14 พ.ค. 2020 เวลา 03:20 • ธุรกิจ
The Role Models — ใช้ชีวิตอย่างคนต้นแบบ
พวกเราหลายคนเมื่อทำงานหน้าที่เดิมๆได้สักพัก ก็จะเริ่มแก่วิชา มีความเชี่ยวชาญ หรือ “เก๋า” ในงานที่ทำ ก็มักจะประสบพบเจอปัญหาคล้ายๆกัน นั่นคือ เจ้านายที่เคยจ้ำจี้จ้ำไชก็เริ่มไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่มาล้วงลูก ไม่ค่อยมาสั่ง หรือมาติชม เหมือนสมัยเราเด็กๆ หนักกว่านั้น บางคนเก่งขึ้นจนบริษัทบอกว่าไม่ต้องมีหัวหน้างาน หรือได้โอกาสโปรโมทขึ้นมาเป็นหัวหน้าซะเอง จังหวะคาบลูกคาบดอกแบบนี้เรามักเกิดปัญหาจากอาการเดียวกัน เรียกว่า “เคว้ง!” เพราะไม่มีคนมาคอยนำ คอยแนะ ไม่รู้จะจัดการกับชีวิตยังไงต่อดี
ช่วงนี้ผมมีน้องเก่งๆ หลายคนมาปรึกษาปัญหานี้ คำตอบที่ผมให้ไปคือ ไปหาหนังสือมาอ่าน ไปลงเรียนเพิ่ม และ หา Role model(s) หรือ “คนต้นแบบ” ของตัวเองให้เจอ ตัวผมเองหลังเรียนจบทำงานมา 20 ปี ได้ร่วมงานกับคนเก่งๆ มากมาย ยิ่งบริษัทที่เราทำงานด้วยดีมากเท่าไหร่ เขาจะสามารถจ้างคนเก่งๆ ระดับเทพๆ มาร่วมงานกับเราได้มากเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่คนเก่งระดับเทพทุกคนจะเป็น Role model ของเราได้นะครับ มันไม่ได้มีกฏเกณฑ์ตายตัว ไม่มีใครแต่งตั้งตัวเองเป็น Role model ได้ ต้องให้คนอื่นมาบอก มาเลือกเราให้เป็น “คนต้นแบบ” ของเขา สำหรับผมชีวิตการทำงานถือว่าโชคดีมากที่ได้ทำงานกับคนระดับ Living Legend บุคคลที่เก่งระดับตำนานหลายคน ผมจึงมีโอกาสเลือก “คนต้นแบบ” ของผมในศาสตร์แขนงต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เราลอกเลียนแบบ ความรู้ แนวคิด ตรรกะในการตัดสินใจ ของคนเหล่านี้ แล้วมาปรับใช้และพัฒนาตนเอง
ย้อนไปช่วงปี พ.ศ. 2544 ถึง 2547 ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับ คุณเล็ก ชาญกิจ ยงปิยะกุล ที่บริษัทชื่อ เซอร์เคิล ออฟ เอเชีย ซึ่งเป็นบริษัท e-Commerce ทำธุรกิจให้บริการด้านการท่องเที่ยวในยุคบุกเบิก คุณเล็ก เป็น GM หนุ่ม จบจาก DC เคยเป็นผู้บริหาร รอยเตอร์ ประเทศไทย รับผมมาทำหน้าที่ดูแลด้านการตลาดออนไลน์ SEO/SEM บนกูเกิ้ล Adwords นอกจากหน้าที่หลักแล้ว คุณเล็กสอนผมอีกหลายเรื่องเป็นสรรพวิชาพื้นฐาน 101 ที่ทำให้ผมขยาย Skill sets ออกไปหลากหลายอย่างไม่รู้ตัว อาทิ
• สอนหลักการถ่ายภาพ การวางองค์ประกอบภาพแบบ Rule of Thirds หรือ จุดตัด 9 ช่อง แล้วแกก็มอบกล้องไลก้าหนึ่งตัวให้ไปออกภาคสนามเดินทางไปทั่วประเทศไทย และอินโดไชน่า เพื่อถ่ายภาพมาประกอบการทำ Contents ของเว็บไซต์บริษัท
• สอนใช้งานโปรแกรม Adobe Photoshop และ Illustrator แล้วให้ลองออกแบบสื่อโฆษณา Printed Ads และรับออกแบบเว็บไซต์ให้หลากหลายองค์กร จนผมสามารถรับงานฟรีแลนซ์ออกแบบสื่อโฆษณาเล็กๆน้อยๆเองได้
• สอนทำ Business Development ออกไปประสานงานกับองค์กรต่างๆ หาพันธมิตร จับแพะชนแกะ สร้างแพ็คเกจ สินค้าและบริการใหม่ ยุคนี้คงเรียกว่า X หรือ “Collab(oration)” กันสนุกสนาน
• สอน Microsoft Office 101 ทั้ง สร้าง format เอกสารบน MS Word, สูตร formula และ format มากมาย จนถึง Pivot table บน MS Excel, และ การทำพรีเซนต์งานบน MS PowerPoint
• สอน Basic Color Theory เทคนิคการ จับคู่สีจากคู่สีที่เห็นในธรรมชาติ โทนร้อน/เย็น Do & Don’t
• สอน การออมและการลงทุน 101
• สอนและชักชวนให้ผมร่วมก๊วนตี Squash ในยุคสมัยที่ยังไม่มีคนโปรโมทเรื่อง Work-life balance
ในวันนั้นเด็กหนุ่มธรรมดาก็แค่ตื่นเต้นกับความรู้ใหม่ๆที่คุณเล็กสอน ไม่รู้เลยว่าความรู้พื้นฐาน 101 ทุกเรื่อง มันมีค่า และมีประโยชน์ในการทำงานของผมไปทั้งชีวิต หากไม่ได้ร่วมงานกับคุณเล็กในวันนั้น ก็คงไม่มีผมในวันนี้ ผม คนที่เวลาต่อมาน้องๆเรียกว่าเป็นเทพ MS Excel กับ PowerPoint, ผม คนที่คอยให้คำแนะนำกับ Graphic designer ให้แก้งาน, ผม คนที่ชอบถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ, และผม คนที่คอยสอนวิชา 101 ให้กับคนอีกเป็นร้อยเป็นพันคน แบบที่แกเคยสอน พูดได้เต็มปากว่า คุณเล็ก คือ Role model ของ การ Coaching สังเกตความชอบ และให้โอกาสคนได้ค้นพบศักยภาพของตัวเองที่ซ่อนอยู่
ต่อมา ผมย้ายจากบริษัทเซอร์เคิล ออฟ เอเชีย มาร่วมงานกับบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคทรอนิคส์ ระหว่างปี พ.ศ. 2547 ถึง 2554 ที่นี่ผมได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่หลากหลายตำแหน่ง ตั้งแต่ดูแลเว็บไซต์ของบริษัท, ดูแลเรื่อง Supply Chain, การอบรมพนักงานขาย, การตลาดค้าปลีก, การบริหารช่องทางการขาย, ไปจนถึงเป็น ฝ่ายขายดูแล Key Account
ป๋าอาณัติ จ่างตระกูล เป็น Corporate Vice President ของบริษัทฯ ถึงแม้ว่าผมจะไม่มีโอกาสรายงานขึ้นตรงกับแก แต่ได้เรียนรู้ความสอนดีๆ หลายต่อหลายเรื่องจากผู้บริหารระดับ Heavyweight ในตำนานของซัมซุงท่านนี้อยู่บ่อยครั้ง ป๋าอาณัติเป็นศูนย์รวมจิตใจของทีมขายเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกคนทุกระดับชั้น แบบสั่งขวาหัน-ซ้ายหันได้ ลูกค้าทั่วประเทศก็เคารพรักแกอย่างยิ่ง ป๋าใช้วิธีสอนคนแบบทำตัวให้ดูเป็นแบบอย่าง ในยุคนั้นเซลล์จากซัมซุงมีความแตกต่างและโดดเด่นในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในด้านที่ดีมากมาย ยกตัวอย่างเช่น
• การมีกิริยามารยาท ความอ่อนน้อมถ่อมตน การใช้ภาษาที่ดีทั้งไทย และอังกฤษที่ต้องถูกแกรมม่า แสดงถึงความตั้งใจในการขายและดูแลลูกค้า
• เซลล์ที่นี่ถูกฝึกฝนในการเตรียมข้อมูลลูกค้าให้ผู้บริหารระดับสูงให้ได้ทราบก่อนเข้าพบแบบ Top-to-Top meeting โดยเซลล์จะพิมพ์ข้อมูลเป็นรูปเล่มแบบ Pocket book บรีฟข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับลูกค้าแต่ละรายไว้ ไม่ใช่แค่ยอดขาย ผลประกอบการ ส่วนแบ่งการตลาด หรือเรื่องที่ต้องติดตาม แบบบริษัททั่วๆไป แต่จะมีข้อมูลของ ลูกค้าผู้มีอำนาจตัดสินใจทุกคน ตั้งแต่ ชื่อเล่น ลักษณะนิสัย ความชอบ งานอดิเรก กีฬาโปรด ทีมโปรด ฯลฯ ทุกข้อมูลที่จะช่วยให้ผู้บริหารซัมซุง พูดให้ลูกค้าประทับใจได้อีกด้วย
• เวลาไปตรวจตลาดต่างจังหวัด แกยังสอนให้ดูเซลล์ว่าเก่งและมีไหวพริบที่ดีหรือไม่ จากการเลือกร้านอาหารที่ทีมงานจะแวะพักแวะรับประทาน ว่าเลือกได้ดีเหมาะสมกับกาลเทศะหรือไม่ เพราะเป็นตัวชี้วัดได้ว่าเซลล์เราจะดูแลลูกค้าเราอย่างไร
• เซลล์ซัมซุงที่ใกล้ชิดป๋าทุกคน จะถูกปลูกฝั่งให้แต่งตัวดีมาก ผูกเนคไทมียี่ห้อ ใส่เสื้อเชิ๊ตขาวติดกระดุมข้อมือแบบ Cufflink กางเกงสแล็ค การแต่งตัวดีเป็นการให้เกียรติลูกค้า ยกระดับแบรนด์ซัมซุงให้พรีเมี่ยม มีคำพูดหนึ่งที่แกสอนผมแบบทีเล่นทีจริงเรื่องการแต่งกายดีๆที่อาชีพเซลล์ถือเป็นการลงทุนว่า “ลองไปหาเนคไท Hermes มาใส่สักเส้น ยังคุ้มกว่าการไปซื้อเนคไททั่วไป 10 เส้น” คุณภาพย่อมดีกว่าปริมาณเสมอ ฉะนั้น เราไปให้สุด หยุดที่ Hermes (ฮา)
• อีกเรื่องที่ผมประทับใจคือ ป๋าอาณัติ จำชื่อและนามสกุลเต็ม ของพนักงานและคู่ค้าได้ทุกคน ก่อนสตาร์บั๊คจะมาสอนเทคนิคนี้ให้ Barista ทำให้ลูกค้าประทับใจด้วยการจำและเรียกชื่อ อีกทั้งแกสอนยันวิธียืนนามบัตรสองมือหันด้านที่ลูกค้าอ่านได้ รวมไปถึงมารยาทในการเก็บเก้าอี้กลับเข้าที่ก่อนออกจากห้องประชุม
สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแสดงถึงความเป็นมืออาชีพที่บ่งบอกว่าคนๆนี้ถูกอบรมสั่งสอนมาจากบุคคลหรือองค์กรต้นแบบที่ดี และมันติดตัวผมมาจนเป็นนิสัย และ คอยสืบทอดสิ่งดีๆ สอนน้องๆ รุ่นต่อๆไป
มร. ควาง คี ปาร์ค หรือ คุณ เคเค ปาร์ค บุคคลในตำนานของซัมซุงประเทศไทย MD ที่มีทั้งคนรักและคนชังมากที่สุด สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของคนหลายๆคน รวมทั้งผมด้วย คุณปาร์คเป็นคนเปลี่ยนชีวิตผม มีบุญคุณที่สุด โอกาสที่ท่านยื่นให้หลายครั้ง การได้ทำงานกับท่าน ได้เห็นวิธีคิด วิธีตัดสินใจ การบริหารองค์กร มันประเมินเป็นมูลค่าไม่ได้เลย โดยเฉพาะเรื่องจิตวิทยาการบริหารคนระดับ Shifu (師父) พ่อทุกสถาบัน ดังจะขอยกตัวอย่าง อาทิ
• The Top 5% — ทันทีที่คุณปาร์คถูกส่งมาเป็น MD ของบริษัทฯ แกคัดคนทำงานดีมาคุยแบบ One-on-One และให้รางวัลซื้อใจแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ต่อมาแกเลือกเด็กที่มีพรสวรรค์กลุ่ม Talents ให้รับงานเพิ่มแบบ Duo job และให้ได้ Fast track promotion เพื่อสร้างตัวอย่างให้คนทำตาม การให้รางวัลแบบเหนือกฏเกณฑ์เมื่อทีมงานสามารถทำถึงเป้าท้าทายเกิดขึ้นบ่อยครั้งในยุคของแก
• The Bottom 5% — การลงโทษคนที่ไม่มีคุณภาพขั้นรุนแรงเกิดขึ้นทุกสัปดาห์ที่คุณปาร์คออกตรวจตลาด การถูกโทรตามช่วงเสาร์-อาทิตย์ให้ออกไปหาเป็นเรื่องปกติธรรมดา แบบสะกดคำว่า “Work-life balance” กันไม่เป็นเลยทีเดียว มีเรื่องเล่าที่สื่อถึงวิธีจัดการคนคล้ายกันนี้อยู่เรื่องหนึ่ง ความว่า “กาลครั้งหนึ่ง มีฮ่องเต้ใหม่เพิ่งขึ้นครองราชย์ แม่ทัพนายกองบางคนยังแข็งข้อไม่ค่อยเชื่อฟังพระองค์ ฮ่องเต้ได้ทราบเรื่อง จึงออกคำสั่งให้ทหารทั้งหมด เข้าถวายบังคมที่ลานพระราชวัง แล้วฮ่องเต้ก็ลุกขึ้น แล้วตะโกนออกคำสั่งให้ทหารทุกคน “ขวา หัน!” ปรากฎว่าทหาร บางคน ไม่ตั้งใจฟัง หันผิดไปทางอื่น ฮ่องเต้สั่งให้ตัดหัวทหารทุกคนที่ทำผิดคำสั่ง แล้วก็ลองตะโกนออกคำสั่งอีกครั้ง “ขวา หัน!” ครั้งนี้ทหารหันขวาถูกทุกคน 100% และจากวันนั้นก็ไม่มีแม่ทัพนายกองคนใดกระด้างกระเดืองอีกเลย ทำให้รัชสมัยของพระองค์นั้นเข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองที่สุด”
• Organization First — ก่อนซัมซุงจะขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งได้ บริษัทฯตัดสินใจเปลี่ยนหัวหน้าทีมแทบทุกๆ 1–2 ปี โดยดูว่าธุรกิจในช่วงนั้นต้องการผู้บริหารแบบไหน คนที่เก่งด้าน Key Account, คนที่เก่งด้าน Retail, คนที่เก่งด้าน Sales, หรือ คนที่เก่งด้าน Marketing ไม่มีใครยึดติดกับตำแหน่งแบบผูกขาดได้ ผมเองโชคดีอยู่ในจุดที่ได้เรียนรู้จากผู้นำเก่งๆ แต่ละรูปแบบ จนทำให้รู้รอบด้าน และได้นำมาปรับใช้เมื่อมีโอกาสได้รับมอบหมายให้ทำตำแหน่งสำคัญๆ ในเวลาต่อมา
• คุณปาร์ค ให้ปรับการเรียกชื่อตำแหน่งซะใหม่ เพื่อบอกความคาดหวังและขอบเขตของหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน เช่น เปลี่ยน Key Account Manager เป็น Client Manager (ไม่เพียงดูแลลูกค้าธรรมดา แต่ให้ความสำคัญอย่างใกล้ชิดประหนึ่งหมอรักษาคนไข้), เปลี่ยน Sales Manager เป็น SCM Manager (ไม่ใช่แค่ขาย แต่ดูแลตั้งแต่ การสั่งของ ขายเข้า ขายส่ง ขายออก จนถึงสต็อคลูกค้า) เป็นต้น
• แกให้ความสำคัญกับการสื่อสาร แกสอนให้สละเวลาอธิบายงานที่จะสั่งกับลูกน้องให้เข้าใจ เรียกว่า “Quality Brief” ไม่ใช่สักแต่สั่ง เราคงเคยได้ยินคำที่ว่า “Garbage in, Garbage out” หรือ บรีฟ here! มันสามารถทำลายกำลังใจคนทำงาน ทำให้เสียทั้งเวลาและประสิทธิภาพการทำงานอย่างที่สุด คนยิ่งอยู่ตำแหน่งใหญ่ ยิ่งอยู่สูงเท่าไหร่ใน Organization Chart ยิ่งแก้เรื่องนี้ได้ ยิ่งดีกับทั้งองค์กร เพราะผลกระทบจากคนที่รับคำสั่งนั้นมีจำนวนมาก
• The Rubber Band Theory — ทฤษฎีหนังสติ๊ก คนซัมซุงถูกสอนให้เชื่อว่า การฝึกความอดทนของคนเราเหมือนการยืดหนังสติ๊ก ยิ่งผ่านเรื่องยาก เรื่องโหดได้มากขึ้นเท่าไหร่ ยางของหนังสติ๊กความอดทนเรา ก็ยิ่งยืดหยุ่นได้มากขึ้นเท่านั้น เมื่อถูกทดสอบความอดทนมากเท่าไหร่ วันหนึ่งเราจะมีความยืดหยุ่นสูง ไม่มีปัญหา หรือความกดดันใดทำอะไรเราได้ น้องๆหลายคนเคยถามว่า ผมควบคุมตัวเองได้อย่างไร ให้มีสติ ไม่หลุดเวลาเจอเหตุการณ์วิกฤต หรือเรื่องกดดัน ผมตอบว่าผมถูกฝึกยืดหนังสติ๊กความอดทนมาจากซัมซุง ความอดทนของผมระดับหนังสติ๊กสายดำ ทั้งหนา ทั้งยืดได้ไม่จำกัด เพราะเจอเรื่องร้ายๆ, เรื่องแย่ๆ, เรื่องกดดัน, การเอารัดเอาเปรียบ, เหตุการณ์วิกฤต, ขึ้นโรงขึ้นศาล, พบ ส.ค.บ., เจอลูกค้าอารมณ์ร้อน ที่เข้ามานับครั้งไม่ถ้วน ที่ทำให้ชีวิตเราแข็งแกร่งขึ้นจนเกือบไร้ขีดจำกัด
คุณปาร์คคือต้นแบบ Inspiring Leader ของผม ในการบริหารธุรกิจและการบริหารคนทั้งในและนอกองค์กรแบบสุดโต่ง Extreme Version ใส่เกินร้อย และเต็มไปด้วย Passion และ Execution Oriented แบบลงมือทำอย่างรวดเร็วและทันที
และหากคุณปาร์คคือคนต้นแบบของ Inspiring Leader ของผม มร. เกรกกอรี่ ลี หรือ เกรก คนนี้ ก็คือคนต้นแบบของ Visionary Leader ระดับที่สุดของแจ้ ตัวจริงเสียงจริง คุณเกรก เป็น CEO ของ Samsung Asia ดูแลสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค (RHQ) โซน SE Asia, Ocenia และ ไต้หวัน
ผมเองหลังจากมีส่วนร่วมทำให้ ซัมซุงประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอันดับ 1 ทาง RHQ จึง ทำเรื่องขอให้ผมนำประสบการณ์ที่ได้ไปช่วยปรับปรุงพัฒนา ซัมซุงเวียดนาม ในปี พ.ศ. 2554 ผมใช้เวลา 8 เดือนพัฒนายอดขายของเวียดนามให้เติบโตขึ้น 3 เท่าตัว RHQ จึงขอตัวผมอีกครั้ง ให้ขึ้นไปช่วยในระดับภูมิภาคครอบคลุมทั้ง 12 ประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ถึง 2558 รวมเวลาทั้งสิ้น 5 ปี โดยชีวิตที่ RHQ ทำให้ผมได้พบคนเก่งระดับเทพ มากมายจากทั่วโลก และ คุณเกรกก็คือหัวหน้าระดับมหาเทพนั่นเอง ผมได้มีโอกาสได้เห็นการใช้วิสัยทัศน์อันก้าวไกล เฉียบแหลม ประหนึ่งหยั่งรู้อนาคต ของคนนี้นับครั้งไม่ถ้วน ยกตัวอย่างเช่น
• การตัดสินใจย้ายออฟฟิศ RHQ จาก เขต Central Business District หรือ CBD ของสิงคโปร์ที่แออัด มาที่ทางตอนใต้ ที่ Mapletree Business City ที่เดินทางไปสนามบินได้สะดวก มีพื้นที่กว้างขวางทันสมัย มีร้าน Starbucks อยู่ภายในตัวออฟฟิศ แกยังสร้าง Leadership Training Academy แห่งแรกนอกเกาหลีใต้ และหลักสูตรอบรมมากมาย
• คุณเกรกสร้างตำแหน่งใหม่ๆ ที่สิบปีที่แล้วยังไม่มีคนให้ความสำคัญ แต่ทำเพื่อรองรับอนาคต โดยแกทราบดีว่าตำแหน่งเหล่านี้ สำนักงานระดับประเทศไม่สามารถจ้างได้ แกรวบรวมคนเก่งๆมาจากทุกมุมโลก อาทิ นักออกแบบผลิตภัณฑ์, นักออกแบบ Flagship store, Data Analysts, ทีมพัฒนา Content & Services และทีม B2B ขนาดใหญ่ เป็นต้น
• คุณเกรกเคยให้คำปรึกษาผม ครั้งที่ผมไม่แน่ใจในการตัดสินใจย้ายทีม จาก ทีม Trade Marketing (ซึ่งผมทำตำแหน่งนี้มานานจนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญแบบรู้ลึกรู้จริงที่สุดคนหนึ่งขององค์กร) ไปอยู่กับทีม IT & Mobile Business (เป็น Product Marketing ดู Go-to-Market Strategy) แกบอกว่าการจะเติบโตได้ในองค์กรมีสองแบบ 1. เป็นคนรู้ลึกในเรื่องเดียว กับ 2. เป็นคนรู้ทุกเรื่องแบบกว้าง โดย หากเลือกแบบที่ 1 ตำแหน่งสูงสุด ในองค์กรก็จะเป็น Functional Head หากเลือกแบบที่ 2 ต้องเก่งให้ได้ทุกเรื่องแล้ว โตไปเป็นตำแหน่ง General Manager หรือ CEO แกคิดว่า ผมเป็นคนมี Potential จึงอยากให้รับโอกาสที่ท้าท้าย คือย้ายแผนก ไปเริ่มสร้าง Skill sets ใหม่ๆ ในวันนั้นผมเชื่อแก จนต่อมา ผมก็ได้เติบโตเป็น Head of Business จริง ย้ายบริษัทมาทุกครั้ง ก็ทำหน้าที่ General Manager Role ดูภาพใหญ่ภาพรวม มีความ Agile คล่องตัว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
และด้วยความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ คุณเกรกได้ย้ายรับตำแหน่ง President & CEO ที่ Samsung North America, ตามด้วย President ของ Nokia, และปัจจุบันเป็น CEO ของแบรนด์เครื่องเสียงไฮเอนด์ Bowers & Wilkins
มร. สแตนเล่ย์ โกห์ เป็นเจ้านายผมคนแรกตอนย้ายไปอยู่ RHQ สิงคโปร์ แกเป็น Vice President ดูแลทีม Trade Marketing สแตนเล่ย์เป็นผู้บริหารที่มาจาก Procter & Gamble หรือ P&G และ Nike ซึ่งในยุคนั้นซัมซุงต้องการ Know-how การทำงานที่มี Framework มีระบบจากธุรกิจ FMCG มาปรับใช้ในธุรกิจขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก็ได้ผลจริงๆ สแตนเล่ย์ คือต้นแบบ ของการทำงานที่เป็น ระบบ Systematic มีความชัดเจน มีหลักการทำงาน หรือ Principles ที่แข็งแรงที่สุดที่ผมเคยรู้จักมา
• วันแรกที่ผมเข้าทำงานที่ออฟฟิศที่ประเทศสิงคโปร์ คุณสแตนเล่ย์เรียกผมไปพบ และบอกถึงหลักการทำงานร่วมกันเป็นข้อๆ มีมาตรฐานชัดเจนอย่าง เช่น เวลาเข้างานปกติ หากสายไม่เกิน 15 นาที ไม่ต้องโทรแจ้ง แต่ถ้าวันไหนมีนัดประชุมทั้ง หากจะสายแม้แต่นาทีเดียวก็ต้องโทรแจ้ง และแกให้ความสำคัญกับการเข้าประชุมตรงเวลาแบบคนตะวันตก เป็นต้น
• การทำงาน มี Standard Template ให้ส่ง Action Plan Tracking รูปแบบเดียวกันทั้งทีม การตั้ง KPIs และรอบการวัดผลตลอดทั้งปีมีความชัดเจน ระบบการประชุม Drumbeat Meeting ของทีมแบบรายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาสก็มีความชัดเจนสม่ำเสมอ
• มีการใช้ Frameworks ต่างๆในการทำงาน มีการออก Guideline และการอบรมที่ชัดเจน อาทิ การสร้าง Samsung Sales Framework, Samsung Marketing Framework, 7-steps of Field force management, 7-steps of Brand shop management ให้ใช้ทั้งภูมิภาค เป็นต้น
การมีระบบระเบียบที่ชัดเจนมีมาตรฐานแบบนี้ติดตัวผมมาตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ จนหลายคนที่ไม่เคยทราบที่มาที่ไปจะคิดว่า ผมเป็นพวก Perfectionist เป๊ะเวอร์ แต่จริงๆ ผมถูกหล่อหลอมมาแบบ “Good to Great” ถ้าทำได้ “ดีที่สุด” ทำไมถึงต้องหยุดแค่ “ดี” แบบต้นแบบคนนี้นั่นเอง
มร. ลี จุยเซียง หรือ คุณจุยเซียง เป็นเจ้านายคนที่ 2 ของผมที่สิงคโปร์ แกเป็น Corporate Vice President ดูแลธุรกิจ IT & Mobile ของทั้งภูมิภาค ผมเก็บแกเป็น Role model ปิดท้าย ไม่ใช่เพียงว่าแกเป็นผู้นำที่เก่ง ฉลาด และประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งที่ซัมซุงมีเท่านั้น แต่แกเป็นต้นแบบของผู้นำที่เป็นคนดีที่สุดคนหนึ่งที่ผมเคยรู้จัก
• จุยเซียงเป็นเจ้านายที่แสดงให้เห็นถึงความจริงของคำพูดที่ว่า “ยิ่งให้ยิ่งได้” ในการประชุมใหญ่กับ CEO ทุกครั้งที่แกรายงานความคืบหน้าของโปรเจคต่างๆ แกไม่เคยลืมที่จะเอ่ยชื่อให้เครดิตกับพวกผมกลุ่มคนที่ทำงานให้อยู่เสมอๆ ต่างกับผู้นำบางคนที่เอาความดีเข้าตัว ความชั่วป้ายคนอื่น แต่จุยเซียงทำตรงกันข้าม หากโปรเจคมีปัญหาหรือผิดพลาด แกจะยืดอกรับผิดชอบแทนทุกคนในทีม พร้อมหาวิธีและช่วยลงมือแก้ไขทุกครั้ง
• แกเป็นคนพูดจา ไพเราะอ่อนหวานแต่ไม่อ่อนแอ มีพลังแต่ไม่ก้าวร้าว มีจังหวะจะโคนรู้กาลเทศะ เตรียมข้อมูลให้พร้อมก่อนตอบหรือให้ความเห็น คิดก่อนพูด ฟังทุกคนจนครบแล้วพูดเป็นคนสุดท้าย เป็นมวยไม่แย็บบ่อย รอต่อยฮุกให้น็อค ผมได้เรียนศาสตร์การพูด การถาม การฟัง และการวางตัวในห้องประชุมจากแก มาใช้จนปัจจุบัน
• แกแสดงให้เห็นว่า ผู้นำที่ดีต้องอยู่ตรงนั้นทุกครั้ง ตอนที่ทีมงานต้องการความช่วยเหลือ ด้วยจิตใจที่ดี คิดถึงคนอื่น ก่อนคิดถึงตัวเอง ทำให้คนรอบข้าง รักและเคารพ และเปิดใจให้เป็นผู้นำ ที่พร้อมจะเดินตามไปทุกที่ไม่ว่าจะพบความลำบากหรืออุปสรรคก็ไม่หวั่น เพราะมีผู้นำคนนี้ที่ไม่เคยทอดทิ้งกันนั่นเอง
สำหรับคนที่อยู่จุดที่ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร คุณก็เพียงแค่หาคนต้นแบบคล้ายๆคนเหล่านี้ของคุณให้เจอ แล้วค่อยๆ ดูดทักษะที่เราชื่นชอบมาเป็นของเรา ทำตัวให้เป็นน้ำที่ไม่เคยเต็มแก้ว
และสำหรับคนที่ผ่านจุดนั้นไปได้แล้ว ลองถามตัวเองดูว่าคุณอยากจะเป็นคนต้นแบบในแง่ไหนให้ “คนอื่น” ช่วยเหลือเขา กระตุ้นเขา ให้ค้นพบความต้องการ และตัวตนของเขาให้ได้
Rule of Thumb ที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้ มีดังนี้
Role Model
How to be a Leader
Rule of Thirds
Basic Color Theory
Coaching
Vertical vs. Horizontal Development

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา