20 พ.ค. 2020 เวลา 03:33
#เรื่องเล่าก่อนเข้าเรื่องสั้น,
#อัศจรรย์เทวาอารักษ์
สวัสดีครับ เพื่อนๆ :)
เรื่องเล่าก่อนเข้าเรื่องสั้น วันนี้ มาพร้อมกับเรื่องเทวาอารักษ์ ตามสัญญา กับน้องกรีน และน้องวินดา ครับ,
และขอส่งความสุขและรอยยิ้ม สำหรับวันพุธนี้ ด้วยคลิปเพลง เพลง
Pure Imagination (Come with me) นะครับ , แต่น้องเปรมเกือบจะหลุดแรพ ละครับ 555
#เรื่องเล่าก่อนเข้าเรื่องสั้น,
#ลำดับชั้นดนตรีสยาม (โดยย่อ)
-ระดับชั้นสูงสุดหรือระดับราชา คือ “วงขับไม้”ถือว่าเป็นของสูง ซึ่งจะขอยกตัวอย่างข้อเขียนของ พระปฏิเวทย์วิศิษฎ์ (สาย เลขยานนท์) ในนิตยสาร ศิลปากรรายสองเดือน เล่มที่ 2 ปีที่ 6 พ.ศ. 2505 ประกอบดังนี้,
-..ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม” นั้นว่า “..อนึ่ง เมื่อเวลาประสูติเจ้าฟ้านั้นครบเดือนเข้าแล้ว พราหมณ์จะยกขึ้นอู่ ต้องว่าคาถาสรรเสริญ ไกรลาศเหมือนหนึ่งเอาหงส์ขึ้นบนเปล แล้วกล่อมด้วยคาถาของพราหมณ์
และมีเครื่องมโหรีอย่างหนึ่ง เฉพาะทําได้แต่การหลวงและการของเจ้าฟ้า คือ มีซอคันหนึ่ง (ซอสามสาย) มีบัณเฑาะว์ 2 อัน มี คนขับคนหนึ่ง เรียกว่าขับไม้ ตั้งแต่ขึ้นพระอู่แล้ว มีข้าหลวงสําหรับร้องเพลงเห่ ในเวลาบรรทมเรียกว่า “ช้าลูกหลวง”
-วงดนตรีระดับเจ้านายหรือขุนนาง ได้แก่ วงมโหรี, ซึ่งในปัจจุบัน จะกลายรูปมาจากเดิมอยู่มากแล้วก็ตาม แต่ยังคงรักษาประเพณีของความเป็น “ดนตรีที่กำเนิดจากชาววัง” เอาไว้ คือการรักษา ความสุภาพ นิ่มนวล ทั้งในด้านผู้บรรเลง และลีลาของเพลง ทํานองเพลงที่นํามาบรรเลงคํานึงถึงความ ไพเราะเยือกเย็นเป็นสําคัญ โดย ผู้บรรเลงดั้งเดิมก็เป็นผู้อยู่ในรั้วในวังมาก่อนทั้งสิ้นหรือไม่ก็เป็นเหล่าขุนนาง ที่ถูกอบรมในกิริยามารยาท ให้ส่งผลสะท้อนออกมาในศิลปะของดนตรี,
ในด้านเครื่องดนตรีก็เช่นกัน ผู้ที่เคร่งครัดในระเบียบของวง จะขาดซอสามสายไม่ได้ เพราะซอสามสายเป็นสัญลักษณ์สําคัญของความเป็นวงมโหรี แม้แต่เครื่องจังหวะ เช่นกลองก็ยังคงใช้โทน รํามะนา ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่กล่าวมานี้มีเสียงเบา เหมาะสําหรับบรรเลงในที่จํากัด
-วงดนตรีระดับชาวบ้าน ได้แก่ วงปี่พาทย์ เดิมทีเดียววงปี่พาทย์ใช้สําหรับประโคมเท่านั้น มิใช่ใช้เพื่อการขับกล่อมให้ไพเราะอย่างวงมโหรี ปัจจุบัน ทั้งส่วนที่เป็นนักดนตรี เครื่องดนตรี ลีลาของเพลงและวิธีการบรรเลง คือจะเน้นในด้านความสนุกสนานที่ค่อนข้างโลดโผน ให้ความอิสระแก่นักดนตรีอย่างมาก และน้อยนักที่จะพบเห็นบุคคลชั้นสูงระดับเจ้านาย บรรเลงดนตรีตามแบบฉบับของปี่พาทย์
และบรรดานักดนตรี ทั้งหลายที่เคยสังกัดหรือประจําอยู่ในวงปี่พาทย์ของเจ้านายในอดีต ล้วนแต่มาจากชาวบ้านแทบทั้งสิ้น หากเป็นเจ้านายก็มีแต่เป็นผู้ผลิตผลงานทางดนตรี เช่นเพลงต่างๆ หรือการปรับปรุงวงดนตรีเท่านั้น ,
“คุณหลวงท่าน จะมาแหวกขนบนี้ ในวันอาทิตย์นี้ มั้ยนะขอรับ..”
-ส่วนวงดนตรีระดับศพ ได้แก่ วงปี่พาทย์นางหงส์ ที่จริงวงปี่พาทย์นางหงส์ก็คือวงปี่พาทย์ไทยธรรมดานี่เอง แต่ตามคติของนักดนตรีไทยถือว่า เครื่องดนตรีไทยทั้งหลายเป็นของสูงและเป็นมง อันเรื่องที่เกี่ยวกับความตายหรืองานศพนั้น ถือกันว่า ไม่เป็นมงคล ไม่ควรเอาสิ่งที่เป็นมงคลไปเกี่ยวข้องด้วย จะทําให้สิ่งของเหล่านั้นมัวหมองไปด้วย แต่เมื่อมีความจําเป็นต้องใช้หรือต้องทําก็ดัดแปลงเสียบ้าง ชาวบ้านเรียกว่า “เอาเคล็ด” โดยเอาเครื่องดนตรีที่เราถือว่าเป็นของสูงเช่น ตะโพน เปลี่ยน เป็นกลองมลายูแทน เปลี่ยนปี่ในเป็นปี่ชวาแทน ชื่อวงก็เรียกให้แปลกออกไป ฉะนั้นวงดนตรีประเภทนี้ จะใช้ในงานอื่นไม่ได้นอกจากงานที่เกี่ยวกับความตายเท่า เว้นไว้แต่ไม่รู้มาก่อน
-ตะโพน นักดนตรีจัดให้ตะโพนมีศักดิ์เทียบเท่ากับเทพเจ้าพระองค์หนึ่ง คือพระปรคนธรรพ การที่ถือว่าตะโพน สําคัญนั้นมิได้มาทางสายของนักดนตรี แต่มาทางสายของการฟ้อนรํา เพราะผู้รำนิยมฟังเสียงกลองซึ่งมักใช้ตะโพนเป็นหลัก ตะโพนจึงเท่ากับเป็นครูฝึกคนหนึ่ง ฝ่ายดนตรีจึงพลอยตามไปด้วย ความสําคัญของตะโพน เป็นเช่นไรจะเห็นได้จากเมื่อมีพิธีครอบหรือไหว้ครูดนตรีไทยหรือนาฏศิลป์ ตะโพนจะต้องได้รับเครื่องเซ่นบวงสรวงสํารับหนึ่งเท่าเทียมกับเทพเจ้าอื่นๆ ในขณะที่เครื่องดนตรีอื่นไม่มี
#เกร็ดเพิ่มเติมเรื่องเทวดาอารักษ์,
-เทวาอารักษ์ในเครื่องดนตรีไทย คือ
“พระปรคนธรรพ” ซึ่งเชื่อกันว่ามีกำเนิดมาจากหน้าผากของ พระพรหม และเป็นเทวดาที่เป็นนักดนตรีอยู่บนสรวงสวรรค์ จนต่อมาได้กลายมาเป็น เทวะฤๅษี มีนามว่า พระนารทมุนี (เทวดาที่บำเพ็ญตนเป็นฤๅษี)
-เทวาอารักษ์องค์พระปฐมเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่4-5,
เมื่อคราวรัชกาลที่4 ทรงสวรรคต ปรากฏการณ์อัศจรรย์เกี่ยวกับองค์พระปฐมเจดีย์ ถูกบันทึกในพระนิพนธ์เรื่อง อภินิหารการประจักษ์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ว่า “ในระหว่างที่ทรงสวรรคตนั้นเอง”, เทวดาที่สถิตอยู่ ณ พระเจดีย์นครปฐม ได้เข้าดลบันดาลให้หญิงมอญ มีลักษณะประหลาดอัศจรรย์กล่าวภาษาแปลกๆ ในเวลาเดียวกันกับ “ในระหว่างที่ทรงสวรรคตนั้นเอง” เพื่อบอกว่า ขณะนี้รัชกาลที่ 4 สวรรคตแล้ว และกำลังจะไหว้พระเจดีย์ที่พระองค์เคยบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อครั้งยังทรงพระชนม์ชีพ,
สวัสดีและขอจบเพียงเท่านี้
ขอบคุณครับ
ร้อยเรียงข้อมูล (T.Mon+Prame)
20/5/2020
ภาพและข้อมูลสนับสนุนส่วนหนึ่ง: นิตยสาร ศิลปากรรายสองเดือน เล่มที่ 2 ปีที่ 6 พ.ศ. 2505, พระนิพนธ์เรื่อง อภินิหารการประจักษ์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา