พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ตรัสถึงการให้ทานว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเป็นการขจัดความตระหนี่ออกจากใจ จะได้เป็นบุญกุศลติดตัวข้ามภพข้ามชาติ เกิดมากี่ภพกี่ชาติจะได้ไม่ต้องลำบากในการทำมาหากิน จะได้สร้างบารมีได้อย่างสะดวกสบาย แล้วจึงตรัสเรื่องการรักษาศีล ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งมวลที่จะทำให้มีความสุข ความบริสุทธิ์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
จากนั้นทรงตรัสว่า เมื่อเราให้ทาน รักษาศีลเป็นประจำแล้ว จะเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ ซึ่งถ้ามีบุญมากก็เลือกเกิดได้ว่าจะไปอยู่สวรรค์ชั้นไหน ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิตา นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี เป็นสุขที่ยิ่งกว่าความสุขในโลกมนุษย์นี้มากมายหลายเท่านัก
ถึงกระนั้น พระองค์ยังชี้ให้เห็นว่า เหล่าเทวดาที่เสวยทิพยสมบัติในสวรรค์ ก็ยังตกอยู่ในอำนาจของกิเลส คือเบญจกามคุณเช่นกัน ยังพัวพันด้วยรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสต่างๆ มีโลภะ-โทสะ-โมหะ บีบบังคับอยู่ เมื่อถึงคราวหมดบุญก็ต้องจุติไปเกิดเป็นอย่างอื่นตามกำลังบุญ
เพราะฉะนั้นที่สรรพสัตว์พ้นทุกข์ไปไม่ได้ ก็เพราะมัวยึดติดอยู่กับเบญจกามคุณ ซึ่งเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า ที่ทำให้สรรพสัตว์หลงใหลเพลิดเพลินและประมาทในการแสวงหาหนทางพระนิพพาน
เมื่อยสกุลบุตร ส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ท่านเกิดปัญญาเห็นแจ้งไปตามความเป็นจริง เกิดความเบื่อหน่ายในกามทั้งหลาย พระพุทธองค์ทรงรู้ว่า ยสะมีใจผ่องแผ้วดีแล้ว จึงทรงชี้หนทางที่จะออกจากเบญจกามคุณว่า "บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง เป็นวิธีการที่จะทำให้ใจสงบจากกามคุณทั้งหลาย" เมื่อใจหยุดนิ่งย่อมไม่มีสิ่งใดที่จะมาทำให้ใจหวั่นไหว ใจจะมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
จากนั้น พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า พื้นฐานของมนุษย์ทุกคนมีทุกข์ทั้งนั้น สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ คือ ความอยาก ไม่ว่าจะเป็นกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา การจะดับตัณหาความทะยานอยากเหล่านั้นได้ ใจต้องหยุด ที่เรียกว่า นิโรธ แปลว่า ดับ...ก็ได้ แปลว่า หยุด...ก็ได้ เมื่อหยุดใจได้ถูกส่วน มรรคมีองค์แปด ประกอบกันเข้ารวมกันเป็นดวงใส บังเกิดเป็นดวงสว่างไสว เรียกว่า ปฐมมรรค เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน
ท่านยสะดำเนินจิตเข้าสู่ภายในเรื่อยไป ท่านรู้เองเห็นเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลย่อมมีความดับเป็นธรรมดา ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ต่อมาเมื่อได้ฟังธรรมซ้ำอีกครั้ง ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์