3 ส.ค. 2020 เวลา 11:30 • ประวัติศาสตร์
“ติมอร์ เลสเต” เอกราชที่แลกมาด้วยเลือด
อำนาจอธิปไตยหรือเอกราช เป็นสิ่งที่หลายๆประเทศต่างปรารถนา...
เพราะมันนำมาซึ่งเสรีภาพและอิสรภาพ...
บางประเทศได้มันมาอย่างง่ายดาย...
บางประเทศไม่ต้องทำอะไรก็ได้มันมา...
แต่บางประเทศกลับต้องแลกกับอะไรบางอย่างเพื่อให้ได้มันมา...
ความเจ็บปวด...
ความสูญเสีย...
การเสียสละ...
น้ำตา...
หรือแม้กระทั่งเลือด...
1
ทุกท่านครับ นี่คือเรื่องราวของดินแดนแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้...
ดินแดนที่เป็นเกาะอันเต็มไปด้วยทรัพยากรที่หลายคนต่างปราถนา...
ดินแดนที่ถูกกอบโกยทรัพยากรเหล่านั้นไปจนเกือบหมดเกลี้ยง...
1
ดินแดนที่ถูกปกครองโดยมหาอำนาจของโลกและมหาอำนาจของภูมิภาค...
ดินแดนที่ต้องต่อสู้และสูญเสียไปมหาศาลเพื่อให้หลุดพ้นจากมหาอำนาจเหล่านั้น...
ทุกท่านครับ ผมกำลังพูดถึงดินแดนที่เรียกว่า “ติมอร์ตะวันออก” หรือ “ติมอร์ เลสเต”
กับเรื่องราวของเอกราชที่แลกมาด้วยเลือด...
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับดินแดนที่ผมกำลังจะเล่าถึงกันก่อนนะครับ...
1
ติมอร์ เลสเต หรือติมอร์ตะวันออกนั้น เป็นประเทศหมู่เกาะที่อยู่ในกลุ่มเกาะอินโดนีเซีย โดยเกาะติมอร์ที่ว่านั้นตั้งอยู่ระหว่างอินโดนีเซียและออสเตรเลียนั่นเองครับ
ใครนึกไม่ออกผมมีภาพให้ดู...
ภาพจาก Britanica (เกาะติมอร์)
จะเห็นครับว่าเกาะติมอร์นั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
โดยเหตุผลที่ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วนก็เพราะว่าทั่วทั้งเกาะติมอร์นั้นมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะไม้จันทร์ กาแฟและน้ำมัน ทำให้เกาะติมอร์ก็เป็นเหมือนกับหลายๆดินแดนในภูมิภาคที่ตกเป็นเป้าหมายของนักล่าอาณานิคมตะวันตก
และในช่วงศตวรรษที่ 16 โปรตุเกสก็ได้เข้ามาค้าขายและเผยแพร่ศาสนาบนเกาะติมอร์ ซึ่งตอนแรกโปรตุเกสนั้นยังไม่ได้ต้องการเอาเกาะติมอร์เป็นอาณานิคม
แต่เมื่อมหาอำนาจอย่างฮอลันดาได้เข้ามา ซึ่งไม่พูดพล่ำทำเพลงมาก ฮอลันดาส่งกองกำลังเข้ายึดบริเวณด้านตะวันตกของเกาะติมอร์ทันที!
โปรตุเกสก็ไม่ยอมสิครับ “ฮอลันดา เอ็งจะฮุบไปเองคนเดียวไม่ได้!” จึงมีการตกลงและทำสนธิสัญญาลิสบอนโดยเป็นการแบ่งเกาะติมอร์ออกเป็น 2 ส่วน...
ด้านตะวันตกให้เป็นอาณานิคมของฮอลันดา
ส่วนด้านตะวันออกให้เป็นอาณานิคมของโปรตุเกส
โดยส่วนที่ผมจะเล่าถึงนั้นคือด้านตะวันออกที่เป็นอาณานิคมของโปรตุเกสนี่แหละครับ...
ภาพจาก East Timor (ไม้จันทร์ใช้ทำน้ำหอมและยาซึ่งคนยุโรปในยุคล่าอาณานิคมต้องการมาก)
ติมอร์ตะวันออกที่ว่านั้นมีประชากรโดยประมาณ 1,000,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนเชื้อสายมาเลย์และเมลาดิเวีย ที่เหลือจะเป็นอาหรับ แอฟริกัน และจีนที่เป็นคนส่วนน้อย
จากการที่เกาะติมอร์ถูกแบ่งเค๊กโดยนักล่าอาณานิคม ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป ทั้ง 2 ส่วนก็เริ่มเกิดความแตกต่างกันมากขึ้นๆ
2
ติมอร์ตะวันตกที่เป็นของฮอลันดาก็ถูกผนวกเข้ากับอินโดนีเซียที่เป็นอาณานิคมของฮออลันดาเช่นเดียวกัน
ติมอร์ตะวันออกที่เป็นของโปรตุเกสก็เหมือนถูกแบ่งแยกออกไปต่างหาก จนทำให้ติมอร์ตะวันออกมีสิ่งที่แตกต่างสุดๆจากติมอร์ตะวันตกและอินโดนีเซีย นั่นคือ คนติมอร์ตะวันออกนับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกกว่า 98% (ในขณะที่อินโดนีเซียคนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม)
ทั้งฮอลันดาและโปรตุเกสต่างก็กอบโกยทรัพยากรจากเกาะติมอร์โดยเฉพาะไม้จันทร์ไปอย่างเต็มที่เลยล่ะครับ (เมื่อทั้งสองออกไป พบว่าแทบไม่เหลือไม้จันทร์อยู่บนเกาะติมอร์เลย)
1
จนในสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เข้ามาปลดปล่อยเกาะติมอร์จากการเป็นอาณานิคมของทั้งฮอลันดาและโปรตุเกส แล้วญี่ปุ่นก็เข้าปกครองซะเอง
แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งฮอลันดาและโปรตุเกสก็กลับเข้ามากอบโกยทรัพยากรในเกาะติมอร์ต่อ...
แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น การล่าอาณานิคมเป็นสิ่งที่นานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกานั้นแอนตี้มาก! ทำให้มีการกดดันให้ประเทศเจ้าอาณานิคมต่างๆต้องให้เอกราชกับประเทศอาณานิคม
บางอาณานิคมก็ได้เอกราชมาแบบสันติและง่ายดาย
แต่บางอาณานิคมก็ต้องมีการนองเลือดครั้งใหญ่
โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ที่เมื่อฮอลันดากลับเข้ามา กลุ่มชาตินิยมที่นำโดยซูการ์โนและโมฮัมหมัด ฮัตตา ชิงประกาศเอกราชในอินโดนีเซียเอาเองใน ค.ศ.1945
แต่ฮอลันดาไม่ยอมปล่อยอินโดนีเซียไปง่ายๆ เลยส่งกองทัพเข้าถล่มกลุ่มที่ต่อต้านฮอลันดาในอินโดนีเซียอย่างไร้ปรานี!
UN เมื่อเห็นแบบนั้นจึงเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย แต่เหมือนฮอลันดาจะไม่ได้สนใจ ยังคงส่งกองทัพเข้าถล่มอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีการจับซูการ์โนและฮัตตาเข้าคุก
ซึ่งกว่าฮอลันดาจะยอม ก็นองเลือดกันไปเกือบ 5 ปี! จนใน ค.ศ.1949 จากการกดดันของนานาชาติ ฮอลันดาจึงยอมให้เอกราชกับอินโดนีเซีย (แต่ก็ยังไม่จบเพียงแค่นั้นครับ เพราะมีดินแดนบางส่วนที่ฮอลันดายังไม่ยอมปล่อยให้รวมกับอินโดนีเซีย เช่น อีเรียนจายา จึงทำให้มีการรบกันระหว่างอินโดนีเซียและฮอลันดาไปอีกเกือบ 10 ปี)
หลังจากอินโดนีเซียได้เอกราช ซูการ์โนได้เป็นประธานาธิบดีและฮัตตาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้มีการรวมหมู่เกาะต่างๆให้อยู่ภายใต้อินโดนีเซีย (รวมถึงติมอร์ตะวันตก)
ส่วนติมอร์ตะวันออกนั้นยังคงเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสต่อไป เพราะโปรตุเกสก็เหมือนกับฮอลันดา ที่ไม่ปล่อยอาณานิคมของตัวเองไปง่ายๆ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ 2 เหตุการณ์ นั่นคือ...
2
การยึดอำนาจของซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย...
และการโค่นล้มอำนาจเผด็จการของซาลาซาร์ในโปรตุเกส...
ภาพจาก PRI (การประกาศเอกราชในอินโดนีเซียนำโดยซูการ์โน)
หลังได้รับเอกราชนั้น ใช่ว่าอินโดนีเซียจะสงบราบรื่นครับ เพราะปัญหาความแตกแยกภายในประเทศก็ได้ระเบิดขึ้นเนื่องจากความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์และพรรคการเมืองในประเทศ
ดังนั้น ซูการ์โนจึงใช้หลัก “ปัญจศิลา” และ”นาซาคอม” เพื่อรวมอินโดนีเซียและพรรคการเมืองที่มีความหลากหลายเแตกต่างกันมากให้กลายเป็นหนึ่งเดียว
“ปัญจศิลา”และ”นาซาคอม” ได้ทำให้ทหารและพรรคคอมมิวนิสต์มีบทบาทและอำนาจมากขึ้น ทำให้เกิดการต่อสู้แย่งอำนาจกันของทั้งทหารและพรรคคอมมิวนิสต์...
และเมื่อซูการ์โนไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ พรรคคอมมิวนิสต์จึงทำรัฐประหารเกสตาปู ในค.ศ.1965
แต่ทหารที่นำโดยซูฮาร์โตไม่ยอมครับ จึงใช้กองทัพเข้าถล่มคอมมิวนิสต์แล้วยึดอำนาจอีกต่อนึง ทำให้ซูฮาร์โตเริ่มมีอำนาจมากขึ้นจนในที่สุดก็เตะซูการ์โนออกไปจากอำนาจทางการเมือง แล้วยึดอำนาจมาไว้ที่ตัวเองเพียงผู้เดียว...
1
ทำให้อินโดนีเซียได้เข้าสู่ห้วงเวลาการปกครองของทหารและซูฮาร์โต...
1
ภาพจาก University of Melbourne (ซูฮาร์โต)
มาที่เหตุการณ์ในโปรตุเกสบ้าง...
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โปรตุเกสก็ยังไม่ยอมให้เอกราชอาณานิคมเช่นกัน โดยเฉพาะในติมอร์ตะวันออกที่โปรตุเกสยื้อไว้จนถึงที่สุด
ดังนั้น โปรตุเกสจึงจำเป็นต้องเอาเงินมาถลุงใช้ทำสงครามกับเหล่าอาณานิคมที่ต้องการเอกราช ทำให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่จนโปรตุเกสกลายเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป...
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ทหารที่นำโดยอันโตนีโอ เดอ สปิโนลา ก็จัดการยึดอำนาจโค่นล้มเผด็จการซาลาซาร์ใน ค.ศ.1974 ทำให้การเมืองในโปรตุเกสเริ่มคลอนแคลน
เหล่าอาณานิคมก็ใช้โอกาสนี้พากันประกาศเอกราชสิครับ รวมถึงติมอร์ตะวันออกที่เกิดพรรคการเมืองขึ้นมา 3 พรรค
1
และทั้ง 3 พรรคก็ได้มีการเสนอทางเลือกของตัวเองที่แตกต่างกันสำหรับติมอร์ตะวันออก นั่นคือ...
พรรค UDT บอกว่า “เราควรอยู่ภายใต้โปรตุเกสต่อไป”
พรรคอโปเดติบอกว่า “เราควรเข้าไปรวมกับอินโดนีเซียต่างหาก!”
และพรรคเฟรติลินก็บอกว่า “เราควรประกาศเอกราชแล้วปกครองตัวเองสิถึงจะถูก!”
ซึ่งเมื่อโปรตุเกสประกาศถอนตัวออกไปจากติมอร์ตะวันออก พรรคเฟรติลินที่นำโดยซานานา กุสเมา ก็ชิงประกาศเอกราชโดยไม่สนใจอีก 2 พรรคที่เหลือ แล้วตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ตะวันออกขึ้นมาใน ค.ศ.1975
3
แต่ปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่ออินโดนีเซียที่นำโดยซูฮาร์โตเหมือนจะไม่ยอมน่ะสิครับ!...
2
ภาพจาก Al Jeezera (ซานานา กุสเมา ปัจจุบัน)
ซูฮาร์โตนั้นได้เล็งติมอร์ตะวันออกไว้ตั้งนานแล้ว เพราะทรัพยากรที่มีคุณค่ามหาศาลที่จะสร้างประโยชน์ให้กับอินโดนีเซีย
ดังนั้น หลังพรรคเฟรติลินประกาศเอกราชในติมอร์ได้เพียง 9 วัน ซูฮาร์โตจึงบอกว่า “การประกาศเอกราชและการตั้งรัฐบาลของพรรคเฟรติลิน เป็นการกระทำของพวกคอมมิวนิสต์ที่อาจจะเป็นภัยร้ายแรงต่ออินโดนีเซีย!”
ว่าแล้วซูฮาร์โตก็ส่งกองทัพเข้ายึดติมอร์ตะวันออกแล้วโค่นอำนาจของพรรคเฟรติลิน!
แน่นอนครับว่า มีประชาชนจำนวนมากที่อยู่ข้างพรรคเฟรติลินแล้วพากันต่อต้านอินโดนีเซีย
กองทัพอินโดก็ไม่ได้สนใจเสียงคนเหล่านั้น แล้วจัดการฆ่าปิดปากประชาชนติมอร์ที่ไม่พอใจอินโดนีเซียซะ!
1
แล้วใน ค.ศ.1976 อินโดนีเซียก็จัดการผนวกติมอร์ตะวันออกให้เป็นจังหวัดที่ 27 ของประเทศ
2
พรรคเฟรติลินและประชาชนติมอร์ที่ไม่พอใจอินโดนีเซียก็พากันลุกฮืออีกครั้ง! แล้วมีการจัดตั้งกองกำลังเพื่อกู้เอกราช
ซูฮาร์โตจึงสั่งให้กองทัพ “กวาดล้างให้หมด อย่าให้เหลือ!”
ประชาชนติมอร์ตะวันออกที่ต่อต้านอินโดนีเซียต่างถูกข่มขู่ ทุบตี ทรมาน และสังหารหมู่อย่างไร้ปรานี!
และเพียงแค่ปีเดียว ประชาชนติมอร์ตะวันออกถูกทหารอินโดนีเซียสังหารหมู่ไปเกือบ 100,000 คน!
ภาพจาก Western Australian Museum (ทหารอินโดนีเซียเข้ายึดกรุงดิลี เมืองหลวงของติมอร์ตะวันออก)
เมื่อติมอร์ตะวันออกถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย บวกกับพวกต่อต้านก็โดนถล่มอย่างราบคาบไปแล้ว ซูฮาร์โตก็เข้าครอบครองติมอร์ตะวันออกได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์
ซูฮาร์โตได้จัดการแบ่งที่ดินในติมอร์ตะวันออกให้คนในครอบครัวและพรรคพวก เพื่อเข้าไปควบคุมและกอบโกยทรัพยากรที่สำคัญต่างๆ เช่น...
มีการจัดตั้งบริษัทน้ำมัน Genindo Western ขึ้นในติมอร์ตะวันออก โดยให้บัมบังที่เป็นลูกชายคนกลางของซูฮาร์โตดูแล...
1
หินอ่อนและกาแฟถูกผูกขาดการค้าโดยตูตุ๊ด ที่เป็นลูกสาวคนโตของซูฮาร์โต...
ฯลฯ
แล้วครอบครัวซูฮาร์โตก็มีการแบ่งปันแจกจ่ายผลประโยชน์ให้กับแม่ทัพนายพลและคนใกล้ชิดอีกต่อหนึ่ง
1
เรียกได้ว่า ในช่วงที่ติมอร์ตะวันออกอยู่ภายใต้อินโดนีเซียนั้น ทรัพยากรและธุรกิจทุกอย่างล้วนถูกผูกขาดโดยครอบครัวซูฮาร์โตและพรรคพวกทั้งสิ้น!
และที่สำคัญที่สุด การแทรกแซงและการสังหารหมู่ในติมอร์นั้นแทบไม่ได้รับความสนใจจากตะวันตก เพราะเป็นดินแดนห่างไกลไม่ค่อยมีคนรู้จัก
โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ถึงขนาดสนับสนุนการเข้ายึดครองติมอร์ตะวันออกของซูฮาร์โตเลยทีเดียว แถมยังมองว่าการสังหารหมู่ในติมอร์เป็น “การเข่นฆ่าเชิงโครงสร้าง” ที่ยอมรับได้!
4
เรียกง่ายๆคือ เป็นการเข่นฆ่าที่สหรัฐอเมริกาได้ประโยชน์ เพราะการยึดติมอร์ตะวันออกของอินโดนีเซียจะเป็นการหยุดยั้งอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ไม่ให้ขยายเข้ามาในเอเชียอีกทางหนึ่ง ดังนั้นอเมริกาจึงทำเป็นหลับหูหลับตาไม่สนใจเหตุการณ์ในติมอร์ตะวันออกนั่นเองครับ...
1
พรรคเฟรติลินและคนติมอร์ตะวันออกที่อยากได้เอกราชก็ต้องต่อสู้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง...
ภาพจาก Pinterest (กองกำลังเฟรติลิน)
การต่อต้านอินโดนีเซียก็มีอยู่บ้างประปราย จนมาถึงจุดพีคใน ค.ศ.1991 ที่เหล่าวัยรุ่นหนุ่มสาวหรือนักศึกษาในติมอร์ตะวันออกต่างทนการกดขี่ของอินโดนีเซียไม่ไหว จึงพากันรวมตัวเดินขบวนประท้วงกว่า 2,000 คน
โดยพากันเดินประท้วงไปที่สุสานซานตาครูซเพื่อไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจากการสังหารหมู่...
1
พอผู้ประท้วงเดินไปถึงสุสานซานคาครูซ เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น...
ทหารอินโดนีเซียได้สาดกระสุนเข้าไปในกลุ่มผู้ประท้วงโดยไม่ได้มีการเตือนล่วงหน้า!
ผู้ประท้วงก็พากันแตกกระเจิงหนีตายกันจ้าละหวั่น...
การสาดกระสุนครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน! และบาดเจ็บอีกนับพัน!
และใน ค.ศ.1992 ซานานา กุสเมาที่เป็นผู้นำของเฟรติลินก็ถูกจับ แล้วโดนตัดสินจำคุกตลอดชีวิต!
เหมือนความหวังในการได้เอกราชของติมอร์ตะวันออกแทบจะมอดดับลงไปแล้วในตอนนี้...
1
แต่ทว่า ดันเกิดเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่ได้สั่นสะเทือนไปทั้งภูมิภาคขึ้นมาซะก่อน
เหตุการณ์ที่ว่า คือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ใน ค.ศ.1997...
1
ภาพจาก New Zealand Film Commission (การสังหารหมู่ซานตาครูซ)
ภาพจาก TSF (การสังหารหมู่ซานตาครูซ)
ซูฮาร์โตที่ครองอำนาจในอินโดนีเซียมากว่า 30 ปีนั้น ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความแตกแยกและเศรษฐกิจที่ตกต่ำของอินโดนีเซียได้ อีกทั้งคนอินโดต่างก็เริ่มเบื่อหน่ายการคอร์รัปชันของพรรคพวกซูฮาร์โต จึงมีการต่อต้านเกิดขึ้นอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่มีพลังมากพอ
แต่เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งที่เป็นวิกฤตเศรษฐกิจในไทย โดยวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1997 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทลดลง ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาค รวมถึงอินโดนีเซียที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเพราะนักลงทุนต่างพากันหอบเงินออกจากอินโดนีเซีย เศรษฐกิจของอินโดที่แย่อยู่แล้วก็ยิ่งแย่ลงไปอีก!
1
ประชาชนทั่วประเทศที่ไม่พอใจซูฮาร์โตจึงใช้โอกาสนี้ลุกขึ้นก่อจราจลเพื่อโค่นอำนาจซูฮาร์โต...
2
มวลพลังในการต่อต้านซูฮาร์โตตอนนี้ใหญ่โตเกินที่จะยับยั้งแล้วล่ะครับ
1
ซูฮาร์โตทนแรงกดดันที่ลุกฮือขึ้นทั่วประเทศไม่ไหวจึงลาออกใน ค.ศ.1998 แล้วให้ยูซุฟ ฮาบิบีขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทน
1
ฮาบิบีที่ขึ้นมาใหม่หวังที่จะสร้างความนิยมให้กับตัวเองเพื่อสยบการต่อต้านของประชาชน พร้อมให้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
ฮาบิบีจึงใช้ติมอร์ตะวันออกเป็นสิ่งที่จะสร้างความนิยมให้กับตัวเอง...
ฮาบิบีจึงจัดให้มีการประชามติขึ้นในติมอร์ตะวันออก...
1
ว่าจะเป็นเขตปกครองพิเศษของอินโดนีเซีย...
หรือจะประกาศเอกราชแยกตัวเองออกไป...
ที่ฮาบิบีทำแบบนี้ก็เพราะว่า “ฮาบิบีรู้ดีว่าอำนาจตัวเองไม่ได้เข้มแข็ง จึงจำเป็นต้องสร้างความชอบธรรมในการปกครองให้ประชาชนยอมรับ จึงใช้การประชามติในติมอร์ตะวันออกเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้อินโดนีเซียและตัวเองในสายตาชาวโลก เพราะเปิดโอกาสให้ติมอร์ตะวันออกมีทางเลือก แถมยังเป็นการสร้างความนิยมของตัวฮาบิบีเอง”
ฮาบิบีมั่นใจสุดๆครับว่า “ประชาชนติมอร์ตะวันออกจะต้องเลือกเป็นเขตปกครองพิเศษของอินโดนีเซียแน่นอน!”
แต่ดูเหมือนฮาบิบีจะคิดผิดอย่างมหันต์ เมื่อผลประชามติออกมาว่า ประชาชนติมอร์ตะวันออกลงคะแนนเสียง 78.5% ในการประกาศเอกราชแล้วแยกตัวเองออกไป!
1
แน่นอนครับว่าทั้งฮาบิบี คนอินโด และคนติมอร์ตะวันออกที่นิยมในอินโดนีเซีย ต่างก็ไม่พอใจในผลการประชามติครั้งนี้
1
ดังนั้น การนองเลือดก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง...
ภาพจาก Teller Report (ยูซุฟ ฮาบิบี)
ฮาบิบีจึงสนับสนุนกลุ่มมิลิเทีย (Militia) ซึ่งเป็นกลุ่มคนติมอร์ตะวันออกที่นิยมอินโดนีเซียให้ก่อความวุ่นวายขึ้นในดิลี ที่เป็นเมืองหลวงของติมอร์ตะวันออก
กลุ่มมิลิเทียได้ทำการปิดถนน เผาบ้านเมือง ทำร้าย และฆ่าประชาชนติมอร์ตะวันออกที่อยากแยกตัวเป็นเอกราช! ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน และมีการอพยพออกนอกประเทศครั้งใหญ่กว่า 200,000 คน
ในตอนนี้ คนติมอร์ตะวันออกดันมาฆ่ากันเองซะแล้วล่ะครับ
กลุ่มมิลิเทียก็ทำลายและฆ่าล้างทุกอย่างที่แปลกปลอมสำหรับอินโดนีเซีย...
1
อินโดนีเซียที่นำโดยฮาบิบีก็สนับสนุนกลุ่มมิลิเทียอย่างไม่หยุดยั้ง...
แต่ทว่า โลกในตอนนั้น โซเวียตได้ล่มสลายลงไป ทำให้สงครามเย็นได้จบลงไปแล้ว สหรัฐอเมริกาจึงเริ่มหันมาเป็นพ่อพระ สนใจเหตุการณ์ในติมอร์มากขึ้นพร้อมติอินโดนีเซียว่า “ทำแบบนี้มันไม่ถูกนะ!”
ทั้งสหรัฐอเมริกาและ IMF ก็กดดันให้ฮาบิบี “เลิกสนับสนุนกลุ่มมิลิเทียซะ แล้วยอมให้กองกำลัง UN เข้าไปจัดการ ไม่งั้นพวกตูจะไม่ให้เงินนะโว้ย!” (ทั้งอเมริกาและ IMF มีการให้เงินช่วยเหลืออินโดนีเซียจากวิกฤติเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล)
2
ฮาบิบีไม่มีทางเลือกจึงยกเลิกการสนับสนุนกลุ่มมิลิเทีย พร้อมปล่อยตัวซานานา กุสเมา แล้วยอมให้กองกำลัง UN เข้าไปจัดการรักษาความสงบในติมอร์ตะวันออกเมื่อ ค.ศ.1999
1
อินโดนีเซียจึงจำใจยอมรับผลประชามติของประชาชนติมอร์ตะวันออกในที่สุด...
และใน ค.ศ.2002 ก็มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แล้วซานานา กุสเมาก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของติมอร์ตะวันออก
พร้อมๆกับการประกาศเอกราชแล้วจัดตั้ง “สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ เลสเต”
1
เป็นเวลา 24 ปีที่ติมอร์ตะวันออกอยู่ภายใต้อินโดนีเซีย
และในช่วงเวลาดังกล่าว ได้สังเวยชีวิตชาวติมอร์ตะวันออกไปกว่า 200,000 คน
1
ทั้งสงครามภายใน...
ความอดอยาก...
และการสังหารโดยทหารอินโดนีเซีย...
ภาพจาก UN News (การเข้าร่วม UN อย่างเป็นทางการของติมอร์ เลสเต)
ภายหลังได้รับเอกราชและตั้งประเทศขึ้นมา ใช่ว่าติมอร์ เลสเตจะสงบครับ เพราะรัฐบาลต้องแก้ปัญหาที่ยังหลงเหลืออยู่มากมายที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยอยู่ภายใต้อินโดนีเซีย
รัฐบาลไม่มีงบประมาณมากพอในการบริหารประเทศ...
ผลงานจึงไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมในเวลาสั้นๆ...
เกิดความขัดแย้งและแตกแยกทางการเมือง...
ประชาชนไม่พอใจกับสภาพแบบนี้...
เกิดการเดินขบวนประท้วงและก่อจราจลตามจุดต่างๆของประเทศ...
ปรากฏความรุนแรงและนองเลือดขึ้นอีกหลายครั้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน...
แม้ได้รับเอกราช ติมอร์ เลสเตก็ยังคงต้องพยายามปรับและสร้างประเทศให้เข้าที่เข้าทางจนปัจจุบัน...
ซึ่งก็ยังคงเกิดความความขัดแย้งและสูญเสียอยู่เสมอ ที่ยังไม่รู้ว่าจะลงเอยในรูปแบบไหน...
และนี่ คือเรื่องราว “ติมอร์ เลสเต” เอกราชที่แลกมาด้วยเลือด
1
ภาพจาก The Conversation
อ้างอิง
องอาจ คล้ามไพบูลย์. ติมอร์เอกราชเลือด. กรุงเทพฯ : บริษัทไพลินสีน้ำเงิน, 2542.
A Bardedo de Magalhaes. East Timor : Indonesia Occupation and Genocide. Portugual : Oporto University, 1992.
Dunn, James. East Timor : a rough passage to independence. New South Wales : Longueville Media, 2003.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา