4 มิ.ย. 2020 เวลา 12:17 • ปรัชญา
“วิถีแห่งขอนไม้”
อุปมาการท่องเที่ยวในสังสารวัฏ
กับขอนไม้ลอยน้ำ ตอนจบ
ขอนไม้นั้นนะ
๑) ถ้าไม่ติดฝั่งโน้น
๒) ถ้าไม่ติดฝั่งนี้
๓) ถ้าไม่จมลงกลางแม่น้ำ
๔) ถ้าไม่เกยตื้น
๕) ถ้าไม่ถูกมนุษย์เก็บเอาไปใช้
๖) ถ้าไม่ถูกอมนุษย์เอาไป
๗) ถ้าไม่ติดเวียนอยู่ในน้ำวน
๘) ถ้าไม่เน่าใน
ถ้าขอนไม้นั้นมีเงื่อนไข คือ ปลอดจากภัยจาก ๘ อย่างนี้ขอนไม้นั้นจะลอยไปออกสู่สมุทร
รู้ความหมายของข้อ ๑-๔ แล้ว
วันนี้มาต่อข้อที่ ๕-๘ กันค่ะ
สำหรับท่านที่ยังไม่อ่านตอนแรก
สามารถตอนแรกอ่านได้ที่นี่นะคะ
🍁 ๕) ถ้าไม่ถูกมนุษย์เก็บเอาไปใช้
“ถูกมนุษย์เก็บเอาไปใช้”
ถ้าเป็นพระสงฆ์ เปรียบได้ว่า เป็นพระที่บวชแล้ว
ยังคิดถึงโยม คิดถึงที่บ้าน คิดถึงครอบครัว
เป็นห่วง เป็นกังวล ว่าเขาจะอยู่อย่างไร กินอย่างไร
ใช้ชีวิตอย่างไร รวมความแล้วก็เรียกว่า “ติด”
รู้สึกเพลิดเพลินด้วย สุขด้วย โศกเศร้าด้วย เฮฮาด้วย พากันคลุกคลีอยู่กับคฤหัสถ์จึงเปรียบเหมือนถูกมนุษย์จับเอาไว้
ถ้าเป็นฆราวาส เปรียบได้ว่า เมื่อมาปฏิบัติธรรม
เพื่อหวังมรรคผล แต่เมื่อมาปฏิบัติแล้วเจริญภาวนา
ไม่ได้เพราะยังคงคิดถึงคนนั้นคนนี้ ห่วงทางบ้าน
ห่วงสามี ห่วงภรรยา ห่วงลูกหลาน ห่วงเพื่อน
ห่วงไปหมด การเอาบุคคลเหล่านั้นมาจับใจเราเอาไว้
ความจริงคือ เขาไม่ได้จับเราไว้หรอก แต่เรายึดติดพวกเขาเหล่านั้นเสียเองอย่างนี้เรียกว่า “ถูกมนุษย์จับเอาไว้”
🍁 ๖) ถ้าไม่ถูกอมนุษย์เอาไป
1
“อมนุษย์” คือ ผู้ที่ไม่ใช่มนุษย์ โดยทั่วไปหมายถึง
พวกภูตผี ปีศาจ ยักษ์
แต่ความหมายในที่นี้ หมายถึงพระสงฆ์ที่บำเพ็ญ
สมณธรรมหรือผู้ปฏิบัติธรรมที่ปรารถนาเป็นเทวดา
เป็นพรหม เป็นเทพเจ้า เมื่อภาวนาแล้วทำฌานได้
ก็พอใจแล้วหยุดแค่นั้น มีความพอใจแล้วว่าอย่างน้อย
ก็เป็นพรหมแล้ว
หรือเมื่อได้อภิญญาทั้ง ๕ เช่น การมีตาทิพย์ หูทิพย์
ระลึกรู้อดีตชาติได้ เห็นสวรรค์วิมาน ก็หลงในคุณวิเศษเหล่านั้น ยึกติดอยู่อย่างนั้นอย่างนี้เรียกว่า“ติดอมนุษย์” คือ ติดความเป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นผู้วิเศษ
🍁 ๗) ถ้าไม่ติดเวียนอยู่ในน้ำวน
คำว่า “น้ำวน” เปรียบเหมือนติดในกามคุณ
มนุษย์ เทวดาทั้ง ๖ ชั้น และ อบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก ดิรัจฉาน เปรต และอสูรกาย เหล่านี้อยู่ในกามาวจรภูมิทั้งหมด จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะคิดถึงเรื่องกาม
กามในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงเรื่องเพศเพียงอย่างเดียว
แต่รวมกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกายที่น่าใคร่น่าพอใจ
อยากดูของสวย ๆ อยากฟังเสียงเพราะ ๆ
อยากกินอาหารอร่อย ๆ อยากดมของหอม ๆ
อยากสัมผัสกับสิ่งที่ชอบ ที่พอใจ เป็นต้น
เมื่อหวังในกาม ก็มีภาระในการแสวงหากาม
เราจึงทำทุกอย่างเพื่อกาม เรียนเพื่อทำงาน
แสวงหาเงินเพื่อจะได้กาม
เมื่อไม่มีกามก็มีภาระในการแสวงหา
เมื่อมีกามอยู่ก็มีภาระในการเก็บรักษา
เมื่อมีกามอยู่ใช้ไปแล้ว ติดใจก็อยากได้อีก เพิ่มอีก
เพิ่มจนกระทั่งแม้มากแล้วก็ยังรู้สึกว่ายังไม่เพียงพอ
รู้สึกว่ายังน้อยไป ไม่มั่นคง แม้มีมากสักเท่าไหร่ก็ไม่พอ
กามคุณนั้นสุขเพียงชั่วครั้งชั่วคราว สุขเฉพาะเวลาที่สมหวัง ถ้าหวังอยู่แต่ยังไม่ได้มาก็ชอกช้ำใจ เศร้าใจ
เมื่อเคยได้แล้วต้องสูญเสียไป ก็ยิ่งเสียดาย เกิดอาลัยอาวรณ์กลายเป็นขอนไม้ลอยวนเช่นนั้น
🍁 ๘) ถ้าไม่เน่าใน
คำว่า “เน่าใน” เปรียบเสมือน คนผิดศีล
ถ้าเป็นพระ คือพระทุศีล มีความประพฤติที่น่ารังเกียจกาย วาจาใจไม่สะอาด เหมือนเน่าอยู่ภายใน
“ดมก็เหม็น เห็นก็หมอง”
ถ้าความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ หากไม่ปลงอาบัติ ไม่พัฒนาตนเองติดอยู่อย่างนั้น หนักเข้าก็ยิ่งแย่มากขึ้น
บางครั้งหนักขนาดที่ว่าเป็นปาราชิกหลุดพ้นจาก
ความเป็นพระแล้วแต่ยังไม่ยอมสละเพศแห่งความ
เป็นพระ พระพุทธเจ้าทรงเรียกบุคคลเหล่านี้ว่าเป็น “มหาโจรในศาสนา”
หากเป็นปาราชิก สึกออกไปแล้ว สามารถทำมรรคผลได้
แต่ต้องสึกไปอยู่ในเพศฆราวาสเสียก่อน ถ้าไม่สึก
พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรียกว่า...
“เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามกไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีกรรมอันปกปิดไว้ ไม่เป็นสมณะก็
ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารีก็ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เป็นผู้เน่าในภายใน มีความชุ่มด้วยกาม เป็นดูจขยะมูลฝอย”
1
ถ้าเป็นฆราวาส เมื่อผิดศีลแล้วก็สมาทานเสียใหม่
แล้วปรับปรุงตนเองด้วยการสำรวมระวังไม่ให้ผิดอย่างนั้นอีก ถ้าความผิดนั้นผิดพลาดกับบุคคล ให้ไปขอขมา
โดยเฉพาะมีอยู่ข้อหนึ่ง ถ้าเราไป “ล่วงเกินพระอริยะ”
จะทำให้ไม่ก้าวหน้า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าท่านไหนเป็นอริยะบ้าง เนื่องจากเราไม่มีทางรู้เลยว่าแต่ละท่านมีคุณธรรมระดับไหน ทางที่ปลอดภัยที่สุด คือเราไม่ควรล่วงเกินใครทั้งทางกาย วาจาและใจ คอยสำรวมระวังอยู่เสมอ
หากมีการล่วงเกินไปแล้ว ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่
ให้ไปขอขมาโดยตรง แต่ถ้าท่านมรณภาพไปแล้ว
ก็ให้ระลึกถึง ระลึกรู้สำนึกผิด มีโอกาสก็ไปทำบุญ
แล้วอุทิศและระลึกถึงท่านบ่อย ๆ
🍃 ถ้ายังอยากวนเวียนอยู่ในโลกนี้
“ต้องละกรรมชั่ว ทำกรรมดี”
🍃 ถ้าเห็นว่าการวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏนี้
เป็นภาระเหลือเกิน ต้องทำกรรมเช่นกัน
กรรมที่เรียกว่า “กรรมฐาน”
คือสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน นั่นเอง
ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านนะคะ❤️💚
#กระเรียนน้อย
Reference :
🙏 สาธุในธรรมะบรรยายโดย
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล
▫️ หนังสือ วิถีแห่งขอนไม้
▫️ ปฐมทารุขันธสูตร สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
▫️ อัคคิขันธูปมสูตร อังคุตตรนิกาย สตตกนิบาต

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา