18 พ.ค. 2020 เวลา 08:00 • ความคิดเห็น
“ของเล่น...ควรเป็นของเล่นของใครกัน???”🧩🎮🏎🧸🎈🛍🎀💝👗👦🏻👧🏻
ตั้งแต่จำความได้วินดาชอบเล่นตุ๊กตา ชอบเล่นขายของ ชอบเล่นทำอาหาร และชอบสีฟ้าค่ะ
มักได้ยินบ่อยๆว่าเด็กผู้หญิงของเล่นสีชมพู ของเด็กผู้ชายสีฟ้า สองสีนี้เลยเป็นสีแห่งความชัดเจนในการเลือกของหรือถูกให้เลือกไหม?
เด็กผู้หญิงเล่นได้ไหมค่ะ
สำหรับวินดาเลือกในสิ่งที่ใจเราอยากเล่นและพ่อกับแม่ก็ไม่เคยบังคับหรือยัดเยียดในการเล่นของเล่นค่ะ นอกจากสิ่งนั้นมันดูอันตรายยังไม่เหมาะกับเด็ก เช่น รนเทียนไขแล้วเอาน้ำตาเทียนมาปั้นเล่นค่ะ🤣 ก็จะโดนเอ็ดเอา แฮ่ แฮ่🥴
วันก่อนวินดาเห็นหลานชายเอารถจิ๋วๆมาเล่นบนเบาะรถพร้อมกับพูดและจินตนาการรถเหล่านั้นเป็นเรื่องเป็นราว แต่ละคันมีความสำคัญ มีบทบาทหน้าที่ของมัน แล้วก็เล่นค่อนข้างดุเดือดพอสมควร คือมันต้องชน ต้องปะทะกันนัวเลยหละค่ะ (ประหนึ่งอยู่ในสงคราม)😱😱😱
นี่มันกองทัพอะไรกันเนี่ยยย
ก็มานึกถึงตัวเองว่าตอนเด็กเราไม่เห็นชอบเล่นอะไรแบบนี้เลย หรือเพราะเราเป็นผู้หญิงเลยไม่ชอบของเล่นแบบเด็กผู้ชายแบบนี้ แต่เราชอบสีฟ้านะ (งง ใน งง กับความคิดตัวเอง)
จากเรื่องนี้เลยทำให้อยากรู้ค่ะลองเปิดหาข้อมูลก็พบว่า การเลือกของเล่นของเด็กๆมีทฤษฎีความเชื่อมโยงกับรหัสพันธุกรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยุคโบราณ ซึ่งก็เชื่อมโยงกับทักษะการใช้ชีวิต เช่น ผู้ชายล่าสัตว์ มีการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอาหาร ส่วนผู้หญิงก็มีความเป็นแม่ดูแลลูก ครอบครัว และทำอาหาร
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทกซัสเอแอนด์เอ็ม(Texas A&M University-TAMU)สหรัฐอเมริกา ได้นำเด็กวัย 3-8 เดือนมาทดสอบความสนใจ โดยนำตุ๊กตาและรถบรรทุกของเล่นมาให้เด็กๆดู และสังเกตพฤติกรรมของเด็กว่าสนใจของเล่นใดมากกว่ากัน ผลปรากฏว่าเด็กผู้หญิงจะมองไปที่ตุ๊กตาบ่อยและนานกว่ารถบรรทุก นี่เป็นการทดลองเพื่อยืนยันว่าความแตกต่างทางชีวภาพมีผลต่อการเลือกของเล่นของเด็ก
แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดของการเลือกเล่นของเด็ก การเลี้ยงดูก็ส่งผลต่อพฤติกรรมได้ที่จะทำให้เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงมีความชอบที่ต่างกัน เช่น ลูกชายมักได้รับการเล่นแบบโลดโผน ฝึกให้มีความอดทน ส่วนลูกสาวมักได้รับความอ่อนโยน ความเอาใจใส่มากกว่า เป็นต้น
แต่จะดีกว่าไหมถ้าเด็กได้เลือกของเล่นด้วยตัวเองแบบที่ใจต้องการโดยไม่แบ่งเพศ ปล่อยให้เป็นอิสระของเด็ก อย่าให้ของเล่นกลายมาเป็นกรงขังของเด็กเลยค่ะ
จากของเล่นกลายเป็นของสะสม
โรลอง บาร์ตส์(Roland Barthes) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสกล่าวไว้ว่า "ของเล่นทั้งหมดนั้นแท้จริงแล้วสะท้อนให้เห็นจักรวาลขนาดเล็กที่เป็นโลกของผู้ใหญ่" มันแฝงได้ด้วยวัฒนธรรม การเมือง สังคม และรหัสทางเพศแนบไปพร้อมกัน เช่น ถ้านึกถึงพยาบาลภาพในหัวมักเป็นผู้หญิง, นักดับเพลิงภาพในหัวมักเป็นผู้ชาย อะไรแบบนี้ค่ะ
จะดีกว่าไหมถ้าของเล่นไม่ต้องกำหนดบทบาททางเพศหรือกำหนดเพศสภาพ เด็กก็คือเด็กจะเล่นอะไรก็ได้ ผู้ใหญ่ก็ไม่ต้องไปรู้สึกแปลกๆกับการที่เด็กผู้หญิงเล่นรถบรรทุก ขณะที่เด็กผู้ชายเล่นตุ๊กตาบาร์บี้
1
สำหรับในหมู่นักวิชาการเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จึงมีการเสนอทางแก้ปัญหาของเล่นที่ผูกติดกับเพศสภาพ(Gender Stereotyped)หลายวิธี แต่ที่วินดาได้ไปอ่านมามี 2 เรื่องหลักๆที่น่าสนใจ คือ
1
1.พ่อแม่และสังคมต้องเคารพความหลากหลายทางเพศและสิทธิของเด็ก(Children's Right) ในการเลือกของเล่นด้วยตัวเอง
1
2.การไม่แบ่งแยกเพศของเล่นในร้านขายของเล่น
1
เมื่อหลายปีก่อนในอังกฤษมีข่าวใหญ่เรื่องของ โลแกน ซิมมอนด์ส (Logan Symonds) เด็กชายที่สวมกระโปรงไปโรงเรียน ตอนโลแกนอายุได้ 4 ขวบได้บอกแม่ว่าเขารู้สึกเป็นผู้หญิงมาตั้งแต่อายุขวบครึ่ง แรกๆแม่ก็คิดว่าคงเป็นเรื่องชั่วคราวที่โลแกนจะมีความคิดแบบนี้ แต่จริงๆแล้วเด็กสามารถรู้อัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองเมื่ออายุขวบครึ่งถึงสองขวบ และจะชัดเจนว่าตัวเองควรเป็นเพศอะไรตอน 6-7 ขวบ
เมื่อโลแกนได้บอกในสิ่งที่ตัวเองเป็นกับแม่แล้วหลังจากนั้นเขาก็ไว้ผมยาวและเเต่งตัวเป็นเด็กผู้หญิง นานเข้าแม่ก็ไม่พอใจและให้เขาเลิกทำแบบนี้ แต่โลแกนไม่ยอม เขามีท่าทีก้าวร้าวและไม่พอใจมากๆ ไม่นานพ่อและแม่ก็ยอมที่จะให้โลแกนแต่งกายแบบที่เขาอยากเป็น ถือเป็นก้าวใหญ่ของครอบครัวในการยอมรับเรื่องนี้ แต่ก็ถือเป็นสิทธิขอเด็กและยอมรับความหลากหลายทางเพศ
เราควรให้เด็กเลือกของเล่น เสื้อผ้า ทรงผมของตัวเองโดยไม่ต้องถูกบังคับ จะช่วยให้เด็กเติบโตมาแบบมีพฤติกรรมเชิงบวกและสุขภาพจิตดี ไม่ต่อต้านสังคม
สมัยก่อนอย่างร้านขายของเล่นในอังกฤษจะแบ่งตามสี ดูง่ายๆเลยฝั่งสีชมพูของเด็กผู้หญิง ส่วนฝั่งสีฟ้าของเด็กผู้ชาย แต่ต่อมาประมาณปี 2010ได้มีการณรงค์ภายใต้แคมเปญ “ปล่อยให้ของเล่นจงเป็นของเล่น” (Let Toys Be Toys) ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากร้านของเล่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้าน Toy R Us, Marks & Spencer และร้านใหญ่อย่าง Hamleys
โดยร้านเหล่านี้จะแบ่งตามประเภทแทนการแบ่งตามสี เช่น ประเภทตุ๊กตา ประเภทหุ่นยนต์ ประเภทตัวต่อ เป็นต้น
อย่างในเกาหลีใต้ก็ได้มี "กลุ่มคุณแม่สายการเมือง" ได้มีการยื่นคำร้องให้บริษัทผู้ผลิตของเล่นเลิกการแยกสีของเล่นตามกรอบของเพศสภาพ เพราะถือเป็นการพรากตัวเลือกไปจากเด็ก
ฮานา คุณแม่คนหนึ่งของกลุ่มนี้ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาเมื่อเธอมีลูกเป็นของตัวเอง วันหนึ่งลูกสาววัย 6 ขวบได้ถามว่า "เด็กผู้หญิงเล่นรถของเล่นได้รึเปล่า?"
ฮานา มีความคิดว่าแค่เปลี่ยนแปลงภายในครอบครัวมันไม่พอ เราต้องเปลี่ยนธุรกิจนี้เลย เธอต้องการแสดงให้เห็นว่าของเล่นควรเป็นของเล่นเท่านั้น
และแล้ว"คุณแม่สายการเมือง" ก็ได้ร่วมกันกดดันจนทำให้ร้านของเล่นขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเกาหลีใต้นำป้ายแบ่งแยกเพศของเล่นระหว่างเด็กชายและเด็กหญิงออกไปจากตัวร้านได้สำเร็จ พวกเขาคิดว่าไม่ควรมีทางเลือกแค่สองทางคือชมพูกับฟ้า
1
ศาสตราจารย์ ไอวี หว่อง จากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) ได้ศึกษาผลกระทบจากของเล่นที่แบ่งเป็นสีชมพูและสีฟ้าต่อพัฒนาการของเด็ก
งานวิจัยเมื่อปี 2018 พบว่า หากเด็ก ๆ ถูกชี้ให้เห็นว่าสีใดสีหนึ่งแสดงถึงเพศตัวเองแล้ว เด็กจะเล่นกับของที่มีสีนั้นมากกว่า
"เรื่องนี้สำคัญ เพราะว่าการได้เล่นของเล่นที่หลากหลายจะมีผลระยะยาวต่อทักษะและพัฒนาการของเด็ก ถ้าคุณเล่นตัวต่อ รถ หรือ หุ่นยนต์ ก็มีแนวโน้มที่คุณจะพัฒนาทักษะด้านพื้นที่ได้ดีกว่า ซึ่งสำคัญต่อการเรียนคณิตศาสตร์ด้วยค่ะ"
ต่อมาของเล่นต่างๆจึงมีการพัฒนาให้มีความหลากหลายมากขึ้น สามารถเล่นได้ทุกเพศโดยไม่จำกัด เรียกได้ว่าเป็นของเล่นมีความเป็นกลาง โดยที่ฟังก์ชั่นของของเล่นมีการเรียนรู้ทุกอย่างแบบเท่าเทียมและไม่แบ่งแยก เช่น เกมที่ตัวละครต้องมีทั้งขับรถไฟ และทำอาหาร หรือตัวต่อรูปทรงเรขาคณิตที่เป็นอุปกรณ์งานครัว เป็นต้น
พอวินดาได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้จบแล้วก็มานึกย้อนถึงตัวเองตอนเด็กๆตั้งแต่พอจำความได้ว่านอกจากชอบเล่นอะไรแบบผู้หญิ๊งผู้หญิงแล้ว เวลาขึ้นรถมักจะขอนั่งตักพ่อขอจับพวงมาลัยขับรถบ่อยๆ หรือน้องชายวินดาที่เด็กๆก็เล่นทั้งดาบปลอมแบบจั่นเจา และบางครั้งก็ใส่ส้นสูงสะพายกระเป๋าของแม่เดินทั่วบ้าน 555
หรือจะเป็นเพื่อนหญิงของวินดาที่เมื่อตอนอนุบาลก็เล่นขายของ เลี้ยงตุ๊กตาเบบี๋ด้วยกัน แต่พอขึ้นชั้นประถมก็ไปเล่นรถแข่งกับเพื่อนผู้ชาย หรือเย็นๆหลังเลิกเรียนเพื่อนๆทั้งชาย-หญิงก็รวมตัวกันที่สนามเล่นตี่จับ เตยเข้า-เตยออก
การได้เล่นนอกจากได้ความสนุกแล้วยังช่วยให้ในวัยเด็กได้เรียนรู้และปรับตัวเข้ากับผู้อื่นในสังคมได้อีกด้วยค่ะ
การมีอิสระในการเลือกเล่นมันทำให้เรารู้ความต้องการของตัวเองได้ชัดเจน เพราะเราได้ลอง ได้เล่นทุกอย่างที่เราต้องการ สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราเลือกเส้นทางชีวิตได้อย่างถูกเพศสภาพแบบไม่เครียด ไม่กดดัน และมีสุขภาพจิตที่ดีนะคะ
วินดาเคยถามแม่ว่าถ้าโตขึ้นมาแล้ววินดาชอบหรืออยากเป็นแบบผู้ชายแม่จะรับได้ไหม แม่นิ่งไปพักนึงก่อนตอบว่า "จะเป็นอะไรก็เป็นเถอะ ขอให้เป็นคนดีของสังคมก็พอ" หูยยยยยย...คำตอบแม่ยิ่งใหญ่มาก รักแม่นะ กอดกอด🥰
และแล้ววินดาก็โตมาในเพศสภาพที่วินดาเลือกแล้วค่ะ คงดูออกไม่ยากใช่ไหมค่ะทุกคน🧸👗แต่ก็แฝงไปด้วยใจแมนๆบ้างบางเรื่องนะคะ😄
แล้วพบกันใหม่ค่ะ👋🏻
#windasharing
โฆษณา