3 พ.ค. 2020 เวลา 06:14 • การศึกษา
ทำไม..พยายามฆ่าเหมือนกันแต่รับโทษไม่เท่ากัน?
พยายามกระทำความผิดอาจไม่ถูกกฎหมาย แต่พยายามพิชิตหัวใจจะผิดมากไหมถ้าฉันไม่ดีพอ.. 😝
วันนี้ขอเปิดตัวด้วยมุขเชย ๆ ของนักกฎหมายเพื่อขอเรียกยอด like และยอด love ซักหน่อยนะครับ
ตัดบทเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า...
ตามกฎหมายอาญานั้น หากผู้กระทำได้ลงมือทำความผิดแต่ทำไปไม่ตลอด
หรือทำแล้วแต่ไม่บรรลุผลตามที่ตั้งใจไว้
เราเรียกว่าการ "พยายามกระทำความผิด"
Cr. pixabay
ยกตัวอย่างเช่น คนร้ายจะขโมยรถมอเตอร์ไซค์ที่จอดไว้ ขณะที่กำลังขึ้นคร่อม เจ้าของผ่านมาเห็นพอดีจึงได้ตะโกนขอความช่วยเหลือ คนร้ายตกใจจึงทิ้งรถและวิ่งหนีไป
กรณีนี้ คนร้ายจึงมีความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ เพราะลงมือกระทำความผิดแล้วแต่ไม่บรรลุผล
แน่นอนว่าอัตราโทษระหว่างความผิดที่ทำสำเร็จไปแล้วกับพยายามกระทำความผิดนั้นย่อมแตกต่างกัน
เพราะความผิดที่สำเร็จไปแล้ว คนร้ายจะต้องรับโทษตามอัตราโทษที่กฎหมายเรื่องนั้น ๆ กำหนดไว้
แต่ถ้าความผิดนั้นไม่สำเร็จหรือที่เราเรียกว่าพยายามกระทำความผิด คนร้ายจะได้รับโทษน้อยลงกว่าที่กฎหมายกำหนด
แต่ก็มีบางครั้งที่การพยายามกระทําความผิดในเรื่องเดียวกัน แต่กฎหมายกลับลงโทษไม่เท่ากัน
สาเหตุเป็นเพราะอะไรนั้น ลองดูจากตัวอย่างนี้กัน
Cr. pixabay
ตัวอย่างที่ 1 คนร้ายวางแผนลอบยิงผู้เสียหายโดยจะใช้ปืนยิงที่หน้าบ้าน เมื่อผู้เสียหายเดินออกมาจากรั้วบ้านคนร้ายจึงเล็งปืนและเหนี่ยวไกยิง
ปรากฏว่าคนร้ายยิงไม่ถูกเลยซักนัด ผู้เสียหายไม่ได้รับอันตราย
กรณีนี้ ถือว่าคนร้ายได้ลงมือกระทำความผิดไปแล้วแต่ไม่บรรลุผล คนร้ายจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดดังกล่าว
Cr. pixabay
ตัวอย่างที่ 2 เหตุการณ์ดำเนินมาเหมือนกับตัวอย่างที่ 1 แต่แตกต่างกันตรงที่ขณะคนร้ายลั่นไกปืนนั้น กระสุนปืนกลับไม่ออกจากลำกล้อง ผู้เสียหายจึงไม่ได้รับอันตรายเช่นเดียวกัน
สาเหตุเป็นเพราะกระสุนปืนที่คนร้ายใช้ยิงนั้น เป็นกระสุนที่ดินปืนเสื่อมสภาพ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้เกิดระเบิดแล้วมีแรงดันส่งกระสุนปืนให้ไปถูกผู้เสียหายได้เลย
กรณีนี้ คนร้ายมีความผิดฐานพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเช่นเดียวกับตัวอย่างที่ 1 แต่ระวางโทษไม่เกินครึ่งหนึ่งของความผิดนั้น
Cr. pixabay
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยใช้ปืนยิงเหมือนกันแต่กลับรับโทษไม่เท่ากัน
โดยตัวอย่างที่ 1 ต้องรับโทษ 2 ใน 3 แต่ทำไมตัวอย่างที่ 2 ถึงรับโทษเพียงครึ่งหนึ่ง
คำตอบก็คือ เป็นเพราะกฎหมายกำหนดเอาไว้...
โดยปกติ อัตราโทษฐานพยายามกระทำความผิด กฎหมายกำหนดให้ผู้กระทำจะต้องรับโทษ 2 ใน 3 ของความผิดนั้น
แต่ถ้าการพยายามกระทำความผิดนั้น "ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยที่ใช้ในการกระทำความผิด.."
กฎหมายให้ถือว่าเป็นการพยายามกระทำความผิดเช่นเดียวกัน แต่ให้รับโทษไม่เกินครึ่งหนึ่งของความผิดนั้น
จากตัวอย่างที่ 2 เมื่อปรากฏว่าความตั้งใจของคนร้ายที่จะฆ่าผู้เสียหายไม่อาจสำเร็จได้อย่างแน่นอน เพราะสาเหตุจากอาวุธปืนซึ่งเป็นปัจจัยที่ใช้ในการกระทำความผิด (กระสุนด้าน)
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้แม้จะเป็นการพยายามกระทำความผิดในเรื่องเดียวกัน ผู้กระทำความผิดก็อาจรับโทษไม่เท่ากันได้นั่นเอง
อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 10519/2556
Cr. pixabay
references:
- กฎหมายอาญา มาตรา 80
"ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอดหรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลผู้นั้นพยายามกระทำความผิด...
...ต้องระวางโทษสองในสามส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"
- กฎหมายอาญามาตรา 81
"ผู้ใดกระทำการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่การกระทำนั้นไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการ
กระทำ...
ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิดแต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น.."
ยังมีช่องทางอื่น ๆ ให้ติดตามกัน 😉
- สำหรับเอาไว้อ่านบทความดีๆ Facebook.com/Nataratlaw
- สำหรับเอาไว้ดูรูปสวย ๆ กับอินโฟกราฟิก
- สำหรับสายย่อ เอาไว้รับข่าวหรือข้อกฎหมายแบบกระชับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา