พระฤๅษีประสงค์จะให้พระอินทร์หมดข้อสงสัย จึงทูลขอพร ๔ ประการ คือ
๑.ขออย่าได้โกรธเคืองบุคคลอื่นไปจนตลอดชีวิต
๒.ขออย่าให้โทสะบังเกิดขึ้นในจิตใจแม้แต่น้อย
๓.ขอให้อย่าได้มีความโลภในทรัพย์สมบัติของผู้อื่น
และประการสุดท้าย ขออย่าให้เกิดความสิเน่หา คือ กำหนัดยินดีในเบญจกามคุณ
พระอินทร์ฟังคำขอพรดังกล่าว ยิ่งเกิดความสงสัยว่า "ทำไมพระฤๅษีจึงขอพรเช่นนี้ ท่านเห็นโทษในสิ่งเหล่านั้นอย่างไร"
พระฤๅษีจึงอธิบายว่า "คนมักโกรธเป็นผู้ไม่มีความอดทนในใจ ทำให้ไม่สามารถบังคับใจตนเองได้ ความโกรธจะเผาผลาญจิตใจของผู้โกรธ และเป็นเหตุให้ประทุษร้ายคนอื่น ความโกรธทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท มีความคับแค้นใจ เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบใจความโกรธ"
พระฤๅษีได้อธิบายพรข้อที่ ๒...ว่า "วาจาของผู้ที่ประกอบด้วยโทสะ เป็นวาจาหยาบคาย ไม่เป็นคำที่เป็นสาระ หาประโยชน์เกื้อกูลไม่ได้ ทำให้เกิดการลบหลู่ดูหมิ่นซึ่งกันและกัน จะส่งผลให้เกิดการรบราฆ่าฟันทำสงครามทำลายล้างกันในที่สุด ดังนั้นอาตมาจึงไม่ชอบโทสะ"
พรประการที่ ๓ พระฤๅษีอธิบายว่า "อาตมาไม่ชอบใจความโลภ เพราะความโลภก่อให้เกิดความเสียหายนานัปการ เป็นเหตุให้มีการปล้น การลักขโมย การปลอมแปลงเปลี่ยนของของคนอื่น ต้องหาอุบายล่อลวงเพื่อเอาทรัพย์สินของคนอื่นมาเป็นของตน บาปกรรมหลายอย่างล้วนมาจากความโลภเป็นเหตุ"
ส่วนพรข้อสุดท้ายนั้น พระฤๅษีอธิบายว่า "อาตมาไม่ชอบใจความกำหนัดยินดี ความสิเน่หาในเพศตรงข้าม เพราะกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย เมื่อถูกความสิเน่หาผูกมัดไว้ ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นออกจากภพสามไปได้ เป็นเหตุให้ต้องเดือดร้อนเวียนวนอยู่ในวัฏสงสารไม่มีที่สิ้นสุด"