27 พ.ค. 2020 เวลา 13:41 • ประวัติศาสตร์
เรื่องเล่าจากปกรณัมกรีก ตอนที่ 3 : กำเนิดมหาเทพซุส เทพบิดรแห่งจักรวาล Part 2 : มหาสงครามครั้งยิ่งใหญ่ของเหล่าทวยเทพ
Joachim Wtewael, The Battle Between the Gods and the Titans, oil on copper, 1600
หลังจากที่ซุสได้เติบใหญ่ และพร้อมที่จะไปสอยพ่อตัวเองลงจากบัลลังก์แล้ว ซุสได้ร่วมมือกับย่า หรือไกอาและรีอา ผู้เป็นมารดา เพื่อจัดการโค่นบิดาของตนเอง
โดยที่รีอาได้หลอกให้โครนอสกินยาถ่ายและซุสก็จัดการบีบบังคับให้โครนอสต้องสำรอกบุตรทั้งห้าคนที่กลืนเข้าไปก่อนหน้า นั่นคือ
1. เทพีเฮสเทีย หรือ เวสตา (Vesta) เทพีแห่งไฟและเทพีผู้คุ้มครองครอบครัว โดยเฉพาะในยามให้กำเนิดบุตร จะเอาบุตรไปวางใกล้เตาไฟ เพื่อรับพรจากเฮสเทีย และเธอยังถือครองพรหมจรรย์
Hestia goddess
Hestia comparison (Right source : Danmachi)
2. เทพีดีมีเทอร์ หรือ เซเรส (Ceres) เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ธัญญาหาร และการเก็บเกี่ยวเพาะปลูก และยังเป็นเทพีผู้ที่เป็นเพื่อนของมนุษย์ยามทุกข์ทน
Demeter
3. เทพีเฮรา หรือ จูโน (Juno) เทพีแห่งการสมรส ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นมเหสี(เมียหลวง) ของซุส ขึ้นชื่อเรื่องความหึงหวงและความริษยาอาฆาตแค้น
Hera goddess
4. เทพโพไซดอน หรือ เนปจูน (Neptune) เทพแห่งท้องทะเลและเหล่าอาชา มักจะได้รับฉายา “ผู้เขย่าพิภพ”
Poseidon
5. เทพฮาเดส หรือ พลูโต (Pluto) ผู้ครองยมโลกและเป็นราชาแห่งคนตาย และยังเป็นผู้ถือครองทรัพย์สมบัติทั้งมวลใต้ผืนพิภพ ขึ้นชื่อว่าเป็นเทพที่ร่ำรวยที่สุดก็ว่าได้
Hades and Cerberus
เมื่อซุสได้ปลดปล่อยพี่น้องออกมา เนื่องจากเป็นเทพ จึงไม่ได้ตายเมื่อถูกกลืนลงท้อง แถมยังโตเต็มวัยเมื่อออกมาอีก ก็ได้ทำสงครามกับโครนอสที่มีเหล่าไททันคอยช่วยเหลือ สงครามครั้งนี้ แทบจะทำลายจักรวาลให้ย่อยยับ
ซุสจึงทำการปลดปล่อยเหล่าไซคลอปส์และอสูรร้อยมือออกมาจากทาร์ทารัสเพื่อมาเป็นกำลังรบให้และสร้างอาวุธให้แก่เหล่าพี่น้องเทพ นั่นคือ อสุนีบาตของซุส ตรีศูลของโพไซดอน และหมวกล่องหนของฮาเดส ทำให้พวกไททันเพลี่ยงพล้ำ
และยังไม่หมดเท่านั้น มีไททันตนหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรของน้องชายโครนอส นั่นคือ โพรมีธีอุส (Prometheus) บุตรของไออาเพทัส (Iapetus) ผู้ชาญฉลาด แปรพักตร์มาเข้าข้างซุส เปรียบเสมือนพิเภกที่มาเข้ากับพระราม คอยบอกจุดอ่อนของศัตรู จนทวยเทพมีชัยชนะเหนือเหล่าไททัน
มหาสงครามครั้งนี้ กินเวลานานเป็นสิบปี ซุสได้ลงโทษเหล่าไททันที่รอดชีวิตโดยการจับโยนลงไปในทาร์ทารัส มีคำเปรียบเปรยไว้ว่า
พวกเขาถูกล่ามโซ่ไว้ใต้พิภพกว้าง
ลึกลงไปในพื้นพสุธา
เท่ากับระยะสูงถึงสวรรค์ ลึกจนถึงทาร์ทารัส
ทิ้งทั่งสำริดลงจะใช้เวลาถึงเก้าวันเก้าคืน
จวบจนวันที่สิบจึงถึงพิภพจากสวรรค์
และอีกเก้าวันเก้าคืนร่วงต่อไป
จึงถึงทาร์ทารัสที่ล้อมรั้วทองเหลืองไว้
Cornelis Cornelisz van Haarlem, The Fall of the Titans, 1596-1598
ยกเว้นแต่โพรมีธีอุสและน้องชาย เอพิธีอุส ที่อยู่เคียงข้างฝ่ายเทพ พวกเขาถึงได้รับรางวัล เป็นความไว้วางใจจากเหล่าเทพ
ส่วนไททันอีกตน นั่นคือแอตลาส (Atlas) น้องชายอีกคนของโพรมีธีอุส ถูกลงโทษให้แบกสวรรรค์ไว้บนบ่าตลอดกาล เพื่อไม่ให้สวรรค์กับพิภพมารวมกันได้อีก ณ ที่ๆไร้ซึ่งทั้งทิวาและราตรี (หลายคนเข้าใจผิดว่าแอตลาสแบกโลกทั้งใบเอาไว้ แต่จริงๆไม่ใช่นะครับ แอตลาสแบกสวรรค์เอาไว้ต่างหาก)
ใช่หรือไม่ ที่ตัวเรานั้น เมื่อพ่ายแพ้ต่อโลก หรือ ต่อชีวิตตนเอง ย่อมต้องแบกความทุกข์อันแสนสาหัสเหมือนดั่งแบกโลกทั้งใบไว้บนบ่า โลกที่แบกอยู่นั้นก็หาใช่สิ่งใด แต่เป็นกิเลส ตัณหา อวิชชา และราคะที่เหนี่ยวรั้งเราไว้ และยังแบกต่อไป ไม่เว้นทั้งทิวาและราตรี ตราบสิ้นชีวี
Atlas carrying the heaven
นี่เป็นปริศนาธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ชาวกรีกทิ้งไว้ให้พวกเราใคร่ครวญ เนื่องด้วยมนุษย์ส่วนใหญ่ เลือกจะแบกสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ และกักขังตัวเองอยู่ในวิหารเล็กๆของตนเอง หรืออยู่แต่ในดอกบัวที่มิยอมเบ่งบานออกมา ยากจะเปลี่ยนแปลงได้
ขอแค่ตระหนัก ใคร่ครวญ และเปิดตารับแสงแห่งสุริยปัญญา ท่านก็จะสามารถวางโลกทั้งใบไว้แทบเท้า และเดินทางไปสู่มรรคาที่ตั้งมั่นไว้ โดยไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้งเรา
เรื่องนี้คล้ายคลึงกับตำนานของเทพีอามาเทระสึ (Amaterasu) สุริยเทพีผู้กักขังตัวเองไว้ในถ้ำมืด ด้วยใจที่ปิดกั้นตนเอง จนโลกธาตุพลันมืดมน ปีศาจอสุรกายพากันออกมาอาละวาด จนเหล่าทวยเทพต้องขอร้องให้นางออกมา เพื่อคืนแสงแห่งสุริยากลับคืนสู่โลกา
เมื่อลองใตร่ตรองให้ดี สงครามครั้งนี้ ก็มีเค้าเรื่องคล้ายคลึงกับมหาภารตยุทธ มหากาพย์อันยิ่งใหญ่แห่งอนุทวีปอินเดีย ที่เป็นสงครามระหว่างฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม ที่แทรกสอดปริศนาธรรมมากมายให้นั่งใคร่ครวญและเป็นบทเรียนแก่อนุชนคนรุ่นหลัง
เรื่องราวยังไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่อสงครามจบลง เหล่าไททันถูกจองจำไว้ในทาร์ทารัส พระแม่ธรณีไกอาไม่พอใจอย่างมากที่ลูกๆของตนหรือเหล่าไททันต้องถูกจองจำ จึงได้ให้กำเนิดอสูรกายคู่หนึ่งออกมา นั่นคือ ไทฟอน (Typhon) และนางงูอคิดน่า (Echidna)
อสูรกายไทฟอนตนนี้ ร้ายกาจยิ่งกว่าสิ่งใดที่เคยมี ในตำราของอีดิธ แฮมิลตัน (Edith Hamilton) บรรยายลักษณะของมันไว้ว่า
อสูรกายพ่นไฟมีร้อยเศียร
ผุดขึ้นสู้กับปวงเทพ
มัจจุราชส่งเสียงหวีดหวิวจากปากอันน่ากลัว
นัยน์ตาปลาบแลบเป็นเพลิงกัลป์
ไทฟอนนั้นร้ายกาจยิ่งนัก มันสามารถพ่นไฟและลาวาออกมาได้ มีพิษร้ายแรง มีอำนาจควบคุมลมพายุ ว่ากันว่ามันมีลักษณะคล้ายมังกรร้อยหัว แม้เหล่าทวยเทพจะรวมพลังกัน ก็ไม่สามารถปราบมันลงได้ จึงได้แต่หนีกระเจิง แม้แต่เทพซุส ก็ยังยอมศิโรราบ แปลงร่างเป็นแกะหลบหนีไป
Typhon
แต่เมื่อไทฟอนได้ขึ้นมาถึงสวรรค์ พร้อมป่าวประกาศให้ปวงเทพยอมศิโรราบแก่ตน ซุสละอายใจยิ่งนัก ที่เป็นถึงปวงเทพสูงสุด แต่กลับต้องยอมศิโรราบให้อสูรกายอันน่ารังเกียจ จึงได้รวบรวมความกล้า เข้าประจันหน้ากับไทฟอนอีกครา
เหล่าทวยเทพประจันหน้ากับไทฟอนเป็นเวลานานยิ่ง จนแทบไม่มีสิ่งมีชีวิตได้หลงเหลืออยู่
และในที่สุดแล้ว ไทฟอนก็คิดจะปิดบัญชีสักที โดยการยกภูเขาไฟมหึมาโยนทับเหล่าทวยเทพทั้งหมดไปพร้อมกัน
แต่ซุส ได้มองเห็นโอกาสสุดท้าย ไทฟอนได้เปิดช่องว่างเสียแล้ว เมื่อไทฟอนยกภูเขาไฟเอตนา (Etna) ไว้เหนือหัว ซุสใช้โอกาสนี้ ฟาดอสุนีบาตอันไม่เคยหลับไหลลงใส่ไทฟอนอย่างเต็มเปา
Zeus vs Typhon
ไทฟอนแม้จะไม่ตาย แต่ก็หมดฤทธิ์สิ้นท่าเสียแล้ว เศษซากภูเขาไฟเอตนาได้ทับร่างของไทฟอนเอาไว้ มันจึงไปไหนไม่ได้ ได้แต่ปลดปล่อยลาวาปะทุออกมาเท่านั้น จึงเป็นภูเขาไฟเอตนา ที่เกาะซิซิลี มาจนถึงทุกวันนี้
Etna volcano
ทว่าทายาทของไทฟอน ยังอยู่กับนางอีคิดน่า รอวันที่จะได้สำแดงฤทธิ์ต่อจากนี้
และคำว่า Typhoon หรือ ไต้ฝุ่น ก็มีรากศัพท์มาจาก typhon ที่มีอำนาจในการควบคุมลมพายุ
หากเทพซุสมิรวบรวมความกล้าเพื่อจะตัดสินกับไทฟอนในครานั้น ประวัติศาสตร์คงจะเปลี่ยนไป
ดังนั้น “ความกล้า” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องธำรงไว้ แม้ยามสิ้นหวังอันประมาณมิได้
ขอจบมหาศึกของเหล่าทวยเทพเพียงเท่านี้ เรื่องเล่าต่อจากนี้ จะเกี่ยวกับการกำเนิดมนุษย์ และ โพรมีธีอุส จะกลับมามีบทบาทอีกครั้ง ในฐานะผู้โอบอุ้มมวลมนุษย์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา