9 มิ.ย. 2020 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
วีรสตรีแดนอิเหนา! 'การ์ตินี' ผู้เขียนจดหมายเรียกร้องสิทธิสตรี สู่แรงบันดาลใจในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย
มาทำความรู้จักกับวีรสตรีแดนอิเหนา ผู้เป็นแรงบันดาลใจของนักชาตินิยมและนักสิทธิสตรีแห่งอินโดนีเซีย เธอมีชื่อว่า 'การ์ตินี'
WIKIPEDIA CC GUNKARTA GUNAWAN KARTAPRANATA
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
การ์ตินี มีชื่อเต็มว่า ระเด่น อาเจ็ง การ์ตินี เกิดเมื่อปี ค.ศ.1879 ในครอบครัวของชนชั้นสูงแห่งเมืองเจปารา ทางตอนกลางของเกาะชวา ในยุคที่อินโดนีเซียยังอยู่ภายใต้การปกครองของฮอลันดา (หรือเนเธอร์แลนด์) เธอเป็นผู้หญิงเพียงไม่กี่คนในยุคนั้นที่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนประถมที่ก่อตั้งโดยชาวดัตช์ เนื่องจากการศึกษาในโรงเรียนถูกสงวนไว้สำหรับบุตรหลานของชาวยุโรป และบุตรชายของคนพื้นเมืองในตระกูลของชนชั้นสูงเท่านั้น ส่วนผู้หญิงไม่ว่าจะมาจากตระกูลไหน และชาวบ้านทั่วไป โอกาสในการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ โอกาสที่การ์ตินีได้รับจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ความคิดความอ่านของเธอดูก้าวล้ำนำสมัยกว่าผู้หญิงทั่วไปในช่วงเวลานั้น
การ์ตินีเรียนหนังสือจนถึงอายุ 12 ปี ก็ต้องออกจากโรงเรียนกลับมาอยู่บ้าน เรียนรู้การบ้านการเรือนเพื่อเตรียมตัวแต่งงานตามธรรมเนียมของสาวชวา ระหว่างนี้เธอได้ฝึกเรียนภาษาดัตช์เพิ่มเติมด้วยตัวเอง และเขียนจดหมายโต้ตอบกับเพื่อนชาวดัตช์หลายต่อหลายคน หนึ่งในนั้นก็คือ โรซา อะเบนดานอน ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านปลายปากกากันอยู่เสมอ การ์ตินีได้เรียนรู้ความเป็นไปของโลกผ่านหนังสือพิมพ์ แมกกาซีน และวรรณกรรมชิ้นสำคัญของชาวดัตช์ที่ได้มาจากเพื่อนรักของเธอ และนั่นเป็นการจุดประกายความคิดของการ์ตินีในการเรียกร้องสิทธิสตรีขึ้นมา
WIKIPEDIA CC TROPENMUSEUM, PART OF THE NATIONAL MUSEUM OF WORLD CULTURES
เนื้อความในจดหมายถึงเพื่อนของเธอ กล่าวว่า การ์ตินีปรารถนาที่จะเรียกร้องสิทธิให้แก่ผู้หญิงพื้นเมืองให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกับผู้ชาย ตั้งแต่โอกาสทางการศึกษา การทำงาน สิทธิ์ในการเลือกทางเดินชีวิตและการเลือกคู่ครองด้วยตัวเองเฉกเช่นผู้หญิงในยุโรป และเธอเองก็ใฝ่ฝันอย่างยิ่งที่จะออกไปศึกษาและทำงานในต่างประเทศด้วยเช่นเดียวกัน
WIKIPEDIA PD
แต่ความฝันในการศึกษาทั้งหมดของการ์ตินีต้องพังทลาย เมื่อเธอถูกบังคับให้แต่งงานเป็นภรรยาคนที่สี่ของระเด่น อาดีปาตี โจโยดีนิงรัต บูปาตีแห่งเมืองเรมบัง (เทียบเท่าตำแหน่งนายกเทศมนตรี) แต่ก็ยังโชคดีที่สามีของเธอเข้าใจและสนับสนุนความคิดที่จะจัดการศึกษาให้แก่ผู้หญิงพื้นเมือง จึงยินยอมให้การ์ตินีเปิดโรงเรียนสตรีขึ้นที่ประตูรั้วฝั่งตะวันออกของที่ว่าการเมืองเรมบัง ซึ่งเธอทำหน้าที่สอนหนังสือแก่นักเรียนหญิงด้วยตัวเอง
เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่การ์ตินียังไม่ทันจะได้ขับเคลื่อนอุดมการณ์ของตัวเองอย่างเป็นรูปธรรม เธอเสียชีวิตในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ.1904 ด้วยวัยเพียง 25 ปี หลังจากที่ให้กำเนิดบุตรชายเพียงไม่กี่วัน แต่ความคิดและอุดมการณ์ในการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีของเธอได้สืบทอดในเวลาต่อมา เมื่อครอบครัวฟาน เดอเวนเตอร์ ซึ่งเป็นเพื่อนกับบิดาของการ์ตินี และเกิดความประทับใจในอุดมการณ์ของการ์ตินีหลังจากอ่านจดหมายของเธอ จนก่อตั้งมูลนิธิการ์ตินีสำหรับสนับสนุนการศึกษาสำหรับผู้หญิงและเปิดโรงเรียนสตรีโดยใช้ชื่อ 'โรงเรียนการ์ตินี' เป็นครั้งแรกที่เมืองปาเลมบัง ในปี ค.ศ. 1912 จากนั้นก็ได้ขยายไปยังเมืองสำคัญอื่นๆ อีกด้วย
WIKIPEDIA PD
หลังจากที่อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์โดยสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1949 ภาพของการ์ตินีได้ปรากฏธนบัตรรูเปียห์หลายต่อหลายรุ่น อีกทั้งมีการสร้างอนุสาวรีย์ของเธอขึ้นที่สวนสาธารณะทางด้านตะวันออกของจัตุรัสเมอร์เดกาในกรุงจาการ์ตา และในปี ค.ศ.1964 ประธานาธิบดีซูการ์โนได้ประกาศให้การ์ตินีเป็นวีรสตรีแห่งชาติอินโดนีเซีย และกำหนดให้วันที่ 21 เมษายนของทุกปีเป็น 'วันการ์ตินี' และเป็นวันหยุดราชการ โดยมีการจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของเธออีกด้วย
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
WIKIPEDIA CC GUNKARTA GUNAWAN KARTAPRANATA

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา