น ๆ ดังเช่นหอหลวงเชียงตุงกลายเป็นโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยว หรือหอหลวงยองห้วย กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เรียกเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวเข้ากระเป๋ารัฐบาลพม่า เป็นต้น วันที่ฉันเดินทางไปเมืองสีป้อเมื่อเก้าปีก่อน อูจ่า หรือลุงอูจ่ายังอาศัยอยู่ในหอหลวงแห่งนี้กับภรรยาชาวเชียงใหม่ ประตูหอหลวงยังคงเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างถิ่นเข้ามาเยี่ยมชมฟรี (รัฐบาลพม่าไม่ค่อยพอใจนักเพราะหากยึดเป็นของรัฐบาลจะสามารถเก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยวได้ไม่น้อย) ลุงอูจ่ามักเล่าประวัติหอหลวงพร้อม “สอดแทรก” ข้อมูลการกดขี่ชาวไทใหญ่ให้กับนักท่องเที่ยวฟัง
“รัฐบาลพม่าไม่อยากให้ลุงอยู่ที่นี่ เพราะกลัวลุงจะเล่าเรื่องปัญหาในพม่าให้โลกภายนอกรับรู้ แต่ลุงเป็นหลานเจ้าฟ้า ในกฎหมายอนุญาตให้ลูกหลานอาศัยอยู่ในหอหลวงได้ต่อไป หากลูกหลานลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ รัฐบาลก็จะยึดไปเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลทันที ลุงไม่อยากให้หอหลวงถูกยึดไป จึงยอมเสี่ยงอันตรายอาศัยอยู่ที่นี่”
ลุงอูจ่ายังเล่าให้ฟังว่า เขาเป็นหนึ่งในกรรมการร่างตำราเรียนไทใหญ่ระดับประถม เพื่อนำไปใช้สอนเด็กไทใหญ่ในช่วงปิดเทอมตามวัดหรือชมรมภาษาและวัฒนธรรมไทใหญ่ตามเมืองต่าง ๆ ในรัฐฉาน (รัฐบาลไม่อนุญาตให้สอนภาษากลุ่มชาติพันธุ์ในโรงเรียน) ตำราแต่ละระดับชั้นจะต้องผ่านการตรวจสอบหลายครั้งจากรัฐบาล ในเวลานั้น ตำราที่ผ่านการตรวจสอบแล้วมีถึงแค่ประถมห้าเท่านั้น ส่วนตำราสำหรับประถมหกอยู่ระหว่างการตรวจสอบเลยยังไม่ได้ตีพิมพ์ออกมา
ภาพครอบครัวเจ้าฟ้าจ่าแสงและเจ้านางอิงเง (เครดิตภาพจากอินเทอร์เน็ต)
ฉันรู้สึกประทับใจในความกล้าหาญของชายชราวัยหกสิบปีท่านนี้เป็นอย่างมาก เพราะขณะที่ลูกหลานเจ้าฟ้าส่วนใหญ่หวาดกลัวจนเลือกลี้ภัยไปอยู่นอกประเทศ แต่เขากลับเลือกอยู่ที่นี่เพื่อปกป้องหอหลวงของชาวไทใหญ่โดยมีชีวิตของตนเองเป็นเดิมพัน
ลุงอูจ่าพาเดินชมรอบ ๆ หอหลวงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวในอดีตให้เราฟัง หอหลวงในวันนี้ดูเก่าทรุดโทรมน่าใจหาย ฉันยังจำได้ถึงภาพวีดีโอสมัย พระธิดาทั้งสองพระองค์ยังเยาว์วัยกำลังเล่นน้ำในสระว่ายน้ำสีฟ้าใส แปลงทดลองเกษตรและสวนดอกไม้เบ่งบานสดชื่น แต่ภาพที่เห็นในวันนี้กลับมีเพียงตะไคร่เขียวเกาะอยู่ก้นขอบสระ สวนดอกไม้รกร้างไร้คนดูแล ชะตาชีวิตของมหาเทวีอิงเงดูช่างพลิกผันยิ่งกว่านวนิยายเพ้อฝันเรื่องใด ๆ
พวกเรากล่าวอำลาและขอบพระคุณลุงอูจ่าที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนไทใหญ่ให้เราฟังมากมาย ฉันได้แต่เฝ้าภาวนาขอให้ครอบครัวของท่านปลอดภัยรอดพ้นจากการคุกคามของรัฐบาลพม่าเพื่อบอกเล่าเรื่องราวให้โลกภายนอกรับรู้ต่อไป ทว่า หลังจากนั้นเพียงสามปี ฉันได้ทราบข่าวร้ายว่า ลุงอูจ่าถูกรัฐบาลจับกุมและตัดสินจำคุก 13 ปี เนื่องจากหน่วยข่าวกรองตรวจพบข้อความในสมุดเยี่ยมซึ่งเขียนโดยชาวต่างชาติว่า “ขอบคุณที่เปิดเผยความจริงกับเรา
” นับจากนั้นเป็นต้นมาประตูหอหลวงสีป้อจึงถูกปิดตายลง (ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลพม่าเริ่มกวาดล้างแกนนำทางการเมืองไทใหญ่หลายคน รวมทั้งขุนทุนอู หัวหน้าพรรคสันติบาตแห่งชาติไทใหญ่)
เราปิดท้ายค่ำคืนในเมืองสีป้อด้วยโปรแกรมสุดพิเศษ คือ
การเที่ยวงานปอยป่อโจ่ งานบุญประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของเมืองสีป้อ ซึ่งจะจัดตรงกับช่วงพระจันทร์เต็มดวงของเดือนสี่ตามปฏิทินจันทรคติ งานนี้จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ปอยเหลินสี่” หรือ “ปอยเดือนสี่”
(คำว่า “ปอย” เป็นภาษาไทใหญ่แปลว่า งานบุญ ส่วนคำว่า “ป่อโจ่” เป็นชื่อของวัดสถานที่จัดงาน) เนื่องจากวัดป่อโจ่อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณสิบกิโลเมตร พวกเราจึงต้องโบก “รถโดยสารท้องถิ่น” ซึ่งดัดแปลงจากรถแทรกเตอร์ไถนาตอนกลางวันเป็นรถพ่วงโดยสารตอนกลางคืน
ไม่กี่นาทีต่อมาพวกเราก็เดินทางมาถึงวัดป่อโจ่ เรารีบเดินเก็บภาพตามมุมต่าง ๆ ของงานก่อนตะวันตกดิน
บริเวณรอบโบสถ์เต็มไปด้วยเสื้อผ้าและเครื่องนอนกองหลบอยู่ตามมุมเสา คนเฒ่าคนแก่หลากหลายชาติพันธุ์กำลังจับจองพื้นที่สำหรับการนอนพักในค่ำคืนนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มีบ้านอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองหรือบนดอยสูงจะเตรียมความพร้อมสำหรับการพักแรมที่นี่ตลอดช่วงจัดงานเพราะการเดินทางไปมาลำบาก
ถัดออกไปบริเวณลานรอบนอกจะแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ ทั้งโซนสวนสนุก อาทิ ม้าหมุนรุ่น “ออโต้แฮนด์” หรือ พลังมืออัตโนมัติ หมุนและหยุดด้วยสองมือ ความเร็วขึ้นอยู่กับความแรงของการเหวี่ยง หากต้องการชนิดหวาดเสียว คนหมุนก็จะวิ่งไปหมุนไป จนวี้ดว้ายกันสนั่นค่อยปล่อยมือ หากต้องการให้ช้าลงเพียงแค่ดึงไปในทางตรงกันข้าม ความเร็วก็จะลดลงทันที นอกจากนี้ยังมีโซนสินค้าและบริการต่าง ๆ อาทิ บริการสักลายบนผิวหนังแบบโชว์ให้เห็นเลือดไหลออกมาซิบ ๆ ชนิดที่สตรีมีครรภ์ควรปิดตาเวลาเดินผ่านกันเลยทีเดียว โซนการแสดงแบ่งออกเป็นหลายเวที โดยมีเวทีหลักของ 3 กลุ่มชาติพันธุ์กระจายไปคนละมุม ประกอบด้วยเวทีชาวไทใหญ่ เวทีชาวปะหล่อง และเวทีชาวพม่า แต่ละเวทีใช้ “เสียงในฟิล์ม” ตามภาษาของชาติพันธุ์ตนเอง
บนเวทีชาวไทใหญ่ตอนที่เราเดินไปถึงกำลังมีการแสดงจ้าตไต หรือลิเกไทใหญ่ เนื้อเรื่องเกี่ยวกับจักรวงศ์ ๆ แบบละครไทย แต่ที่ล้ำหน้าไปกว่า คือท่ารำแบบ “โกอินเตอร์” เริ่มจากร่ายรำแบบตั้งวงแขนอ่อนช้อยแบบไทย ๆ สักพักจึงเริ่มเข้าสู่ท่าโมเดิร์นแดนซ์สะพานโค้ง ตามด้วยท่ายักคอยักไหล่แบบอินเดีย คนดูต่างเพลิดเพลินกรี๊ดกร๊าดปรบมือกันให้สนั่น เราสองคนได้รับเกียรติจากคณะจ๊าตไตอนุญาตให้เข้าเยี่ยมชมด้านหลังเวที แถมยังประกาศออกไมค์ให้คนดูรู้ว่า “วันนี้มีพี่น้องจากเมืองไทยมาเยี่ยมด้วย”
หลังจากสนุกสนานกับการแสดงนานาชาติบนเวทีไทใหญ่ เราก็ตามไปดูเวทีชาวปะหล่องกันต่อ เวทีนี้ทำให้เราต้องรำพึงออกมาเบา ๆ ว่า “จ๊าบ” จริง ๆ เพราะหนุ่มสาวประหล่องกำลังเดินแฟชั่นโชว์เครื่องแต่งกายประหล่องแบบประยุกต์ โดยนำลายผ้าพื้นเมืองของชาวปะหล่องมาตัดเย็บเป็นเสื้อ กระโปรง และกางเกงสมัยใหม่ ประดับด้วยกำไลข้อมือข้อเท้าเก๋ไก๋ โชว์แต่ละชุดเรียกเสียงวิ้วว้าวจากผู้ชมหนุ่มสาวกันอย่างครื้นเครง
เราปิดท้ายโปรแกรมท่องราตรีคืนนี้ด้วยเวทีชาวพม่า มองไปเห็นแต่หนุ่มสาวกำลังแดนซ์กระจายกับวงดนตรีวัยรุ่นสลับกับเสียงหัวเราะจากการแสดงตลกคาเฟ่ คืนนั้นฉันนั่งรถโดยสารกลับที่พักด้วยรอยยิ้ม และนอนหลับไปอย่างมีความสุข ก่อนที่จะตื่นมาพบกับเรื่องราวที่ทำให้ยิ้มไม่ออกและนอนไม่หลับไปอีกหลายวัน
รถโดยสารเคลื่อนตัวออกจากเมืองสีป้อมุ่งหน้าสู่ปลายทางเมืองมัณฑะเลย์ ฉันบอกลาเมืองแห่งความทรงจำอันแสนสุขอีกครั้ง คืนนี้ พวกเราต้องนอนพักที่เมืองมัณฑะเลย์เพื่อเปลี่ยนเส้นทางจากรัฐฉานภาคเหนือมุ่งหน้าสู่รัฐฉานภาคใต้ในวันรุ่งขึ้น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา