28 พ.ค. 2020 เวลา 06:00 • ศิลปะ & ออกแบบ
เวสสันดรชาดก ตอนที่ ๑๒ ( กัณหาชาลีถูกทรมาน )
พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ไม่ทรงบริจาคมหาบริจาค ๕ ประการ คือ
บริจาคทรัพย์ บริจาคอวัยวะ บริจาคชีวิต บริจาคบุตร บริจาคภรรยา
หาเป็นพระพุทธเจ้าได้ไม่ ก็ตัวเราก็เข้าอยู่ในจำพวกพระโพธิสัตว์เหล่านั้น
แม้เราไม่บริจาคบุตร และชายา ก็ไม่อาจจะเป็นพระพุทธเจ้าได้เช่นกัน …
ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง ยากต่อการเข้าถึง แต่ก็ไม่เกินความสามารถของผู้มีบุญทั้งหลาย ที่มีจิตน้อมไปในคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระองค์ บัดนี้แม้พระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปกว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้ว แต่พระธรรมคำสอนของพระองค์ ยังคงนำสันติสุขมาสู่มวลมนุษยชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตราบเท่าที่ยังมีผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมนี้ จะยังได้ชื่อว่า เป็นผู้บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูอย่างยิ่งยวด ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จดับขันธ์ไปแล้วก็ตาม ดังนั้นให้พวกเราทุกคน ตั้งใจทำหยุดทำนิ่งให้ได้ตลอดเวลา ให้เข้าถึงพระธรรมกาย   เราจะได้ชื่อว่า บูชาพระพุทธองค์อย่างแท้จริง และยังเป็นการปฏิบัติบูชาอันสูงสุดด้วย
พระเวสสันดรโพธิสัตว์ทรงกล่าวสอนตนเองว่า
 
    "พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ไม่ทรงบริจาคมหาบริจาค ๕ ประการ คือ บริจาคทรัพย์ บริจาคอวัยวะ บริจาคชีวิต บริจาคบุตร บริจาคภรรยา หาเป็นพระพุทธเจ้าได้ไม่ ก็ตัวเราก็เข้าอยู่ในจำพวกพระโพธิสัตว์เหล่านั้น แม้เราไม่บริจาคบุตร และชายา ก็ไม่อาจจะเป็นพระพุทธเจ้าได้เช่นกัน"
นี่เป็นแนวความคิด และวิธีการที่จะก้าวขึ้นสู่ความเป็นพระพุทธเจ้าที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทุกๆ พระองค์ ท่านประพฤติปฏิบัติตามกันมาเป็นอริยวงศ์ ต้องกล้าที่จะเอาชนะความตระหนี่เหล่านี้ให้ได้ ชาวโลกส่วนใหญ่นั้น มักจะหวงแหน หึงหวง อีกทั้งตระหนี่ในบุคคลและวัตถุสิ่งของ ๕ ประการนี้  เมื่อได้ครอบครองแล้ว มักจะยึดติดว่า นั่นเป็นของเรา ใครจะมาแตะต้องหรือมาแยกให้พลัดพรากจากกันไปไม่ได้ ซึ่งอันที่จริงสิ่งเหล่านี้ใช่ว่าจะอยู่กับเราไปตลอด ไม่ช้าหรือเร็วก็ต้องพลัดพรากล้มหายตายจากกันไป ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวของเราเอง
เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ต่างยึดมหาบริจาคทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นบรรทัดฐานในการที่จะก้าวขึ้นสู่ความเป็นพระอริยเจ้า สิ่งที่ท่านได้ทำไว้เป็นแบบอย่างนี้ ท่านอาศัยกำลังปัญญาบารมีของท่านตรวจตราดูอย่างดีแล้ว จึงสรุปลงไปว่า หากปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้ากันจริงๆ ก็ต้องผ่านด่านของมหาบริจาคทั้ง ๕ นี้ไปให้ได้
เนื่องจากพระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ ได้สร้างบารมีมาแล้ว ๒๐ อสงไขยกับ ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป ครั้งที่ได้รับพยากรณ์เป็นนิยตโพธิสัตว์ อีกทั้งสร้างบารมีชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันนานถึง ๔ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป ชาตินี้จึงเป็นชาติสุดท้ายของการบำเพ็ญบารมี และเป็นชาติของการบำเพ็ญมหาทานบารมีอย่างยิ่งยวด ดังนั้นพระองค์จึงกล้าที่จะบริจาคพระโอรส และพระธิดาแก่ชูชก
*ฝ่ายชาลีราชกุมารได้ทูลอ้อนวอนพระบิดาว่า "ข้าแต่พระบิดา ขอพระบิดาอย่าเพิ่งประทานหม่อมฉันทั้งสอง จนกว่าพระมารดาของหม่อมฉันทั้งสองจะเสด็จกลับมาเถิด ชูชกนี้ประกอบด้วยบุรุษโทษ ๑๘ ประการ คือ เท้าแป เล็บเน่า มีปลีน่องย้อยยาน มีริมฝีปากบนยาว น้ำลายไหล มีเขี้ยวยาวออกจากริมฝีปากเหมือนเขี้ยวหมู จมูกหัก ท้องโตเหมือนหม้อ หลังค่อม ตาเหล่ หนวดสีเหมือนทองแดง ผมสีเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง เกลื่อนไปด้วยกระดำกระด่าง ตาเหลือกเหลือง เอวคด หลังโกง คอเอียง ขากาง เวลาเดินข้อเท้าลั่นดังเผาะๆ ขนตามตัวดก และหยาบ นุ่งห่มหนังเสือเหลือง เป็นเหมือนอมนุษย์น่ากลัว แกเป็นอมนุษย์หรือยักษ์กินเนื้อและเลือด มาแต่บ้านสู่ป่า ทูลขอทรัพย์กับพระบิดา
"ข้าแต่พระบิดา พราหมณ์ชูชกผู้แสวงหาทรัพย์คนนี้ เป็นคนร้ายกาจเหลือประมาณ ทุบตีหม่อมฉันทั้งสองเหมือนตีฝูงโค พระองค์ไม่ทรงทราบหรือ ลูกมฤคีที่ยังกินนม พรากไปจากฝูงก็ร้องไห้หาแม่เพื่อจะกินนมฉันใด น้องกัณหาชินาเมื่อไม่เห็นพระมารดา ก็จะกันแสงเหี่ยวแห้งสิ้นชนม์ชีพ ฉันนั้น"
 
    พระชาลีราชกุมารกราบทูลเช่นนี้แล้ว พระมหาสัตว์มิได้ตรัสอะไร พระชาลีราชกุมารก็ครํ่าครวญต่อไปว่า "ทุกข์เห็นปานนี้ของลูกไม่สู้กระไร เพราะทุกข์นี้ลูกผู้ชายพึงได้รับ แต่การที่ลูกไม่ได้พบพระมารดา เป็นทุกข์ยิ่งกว่าทุกข์เห็นปานนี้ พระมารดาพระบิดาเมื่อไม่ทอดพระเนตรเห็นกัณหาชินากุมารี ก็จะเป็นผู้กำพร้าทรงกันแสงตลอดเวลา จิตใจจักเหี่ยวแห้งภายในราตรีเดียว เหมือนแม่น้ำที่เหือดแห้งไปฉะนั้น"
ขณะที่พระชาลีราชกุมารทรงครํ่าครวญอยู่นั้น ชูชกก็เข้ามาโบยตีโดยไม่มีความกรุณาปรานี รีบฉุดลากพาทั้งสอง พระองค์จากไป ทันใดนั้นเอง ความเศร้าโศกอย่างมีกำลังเพราะพระโอรสพระธิดาซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ก็ได้เกิดขึ้นกับพระโพธิสัตว์ จิตใจของพระองค์ทรงหวั่นไหวด้วยความเศร้าโศกของลูกทั้งสอง เหมือนช้างพลายตกมันถูกไกรสรราชสีห์จับ เหมือนดุจดวงจันทร์เข้าไปในปากของราหู ไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้ด้วยภาวะของพระองค์ มีพระเนตรนองไปด้วยพระอัสสุชล เสด็จเข้าบรรณศาลาจิตใจก็รุ่มร้อน ทรงปริเทวนาการอย่างน่าสงสาร ทั้งรักทั้งสงสารโอรสธิดาทั้งสองของพระองค์ อีกทั้งสงสารพระนางมัทรีผู้เป็นมารดาที่เมื่อกลับมาแล้ว ต้องเศร้าโศกอาจต้องตรอมใจตายก็เป็นได้
พระเวสสันดรมหาสัตว์ทรงปริวิตกด้วยเสน่หาในพระโอรส และพระธิดาว่า พราหมณ์นี้เบียดเบียนลูกทั้งสองของเราเหลือเกิน  เมื่อไม่อาจกลั้นความโศกไว้ได้ จึงคิดที่จะติดตามไปฆ่าพราหมณ์ แล้วนำลูกทั้งสองกลับคืนมา จากนั้นก็กลับทรงหวนคิดได้ว่า การที่ลูกเราทั้งสองถูกเบียดเบียนเป็นความลำบากยิ่ง นั่นไม่ใช่ฐานะ การบริจาคปิยบุตรทานแล้วเดือดร้อนภายหลัง หาใช่ธรรม ของสัตบุรุษไม่ ใครเล่าที่รู้ธรรมของสัตบุรุษ บำเพ็ญทานแล้วจะเดือดร้อนภายหลัง มีแต่บำเพ็ญทานแล้วต้องนึกถึงด้วยความปีติยินดี
พระเวสสันดรทรงดำริต่อไปว่า พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ ไม่ทรงบริจาคมหาบริจาค ๕ ประการ คือ บริจาคทรัพย์ บริจาคอวัยวะ บริจาคชีวิต บริจาคบุตร บริจาคภรรยา หาเป็นพระพุทธเจ้าได้ไม่ ก็ตัวเราเข้าอยู่ในจำพวกพระโพธิสัตว์เหล่านั้น แม้เราไม่บริจาคบุตรและชายา ก็ไม่อาจจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ ทรงดำริฉะนี้ พลางสอนตนเองว่า "ขึ้นชื่อว่าบริจาคทานแล้วต้องเดือดร้อนภายหลังหาสมควรแก่เราไม่" จึงทรงอธิษฐานสมาทาน ศีลมั่นว่า "แม้ชูชกจะฆ่าลูกทั้งสองที่เราบริจาคแล้ว เราก็จะไม่กังวลอะไรกับบุตรทั้งสองนั้นอีก" หลังจากอธิษฐานแล้ว ได้เสด็จออกจากบรรณศาลา ประทับนั่งบำเพ็ญภาวนาทำใจให้สงบหยุดนิ่ง
ฝ่ายกัณหาชาลีเป็นเด็กฉลาด ทันทีที่ชูชกพลาดล้มลงเพราะสะดุดตอไม้ ทั้งสองพากันวิ่งหนีกลับมาหาพระบิดา พลางทูลโอดครวญว่า "ข้าแต่เสด็จพ่อ ตาพราหมณ์นี้นำหม่อมฉันสองพี่น้องไปยังไม่ทันถึงประตูป่าเลย แกมีตาทั้งคู่แดงก่ำเหมือนมีโลหิตไหล ปานจะเคี้ยวกินหม่อมฉัน ได้แต่เฆี่ยนตี   ฉุดกระชากลากถูหม่อมฉันทั้งสองด้วยความโหดร้ายทารุณยิ่งนัก"
พระเวสสันดรได้สดับเช่นนั้นแล้ว ความสงสารในพระกุมารกุมารี พร้อมกับความโกรธเป็นกำลังก็บังเกิดขึ้น จิตใจทรงเร่าร้อน กระทั่งฆานทวารก็ไม่พอจะระบายพระอัสสาสะปัสสาสะ ทรงปล่อยให้ลมที่ร้อนออกทางพระโอษฐ์ พระอัสสุเป็นเหมือนหยาดพระโลหิตไหลออกจากพระเนตรทั้งสอง พระเวสสันดรมหาสัตว์ทรงดำริว่า ทุกข์เห็นปานนี้เกิดเพราะโทษของความเสน่หา เพราะฉะนั้นเราควรเป็นผู้มีจิตเป็นกลางๆ อย่าทำความเสน่หาในบุตรธิดาเหล่านี้เลย ทรงดำริฉะนี้แล้ว ก็สามารถบรรเทาความโศกลงได้ จึงประทับนั่งด้วยพระอาการเป็นปกติ ชูชกก็ตามมาเอาเชือกผูกข้อพระหัตถ์ของพระกุมารทั้งสองกลับไปเหมือนเดิม
จะเห็นได้ว่า จิตใจของพระโพธิสัตว์เจ้าของเราสูงส่ง และหนักแน่นดุจขุนเขา ให้แล้วไม่ยอมเอาคืนอีก ทรงตัดใจเหมือนตายจาก ไม่ยอมให้ความเสน่หา ความรัก และความสงสารเข้ามามีอิทธิพลเหนือจิตใจของพระองค์ได้ ทรงมั่นคงในปณิธานไม่ผันแปร
 
    เพราะฉะนั้นพวกเรา ก็เช่นเดียวกัน เมื่อตัดสินใจจะสั่งสมบุญอะไรแล้ว ให้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ อย่าให้ปัญหา และอุปสรรคมาทำให้เราท้อแท้ใจ ต้องรักษากำลังใจให้สูงส่งตลอดไป จนกว่าจะสร้างบารมีไปถึงที่สุดแห่งธรรมกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. เวสสันตรชาดก เล่ม ๖๔ หน้า ๖๙๔

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา