25 พ.ค. 2020 เวลา 14:15 • สุขภาพ
🩹วิธีการทำแผลและดูแลแผล ที่ทุกคนควรรู้❗️
เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเป็นแผล ไม่ว่าจะเป็นเเผลมีดบาด ตะปูทิ่ม หกล้ม รถล้ม ซึ่งการทำแผลและการดูแลจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย เภโจมจึงได้รวบรวมวิธีการทำแผลชนิดต่างๆที่พบได้บ่อยมาให้ทุกคนศึกษาดู หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ 😊
🩹การรักษาแผลแต่ละชนิด🩹
🟣บาดแผลที่มีการติดเชื้อหรือเสี่ยงติดเชื้อ
ล้างแผลด้วยด้วยน้ำเกลือให้สะอาดมากที่สุด แล้วเช็ดรอบแผลด้วย 70% alcohol หากแผลเป็นหนองต้องเปิดเเผลเอาหนองออกให้หมดด้วยเครื่องมือที่สะอาด ใส่น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น Betadine (10% povidone iodine) ปิดแผลด้วยผ้าก็อซและเปลี่ยนแผลให้บ่อยครั้ง แนะนำให้ปรึกษาเภสัชกรร้านยาหรือไปพบเเพทย์ เพื่อพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ รับประทาน
ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง เช่น แผลลึก แผลใหญ่ แผลใกล้อวัยวะสำคัญ ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันอยู่ ต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลโดยด่วน
🔺**เพิ่มเติม สำหรับน้ำยาใส่แผลที่นิยมใช้กันมากคือ 10% povidone-iodine เนื่องจากไม่แสบแผล หรือแสบน้อยและทำให้แผลแห้งเร็ว แต่มีข้อเสียคือสามารถทำลายเซลล์ที่สร้างเนื้อเยื่อที่จะทำให้แผลหายไปด้วยเช่นกัน จึงควรใช้กับแผลติดเชื้อ หากอาการแสดงการติดเชื้อหมดไป เช่น พื้นแผลสะอาดดี มีสีแดงชมพู ก็ให้เลิกใช้ได้
ส่วนแผลสดที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อมากก็พิจารณาใช้ยาฆ่าเชื้อเพียง 1-2 ครั้งแรกเท่านั้น ไม่ต้องใส่ทุกครั้งที่ทำแผล เพราะจะทำให้แผลหายช้าได้** 😱
รูปภาพจาก http://www.boatbookofficecenter.com
🔵แผลถลอก จากการหกล้ม
รูปภาพจาก https://productnation.co/th
ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ เอาสิ่งแปลกปลอมออกจากแผล เช็ดรอบแผลด้วย 70% alcohol ปิดแผลด้วยวัสดุปิดแผล หากจำเป็นต้องใส่ยาฆ่าเชื้อพวก betadine (10% povidone iodine) ควรใช้ให้น้อยที่สุดเพียง 1-2 ครั้งแรกเท่านั้น
🟢แผลฉีกขาดจากของมีคม
รูปภาพจาก https://www.scimath.org
ทำการห้ามเลือด ใช้ผ้าสะอาดกดแผลโดยตรง ยกแผลสูงกว่าหัวใจ ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ เช็ดรอบแผลด้วย 70% alcohol กรณีแผลมีรอยแยกถ้าไม่ใหญ่มากใช้วัสดุแต่งแผลที่ดึงรั้งให้ขอบแผลติดกันแทนการเย็บ หากแผลใหญ่ส่งต่อเเพทย์
🟡แผลถูกทิ่มเเทง
รูปภาพจาก https://www.tnews.co.th
ถ้าเป็น หนามหรือเสี้ยนตำ ทำความสะอาดรอบแผล แล้วใช้เข็มสะอาดชุบแอลกอฮอล์ เปิดแผลให้กว้างเพื่อนำสิ่งแปลกปลอมออกจากแผลและล้างแผลได้สะดวก
ถ้าเป็น ตะปูตำ ต้องฉีดวัคซีนบาดทะยักทุกกรณี แต่ถ้าสิ่งที่แทงมีขนาดใหญ่หักคาแผล ให้ส่งโรงพยาบาลเพื่อเอาออก ไม่ควรเอาออกเองเพราะอาจเสียเลือดมากได้
🟠แผลกะรุ่งกะริ่ง
เป็นแผลที่เนื้อเยื่อฉีกขาดรุนแรง แต่ยังไม่หลุดออกจากร่างกาย ห้ามดึงเศษเนื้อเยื่อให้หลุดออกจากร่างกาย พยายามจัดเนื้อเยื่อให้กลับสภาพเดิมและใช้ผ้าสะอาดปิดเเผล รีบนำส่งโรงพยาบาล กรณีที่เนื้อเยื่อฉีกขาดและหลุดออกจากร่างกาย รวมถึงอวัยวะ เช่น นิ้วมือ แขน ขา ขาดออกจากร่างกาย ให้นำอวัยวะนั้นๆใส่ถุงพลาสติกที่สะอาดปิดให้สนิท เก็บรักษาในกระติกน้ำที่ใส่”น้ำผสมน้ำแข็ง” ห้ามใช้น้ำเเข็งอย่างเดียวเพราะอุณหภูมิต่ำเกินไป
🔴แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
รูปภาพจาก https://www.pobpad.com
กรณีแผลขนาดเล็กอาจดูแลเองได้ เช่น น้ำมันทอดอาหารกระเด็น ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือหรือน้ำสะอาด เป็นเวลา 10-15 นาที (ห้ามใช้น้ำเย็นมากเกินไปจะทำให้เส้นเลือดหดตัวและขาดเลือดมาเลี้ยงที่แผล) ทายาฆ่าเชื้อ 1% silver sulfadiazine ปิดด้วยวัสดุปิดแผลที่เหมาะสมเปลี่ยนทุกวัน กรณีแผลพุพองยังไม่เเตก ไม่ต้องทายา อาจใช้แผ่นฟิล์มปิดหรือใช้เข็มสะอาดเจาะแล้วปิดด้วยแผ่นฟิล์มใส หากเป็นเเผลจากท่อไอเสียมอเตอร์ไซด์ ควรล้างแผลให้สะอาดและปิดด้วยแผ่นฟิล์มใส โดยไม่จำเป็นต้องทำแผลบ่อยๆ จะเปลี่ยนฟิล์มใหม่เมื่อน้ำเหลืองไหลล้นออกมา
กรณีแผลไฟไหม้รุนแรง หนังกำพร้าหลุด แผลลึกถึงกล้ามเนื้อและกระดูก ร่างกายอาจเสียน้ำและเกลือเเร่จำนวนมาก ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
รูปภาพจาก https://sso.mims.com
🟤แผลปูด โน ฟกช้ำ
รูปภาพจาก https://www.trueplookpanya.com
หยุดการใช้หรือเคลื่อนไหวอวัยวะนั้นๆ ใช้ผ้าหุ้มน้ำเเข็ง ประคบบริเวณที่มีอาการใน 48 ชั่วโมงแรก โดยประคบเย็นวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 15-30 นาที เพื่อให้เส้นเลือดหดตัวและห้ามเลือดที่ออกใต้ผิวหนัง หลัง 48 ชั่วโมงให้ประคบด้วยน้ำอุ่นหรือถุงประคบร้อน วันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 15-30 นาที เพื่อให้เส้นเลือดขยายตัวและนำเลือดที่คั่งอยู่ใต้ผิวหนังกลับเข้าสู่ร่างกาย
🩹สำหรับการทำแผลและดูแลแผลเบื้องต้นก็จะมีประมาณนี้นะครับ แต่น่าจะมีหลายๆคนแอบสงสัยอยู่ว่า ถ้าไม่มีน้ำเกลือล้างแผล ใช้น้ำดื่มล้างแผลแทนได้หรือไม่❓ คำตอบก็คือใช้แทนได้ครับ อาจใช้เป็นน้ำดื่มบรรจุขวดหรือน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว แต่น้ำมีค่าออสโมซิสที่ต่ำกว่าน้ำเกลือจึงอาจทำให้แผลเจ็บมากกว่านำ้เกลือนั่นเองครับ
เอกสารอ้างอิง : เอกสารการสอน เรื่องการทำแผลและดูแลแผล (Wound care and Dressing) ภก.ธีรวุฒิ พงศ์เศรษฐไพศาล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา