10 มิ.ย. 2020 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
รู้จัก 'มะลาละห์ ยูซัฟซัย' เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุดในโลก
หากคุณเกิดมาในประเทศที่มีข้อจำกัดในเรื่องของการศึกษา ถูกลิดรอนสิทธิต่างๆ จนไม่สามารถดำเนินชีวิตในแบบที่ต้องการได้ คุณจะกล้าเผชิญกับความเป็นจริงเหล่านั้นและต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของตัวเอง แบบที่หญิงสาวคนนี้ทำหรือไม่?
WIKIPEDIA CC SOUTHBANK CENTER
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
‘มะลาละห์ ยูซาฟไซ’(Malalah Yusafzai) นักเคลื่อนไหวผู้โด่งดัง เยาวชนผู้เปลียนโลกคนนี้ เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 ที่เมืองมินโกรา(Mingora) เขตสวัด(Swat) รัฐไคเบอร์ ปุคตุนควา(Khyber Pakhtunkhwa) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศปากีสถาน บิดาชื่อ ‘ไซอุดดิน ยูซาฟไซ’(Ziauddin Yousafzai) มารดาชื่อ ’ทอร์ ปีไค ยูซาฟไซ’(Tor Pekai Yousafzai) มะลาละห์เป็นลูกสาวคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 3 คน ครอบครัวของเธอเป็นเจ้าของโรงเรียนสตรีแห่งหนึ่ง ทุกคนในครอบครัวนับถือศาสนาอิสลาม นิกายซุนนี
WIKIPEDIA CC SOUTHBANK CENTER
เมื่อมะลาละห์อายุได้ 11 ปี บิดาของเธอได้พาไปเข้าร่วมงานชุมนุม ที่จัดขึ้นเพื่อต่อต้านการโจมตีโรงเรียนสตรีจากกลุ่มตาลิบัน (Taliban) กลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง โดยมะลาละห์ได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ ‘ตาลิบัน กล้าดียังไงถึงได้มาจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานทางการศึกษาของฉัน’ (How Dare the Taliban Take Away My Basic Right to an Education) ซึ่งในช่วงเวลานั้นกลุ่มตาลิบันได้ขยายอำนาจมายังเขตสวัด บ้านเกิดของมะลาละห์ และได้ริเริ่มกระทำการล้มล้างสถาบันของรัฐ มีเป้าหมายหลักคือ ‘โรงเรียนสตรี’ โดยอ้างว่าเป็นการขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม ที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ กลุ่มตาลิบันได้เผาทำลายโรงเรียนสตรีหลายแห่ง จนทำให้นักเรียนและครูเสียชีวิตจำนวนมาก
จากการกล่าวสุนทรพจน์ของมะลาละห์ในครั้งนั้น ทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เธอได้รับการติดต่อจากสื่อชื่อดังในต่างประเทศให้เขียนเล่าประสบการณ์ชีวิตในช่วงที่กลุ่มติดอาวุธตาลิบันเข้ามาควบคุมและจำกัดสิทธิสตรีลงบนเว็บไซต์ โดยเธอใช้นามแฝงว่า ‘กุล มาไค’ (Gul Makai) ซึ่งพ่อของเธอก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเรื่องราวที่เธอถ่ายทอดออกมาทำให้คนทั้งโลกได้เห็นว่า กลุ่มตาลิบันจำกัดสิทธิเสรีภาพของสตรีอย่างน่ากังขา ทั้งห้ามไม่ให้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาด ห้ามเดินตลาด ห้ามนักเรียนหญิงไปโรงเรียน ผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลบ้านและให้กำเนิดลูกเพียงเท่านั้น
WIKIPEDIA CC CLAUDE TRONG-NGOC
นอกจากนั้นมะลาละห์ยังได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อในประเทศที่ต่อต้านตาลิบัน โดยเธอได้รณรงค์และสนับสนุนให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง มีผู้รับชมการสัมภาษณ์ในครั้งนั้นมากถึง 25 ล้านครั้ง และยังมีสื่อยักษ์ใหญ่ได้เข้ามาถ่ายทำสารคดีชีวประวัติเกี่ยวกับตัวเธอ ซึ่งนั่นยิ่งทำให้เธอเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกและเธอยังได้รับตำแหน่งประธานสภาเด็กประจำเขตสวัดอีกด้วย
เมื่อกลุ่มตาลิบันรู้ว่า มะลาละห์และครอบครัวต่อต้านการปกครองของกลุ่มตนเอง จึงเริ่มคุกคามครอบครัวของมะลาละห์อยู่บ่อยครั้ง แต่ครั้งที่ร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 2012 ขณะที่มะลาละห์กำลังอยู่บนรถโรงเรียนเพื่อกลับบ้าน เธอถูกกลุ่มติดอาวุธตาลิบันลอบสังหารอย่างโหดเหี้ยม มะลาละห์ถูกยิงเข้าที่ศีรษะและลำคอ อาการสาหัสเป็นตายเท่ากัน เธอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทหารในปากีสถาน ก่อนถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ อย่างทันท่วงที
มะลาละห์รอดตายราวปาฏิหาริย์ แพทย์ต้องผ่าตัดกะโหลกศีรษะบางส่วนของเธอออกเพื่อลดอาการสมองบวม เรื่องราวที่เธอถูกลอบสังหารในครั้งนั้นได้รับความสนใจไปทั่วโลก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอหวาดกลัวแต่อย่างใด ตรงกันข้ามมะลาละห์กลับมีจิตใจที่แข็งแกร่งขึ้น เธอยังคงยืนหยัดต่อสู้กับกลุ่มตาลิบันอย่างไม่ย่อท้อ และไม่เพียงแค่รณรงค์เรื่องสิทธิสตรีภายในประเทศเท่านั้น มะลาละห์ยังรณรงค์เพื่อการศึกษาของเด็กและสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติอีกด้วย
WIKIPEDIA CC PETE SOUZA
บุคคลสำคัญระดับโลกมากมาย อาทิเช่น กอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร, บารัค โอบามา อดีตประธาธิบดีสหรัฐอเมริกา ต่างชื่นชมมะลาละห์และยกให้เป็นเยาวชนตัวอย่าง มะลาละห์ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติมากมาย เช่น รางวัลสิทธิมนุษยชนเพื่ออิสรภาพของผู้หญิงนานาชาติ ( Simone de Beauvoir Prize, International Human Rights Prize for Women’s Freedom) รางวัลเยาวชนเพื่อสันติภาพแห่งชาติ (National Youth Peace Prize) เป็นต้น เธอคือนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิการศึกษาของสตรีที่คนทั่วโลกยกย่อง
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2014 ‘เดสมอนด์ ตูตู’ (Desmond Tutu) นักเคลื่อนไหวเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี ค.ศ. 1984 ได้เสนอชื่อ ‘มะลาละห์ ยูซาฟไซ’ เพื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และเธอได้รับรางวัลในปีนั้น ทำให้ ‘มะลาละห์ ยูซาฟไซ’ คือผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุดในโลกด้วยวัยเพียง 17 ปี และเป็นคนแรกของประเทศปากีสถาน นอกจากนี้องค์การสหประชาชาติยังประกาศให้วันที่ 12 กรกฎาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ‘มะลาละห์ ยูซาฟไซ’ เป็น ’วันมะลาละห์’ โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการศึกษาของเด็กๆ ทั่วโลกอีกด้วย
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
WIKIPEDIA CC CLAUDE TRONG-NGOC

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา