8 มิ.ย. 2020 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
รู้จัก 'ชีค มูจิบู เราะห์มาน' บิดาแห่งบังกลาเทศ ผู้แยกตัวออกจากปากีสถาน
WIKIPEDIA PD
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1947 ประเทศอินเดียได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญนั่นก็คือ มีการแบ่งแยกดินแดนกันเกิดขึ้น กล่าวคือ ประเทศอินเดียมีผู้นับถือศาสนาหลักอยู่ด้วยกัน 2 ศาสนา นั่นคือ ศาสนาฮินดูและศาสนาอิสลาม หากแต่สัดส่วนของผู้นับถือศาสนาฮินดูมีมากกว่าผู้นับถือศาสนาอิสลาม และในประวัติศาสตร์ก็เคยเกิดเหตุการณ์ปะทะกันของผู้นับถือศาสนาทั้งสองนี้อยู่บ่อยครั้ง
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นอีกครั้ง จึงมีการแบ่งแยกประเทศกันเกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็น ‘ปากีสถานตะวันตก’ และ ‘ปากีสถานตะวันออก’ โดยมีอินเดียคั่นกลาง มีผู้นำคนแรกชื่อว่า ‘มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์’ ประเทศปากีสถานตะวันตกในปัจจุบันคือประเทศปากีสถาน ส่วนประเทศปากีสถานตะวันออกปัจจุบันก็คือประเทศบังกลาเทศ และนี่คือเรื่องราวของผู้นำประเทศคนแรกของบังกลาเทศ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
WIKIPEDIA PD
`ชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน’ (Shekh Mujibur Rahman) เกิดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1920 ที่เมืองโคปาลคัญชะ (Gopalganj) เขตปกครองเบงกอล บริติชอินเดีย (ประเทศบังกลาเทศในปัจจุบัน) บิดาชื่อ ‘ชีค ลุทฟูร์ เราะห์มาน’ (Sheikh Lutfur Rahman) อาชีพเสมียนศาล มารดาชื่อ ‘ซายีรา คาทุน’ (Sayera Khatun) เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 5 คน
ชีวิตในวัยเด็กของ `ชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน’ เขาเป็นคนที่มีความเป็นผู้นำสูงมาก ในปี ค.ศ. 1929 สมัยที่เขากำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา เขาเคยเป็นผู้นำการประท้วงเพราะไม่พอใจที่โรงเรียนจำกัดสิทธิ์ในการลงทะเบียนเรียน ต่อมาในปี ค.ศ. 1934 เขาประสบอุบัติเหตุทำให้ต้องเข้ารับการผ่าตัดดวงตาจนต้องรักษาตัวนานถึง 4 ปี หลังจากหายดีแล้ว ในปี ค.ศ. 1942 เขาได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนมิชชันนารีแห่งเมืองโคปาลคัญชะ ต่อมาในปี ค.ศ. 1944 เขาได้เข้าศึกษาต่อคณะบริหารธุรกิจที่ Islamia College (ปัจจุบันคือ Maulana Azad College) เมืองโกลกาตา ประเทศอินเดีย และจบการศึกษาในปี ค.ศ. 1947
WIKIPEDIA PD
ในช่วงที่กำลังศึกษาอยู่ที่ Islamia College `ชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน’ ได้เข้าร่วมพรรคสันนิบาตมุสลิมแห่งอินเดีย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาวมุสลิมในอินเดีย จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1947 อินเดียก็ได้รับเอกราชจากอังกฤษ มีการแบ่งแยกดินแดนเป็น ‘ปากีสถานตะวันตก’ และ ‘ปากีสถานตะวันออก’ โดยมีผู้นำประเทศคนแรกคือ ‘มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์’ ต่อมาในปี ค.ศ. 1949 `ชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน’ เข้าร่วมพรรคสันนิบาตมุสลิมอวามี (Awami League) และได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคในปี ค.ศ. 1963
หลังจากเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคสันนิบาตมุสลิมอวามี `ชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน’ ก็ได้ประกาศนโยบายที่ต้องการจะแยก ‘ปากีสถานตะวันตก’ และ ‘ปากีสถานตะวันออก’ ให้เป็นอิสระจากกัน เนื่องจากไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลกลางที่อยู่ฝั่งตะวันตก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องการเมืองการปกครองและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ฝั่งปากีสถานตะวันออกได้รับการพัฒนาที่ล่าช้าไม่ทัดเทียมกับฝั่งปากีสถานตะวันตกเพราะนักการเมืองฝั่งตะวันตกครอบครองตำแหน่งสำคัญต่างๆ ทำให้งบประมาณกระจายไม่ทั่วถึง รายได้ของคนฝั่งตะวันตกก็มากกว่าคนฝั่งตะวันออกถึง 30%
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีเรื่องของตำแหน่งที่ตั้งซึ่งปากีสถานทั้งสองฝั่งนี้อยู่ห่างกันถึง 1,600 กิโลเมตร และแม้จะเป็นมุสลิมเหมือนกันแต่คนทั้งสองฝั่งมีเชื้อชาติที่ต่างกัน ทางตะวันตกเป็นชาวปาทานและพุชตู ส่วนตะวันออกเป็นชาวเบงกาลี แล้วยังมีเรื่องของความแตกต่างทางด้านภาษาที่ผู้คนทั้งสองฝั่งใช้ไม่เหมือนกันอีก เหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้ชาวปากีสถานตะวันออกสนับสนุนนโยบายของ`ชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน’ กันอย่างล้นหลาม
WIKIPEDIA PD
ทว่า ‘จอมพลโมฮัมหมัด อัยยุบ ข่าน’ (Mohammad Ayub Khan) ผู้นำประเทศในขณะนั้น รู้สึกไม่พอใจนโยบายแบ่งแยกประเทศของ `ชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน’ เป็นอย่างมาก จึงสั่งกักขังเราะห์มานด้วยข้อหากบฏ ทำให้ประชาชนชาวปากีสถานตะวันออกไม่พอใจเป็นอย่างมาก เกิดการต่อต้านรัฐบาลทหารไปทั่วประเทศ ต่อมาในปี ค.ศ. 1970 พรรคสันนิบาตมุสลิมอวามีภายใต้การนำของ `ชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน’ ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปากีสถาน โดยได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้น แต่รัฐบาลทหารก็ยังคงกีดกันไม่ให้พรรคสันนิบาตมุสลิมจัดตั้งรัฐบาลและห้ามไม่ให้มีการแบ่งแยกประเทศเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ . 1971 `ชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน’ ได้ประกาศให้ชาวปากีสถานตะวันออกลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากปากีสถานตะวันตก และเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ . 1971 ปากีสถานตะวันออกประกาศแยกตัวเป็นเอกราช ทำให้ปากีสถานตะวันตกต้องส่งทหารเข้ามาปรามปรามผู้ร่วมชุมนุม เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ทหารจากฝั่งตะวันตกสังหารประชาชนฝั่งตะวันออกไปหลายร้อยชีวิต ทางด้านฝั่งตะวันออกก็ได้รับการสนับสนุนกองกำลังทหารจากอินเดีย จนในที่สุดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1971 ปากีสถานตะวันตกพ่ายแพ้และยินยอมให้เอกราชแก่ปากีสถานตะวันออก โดยมีการเรียกชื่อประเทศใหม่นี้ว่า ‘สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ’ นั่นเอง
`ชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน’ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศบังกลาเทศ ผู้คนต่างยกย่องให้เขาเป็น ‘บิดาแห่งบังกลาเทศ’ และกล่าวขานว่าเขาคือ ‘บังกลาบันธุ’ หรือ ‘เพื่อนของเบงกอล’ สื่อต่างประเทศหลายสำนักต่างโหวตให้เขาเป็น ‘ชาวเบงกอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล’ `ชีค มูจิบูร์
เราะห์มาน’ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1975 สิริอายุ 55 ปี
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
WIKIPEDIA CC SHAKIL.IFTEKHAR

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา