10 มิ.ย. 2020 เวลา 11:57 • ประวัติศาสตร์
“รัฐบาลทหารเนวิน” ยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวของพม่า
วันที่ 2 มีนาคม ค.ศ.1962 กองกำลังทหารนำโดยเนวิน ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของอูนุ พร้อมทั้งฉีกรัฐธรรมนูญ 1947 แล้วนำพม่าเข้าสู่ยุคของการปกครองโดยทหาร
ทุกท่านครับ ผมกำลังจะเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งของพม่า
ยุคสมัยที่นำพม่าเข้าสู่การแช่แข็งทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง...
ยุคที่พม่าดิ่งลงเหวในทุกๆด้าน...
ยุคแห่งการฆ่าล้างคนเห็นต่าง...
ยุคแห่งสงครามกลางเมือง...
ยุคแห่งพลังมวลมหาชนชาวพม่า...
พลังของประชาชน...
พลังของนักศึกษา...
พลังของพระสงฆ์...
พลังของชนกลุ่มน้อย...
พวกเขาเหล่านี้ต่างมีเหตุผลในการทวงคืนความอยุติธรรมจากรัฐบาลเผด็จการ...
และนี่คือเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น น่าติดตาม และน่าสะพรึงกลัวที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์พม่า...
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
เริ่มแรกเลยต้องเล่าย้อนไปในช่วงที่พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษครับ
โดยอังกฤษได้ยึดครองพม่าเมื่อ ค.ศ.1886 พร้อมทั้งล้มราชวงศ์คองบองของพม่า และเนรเทศกษัตริย์และราชวงศ์ไปอินเดีย
อังกฤษปกครองพม่าโดยใช้โมเดลเหมือนๆกับอาณานิคมที่อื่นเลยครับ นั่นคือ การแบ่งแยกแล้วปกครอง ซึ่งหมายถึง การปกครองโดยเอาใจคนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่กดคนอีกกลุ่มหนึ่งเอาไว้
ซึ่งในพม่านั้นอังกฤษปกครองโดยเอาใจพวกไทใหญ่ คะฉิ่น ยะไข่ กะเหรี่ยง ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย แต่กดพวกพม่าเอาไว้ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ทำให้คนพม่าต่างรังเกียจ โกรธแค้นพวกชนกลุ่มน้อยที่ได้ดิบได้ดีและสบายกว่าตัวเอง แทนที่จะไปโกรธแค้นอังกฤษครับ (นี่คือวิธีที่อังกฤษใช้ปกครองอาณานิคมตัวเอง การปกครองแบบนี้ทำให้คนในอาณานิคมเกลียดกันเองตีกันเอง แทนที่จะมาเกลียดหรือต่อต้านอังกฤษ ทำให้อังกฤษปกครองได้ง่าย ซึ่งจะกลายเป็นปัญหายุ่งเหยิงภายหลังได้รับเอกราชครับ)
และในที่สุดเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มขึ้น ญี่ปุ่นก็ได้เข้ายึดพม่าจากอังกฤษ ในช่วงเวลานี้ก็ได้เกิดกลุ่มกองทัพแห่งชาติพม่า หรือ BNA ขึ้น โดยมีผู้นำคือ กลุ่มตรีทศมิตรที่นำโดย อองซานและสมาชิกอีก 30 คน พวกนี้ได้เดินทางไปฝึกรบกับญี่ปุ่นเพื่อต่อต้านอังกฤษ
แต่แล้ว BNA ก็เริ่มเอาใจออกห่างญี่ปุ่นครับ เพราะเห็นแล้วว่าญี่ปุ่นไม่ได้ต้องการให้พม่ามีเอกราชจริงๆ จึงได้ทำการเปลี่ยนฝ่าย! พร้อมเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็นองค์การต่อต้านฟาสซิสต์หรือ AFO พร้อมพากันขับไล่ญี่ปุ่นออกจากประเทศ...
และเมื่อจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็จากไป แต่อังกฤษก็ได้กลับมายึดพม่าคืนครับ!
2
เมื่ออังกฤษกลับมา ก็ได้กังวลกับกลุ่มAFO ซึ่งตอนนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์หรือ AFPFL โดยแปรสภาพกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจในประเทศเรียบร้อย
AFPFL ที่นำโดยอองซานและอูนุ ได้พยายามเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษครับ โดยอองซานได้มีการพูดคุยตกลงกับชนกลุ่มน้อยจนถึงขั้นที่ว่ามีการทำ “สนธิสัญญาปางโหลง” ที่เมื่อหากพม่าได้รับเอกราชแล้ว หลังจากนั้น 10 ปี ชนกลุ่มน้อยสามารถแยกไปตั้งประเทศปกครองตัวเองได้
1
จากสนธิสัญญานี้นี่แหละครับ ทำให้บางคนในกลุ่ม AFPFL ไม่พอใจ เพราะ “สมัยเป็นอาณานิคมก็โดนพวกชนกลุ่มน้อยนี้แหละเอาเปรียบพวกเราชาวพม่า ถึงเวลาที่เราจะเอาคืนพวกมันแล้ว! อีกอย่างพื้นที่ที่พวกนี้อยู่มันคือขุมทองชัดๆ เรื่องจะให้พวกมันแยกตัวไปตั้งดินแดนตัวเอง ฝันไปเถอะ!” (พื้นที่อาศัยของชนกลุ่มน้อยเต็มไปด้วยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ครับ) ว่าแล้วอองซานก็โดนลอบสังหารในที่สุด...
1
อูนุก็ขึ้นมาเป็นผู้นำแทน มีการร่างรัฐธรรมนูญ 1947 แล้ว ค.ศ.1948 พม่าก็ได้รับเอกราชจากอังกฤษ
3
แล้วชนกลุ่มน้อยต่างก็มาทวงสัญญาในสนธิสัญญาปางโหลง แต่รัฐบาลพม่าก็ได้ตอบกลับไปว่า “อันนั้นพวกเอ็งตกลงกับอองซานเอาเอง พวกตูไม่รู้เรื่อง!” ว่าแล้วรัฐบาลก็ฉีกสนธิสัญญาปางโหลงทิ้งแบบดื้อๆเลยล่ะครับ!
6
และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมระหว่างพม่ากับชนกลุ่มน้อย...
ภาพจาก Kachinland News (การตกลงในสนธิสัญญาปางหลวง)
เมื่อโดนฉีกสนธิสัญญาปางโหลงแบบไม่ใยดี มีหรือครับที่ชนกลุ่มน้อยจะอยู่เฉยๆ ต่างพากันตั้งกองกำลังของตัวเองเข้าห้ำหั่นกับรัฐบาลพม่าเพื่อแยกประเทศแล้วปกครองตัวเอง
1
รัฐบาลไม่ใช่แค่ต้องสู้กับชนกลุ่มน้อยเท่านั้น แต่ยังต้องสู้กับพวกคอมมิวนิสต์ที่เริ่มมีอำนาจขึ้นมา วันดีคืนดีชนกลุ่มน้อยกับคอมมิวนิสต์ต่างจับมือกันเพื่อช่วยโค่นล้มรัฐบาลอีกต่างหาก!
ฝ่ายรัฐบาลก็สู้อย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อรักษาดินแดนของตัวเองไว้ ดังนั้นกลุ่มที่มีบทบาทโดดเด่นในฝ่ายรัฐบาลขึ้นมาก็คือกลุ่มทหารที่นำโดยเนวินนั่นเองครับ
2
จากสงครามกลางเมืองทำให้เครดิตของรัฐบาลอูนุตกต่ำลงสุดๆเลยล่ะครับ จนใน ค.ศ.1958 อูนุจึงได้ตัดสินใจให้เนวินและทหารเข้ามาเป็นรัฐบาลรักษาการณ์แทนไว้ก่อน
1
รัฐบาลทหารบริหารไปได้ 2 ปี แล้ว ค.ศ.1960 จึงมีการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลของอูนุจึงได้เข้ามาบริหารประเทศอีกรอบ
แต่เมื่ออูนุเข้ามาบริหารอีกรอบ ปัญหาก็ยังคาราคาซังอยู่แบบเดิม ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นมา บวกกับกลุ่มของเนวินนั้นเมื่อได้ลิ้มลองรสชาติของอำนาจแล้ว มีหรือจะปล่อยให้หลุดมือไปง่ายๆแบบนี้
4
แล้วในที่สุด เมื่ออูนุไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ เนวินจึงนำกองทัพเข้ารัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลอูนุ ใน ค.ศ.1962 โดยให้เหตุผลว่า “ทหารไม่ได้อยากเข้ามายุ่งเลย แต่ที่เข้ามาเพราะมันจำเป็น ตอนนี้การรักษาเอกภาพและดินแดนของพม่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด!” ว่าแล้วก็ฉีกรัฐธรรมนูญ 1947 ทิ้ง แล้วนำพม่าเข้าสู่ยุคการปกครองแบบเผด็จการทหารภายใต้การนำของเนวินโดยสมบูรณ์...
4
ภาพจาก Wikipedia (การรัฐประหารจากเนวิน)
รัฐบาลทหารของเนวิน เมื่อขึ้นสู่อำนาจแล้ว ก็ได้ทำให้พม่าต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลทั้งสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เนวินได้ตั้งสภาปฏิวัติขึ้นเพื่อบริหารประเทศ แล้วทำการเข้ายึดอุตสาหกรรมรวมถึงบริษัทในประเทศ กิจการทุกอย่างถูกยึดไปเป็นของรัฐ พร้อมทั้งขับไล่คนจีนและคนอินเดียที่ถือว่าเป็น “มันสมอง” ออกจากประเทศ สิ่งที่ตามมาคือ เศรษฐกิจของพม่าอยู่ในภาวะที่แช่แข็ง สินค้าขาดแคลน เกิดเงินเฟ้อระนาว แต่มีธุรกิจที่เฟื่องฟูขึ้นมาแทน คือ ตลาดมืดแถบชายแดนที่ชนกลุ่มน้อยควบคุมอยู่!
ไม่พอเท่านั้น รัฐบาลยังยึดโรงเรียนและโรงพยาบาล พร้อมไล่ปัญญาชนนักวิชาการออกจากประเทศ...
อีกทั้งคู่แข่งทางการเมือง หรือพวกที่ได้รับความนิยมจากประชาชน เนวินได้สั่งทหารให้เก็บเรียบ! พร้อมทั้งทุ่มงบประมาณภายในประเทศมาลงที่ทหารเกือบทั้งหมด แล้วทำสงครามกับชนกลุ่มน้อยและคอมมิวนิสต์อย่างเต็มรูปแบบ!
1
แน่นอนครับว่ารัฐบาลเนวินต่างโดนนานาชาติรุมประนาม แต่เนวินบอกว่า “แล้วยังไง?” ว่าแล้วจึงทำการปิดประเทศซะเลย! โดดเดี่ยวตัวเองจากสังคมโลก และจากการขึ้นมาบริหารประเทศของเนวิน ในเวลาไม่กี่ปีทำให้พม่ากลายเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในโลก...
3
การปกครองของทหารที่นับวันยิ่งพาประเทศดิ่งลงเหว ย่อมมีประชาชนไม่พอใจอยู่แล้วครับ โดยเฉพาะกลุ่มของนักศึกษา จึงมีการประท้วงอยู่เป็นช่วงๆ
2
แต่เนวินก็ได้ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรงไม่ต่างกับปราบชนกลุ่มน้อยเลยล่ะครับ อย่าง ค.ศ.1962 นักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งชุมนุมประท้วง เนวินก็ไม่รอช้าส่งกองทัพเข้าตะลุมบอนทันที ทั้งยังบอมบ์ตึกสหภาพนักศึกษาอย่างไม่มีชิ้นดี ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน! แต่รัฐบาลเนวินได้บอกว่ามีผู้เสียชีวิต 15 คน!
2
ไม่เพียงแต่นักศึกษาที่มีการประท้วง แต่พระสงฆ์ก็ประท้วงเช่นกันครับ! เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลพยายามเข้าควบคุมคณะสงฆ์ อย่างใน ค.ศ.1965 ที่พระสงฆ์ประท้วงที่เมืองมอว์บี เนวินก็ได้ส่งทหารเข้าจับกุมพระสงฆ์ที่ประท้วงทันที!
3
เหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นอีกเมื่อ ค.ศ.1974 จากเรื่องของงานศพอู ถั่น อดีตเลขาธิการ UN ซึ่งเนวินไม่ได้มีการจัดงานศพให้สมเกียรติ นักศึกษา ประชาชน พร้อมพระสงฆ์ ก็ได้ประท้วงรัฐบาลอีกรอบครับ นักศึกษาได้มีการนำโลงศพของอู ถั่น มาตั้งที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เนวินก็ไม่รอช้าครับ ถ้าหาเรื่องขนาดนี้ ก็ส่งทหารเข้าไปปราบปรามอย่างไม่ปรานีเช่นเดิม มีคนถูกจับกว่า 4,000 คน เสียชีวิต 9 คน และบาดเจ็บกว่า 70 คน!!
ยุคสมัยของพม่าภายใต้การนำของเนวิน ได้อยู่กับความรุนแรง ความวุ่นวายอยู่เสมอ ต้องทำสงครามกับชนกลุ่มน้อย ทำสงครามกับคอมมิวนิสต์ รัฐบาลบริหารประเทศผิดพลาด เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนอยู่อย่างลำบากแร้นแค้น นักศึกษาและพระสงฆ์ประท้วง รัฐบาลนำทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง วนเวียนอยู่แบบนี้ตลอดสมัยของเนวินเลยล่ะครับ เป็นสมัยแห่งความวุ่นวายและน่าสะพรึงกลัวที่แท้จริง!!
2
ภาพจาก DW (การประท้วงของพระสงฆ์ในเหตุการณ์ 8888)
ต่อมา เนวินได้ยุบสภาปฏิวัติแล้วเปลี่ยนเป็นพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า หรือ BSPP แล้วใช้รัฐธรรมนูญ 1974 ที่สร้างให้พม่าเป็นรัฐสังคมนิยม มีพรรคของเนวินพรรคเดียวปกครองประเทศ
แล้วสถานการณ์ก็ถึงจุดพีค นั่นก็คือ ทุกท่านคงยังจำกันได้ว่าธุรกิจทุกอย่างในพม่าแทบล่มสลายภายใต้การนำของเนวิน แต่กลับมีธุรกิจหนึ่งที่เฟื่องฟูขึ้นมานั่นคือ ตลาดมืดแถบชายแดน โดยเฉพาะชายแดนไทยพม่า ที่มีชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงอยู่ ซึ่งทำให้พวกกะเหรี่ยงเนี่ยมีเงินซื้ออาวุธสงครามมารบกับรัฐบาลแบบไม่รู้จักหมดเลยล่ะครับ...
ใน ค.ศ.1987 เนวินจึงตัดสินใจยกเลิกธนบัตร 25 35 และ 75 จ๊าด เพื่อทำลายฐานการเงินและเศรษฐกิจของพวกกะเหรี่ยง ซึ่งพวกกะเหรี่ยงก็ได้รับผลกระทบจริงๆครับ!
แต่ทว่า นอกจากกะเหรี่ยงจะได้รับผลกระทบ ก็มีผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยและบอกได้เลยว่าได้รับผลมากกว่ากะเหรี่ยงหลายเท่า นั่นคือ ประชาชนครับ!
เพราะเนวินยกเลิกธนบัตรแล้วไม่มีการชดใช้คืน ซึ่งธนบัตรเหล่านี้เป็นธนบัตรส่วนใหญ่ที่อยู่ในมือประชาชน มันส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและปากท้องของพวกเขาอย่างมหาศาล แน่นอนว่าต่อไปทุกท่านคงทายถูกว่าจะเกิดอะไรขึ้น...
3
ก็ประท้วงน่ะสิครับ!!
นักศึกษาจาก RIT ก็ได้ชุมนุมประท้วง เนวินจึงสั่งทหารเข้าปราบปรามเช่นเคย พร้อมทั้งสั่งปิดมหาวิทยาลัย!
แต่ก็เกิดการประท้วงในมหาวิทยาลัยต่างๆผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตามมาเลยล่ะครับ ไม่เพียงแค่นักศึกษา แต่ก็มีพระสงฆ์เข้าร้วมประท้วงเช่นเคย
2
รัฐบาลก็ตอบโต้ด้วยการประกาศเคอร์ฟิว 6 โมงเย็นถึง 6โมงเช้า แล้วห้ามมีการชุมนุม แต่ก็ไม่สามารถหยุดคลื่นมวลมหาประชาชนที่โดนกดขี่มากว่า 26 ปีได้แล้วล่ะครับ
เนวินจึงสั่งทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงเหมือนเคย คราวนี้เหล่าทหารต่างถูกโกรธแค้นโดยชาวบ้าน มีการเริ่มขว้างปาก้อนหินใส่ทหาร
1
เหตุการณ์ยิ่งเริ่มดุเดือดมากขึ้น โดยเฉพาะในย่างกุ้ง จนในที่สุดวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ.1988 เนวินก็ได้ลาออก แล้วให้เส่ง ลวินขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดแทน หวังจะให้ประชาชนสงบลงบ้าง...
แต่เนวินคิดผิดครับ เมื่อประชาชนต่างคิดว่า “แล้วมันต่างกันตรงไหน!” ดูเหมือนว่าเป้าหมายอย่างเดียวของประชาชน ก็คือการโค่นล้มรัฐบาลทหารลงทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะเนวิน!
ตัวของเนวินเรียกได้ว่าโกรธแบบหูดับตับไหม้เลยล่ะครับ แล้วออกมาขู่ว่า “ให้ทุกคนรู้ไว้ด้วยว่าถ้ายังมีความไม่สงบเกิดขึ้นอีก ทหารจะออกไปแล้วทำการยิงเพื่อให้ถูกเป้า ไม่ใช่ยิงเพื่อขู่ให้กลัว!”
ประชาชนต่างก็โต้กลับ “เอ็งตั้งใจยิงถูกเป้ามาเป็นชาติแล้ว!”
แล้ววันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1988 หรือที่เรารู้จักกันในเหตุการณ์ 8888 เป็นวันที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลทหารเนวินอีกต่อไป มีการนัดหยุดงานทั่วประเทศ แล้วมีการชุมนุมที่ย่างกุ้งนับล้านคน! ทั้งนักศึกษา ประชาชน และพระสงฆ์ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย
1
ทุกท่านน่าจะทายถูกอีกแหละครับว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร...
แน่นอนครับ นำกองกำลังทหารเข้าปราบปรามแบบไม่ปรานีเช่นเคย โดยการปราบปรามหรือสังหารนี้กินเวลาถึง 4 วันเลยทีเดียวครับ! ซึ่งมีการระดมยิงอย่างบ้าคลั่งเข้าไปในฝูงชนไม่สนว่าเป็นประชาชน นักศึกษา หรือพระสงฆ์!
1
หลังเหตุการณ์ รัฐบาลก็ได้มีการออกข่าวว่ามีผู้เสียชีวิต 500 คน แต่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ต่างบอกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจริงๆอยู่ที่ประมาณ 10,000 คน!
ภาพจาก Burma Partnership (การสลายการชุมนุมในเหตุการณ์ 8888)
แต่อย่างไรก็ตาม การสังหารโหดในเหตุการณ์ 8888 นี้ ก็ไม่สามารถหยุดประชาชนได้เช่นเดิมครับ รัฐบาล BSPP ก็ยังยื้อต่อไปไม่สละอำนาจ ทำแค่เพียงเปลี่ยนตัวผู้นำไปเรื่อยๆ
อีกทั้งฝ่ายประชาชน ยังได้มีนักการเมืองฝ่ายค้านที่ผงาดขึ้นมา คือ ออง ซาน ซู จี (ลูกสาวของอองซาน) ที่พยายามขึ้นมาเป็นผู้นำกดดันให้รัฐบาลทหารลงจากตำแหน่งซะ จะหวงอำนาจไปถึงเมื่อไหร่!!
รัฐบาลของเนวินยังไม่ยอมแพ้ครับ แล้วได้มีการสร้างสถานการณ์โดยการปล่อยตัวนักโทษออกจากเรือนจำทั่วประเทศ (เพื่อที่รัฐบาลของตัวเองจะได้มีเหตุผลเข้าควบคุมสถานการณ์ที่ตัวเองสร้างขึ้นมา และยื้อเวลาอยู่ในอำนาจต่อไป)
แต่มันกลับให้ผลตรงข้ามครับ เมื่อสถานการณ์ในประเทศเกิดวิกฤติสุดๆ มีทั้งการปล้นสะดม ทำร้าย ฆ่า หรือแม้กระทั่งข่มขืน สร้างความหวาดกลัวและระแวงให้กับประชาชนไปทั่วประเทศ แต่รัฐบาลก็ไร้ความสามารถไม่สามารถคุมสถานการณ์ที่ตัวเองสร้างขึ้นมาได้...
เหตุการณ์วุ่นวายซะจนมีทหารหันไปเข้าร่วมกับผู้ชุมนุมจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าเครดิตของรัฐบาลแทบไม่เหลือแล้ว...
สุดท้าย รัฐบาลของเนวินก็ถึงจุดจบครับ เมื่อกองกำลังทหารนำโดยซอ หม่อง ภายใต้สภาฟื้นฟูกฎและระเบียบแห่งรัฐหรือ SLORC ได้ทำการยึดอำนาจ ปิดฉากรัฐบาลทหารเนวินกว่า 26 ปีในวันที่ 18 กันยายน ค.ศ.1988 เพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์และจัดระเบียบประเทศขึ้นมาใหม่...
ภาพจาก Asia News (การผงาดขึ้นมาของออง ซาน ซู จีที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร)
การขึ้นอำนาจของ SLORC เป็นการนำพาพม่ากลับมาสู่การปกครองโดยรัฐบาลทหารอีกเช่นเคย แต่เป็นรัฐบาลทหารที่ต่างจากรัฐบาลของเนวินที่มักแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลัง
โดยSLORCนั้น พยายามสร้างระเบียบใหม่ที่ดีกว่าเดิม และยังปูทางไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย
แล้วในที่สุด ค.ศ.1990 ก็ได้มีการเลือกตั้งขึ้น จนทำให้พรรค NLD ของออง ซาน ซู จี ชนะอย่างถล่มทลาย
แต่ทว่า อย่างที่ผมได้เคยเล่าไปครับ เมื่อได้ลิ้มลองรสชาติแห่งอำนาจซักครั้งหนึ่ง จึงเป็นเรื่องยากที่จะปล่อยให้หลุดมือไปง่ายๆ ดังนั้น SLORC จึงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนั้น แล้วจับกุมออง ซาน ซู จี กักบริเวณภายในบ้านพัก และนำพม่าเข้าสู่การปกครองแบบเผด็จการทหารเหมือนเดิม!!
จนลากมาถึง ค.ศ.2008 ที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง แต่ประชาชนและพรรค NLD ของออง ซาน ซู จี ก็ยังไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะยังมีความเป็นเผด็จการอยู่
แล้วก็มีการเลือกตั้งใน ค.ศ.2010 แต่ NLD ไม่เข้าร่วม ทำให้รัฐบาลทหารของเต็งเส่งชนะอย่างท่วมท้น แล้วรัฐบาลก็ได้ตัดสินใจประกาศปล่อยตัวออง ซาน ซู จีจากการกักบริเวณกว่า 20 ปี ในที่สุด!
จนใน ค.ศ.2015 ก็มีการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้ง แต่คราวนี้พรรค NLD ได้เข้าร่วม แล้วได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย แต่รัฐธรรมนูญ 2008 ได้กีดกันออง ซาน ซู จี ในการเป็นประธานาธิบดี ทางพรรค NLD จึงได้ให้ถิ่นจอ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และออง ซาน ซู จี บริหารในตำแหน่งสำคัญๆแทน
จะเห็นได้ว่ากว่าที่พม่าจะหลุดพ้นจากการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารนั้น ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน โดยเฉพาะในยุคของเนวิน ที่ได้สร้างความเจ็บปวดและขมขื่นให้กับคนพม่าอย่างมากมายมหาศาล
1
การเมือง เศรษฐกิจและสังคมถูกแช่แข็งอยู่กับที่กว่า 26 ปี
และถึงแม้ปัจจุบันพม่าจะหลุดพ้นจากวังวนแห่งความเจ็บปวดเหล่านั้นแล้ว
แต่ความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยก็ยังมีอยู่ภายในประเทศ ที่ไม่รู้ว่าจะจบลงในรูปแบบไหน...
และนี่คือเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพม่าในยุคสมัยหนึ่ง...
ยุคสมัยที่เจ็บปวด...
ยุคสมัยที่น่าสะพรึงกลัว...
และยุคสมัยที่เราต้องจดจำและเรียนรู้...
ภาพจาก Thai Vis Forum (เหตุการณ์ 8888)
อ้างอิง
Charney, Micheal W. A History of Modern Burma. New York : Cambridge University Press, 2009.
Davi, Konsam Shakila. Mynmar under the Military Rule 1962-1988. International research journal of social science 10, no.3 (October 2014).

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา