13 พ.ค. 2020 เวลา 22:28 • ธุรกิจ
Literature of Life — วรรณกรรมแห่งชีวิต
Prologue
ความเดิมจาก Ep. ที่แล้ว ตอน “สุภาพบุรุษสวนกุหลาบฯ กับการตัดสินใจครั้งแรกของเด็กหนุ่ม” ผมสอบเทียบ ม.6 ได้ตอนยังเรียนอยู่ชั้น ม.4 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ และก็สอบเอนทรานซ์ได้ในปีเดียวกัน จึงทำให้ผมกลายเป็นที่เด็กเรียนเร็วกว่าเพื่อนร่วมรุ่นถึง 2 ปี จริงๆแล้วตอนที่ไปทดลองสอบปีนั้น ผมแค่ตั้งใจที่จะไปทำความคุ้นเคยบรรยากาศสนามสอบ จึงไม่ได้เตรียมตัวอ่านหนังสือสอบเลย (ก่อนเข้าห้องสอบยังเตะบอลพลาสติกเล่นกับรุ่นพี่สวนกุหลาบฯอยู่เลยครับ) ส่วนคณะที่ผมเลือก 4 อันดับคือ อักษรฯ-จุฬาฯ, นิเทศฯ-จุฬา, รัฐศาสตร์-ธรรมศาสตร์, และ เลือกมนุษยฯ-เกษตรฯ เอกวรรณคดีไทย ด้วยเพราะตอนนั้นเห็นว่าคะแนนที่เข้าได้ในปีก่อนหน้านั้น ไม่สูงมากนัก
ตัดภาพมาตอนประกาศผลเอนทรานซ์ ทุกคนคงพอเดาออกว่าผมสอบติด คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และตัดสินใจเข้าเรียนปีนั้นเลย และได้มาทราบภายหลังว่าผมสอบติดด้วยคะแนนต่ำที่สุดในรุ่นแบบตัดเส้นแดง แถมยังอายุน้อยที่สุด จึงเป็นที่กังวลใจของอาจารย์ที่ให้ผ่านการสัมภาษณ์ อย่างไรก็ตาม ในที่สุดผมก็ได้เป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้อย่างสมศักดิ์ศรีเทียบเท่าเพื่อนๆ เริ่มเรียนตรงกับปี พ.ศ. 2537 รหัสรุ่น KU 54
แง่คิดที่ได้จากการวางยุทธศาสตร์การศึกษาชาติ
พูดถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งนี้ ถือเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่เก่าแก่เป็นลำดับที่ 3 ของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2486 เพื่อสอนหลักสูตรด้านการเกษตร ถือเป็น 1 ใน 5 มหาวิทยาลัยเสาหลัก ตัวแทน 5 ศาสตร์วิชาหลักของชาติ
• ลำดับที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งปี พ.ศ. 2460 เพื่อฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน
• ลำดับที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งปี พ.ศ. 2477 เพื่อสอนด้านกฏหมายและการเมือง
• ลำดับที่ 4 มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งปี พ.ศ. 2486 เพื่อสอนด้านแพทยศาสตร์
• ลำดับที่ 5 มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อตั้งปี พ.ศ. 2486 เพื่อสอนด้านศิลปกรรมศาสตร์
ถือว่าครบเสาหลัก 5 ศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทยในยุคนั้น จากนั้นรัฐบาลก็เริ่มขยายการให้ความรู้ระดับอุดมศึกษาไปยังหัวเมืองใหญ่ของแต่ละภูมิภาค อันประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตามลำดับ
เมื่อย้อนมองไปดูการวางยุทธศาสตร์การศึกษาชาติในครั้งนั้น ทำให้ผมนึกถึงการวางยุทธศาสตร์ขององค์กรธุรกิจที่มีความคล้ายคลึงกัน เพราะก่อนที่ธุรกิจจะเติบโตและประสบความสำเร็จได้ ย่อมต้องสร้างเสาหลักที่แข็งแรงขึ้นค้ำยันอาคารไว้ ผมเรียกมันว่า Strategic Pillars ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างองค์กร หรือ Organization Structure หมายรวมถึง การจัดวางโครงสร้างทีมงานและการวางตัวผู้บริหารหลักให้เป็นที่เสาแข็งแรง ถือเป็นรากฐานธุรกิจ หรือ Buisness Fundamental ที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้เราสามารถขยายธุรกิจออกไปได้ทั้งแบบ Horizontal Integration (การทำธุรกิจเดิมแต่ขยายสาขาครอบคลุม) และแบบ Vertical Integration (การขยายไปทำธุรกิจใหม่เพื่อเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน) ไว้ผมจะมาเขียนอธิบายขยายความเรื่อง Business Expansion Strategy ให้ฟังกันอีกครั้ง
ขอเล่าถึงประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กันต่อ จากจุดเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นเพื่อสอนหลักสูตรจากด้านการเกษตร เช่น สาขาวนศาสตร์ และ ประมง ในเวลาต่อมา ก็มีการขยายสาขาวิชาให้มีความครอบคลุมศาสตร์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น อาทิ วิทยาศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, สังคมศาสตร์, และ มนุษยศาสตร์ซึ่งเป็นที่รักของผม ตัวคณะผมเองเวลานั้นก็มีหลักสูตรที่หลากหลายมาก สมกับชื่อการเป็น “ศาสตร์แห่งมนุษย์” อันประกอบด้วย ภาควิชา ภาษาศาสตร์ (ไทย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ญี่ปุ่น และจีน), ศิลปาชีพ, ดนตรีไทย/ตะวันตก, การท่องเที่ยว, การโรงแรม, การแปล, สื่อสารมวลชน (ปัจจุบันเรียก นิเทศศาสตร์), ปรัชญาและศาสนา, และวรรณคดีไทย/อังกฤษ ผมเองเลือกเรียน Major วรรณคดีไทย / Minor ภาษาอังกฤษ รุ่น ม.น.13
พระมหาเวสสันดรชาดก
ตอนเข้ามาเริ่มเรียนปี 1 ตัว จากเด็กสวนกุหลาบฯ ตัวอ้วนกลม ฉายา “ลูกตุ้ม” หนัก 75 ก.ก. ผมต้องรีบทำการลดน้ำหนักอย่างด่วนตอนช่วงปีเทอมปี 1 จนน้ำหนักเหลือ 57 ก.ก. เหตุผลไม่น่าเดายากครับ เด็กอ้วนเนิร์ดๆจากโรงเรียนชายล้วน มาเรียนในคณะที่มากกว่า 90% เป็นสาวๆ แถมขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในคณะที่สาวสวยที่สุดของมหาลัยฯ หลังจากความพยายามอย่างหนัก น้ำหนักผมลดลงไปเกือบ 20 ก.ก. ผมก็แปลงกายเป็น หนุ่มตี๋ ผอม อินเทรน และเริ่มหาแฟนกับเขาได้ซะที โดยเริ่มจากการหัดเล่นกีต้าร์ร้องเพลงจีบสาวตามใต้ถุนคณะก่อน ต่อมาก็มีแข่งจีบสาวกับเพื่อนบ้าง แอบจีบรุ่นเดียวกันบ้าง ชวนรุ่นน้องไปซ้อนท้ายจักรยานขี่ผ่าน Loving way ตามตำนานบ้าง จนเป็นเหตุให้อยู่มาวันหนึ่งตอนผมอยู่ปี 4 อาจารย์ชายที่สอนวิชาวรรณคดีท่านหนึ่ง ที่ผมเคารพรัก ก็แซวเรื่องความเจ้าชู้ไก่แจ้ของผม กลางคลาสเรียนวิชาของแก
“ทศพร เธอรู้ความหมายของชื่อเธอหรือเปล่า?” แกถาม
“พร 10 ประการ ครับ ผมรู้แค่ว่าเป็นชื่อที่คุณพ่อคุณแม่ให้พระตั้งให้ตั้งแต่เกิดครับ” ผมตอบ
“ครูว่าเธออาจเข้าใจผิดมาทั้งชีวิตเลยนะ จริงๆ ชื่อเธอมีความหมายว่า “ผู้สละได้ทั้งลูกและเมีย” เพราะ “ทศพร” คือชื่อกัณฑ์แรก (จากทั้งหมด 13 กัณฑ์) ของพระมหาเวสสันดรชาดก เป็นตอนที่พระนางผุสดีขอพร 10 ประการจากพระอินทร์ ก่อนจุติ (ตาย) จากสวรรค์ มาปฏิสนธิ (เกิด) เป็นพุทธมารดาของพระเวสสันดร ผู้มาเกิดเป็นชาติสุดท้าย (มหาชาติ) เพื่อบำเพ็ญบารมีสำคัญ คือ “ทานบารมี” ก่อนจะไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ตัวพระเวสสันดรสละทั้งลูกและเมียเพื่อบำเพ็ญทานบารมี ส่วนเธอก็สละสาวที่นั่งข้างๆ เปลี่ยนหน้าไม่เคยซ้ำ ทุกปีที่เรียนกับครูเหมือนกัน”
อืมมม… ฟังประวัติแล้ว น่าภูมิในชื่อของตัวเองสุดๆ เลยว่าไหมครับ คนวรรณคดีไทยเขาก็ยก “ชาดก” มาแซวกันขำๆ แบบนี้แหละครับ ธรรมด๊า! (ฮา)
(ภาพของผม สมัยยังเป็นหนุ่มตี๋ อินเทรน ถ่ายในวันรับพระราชทานปริญญาบัตร ตรงทางเดินจากคณะไปบาร์ใหม่)
Literature and Life
หลายคนอาจสงสัยว่าเรียนภาควิชาวรรณคดีไทยแล้วจบไปทำงานอะไร? (อันนี้ท่านสามารถย้อนกับไปดูประวัติการทำงานของผมโดยสังเขปได้จากคำนำของ Series นี้) เรียนวรรณคดีไทยแล้วได้อะไร? ผมขอตอบประโยชน์จากการเรียนสาขานี้ไว้ดังนี้ครับ:
• From Memory to Imagination — เรื่องความจำต้องยกให้เด็กเมเจอร์นี้ มีอยู่ครั้งหนึ่งในการสอบปลายภาคแบบอัตนัย (ข้อเขียนแบบปิดหนังสือ) ผมต้องจำบทร้อยกรอกไว้ในหัวมากกว่า 25 บท เพื่อยกตัวอย่างฉันทลักษณ์ทั้ง 7 ชนิด (คือ โคลง, ร่าย, ลิลิต, กลอน, กาพย์, ฉันท์ และ กล) เพื่อเขียนยกตัวอย่างพร้อมคำอธิบาย ถือว่าใช้สมองทุกเซลล์ได้พีคสุดในชีวิต ต่อมาการสอบที่น่าจดจำอีกครั้งหนึ่งคือ วิชา วรรณคดีสมัยสุโขทัย ผมได้เรียนกับ ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ใจดีและเอ็นดูผมมากที่สุดท่านหนึ่ง ก่อนสอบมีรุ่นพี่ๆบอกโพยข้อสอบปีก่อนว่า อาจารย์มักจะให้วาดภาพ จักรวาลจากวรรณคดีไตรภูมิพระร่วง ซึ่งต้องใช้จินตนาการแปลงตัวอักษรที่อ่านให้เป็นภาพในหัว และแน่นอนผมเลยฝึกซ้อมวาดไว้ก่อนล่วงหน้า ทุกคนลองนึกภาพตามนะครับ เริ่มจากนึกภาพจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุอยู่ตรงกลาง ล้อมไปด้วยเทือกเขา 7 เทือกเรียกว่า สัตตบริภัณฑ์ตั้งอยู่กลางป่าหิมพานต์ และทิศทั้ง 4 ทิศ จะมีทวีป ที่แต่ละทวีปจะมีมนุษย์ที่มีรูปลักษณะต่างกันอาศัยอยู่ ได้แก่ อุตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือ, บูรพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออก, อมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตก และ ชมพูทวีป อยู่ทางทิศใต้ แต่พอสอบจริง อาจารย์เปลี่ยนโจทย์ข้อสอบโดยให้วาดรูป “ป่าหิมพานต์” แทน แต่แม้โพยจะพลิก แต่วิชานี้ผมก็สอบได้ A นะครับ ดังนั้นความสามารถในการจดจำ และการใช้จินตนาการ จึงเป็นจุดเด่นของเด็กวรรณคดีไทยอันดับต้นๆเลยทีเดียว ตอนทำงานจริงผมเป็นคนจำแม่นมาก ทั้งตัวเลข ทั้งการติดตามงาน จินตนาการขนาดตลาด ขนาดช่องทางการขาย เป็นภาพแผ่นที่ ภาพ Dashboard อยู่ในสมอง หลายต่อหลายครั้งมันช่วยสร้างความประทับใจให้ทั้งเจ้านาย ลูกน้อง และลูกค้า
• From Historian to Storyteller — การได้เรียนวรรณคดีในแต่ละยุค ตั้งแต่สมัยสุโขทัย, อยุธยา, ธนบุรี, รัตนโกสินทร์ จนถึง วรรณกรรมร่วมสมัยในปัจจุบัน ทำให้ผมได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบเชิงลึกไปในตัว ในมุมมองที่ไม่เหมือนนักประวัติศาสตร์ หากผมได้มีโอกาสนำคุณเที่ยว โบราณสถาน ผมจะสามารถเล่าโยงเรื่องของสถาปัตยกรรม ปราสาท พระปรางค์ต่างๆ กับเรื่องไตรภูมิ ได้สนุกกว่าใครเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ เด็กวรรณคดีไทยจึงเป็นนักเล่าเรื่องตัวยง ที่มีทักษะการใช้ภาษาที่ดีเยี่ยมในการ ฟัง พูด ถาม เขียนได้ดี ผมว่าทุกอาชีพในปัจจุบันทุกคนต้องเป็น Storyteller ไม่ว่าพรีเซนต์งานให้น่าฟัง ขายสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม เขียนข่าวประชาสัมพันธ์สร้างแบรนด์ แม้แต่การเขียน Blog แบบนี้ การรู้ลึกและมีทักษะการเล่าเรื่องที่ดียอมได้เปรียบคนอื่น
• From Literary Criticism to Read One’s Mind — ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้ที่ชอบเสพวรรณศิลป์ ของ เหล่าปรมาจารย์นักเขียน, กวีซีไรต์, และศิลปินแห่งชาติอย่าง กวีนิพนธ์ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ และ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, หนังสือของ รงค์ วงษ์สวรรค์, นวนิยายของ ชาติ กอบจิตติ, หรือ เรื่องสั้นของ วินทร์ เลียววาริณ โดยงานครูเหล่านี้ผู้เขียนมักไม่ได้สื่อสารกับเราแบบตรงไปตรงมา งานเขียนมักซ่อนความหมายต่างๆไว้ ให้ได้คิด ได้วิเคราะห์ คนอ่านต้องมองทะลุตัวอักษรไปหาสารที่นักเขียนต้องการสื่อจริงๆ ต่อผู้อ่าน ต่อสังคม การฝึกฝนวิจารณ์วรรณกรรมบ่อยๆ ทำให้ผมเป็นคนช่างสังเกต ละเอียดอ่อน นำเทคนิคการวิเคราะห์หนังสือ มาวิเคราะห์คนรอบตัว มองทะลุเปลือกนอก ไปเห็นจิตใจ และตัวตนที่แท้จริงของคนที่ได้พบ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มาสัมภาษณ์งาน เจรจาการค้า เจ้านาย-ลูกน้อง ก็ต้องอ่านทุกคน เหมือนหนังสือ ผมเชื่อว่าสิ่งนี้ทำให้เด็กวรรณคดีไทยมีความพิเศษกว่าคนอื่นในแง่ Interpersonal skills
• From Happy-go-lucky to Perseverance — หลายคนอาจมองว่าเด็กที่เลือกเรียนวรรณคดีน่าจะเป็นสายชิลล์ ชอบอยู่กับสายลมแสงแดด เป็นคนประเภทสุขนิยม แต่ผมจะบอกว่า เรามีนิสัยแบบ Thailand only เหมือนเพลงชาติท่อนที่ว่า “ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด” ยังไงอย่างงั้น มีบทพิสูจน์เล็กๆ พอจะยกตัวอย่าง ได้เรื่องหนึ่ง หากคุณถามว่าวิชาไหนที่เด็กมนุษยฯกลัวที่สุด มีคำตอบเดียวนั้นคือ วิชาสถิติ หรือ Statistic 101 วิชาเลขภาคบังคับตัวเดียวที่เด็กสายศิลป์ต้องเผชิญ ผมได้ยินกิตติศัพท์จากรุ่นพี่เรื่องติด F ติด W (ไม่ผ่านและขอดร็อป) ของวิชานี้ แต่ก็ไม่ค่อยเชื่อจนได้มาเจอกับตัว ปรากฏว่าเรียนครั้งแรกคะแนนสอบกลางภาคออกมาต่ำมากจนต้องขอดร็อปไปตั้งหลัก โดยปฏิญาณกับตัวเองว่าจะลงซัมเมอร์อีกครั้งเพื่อแก้ตัว และผมต้องไม่ใช่แค่ผ่าน แต่ต้องผ่านด้วยเกรด A ด้วย ซึ่งมันถือว่าแทบจะเป็นการตั้งเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ด้วยความตั้งใจทุ่มเทใช้ทั้งสติและปัญญาที่มี ผลลัพธ์คือผมได้ A วิชานี้ในที่สุด และในชีวิตต่อๆมา ผมก็ท้าทายตัวเองแบบนี้เมื่อเจออุปสรรคที่ยากจะผ่านไปได้ หลายครั้งทำในสิ่งที่หลายคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นจริงได้แทบทุกครั้ง เป็นชีวิตแบบ Nothing is Impossible ที่แท้ทรูครับ
SOTUS
อีกหนึ่งเรื่องที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้สอนผมคือระบบ “SOTUS” ระบบการรับน้องแบบเข้มข้น ระดับระเบิดภูเขาเผากระท่อม มีจุดกำเนิดมาจากโรงเรียนกินนอนของประเทศอังกฤษ เพื่อปลูกฝั่งระเบียบวินัยให้กับน้องใหม่ ซึ่งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเชิงลบและบวกต่อระบบนี้ คหสต ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่ที่คนปฏิบัติ ว่านำมันมาใช้อย่างถูกเจตนารมณ์ หรือถูกวิธีหรือไม่ ก่อนจะคิดไปไกล ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมกันก่อน คำว่า “SOTUS” นั้นย่อมาจาก:
• Seniority — การเคารพผู้อาวุโส
• Order — การปฏิบัติตามระเบียบวินัย
• Tradition — การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี
• Unity — การมีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว
• Spiri t — การมีน้ำใจ
สมัยนั้นผมเป็นทั้งผู้ถูกว๊ากตอน Freshy ปี 1 และเป็น พี่ว๊ากเกอร์ ในปีต่อๆมา ขณะที่หลายคนคิดว่าระบบนี้ช่างเป็นการรับน้องที่แสนโหด ผมอยากหยิบเอามุมมองในแง่ดีๆ ให้ท่านเห็นถึงความน่ารัก ความหวังดี ความทุ่มเท ของรุ่นพี่ที่ต้องการปลูกฝังความสามัคคีมีน้ำใจ และฝึกฝนวินัยให้กับรุ่นน้อง โดยการจำลองสถานการณ์ให้น้องๆได้เจอความยากลำบาก ความกดดัน ความขัดแย้ง ที่ทุกคนต้องเจอในอีก 4 ปีข้างหน้าที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ไม่สิ… เราทุกคนต้องเจอบททดสอบแบบนี้ไปอีกหลายครั้งในชีวิตจากคนในครอบครัว, คนรอบตัวในสังคม, ในที่ทำงาน, แม้แต่ใน Social (media) และบางครั้งในชีวิตจริง คนเหล่านั้น อาจจะไม่ได้มาตะโกนต่อหน้า, ให้วิดพื้น, ลุกนั่ง, หรือแทงปลาไหล แบบที่พี่ๆว๊ากเกอร์ให้ทำด้วยความหวังดีก็เป็นได้
Connecting another dot
ในที่สุด 4 ปีอันแสนจะมีคุณค่าในรั้วมหาวิทยาลัยก็ผ่านไป จากเด็กคะแนนที่โหล่ตอนสอบเข้า ผมจบด้วยเกรดเฉลี่ย 3.25 พอดิบพอดี ได้เกียรตินิยมอันดับ 2 และพร้อมแล้วที่จะออกไปค้นหาความหมายของชีวิตด้วยวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา…
และแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปอีกเกือบ 20 ปี ผมได้กลับมาเยือนคณะมนุษยศาสตร์อีกครั้ง ครั้งนี้มาเพื่อรับรางวัล ศิษย์เก่าดีเด่น พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรางวัลที่ผมภูมิใจที่สุดในชีวิต ในบทความถัดไป ผมจะเริ่มเล่าถึงการเริ่มต้นชีวิตจริงในวัยทำงานที่ความสนุกท้าท้ายและเข้มข้นขึ้น ก็อยากให้ทุกคนผูกปิ่นโต กด subscribe ติดตามกันต่อไปนะครับ
Let the adventure begin!
(ภาพตอนรับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2560 ถ่ายร่วมกันคณาจารย์สาวสองพันปีที่รักและเคารพประจำภาควิชาวรรณคดีไทย)
Rule of Thumb ที่นึกถึงขณะเขียนบทความนี้คือ:
Strategic Organization Roadmap
Business Expansion Strategy
The art of storytelling
Grit: The power of passion and perseverance

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา