5 พ.ค. 2020 เวลา 11:57 • ประวัติศาสตร์
ทำไม ข้าวโพด 2 ฝัก ภาษาอังกฤษพูดว่า 2 "ears" of corn ?
1.
คำว่า ear ใครๆก็รู้ว่าแปลกว่า “หู”
แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ลักษณะนามของฝักข้าวโพดในภาษาอังกฤษก็ใช้ว่า ear เหมือนกัน เช่น
ข้าวโพด 2 ฝัก ก็จะเรียกว่า 2 ears of corn
คำถามคือ ทำไมภาษาอังกฤษจึงเรียกข้าวโพดว่า ear ?
เชื่อว่าหลายท่านอาจจะกำลังพยายามคิดภาพว่า
ฝักข้าวโพดตอนอยู่บนต้น มันมีลักษณะเหมือนหูไหม? หรือตำแหน่งมันคล้ายหูไหม คำตอบคือ ไม่ใช่และไม่ใช่ครับ
เพราะคำว่า ear ที่ใช้เรียกฝักข้าวโพดนั้น มีรากที่มาของคำศัพท์ ต่างไปจาก ear ที่แปลว่าหูครับ
หรือพูดง่ายๆคือ คำว่า ear สองคำนี้ บังเอิญมาพ้องเสียงพ้องรูปกัน แม้ว่าทั้งสองคำจะเป็นคนละคำกันเลย
ส่วนจะเข้าใจเรื่องราวความเป็นของคำว่า ear ที่ใช้เรียกข้าวโพด
เราต้องย้อนประวัติศาสตร์กลับไปดูที่มาของคำศัพท์กันครับ
เราต้องเดินทางย้อนเวลากลับไปตั้งแต่โลกใบนี้ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าประเทศอังกฤษและภาษาอังกฤษ
2.
ประมาณ 6,000 กว่าปีที่แล้ว
โลกยุคนั้นยังไม่มีประเทศอังกฤษ ยังไม่มีอาณาจักรโรมัน ยังไม่มีนครรัฐกรีก
แต่โลกในยุคนั้นมีคนที่พูดภาษา ที่ทุกวันนี้เรารู้จักกันในชื่อว่า ภาษา Proto Indo-European (PIE)
เราไม่รู้ว่าภาษานี้จริงๆเป็นยังไง หรือคนที่พูดภาษานี้เป็นใคร
แต่เรารู้ว่าวัฒนธรรมของคนที่ใช้ภาษานี้ได้ขยายอิทธิพลไปกว้างไกลในทวีปยุโรปและเอเชีย
และภาษาของพวกเขาต่อมาก็วิวัฒนาการกลายมาเป็นภาษาต่างๆมากมาย
ที่ใช้กันในทวีปยุโรปและเอเชียทุกวันนี้
เมื่อใดก็ตามที่คนใช้ภาษา PIE เจออะไรที่ดู แหลมๆ ชี้ๆ หรือแม้แต่ยอดเขาสูง
พวกเขาจะบรรยายสิ่งนั้นว่ามัน *ak (อั๊ค พร้อมกับเสียง ค่ะ ในลำคอ)
หลายพันปีต่อมาภาษา PIE หายไปจากโลก
แต่ภาษาลูกหลานเหลนโหลนที่วิวัฒนาการมาจากภาษา PIE ยังคงอยู่
ซึ่งหนึ่งในภาษาที่มีรากมาจากภาษา PIE ก็คือภาษาอังกฤษ
3.
คำที่ออกเสียงว่า *ak จึงเป็นรากที่มาของคำศัพท์ภาษาอังกฤษหลายๆคำเช่น
คำว่า acme (แอคมี่)ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า จุดสูงสุด (เช่น ยอดเขาสูงสุด หรือประสบความสำเร็จสูงสุด)
acne (แอ็คเน่) ที่แปลว่า สิว (เพราะปูดแหลมขึ้นมา)
คำว่า acute (อะคิ้ว) ที่แปลว่า เฉียบพลัน รุนแรง ทำนองว่าปรี๊ดขึ้นมาในทันที เช่น acute pain แปลว่า เจ็บปวดเฉียบพลัน เจ็บรุนแรง
acupuncture มาจาก acu ที่แปลว่าแหลม + puncture ที่แปลว่าทิ่มแทง ซึ่งก็คือการฝังเข็ม
คำว่า acrophobia (อะโครโฟเบี่ย) ที่แปลว่า โรคกลัวความสูง ก็มาจาก acro ที่แปลว่า สูง กับ phobia ที่แปลว่า ความกลัว
คำที่มีความหมายว่าแหลมนี้ยังสามารถนำไปใช้บรรยายรสชาติได้ เช่น รสแหลม รสที่ทิ่มแทง คือ รสเปรี้ยว ส่วนสารที่มีรสเปรี้ยว มักจะเป็นสารจำพวก กรด เช่น กรดมะนาวจากมะนาว กรดส้มจากส้ม คำนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า acid (แอซิด) ที่แปลว่า กรด
ส่วนกลิ่นหรือรสที่แสบร้อนจนฉุนหรือแสบจมูก ภาษาอังกฤษเรียกว่า acrid (อะคริด)
ถ้าใช้คำนี้ไปบรรยายลักษณะของคน ก็จะได้คำว่า acer (เอเคอร์) ที่หมายถึง คนที่กระตือรือร้น วุ่นวาย แสบ เยอะ ล้น ๆ อะไรประมาณนั้น (ความหมายทั้งหมดจะเป็นไปในทางลบ) ก่อนจะถูกวิวัฒนาการกลายมาเป็นคำว่า eager (อีเกอร์) ในภาษาอังกฤษที่หมายถึง กระตือรืนร้น สนอกสนใจ เปี่ยมไปด้วยพลัง (ความหมายทางบวก)
ส่วนคนที่หัวไว ความคิดเฉียบแหลม เราจะบอกว่าเขาเป็นคน acumen (อะคิวเมน) หรือ acuity (อะคิวอีตี้)
เมื่อคำว่า acer (อะเคอร์) ที่หมายถึง เปรี้ยวในละติน กลายเป็น aigre (ออกเสียงประมาณว่า ไอเกรอะ) ในภาษาฝรั่งเศสโบราณ แล้วไปใช้ร่วมกับ คำว่า vin (วิน) ที่แปลว่า ไวน์หรือเหล้าองุ่น ก็จะได้คำว่า
vin + aigre (วิน ไอเกรอะ) ซึ่งก็คือ น้ำองุ่นที่หมักจนเปรี้ยว ก่อนจะกลายมาเป็น vinegar (วิน-เอการ์ หรือวิ-เนอการ์) ที่แปลว่า น้ำส้มสายชูในภาษาอังกฤษ
แม้ว่าทุกวันนี้น้ำส้มสายชูจะ ทำจากผลไม้อื่น ๆ นอกเหนือไปจากการหมักองุ่นแต่คำที่แปลว่า ไวน์องุ่น ก็ยังคงซ่อนตัวอยู่ในคำว่า vinegar ที่แปลว่าน้ำส้มสายชู
คำว่า อัคร ในภาษาไทยที่มีรากมาจากภาษาสันสกฤตแบบพระเวท ที่แปลว่า ยอด ชั้นเลิศ หรือสูงสุด ก็มีรากที่มาจากภาษา PIE ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างคำที่มีอัคร ได้แก่ อัคร ในคำว่า อัครมหาเสนาบดี เอกอัครราชฑูต หรือ อัครชายา เป็นต้น
คำข้างบนเหล่านี้เราพอจะเห็นได้ว่า *ak เป็นรากที่มาได้อย่างไร
แต่ก็มีคำบางคำที่การออกเสียงก็เพี้ยนไปจน ห่างไกลจาก *ak ไปมาก เช่น คำในสำนวนว่า to egg on
คำว่า egg ในสำนวนนี้ เช่น He egged on his friend ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ "ไข่"
แต่สำนวนนี้มีความหมายว่า กระตุ้น ปลุกใจ ให้ใครทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
คำว่า egg นี้มีรากที่มาจากคำโบราณของชาวนอร์ส (พวกไวกิ้ง) ว่า eggja
ซึ่งจะหมายถึงการกระตุ้นให้คนหนึ่งทำอะไร (ด้วยการใช้ปลายดาบกระทุ้งๆหรือแหย่ๆ)
ซึ่งคำนี้ก็มีรากที่มาจาก *ak ในภาษา PIE อีกต่อหนึ่ง
4.
แล้วก็วนกลับมาที่คำว่า ear ที่ใช้เป็นลักษณะนามของฝักข้าวโพด
คำว่า ear คำนี้ก็มีรากที่มาจากคำในภาษาโบราณของชาวนอร์สเช่นกัน
โดยมีรากมาจากคำว่า ax ที่ใช้เรียก ส่วนที่แหลมด้านบนสุดของธัญพืชต่างๆ
ต่อมาการออกเสียงคำว่า ax ก็ค่อยๆเพี้ยนไป
จนกลายมาเป็นคำที่ออกเสียงทำนองว่า อาร์ หรือ เออร์
หลายร้อยปีต่อมา เมื่อชาวยุโรปเดินทางสำรวจโลก
ก็ไปพบกับต้นไม้ที่ไม่เคยรู้จักมากมาย
หนึ่งในนั้นก็คือ พืชตระกูลหญ้า ที่มียอดปลายแหลมเป็นฝัก มีเนื้อข้างในเป็นเม็ดๆเรียงกันเป็นแถว
และด้วยเหตุนี้ ข้าวโพด ซึ่งมีลักษณะเป็นปลายแหลม
จึง มีลักษณะนามว่า ear เช่นที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ครับ
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
ถ้าอยากให้เตือนเมื่อผมลงบทความ คลิป หรือพอดคาสต์ที่ไหน ก็แอดไลน์ไว้ได้ครับ คลิกที่นี่ https://lin.ee/3ZtoH06
ถ้าชอบประวัติศาสตร์และรากที่มาของศัพท์ภาษาอังกฤษแบบนี้
แนะนำอ่านหนังสือ Bestseller ของผม 2 เล่ม
ทำไมเราเลี้ยง pig แต่กิน pork และ
ทำไมแฮมเบอร์เกอร์จึงไม่มีแฮม
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์ด้านล่างทั้ง 2 ครับ
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
หรือ
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา