จากการศึกษา “ลัทธิประโยชน์นิยมของเจเรมี เบนธัม มาแล้ว ในทุกประเด็นข้างต้น สามารถสรุปได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
(1) เบนธัมมีความคิดเห็นว่า ธรรมชาติของมนุษย์มีความเห็นแก่ตัวและ มักแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองเป็นหลัก แม้จะกล่าวว่าทำเพื่อผู้อื่น แต่แท้ที่จริงแล้วก็เห็นแก่ตัวทั้งนั้น ดังนั้น การจะให้มนุษย์เห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นต้องให้รางวัลเป็นสิ่งล่อเพื่อเป็นแรงจูงใจ ให้คนกลับมาเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เพราะทุกคนย่อมเห็นประโยชน์ของตนเองมาก่อนเสมอ
(2) สำหรับเบนธัม ประโยชน์สุขส่วนตัวต้องมาก่อนเสมอ เพราะว่า เมื่อมนุษย์ได้รับประโยชน์ส่วนตนอย่างเต็มที่แล้ว ก็จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นภายหลัง อันนับได้ว่าเป็นผลพลอยได้จากการสนับสนุนเรื่องประโยชน์ของตนเอง
(3) ความสุขที่ถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องนั้น ต้องให้ค่าความสุข แก่สมาชิกในสังคมอย่างเท่าเทียม เพราะเบนธัม เห็นว่า ความสุขของสิ่งมีชีวิตเท่ากัน ในด้านปริมาณ ดังนั้น สิ่งที่ถือว่ามีประโยชน์มากที่สุดคือ สิ่งนั้นจะต้องให้ความสุขแก่ทุกคน มากที่สุดไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตามก็ถือว่ามีประโยชน์ และการกระทำใดก็ตามที่ลิดรอนความสุขของสมาชิกลง การกระทำนั้นถือว่า ไม่มีประโยชน์
(4) ความสุขในทรรศนะของเบนธัม สามารถวัดได้ ชั่งตวงได้ โดยใช้หลักการคำนวณแบบสุขนิยม (Hedonistic Calculus) โดยยึดหลักของความเข้มข้น ระยะเวลาความแน่นอน ความใกล้ไกล เป็นต้น ที่บุคคลจะสามารถได้รับความสุขนั้นเป็นเกณฑ์
เนื่องจากความสุขและความเจ็บปวดในทรรศนะของเบนธัมนั้น เป็นสิ่งที่สามารถวัดและคำนวณได้ โดยใช้หลักเกณฑ์การวัดค่าความสุขและความเจ็บปวด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ 4 ประการ ดังนี้ (Jeremy Bentham, 1984, p. 25)
1) ความเข้มข้น (intensity) ของ (ความสุข) แต่ละคนว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น คนที่ชอบขนมที่มีรสหวาน ย่อมมีความสุขที่ได้รับประทานขนมที่หวานยิ่งกว่าได้รับประทานขนมที่หวานน้อย ความเข้มข้นของความหวานเป็นตัวตีค่าขนม 2 ชนิดนั้น
2) ระยะเวลา/ความคงทนถาวร (duration) ของการมีความสุขนั้น เช่น สิ่ง 2 สิ่ง ที่นำความสุขมาให้ มีอย่างอื่นเหมือนกันหมด สิ่งที่ให้ความสุขแก่เราได้นานกว่าหรือ บ่อยกว่าย่อมถือว่ามีค่ามากกว่า
3) ความแน่นอนหรือความไม่แน่นอน (certainty/uncertainty) คือ มีความมั่นใจว่าการกระทำนั้นจะให้ความสุขที่แน่นอน เช่น กรณีที่สิ่ง 2 สิ่ง มีความเข้มข้นเท่ากัน มีระยะเวลาที่ให้ความสุขเท่ากัน สิ่งที่เราจะหาได้หรือทำให้มีขึ้นมาได้แน่นอนกว่า ย่อมมีค่ามากกว่าเหมือนกับคำที่ว่า อย่าหวังพึ่งน้ำบ่อหน้า
4) ความใกล้หรือไกล (propinquity or remoteness) หมายถึง ความใกล้หรือไกลของการแสวงหาความสุข กล่าวคือ สิ่งที่ให้ความสุขอยู่ไม่ไกลจนเกินไปเพราะสิ่งที่อยู่ใกล้ ย่อมแน่นอนกว่าสิ่งที่อยู่ไกล เช่น การเดินไปต่างจังหวัดเพื่อชื่นชมความสุขชนิดเดียวกับ การอยู่ชื่นชมที่บ้าน การชื่นชมความสุขที่บ้านย่อมมีความสุขมากกว่าเพราะอยู่ใกล้กว่า
อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงปัจจัยในการคำนวณความสุขหรือความทุกข์ในตัวของมันเองเท่านั้น แต่หากต้องการวัดค่าแนวโน้มของการกระทำใด ๆ ว่าจะให้ความสุขหรือทุกข์จะต้องพิจารณาปัจจัยอีก 3 ประการคือ
1) ผลิตภาวะ/ความอุดมสมบูรณ์หรือโอกาส (fecundity or chance) ได้แก่ คำว่า ผลิต นี้เป็นลักษณะของความสุข หมายความว่า ในการกระทำอันใดอันหนึ่งซึ่งให้ความสุข อย่างหนึ่งจะมีโอกาสเป็นแนวโน้มอันจะก่อให้เกิดความสุขอย่างอื่นอีกหรือไม่ (ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องของความสุขที่เกิดขึ้น) เช่น ความสุขที่เกิดจากการคบเพื่อนในชั้นเรียนย่อมเป็นบ่อเกิดความสุขอื่น ๆ ได้ เช่น ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เป็นต้น
2) ความบริสุทธิ์ (purity) หมายถึง ในการกระทำอันหนึ่งซึ่งจะนำความสุขมาให้มีโอกาส ที่จะก่อให้เกิดความทุกข์หรือไม่ ถ้าไม่มีก็บริสุทธิ์แต่ถ้ามีก็ไม่บริสุทธิ์ สำหรับคน ที่กระหายน้ำ น้ำดื่มสะอาดย่อมมีค่ามากกว่าน้ำขุ่นและไม่สะอาดซึ่งสามารถระงับความกระหายได้เช่นเดียวกัน แต่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
3) ขอบเขต (extent) ข้อนี้ถือว่าเป็นข้อที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่า เบนธัมได้แสดงทรรศนะที่เป็นการก้าวผ่านจากจุดที่เรียกว่าความเห็นแก่ตัว ไปสู่จุดที่แสดงถึงความไม่เห็นแก่ตัว เพราะเป็นการเน้นหรือคำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนมาก เพราะคำว่า ขอบเขต ในความหมายของเบนธัม ได้แก่ การแผ่ขยายของมัน หมายถึง การกระจายความสุขไปยังคนจำนวนมากกว่า สิ่งที่ให้จำนวนความสุขแก่คนได้จำนวนมากกว่า ย่อมมีค่ามากกว่าหรือดีกว่า (Kapila Vatsyayan, 1986, p. 84)