7 มิ.ย. 2020 เวลา 10:53 • ความคิดเห็น
รู้จักการปฏิเสธให้เป็น ปฏิเสธอย่างไร ให้ถนอมใจอีกฝ่าย
หากช่วยไม่ไหว หรือไม่ต้องการช่วยเหลือใคร เราจะปฏิเสธอย่างไรดี?
การช่วยเหลือคนอื่นถือว่าเราเป็นคนดีและมีน้ำใจ หากมีโอกาสก็อยากให้ทำกันไว้เสมอนะคะ เพราะสิ่งเราทำดีเอาไว้นั้นอาจจะส่งผลกลับมาหาเราในสักวันหนึ่งได้ หากว่าเราต้องการความช่วยเหลือบ้าง แต่ในหลายๆ ครั้งการมีน้ำใจแบบผิดเวลาผิดคนนี้ก็ทำให้เราเดือดร้อน ตกเป็นเหยื่อ เป็นผู้เสียหายได้เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงต้องปฏิเสธให้เป็น แต่การปฏิเสธคนใกล้ชิดหรือคนรู้จักนี่แหละ มักเป็นสิ่งที่ทำให้ลำบากใจเสมอ การปฏิเสธสำหรับคนใจอ่อนหรือคนที่สงสารถือว่าเป็นเรื่องยากมากๆ เลยใช่ไหมล่ะ? ดังนั้นเราจึงต้องปฏิเสธให้เป็นค่ะ มารู้จักวิธีที่ควรลองนำไปใช้กันดูค่ะ
1. ปฏิเสธอย่างละมุนละม่อม
หากต้องปฏิเสธเขาแล้ว ก็ช่วยปฏิเสธแบบอ่อนโยนเพื่อรักษาน้ำใจของเขาเอาไว้ให้มากที่สุดเถอะ คนเราเวลาถูกปฏิเสธก็เสียใจมากพอสมควรแล้ว ยิ่งถ้าถูกปฏิเสธโดยมีท่าทีแข็งกร้าว ถูกด่าทอ หรือใช้ความรุนแรงอีก จะกลายเป็นความโกรธแค้นเคืองกันและทำร้ายจิตใจมากจนเกินไปนะ อย่างน้อยให้พยายามใส่ความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเขาได้ลงไปสักหน่อย ก็ดูไม่ใจร้ายจนเกินไปแล้วล่ะค่ะ
2. ปฎิเสธด้วยเหตุและผล
คนเราต่างมีเหตุผลที่จะไม่ให้ความช่วยเหลือกับใครก็ได้ทั้งนั้น เพราะการให้ความช่วยเหลือคือการมีน้ำใจแบบสมัครใจ ควรตั้งอยู่บนความไม่ลำบากและเดือดร้อนของตัวเองเป็นหลัก อย่างเช่น การไม่ให้ความช่วยเหลือเป็นตัวเงินก็เพราะว่าตัวเราก็ยังมีหนี้สินที่ต้องเคลียร์ต้องจ่ายอยู่ในทุกๆ เดือนเหมือนกัน การไม่ให้ความช่วยเหลือเพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานได้ เป็นต้น หากชี้แจงถึงความจำเป็นที่เราให้ความช่วยเหลือกับเขาได้แล้ว เชื่อว่าเขาจะต้องเข้าใจเราอย่างแน่นอนค่ะ
3. ช่วยคิดหาทางออกอื่นให้
เราอาจจะให้ความช่วยเหลือกับเขาไม่ได้ แต่เราอาจจะมีไอเดียในการชี้ทางการแก้ไขปัญหาให้กับเขาได้ ก็ถือว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือทางหนึ่งได้แล้วเหมือนกัน โดยที่บางทีเราอาจจะไม่ต้องออกทุนหรือลงแรงในการให้ความช่วยเหลือเขาเลยก็ได้ แต่ก็ต้องมั่นใจและมีความรู้มากพอด้วยนะ ก่อนที่จะให้คำแนะนำไป เพราะถ้าแนะนำไม่ถูกจุดอาจจะทำให้ปัญหาที่เขาพบเจอนั้นยุ่งยากมากกว่าเดิมได้ค่ะ
4. หาคนอื่นมาช่วยแทน
ในบางครั้งที่เราไม่พร้อมสำหรับการช่วยเหลือเขา อาจจะมีคนอื่นที่มีความพร้อม สามารถให้การช่วยเหลือได้ดีกว่า การที่เราจะช่วยแนะนำ บอกต่อก็นับเป็นการช่วยเหลือได้แล้ว แต่เราต้องรู้จักนิสัยใจคอคนที่เราจะช่วยในระดับหนึ่งด้วยนะคะ เพราะการให้คนอื่นมาช่วยแทนเนี่ย เท่ากับว่าเราต้องมีส่วนในความรับผิดชอบร่วมด้วยระดับหนึ่งแล้วนะ หากคนที่เราแนะนำเกิดทำอะไรที่ไม่ดีขึ้นมา อย่างเช่น การแนะนำให้ช่วยรับเข้าทำงาน เกิดคนที่เราขอให้ช่วยเหลือไปสร้างความเดือดร้อนในที่ทำงานนั้นขึ้นมา เราก็จะพลอยเสียชื่อเสียความเชื่อมั่นกับคนอื่นไปด้วยนะคะ
5. อ้างว่ามีธุระต้องช่วยคนอื่นอยู่แล้ว
เราอาจจะเป็นคนที่ดูใจดี หรือว่ามีอำนาจอยู่พอสมควร จึงมีคนมากมายหวังมาขอความช่วยเหลืออยู่เสมอ แต่เราก็ไม่สามารถที่จะช่วยทุกๆ คนได้ไหว จนบางครั้งเราอาจจะต้องถึงขั้นตัดใจไม่ให้ความช่วยเหลือใครสักคนอีกเลยก็ได้ เพราะเขาจะมองเอาได้ว่าช่วยเหลือคนอื่นได้ แต่กลับไม่ให้ความช่วยเหลือเขาเลย ให้เรารู้สึกผิดไปเสียอย่างนั้นอีก
อย่าคิดว่าการไม่ให้ความช่วยเหลือจะทำให้เราเป็นผู้ร้าย เป็นคนไม่ดีไม่มีน้ำใจเลย คนที่อยากได้ความช่วยเหลือบางคนมักเห็นแต่ประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง มากกว่าความเดือดร้อนของผู้อื่น รวมไปถึงคนที่ไม่น่าให้ความช่วยเหลือด้วยเช่นเดียวกัน จำไว้เสมอ...ถ้าคิดจะช่วยใครตัวเองจะต้องไม่เดือดร้อนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดค่ะ
บทความ โดย : Akine_noxx
เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บ Spice/Pepper
ฝากติดตาม กดไลค์ กดแชร์ คอมเม้นท์เป็นกำลังใจกันด้วยนะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา