13 พ.ค. 2020 เวลา 04:15 • การศึกษา
บ้านที่ไม่มีรั้วและหลังบ้านติดถนน คนร้ายต้องเข้าไปถึงจุดไหน และต้องเข้าไปทั้งตัวหรือไม่ จึงจะถือว่าบุกรุก?
ความผิดในข้อหาบุกรุกนั้น เป็นอีกฐานความผิดที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมักจะหยิบยกข้อต่อสู้แปลก ๆ มาเป็นประเด็นให้ได้ศึกษาอยู่เสมอ
ซึ่งบทความนี้ได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบุกรุกเคหสถานมาสรุปให้ฟัง 2 เรื่อง
เรื่องที่ 1 มีประเด็นที่น่าสนใจตรงที่ “เคหสถาน” ในคดีนี้มีบริเวณครอบคลุมแค่ไหน และตำแหน่งที่คนร้ายเข้าไปจะถือว่าเป็นความผิดบุกรุกแล้วหรือยัง?
ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า..
บ้านของผู้เสียหายไม่มีรั้วล้อมรอบ และบริเวณหลังบ้านอยู่ติดกับถนนส่วนบุคคล ประตูด้านหลังบ้านเป็นเหล็กดัด
มีพยานพบเห็นคนร้าย 2 คน อยู่ที่บริเวณประตูด้านหลังบ้านของผู้เสียหาย จึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมคนร้ายในเวลาต่อมา
ซึ่งคดีนี้มีปัญหาที่ต้องพิจารณาก็คือ บริเวณประตูหลังบ้านที่พยานพบเห็นคนร้ายทั้ง 2 ยืนอยู่นั้น ถือว่าเป็นการล่วงล้ำเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายอันจะเป็นการบุกรุกแล้วหรือไม่
เพราะตามกฎหมายนั้น คำว่า “เคหสถาน” นอกจากจะหมายถึง ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ยังหมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม
ดังนั้น แม้บ้านของผู้เสียหายจะไม่มีรั้วล้อม แต่จะถือว่าแนวฝาผนังและประตูเหล็กด้านหลังเป็นแนวเขตของเคหสถานไม่ได้
เพราะผู้เสียหายยังคงใช้ประโยชน์จากบริเวณรอบบ้านในการวางสิ่งของ เครื่องใช้ อีกทั้งด้านหลังยังมีโอ่งน้ำและถ้วยชามวางอยู่ และมีหลังคายื่นคลุมออกมา
การที่คนร้ายทั้ง 2 ไปอยู่ตรงบริเวณดังกล่าวย่อมต้องถือว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายแล้ว
เมื่อคนร้ายทั้ง 2 คนได้เข้าไปในขณะผู้เสียหายไม่อยู่บ้าน อีกทั้งยังเคยมีเรื่องบาดหมางกับผู้เสียหายมาก่อน จึงถือว่าไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย
คนร้ายทั้งสองจึงมีความผิดฐานบุกรุกเคหสถานโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9795/2552)
เรื่องที่ 2 ความผิดฐานบุกรุกโดย “เข้าไป” ในเคหสถานของผู้อื่นนั้น จะต้องเข้าไปทั้งตัวหรือไม่?
คดีนี้ ผู้เสียหายอยู่ในบริเวณรั้วบ้านของตัวเอง ส่วนคนร้ายยืนอยู่นอกบริเวณบ้านของผู้เสียหาย
คนร้ายได้ยื่นมือเข้าไปภายในบริเวณบ้านของผู้เสียหายเพื่อจับและฉุดกระชากลากตัวผู้เสียหายออกมาจากบริเวณบ้าน
ซึ่งศาลได้ตัดสินว่า การเอื้อมมือไปฉุดกระชากตัวผู้เสียหายแบบนี้ ถือว่าเป็นการ “เข้าไป” กระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขโดยใช้กำลังประทุษร้าย อันเป็นความผิดฐานบุกรุกแล้ว
(อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2768/2540)
สรุปว่า..
1. แม้บ้านจะไม่มีรั้วล้อมรอบ แต่ถ้าผู้เสียหายได้ใช้ประโยชน์ในบริเวณบ้านนั้น (ซึ่งอาจต้องดูเป็นกรณีไป) หากคนร้ายได้รุกล้ำเข้าไปในบริเวณดังกล่าว ก็อาจถือว่าเป็นความผิดฐานบุกรุกได้
.
2. การเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น หากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายของคนร้ายได้รุกล้ำเข้าไป และมีลักษณะเป็นการรบกวนแล้ว ก็อาจเป็นความผิดฐานบุกรุกได้เช่นเดียวกัน
1
References:
- กฎหมายอาญามาตรา 362 "ผู้ใด..เข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษ.."
- กฎหมายอาญามาตรา 364 "ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เข้าไป..ในเคหสถานของผู้อื่น ต้องระวางโทษ.."
- กฎหมายอาญามาตรา 365 "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 362,.. 364
(1) โดยใช้กำลังประทุษร้าย..
(2) ..โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ต้องระวางโทษ.."
ยังมีช่องทางอื่น ๆ ให้ติดตามกัน 😉
- สำหรับเอาไว้อ่านบทความดีๆ facebook.com/Nataratlaw
- สำหรับเอาไว้ดูรูปสวย ๆ กับอินโฟกราฟิก
- สำหรับสายย่อ เอาไว้รับข่าวหรือข้อกฎหมายแบบกระชับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา