17 พ.ค. 2020 เวลา 03:26 • ความคิดเห็น
ว่ากันไปตามภาษา (3): ภาษาอังกฤษแบบไทยเล่นเอาฝรั่งงง
"โอเค" "แธงค์กิ้ว" "บาย" "ไม่แคร์" "ไม่ชัวร์"
เชื่อว่าคำเหล่านี้ล้วนกลายเป็นคำคิดปากคนไทย คงจะมีน้อยคนมากที่ไม่เคยพูดคำใดคำหนึ่งในนี้
ทุกวันนี้คนไทยได้นำเอาภาษาอังกฤษหลายๆคำมาใช้กันจนติดปากหรือบางคำก็คล้ายกับเป็นภาษาไทยไปแล้วตัวอย่างคำที่เราพูดกันจนติดปาก เช่น ฮัลโหล (Hello) โอเค (O.K.) แธงค์กิ้ว (Thank you) บาย (bye) ที่มาจาก goodbye แต่มักพูดว่า บ๊ายบาย หรือ คำว่า เพียว มาจากคำว่า pure แต่หลายคนคิดว่าเป็นคำไทยไปแล้ว ไอเดีย (Idea), เก้ต (get) หรือแคร์ ที่มักจะพูดว่า “ไม่แคร์” ( care) และคำว่า ชัวร์ (sure) เป็นต้น แต่มีคำภาษาอังกฤษอีกจำนวนมากที่คนไทยเอามาใช้แล้วกร่อน หรือปรับจนเจ้าของภาษามาฟังแล้วอาจงงได้ หรือแม้คนไทยที่ใช้ต่อๆกันจนลืมหรืออาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มาจากภาษาอังกฤษคำไหน
แต่ก่อนจะพูดถึงเรื่องคำต่างๆที่นำมาใช้กันแบบทำให้ฝรั่งงง จะขอถามเรื่องนี้ก่อนเคยมีใครเคยสงสัย กันบ้างไหมว่าทำไมเวลาเราเอาภาษาอังกฤษหรืออาจจะภาษาอื่นแต่ถ้าเขียนด้วยตัวภาษาอังกฤษเวลาเราเอา มาทับศัพท์ในภาษาไทยทำไมเราถึงไม่ออกเสียงเหมือนเจ้าของภาษา ทำไมเราถึงต้องทำให้มันเป็นเสียงโท อยู่ตลอด เราไปเอาเสียงโทมาจากไหนกันนะ เช่น computer เราก็จะพูดว่า คอมพิวเต้อร์ sir ก็กลายเป็น เซ่อร์ หรือ happening แฮบเพ็นนิ่ง เป็นต้น
การออกเสียงเช่นนี้ดูจะเป็นเอกลักษณ์ที่เป็นที่รู้กันว่าเป็นภาษาอังกฤษสำเนียงไทย จนกระทั่งแม้แต่ฝรั่งเจ้าของภาษาเวลามาอยู่เมืองไทยนานๆ ที่เรียกว่าพูดภาษาไทยได้ชัดแล้วเวลาเขาจะพูดคำที่คนไทยทับศัพท์ เขาก็ยังพยายามที่จะพูดให้เป็นสำเนียงไทยถ้าเขายังพูดว่า “ข่อมพิ้วเถ่อร์” หรือ แฮบเพนหนิ่ง ก็แปลว่าเขายังพูดภาษาไทยไม่ชัด เพราะถ้าพูดชัดแล้วเขาจะพูดว่าคอมพิวเต้อร์ (ฮา) จริงๆก็ไม่ใช่แค่คำศัพท์ภาษาอังกฤษภาษาอื่นเราก็เอามาพูดเป็นเสียงโท เช่นกัน เช่น ฮอนด้า โตโยต้า ที่ชาวญี่ปุ่นเองก็ออกเป็นเสียงสั้น เช่น โต่โยตะ ฮอนดะ เป็นต้น
จากข้อสงสัยนี้ก็ลองคิดๆดูและวิเคราะห์ (ด้วยตัวเอง) ว่า อาจจะเป็นเพราะคนไทยคงมีพรสวรรค์ในการทำภาษาคนอื่นให้เป็นของตัวเองหรือเปล่า อาจจะเป็นเหมือนกับอาหารที่เราจะเอามาจากชาติไหนก็ตาม เราก็จะปรับเป็นของตัวเองจนเจ้าของเดิมจำรสชาติไม่ได้ เรื่องภาษาก็เหมือนกันเราก็ปรับใช้จนเข้าของภาษา ไม่เข้าใจว่าแปลว่าอะไรไปได้เหมือน เดี๋ยวเรามาดูกันว่าเราเอาคำอะไรมาใช้อย่างไรบ้าง แต่สำหรับเรื่องออกเสียงเป็นเสียงโทนั้นมีเพื่อนคนหนึ่งมีพื้นฐานการศึกษามาทางศึกษาศาสตร์ เคยเป็นครู แม้ปัจจุบันไม่ได้ทำงานทางด้านการสอนคือย้ายไปทำธุรกิจแล้วแต่ก็จัดว่าเป็นคนเชี่ยวชาญทางภาษาอยู่ไม่น้อย เคยวิเคราะห์ให้ฟังว่า การที่คนไทยออกเสียงแบบนี้เพราะว่าเป็นอาจความสะดวกปากเนื่องจากเสียงโท มันอยู่กลางๆพอดีไม่สูงและไม่ต่ำและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้เป็นสระเสียงยาวหรือให้เป็นคำเป็นก็ยิ่งออก เสียงสะดวกปากยิ่งขึ้น
อันนี้ฟังแล้วก็ดูมีเหตุผลอยู่พอสมควรและขอรับเหตุผลนี้ไว้พิจารณาเพราะว่าลองหันกลับไปดูอดีตเรา เหมือนได้ยินคำแปลกๆเช่น แบงค์สยาม กัมมาจล คือ Siam Commercial Bank หรือใน หันแตร บารนีย์ ( Henry Berney) อังรี ดูนัง ( Henry Dunant- อองรี ดูน็อง) หรือแม้แต่ในเรื่องคู่กรรมที่เราได้ยินคุณยายนางเอก เรียกตัวเอกที่ชื่อ โกโบริว่า พ่อดอกมะลิ เป็นการออกเสียงเพื่อความสะดวกปากของคนไทยจริงๆ แต่ในยุคปัจจุบันเรารู้ที่มาที่ไปของคำชาติต่างๆได้มากขึ้นและจริงๆแล้วเราก็สามารถออกเสียงภาษาต่างๆให้ตรง กับที่เจ้าของภาษาออกได้มากขึ้นแล้วแต่เราก็ยังคงรักษาความสะดวกในการออกเสียงอย่างไทยเอาไว้อยู่
นอกจากการพูดทับศัพท์และมาออกเสียงแบบไทยๆแล้ว คราวนี้ก็มาถึงสิ่งที่เข้าใจได้ยากมากขึ้นคือ การหยิบคำมาใช้ในบริบทที่แตกต่างออกไป บางครั้งอาจจะเอามาไม่ทั้งหมดทั้งคำด้วยซ้ำ คนฟังไม่ว่าจะเป็นไทยหรือฝรั่ง ก็อาจจะงง แต่คนไทยก็อาจจะค่อยๆทำความเข้าใจกันไปแต่ฝรั่งคงไม่เข้าใจแน่ ขอยกตัวอย่างคำต่างๆดังนี้
เริ่มกันที่การใช้โทรศัพท์ เราก็บอกเพื่อนว่า “ช่วย “เมม เบอร์”เอาไว้ด้วยนะ” อันนี้มีที่มาจากคำสองคำคือ mem และ คำว่า ber แต่ไม่ใช่คำว่า member ที่แปลว่าสมาชิก เพราะคำว่า mem คำนี้เป็นการย่อมาจากคำว่า memory ที่มาจากอุปกรณ์ในโทรศัพท์คำเต็มคือ memory card คือ บัตรจัดเก็บความจำหรือที่บันทึกความจำ และ ber มาจาก number คือหมายเลขซึ่งเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปแล้วสำหรับคนไทยว่า เบอร์ คือหมายเลข คำว่าเมม เบอร์ จึงมาจากคำว่า memory และ number ที่มาจากคำเต็มที่จะพูดให้เข้าใจได้คือ save number in my memory card ถ้าจะพูดสั้นๆแบบไทยๆก็ควรจะเป็น เซฟ เบอร์ ( save ber)มากกว่า เมม เบอร์ แต่กระนั้น ถ้าเราบอกฝรั่งว่าช่วยเมม เบอร์ เราไว้ด้วยจะมีฝรั่งที่ไหนในโลกเข้าใจไหม ทั้งๆที่ทั้งสองคำนี้เป็นภาษาอังกฤษแท้ๆ
ต่อมาคือที่ใช้บ่อยคือ “เว่อร์” คำนี้ที่มาคือ over หมายถึง exagerate หรืออะไรที่เกินจริง คำว่าเว่อร์ เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจนหลายคนอาจคิดว่าเป็นคำไทยไปแล้ว แต่หลายคนก็อาจจะรู้ว่ามาจากคำว่า -over ก็เอาไปใช้พูดกับฝรั่งโดยใช้ประโยคว่า “เพื่อนคนนี้เว่อร์หรือโอเว่อร์มาก” คาดว่าฝรั่งก็คงจะงงเช่นกัน และคำว่า เอาท์ ซึ่งหมายความว่าตกยุคหรือล้าสมัยไปแล้ว ก็คงจะมาจากคำว่า out of date แต่ในความเป็นจริงจะมีใครที่ใช้คำนี้ตอนนี้อยู่จะรู้ไหมว่ามาจากคำนี้ หรือบางคนอาจจะไปพูดกับฝรั่งว่า “เอาท์” เฉยๆ เดี๋ยวจะกลายเป็นการไล่ให้ออกไปเสียก็ได้นะ
ประเทศไทยมีประท้วงบ่อยๆ หลายๆครั้งเราจะได้ยินคำว่า ม็อบ (mob) และคำว่า ไฮปาร์ค Hypark) อันที่จริงถ้าจะใช้คำว่าม็อบนั้น หมายถึงฝูงชนที่ออกมาก่อความวุ่นวาย แต่ถ้าการประท้วง คือ demonstration ส่วนผู้ประท้วงเรื่องว่า demonstrator แต่ดูเหมือนแม้การประท้วงที่เมืองไทยจะวุ่นวายหรือไม่วุ่นวายก็ถูกเรียก ว่าเป็นม็อบไปเสียทั้งหมด แต่พักหลังๆนี้ดูเหมือนว่าการประท้วงในประเทศไทยก็เป็น ม็อบ ไปแล้วจริงๆด้วย ส่วนคำว่าไฮปาร์ค เป็นชื่อสวนสาธารณะในอังกฤษที่มักมีการไปรวมตัวหรือไปชุมนุมกัน แต่สำหรับคนไทย แล้วเวลาที่มีการรวมตัวกันแล้วมีคนขึ้นไปพูดเพื่อปลุกระดมหรือปลุกใจเราก็บอกว่า“คนนั้นคนนี้กำลังไฮปาร์คอยู่” ตรงนี้ฝรั่ง “ไม่เข้าจาย”
ช่วงนี้มีคำยอดนิยมอีกคำหนึ่งคำว่า ชิลล์ ที่ตอนหลังแม้กระทั่งตัวสะกดก็ไม่เหมือนรากที่มาเอาไว้เลย หลายคนก็ถึงกับพูด หรือสะกดคำว่า ชิวๆ กันไปแล้วด้วยซ้ำ มีคนใช้ว่าไปนั่งเล่นชิลล์ ชิลล์ (หรือ ชิว ชิว) ก็เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปแล้วในตอนนี้ โดยที่มาของคำนี้มาจาก Chill out แต่เข้าใจว่าพอเราเอามาใช้ในภาษาไทยก็เหลือแค่ “ชิว” คำเดียว
หรืออีกคำคือคำว่า นอยด์ ที่ออกเสียงแบบไทยว่า นอย อันนี้ฝรั่งงงแแน่ๆ เพราะหมายถึงอาการเซ็ง จิตตก หรืออะไรทำนองนี้ คำนี้จริงๆก็มาจากคำว่า paranoid อันหมายถึงอาการวิตกอย่างมากๆ อาจถึงขั้นโรคจิตเล็กๆด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้วัยรุ่น รู้สึกหงุดหงิด ไม่ได้ดั่งใจ อึดอัดใจ กังวลใจเล็กๆน้อยๆก็บอกว่า นอยด์แล้ว
ตอนนี้มีอาชีพชนิดหนึ่งที่เป็นที่อาจเป็นทีใฝ่ฝันของเด็กสาวหน้าดี คือการเป็น "พริตตี้" ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษ คำว่า pretty ซึ่งแปลว่า สวย หรือว่า น่ารักน่าเอ็นดูก็ได้ คำๆนี้น่าจะมาจากคำเต็มว่า pretty girl หรือ pretty lady และโดยเนื้องานหรือหากจะเรียกว่าเป็นอาชีพนั้นก็น่าจะเรียกว่า เป็นประชาสัมพันธ์พิเศษให้กับสินค้า นั่นเอง คำว่า pretty เป็นคำคุณศัพท์ หรือ adjective ที่จะต้องขยายคำนาม หรือจะต้องตามหลัง verb to be ถ้าจะบอกว่า she is pretty ก็จะแปลว่า เธอน่ารัก คงไม่มีใครเข้าใจว่าเธอมีอาชีพเป็นพริตตี้ สำหรับที่อเมริกาคนที่แนะนำสินค้าเขาอาจจะดูน่าเชื่อถือกว่าน่ารัก เขาเลยเรียกว่า Motor show lady หรือเป็น lady ของรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ จริงๆ นอกจากนั้นคำนี้ยังเป็น adverb หรือกริยาวิเศษณ์ได้ด้วย แปลว่า ค่อนข้างดี หรือ พอใช้ได้ หรือ ก็ไม่เลวทีเดียว เช่น She is pretty good student ก็แปลว่า เธอเป็นนักเรียนที่ดีใช้ได้ทีเดียว
เพิ่มเติมอีกนิดสำหรับคำว่า pretty จำเป็นที่จะต้องออกเสียงให้ชัด เพราะหากออกเสียงโดยได้หลงลืมควบกล้ำไปว่า พิตตี มันจะไปคล้ายกับว่า pity ที่แปลว่า สงสาร เวทนา หรือเห็นใจ ไป
อีกอาชีพหนึ่งตอนนี้เด็กสาวๆไม่น้อยก็ไปทำเรียกว่า "โคโยตี้" อันนี้ถ้าไปบอกฝรั่งว่าเป็น โคโยตี้ ฝรั่งคงงงแน่ๆ เพราะคำว่า โคโยตี้ ที่เมืองไทยใช้เรียกสาวนักเต้นที่นิยมใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นและมีลีลายั่วยวนที่เต้นกันตามสถาน บันเทิงต่างๆนั้น มาจากคำว่า coyote เป็นชื่อเรียกของหมาป่าพันธุ์หนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบทวีปอเมริกาเหนือ ตั้งแต่เม็กซิโกขึ้นไปจนถึง แคนาดา ที่เมืองไทยเอาคำศัพท์นี้มาจากภาพยนตร์เรื่อง “Coyote Ugly" ทีมาฉายครั้งแรกเมื่อปี 2543 ตัวหนังพูดถึง "Coyote Ugly" ชื่อบาร์ที่กลุ่มสาวๆ นักเต้นในเรื่องทำงานอยู่นั่น เเละภาพยนตร์เรื่องนี้เองที่เป็นเหมือนตัวจุดกระเเส โคโยตี้ สาวนักเต้นในเมืองไทย และใครที่เต้นประเภทนี้เลยเรียกว่าเป็น "โคโยตี้" กันไป
นอกจากนี้ ก็ยังมีคำเกิดใหม่ในโลกคอมพิวเตอร์ อีกมากมายที่นำมาใช้บางครั้งก็ทำศัพท์เต็มๆ เช่น upload download, website, webblog, post ก็ไม่น่างง แต่บางครั้งก็ใช้แค่ สั้นๆ เช่น เมนต์ (ment) มาจาก คอมเม็นต์ อันนี้ก็อาจสร้างความงงได้เช่นกัน
มีอยู่วันหนึ่งบังเอิญได้ดูดาราคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ โดยพยายามใช้คำไทยปนฝรั่ง อาจจะเพื่อความดูดี หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่อาจจะไม่รู้ศัพท์จริงเพราะแค่ไปจำๆเขามาหรืออาจเผลอไปก็ไม่แน่ใจ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเรื่องการรับงานว่า หนูไม่ได้รับงานเองค่ะ ผู้ใหญ่เขาสแกนให้ตลอด ฟังแล้วก็ใต้แต่คิดว่า "สแกนเลยหรือ แบบนี้เขาเรียกว่า สกรีน หรือเปล่านะน้อง "
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ไม่ได้คิดว่าจะวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการใช้ผิดหรือถูกอย่างไรเพียงแต่ตั้งข้อสังเกตวิธีการบัญญัติหรือการใช้ศัพท์ หรือการใช้ภาษาอังกฤษแบบไทยๆที่น่างงเท่านั้น อย่างไรก็ตามตราบที่เรายังใช้ได้ถูกความหมายก็ไม่น่าจะมีปัญหา และถ้าเราสามารถใช้เพื่อการสื่อสารได้อย่างถูกต้องไม่ว่าจะใช้ภาษาอะไรก็ตามก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดียิ่ง แต่หากไม่แน่ใจก็น่าจะใช้ภาษาหรือคำที่เรามั่นใจที่ว่ารู้จริงจะดีกว่า

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา