14 มิ.ย. 2020 เวลา 17:05 • การศึกษา
"อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์"
ก็คือ การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์5 นั่นแหละ..ที่ทำให้ทุกข์ ..นี่คือพุทธพจน์ ที่กล่าวไว้อย่างชัดแจ้ง
ขันธ์5 มีอะไร บ้าง เล่าให้ฟังคร่าวๆสำหรับคนที่ยังไม่รู้ละกันนะ..
1.รูป - คือ ร่างกาย ชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆมาประกอบรวมกัน เป็นคนเรานี่แหละ
2.เวทนา -คือ ความรู้สึก เช่น รู้สึกมีความสุข,รู้สึกมีความทุกข์, รู้สึกชอบหรือไม่ชอบ
3.สัญญา -คือ ความจำได้หมายรู้ การจำเรื่องราวในอดีต,การจำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ เช่น จำว่านี่คือสีแดงนะ,จำว่านี่คือรสหวาน,รสเปรี้ยวนะเป็นต้น..
4.สังขาร -คือ การปรุงแต่งทั้งจิต ผลการปรุงแต่ง มันก็จะออกมาเป็น พวกความโลภ,ความ โกรธ,ความหลง,การนึกคิดเรื่องราวจินตนาการ ,การเพ้อฝัน,ความกังวล เป็นต้น
5.วิญญาน -คือ ธาตุรู้ ,การรับรู้ในสิ่งต่างๆ เช่น รับรู้ว่าร่างกายมีอยู่,รับรู้ความรู้สึก,รับรู้ในความจำ, มันเป็นขันธ์ที่ทำให้เรารับรู้ทุกสิ่งที่มี นั่นแล..
ขันธ์5 นี่แหละ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นเป็นมนุษย์ ก็คือเป็นตัวเราที่มีชีวิต แต่เราไม่เคยสนใจมาก่อน เราเห็นแต่ ความเป็นหนึ่งเดียวของตัวเรา โดยไม่เคยแยกส่วนมาดูเลย..
เปรียบไปก็เหมือนรถยนต์ ที่มีส่วนประกอบของอะไหล่ มากมายหลายชิ้นมารวมกันอย่างสมบูรณ์ จึงเรียกว่า "รถยนต์" แต่หากถอดชิ้นส่วนแยกออกทุกชิ้น ความเป็น"รถยนต์" ก็หายไป ไม่มีคำว่า "รถยนต์" อีกต่อไป มีแค่ชื่อของชิ้นส่วนต่างๆ เช่น ล้อรถ,เบรค,โครงรถ,หม้อน้ำ,ปะเก็น,เครื่องยนต์ เป็นต้น
ตัว"เรา"ก็เหมือนกัน หากแยกออก ก็จะพบว่า คำว่า "เรา" ก็ไม่มี มีแต่กองขันธ์5 ที่มารวมตัวกัน..
จุดมุ่งหมาย ของ การศึกษาขันธ์5 ก็คือ มุ่งให้เห็นความเป็นจริง ที่ว่า ไม่มีตัวเรานะ ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ มีแต่ธรรมชาติ ที่มารวมตัวกัน ..ซึ่งเมื่อจิตเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ก็จะทำให้จิตจางคลายจากการยึดมั่นถือมั่น ในตัวเรา(ของเรา)ลงไป
ทั้งหมดข้างต้น คือ ภาคทฤษฎี จบปิ้ง!!เพื่อนๆที่เคยเรียน และคนส่วนใหญ่ที่เคยอ่านมา ก็จะรู้แค่นี้...แล้วก็จบไป ไม่ได้ประโยชน์อะไร..เพราะไม่รู้ว่า จะนำไปประยุกต์ปฏิบัติอย่างไรต่อดี.. มาๆต่อไปนี้จะบอกเล่าวิธีของภาคปฏิบัติให้เอาไปฝึก..
คิดซะว่าเป็น..ชาเล้นท์.. (challenge) ละกันนะ
ภาคปฏิบัติ ก็คือ ให้สังเกตุเรียนรู้จากตนเองนี่แหละ
😀โดยขั้นแรก คือ แยกขันธ์ ให้ออกเสียก่อน ครูอาจารย์ มักใข้คำว่า "แยกธาตุ แยกขันธ์"
เริ่มจากรูปขันธ์ คือ ร่างกายประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม .. ให้รู้ว่าลักษณะมันเป็นอย่างไร(ไม่อธิบายเนาะ ทุกคนน่าจะรู้)
แยกอาการของจิตให้ออก ดูที่จิตตน ตอนที่ "เวทนา" เกิดขึ้น ให้รู้ว่า "ออ นี่นะ เจ้าเวทนา ทำงานแล้ว" สัญญา สังขาร ทำงาน ก็ให้รู้ว่า "ออ นี่มันทำงานแล้วนะ" วิญญาณ ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า "ทุกครั้งที่รู้สิ่งนั้นสิ่งนี้"นั่นแหละ วิญญานทำงาน
😀ขั้นที่สอง คือ สังเกตุห้วงเวลา เกิด-ดับ
คือ..รู้ตอนมันเกิดและรู้ตอนมันดับ
เช่น..ตอนเช้า ไม่อยากตื่นนอน รู้สึกทุกข์เพราะถูกบังคับให้ตื่น(เวทนา เกิดแล้ว) จิตปรุงแต่งเกิดความโกรธ โมโหคนที่มาปลุก(สังขาร เกิดแล้ว) ลุกขึ้นเดินไปล้างหน้า น้ำเย็นสัมผัสหน้า(เวทนาเก่า ดับไป)รู้สึกสดชื่น(เวทนาใหม่ เกิดแล้ว)ใจเย็นลง ความโกรธหายไป(สังขารเก่า ดับแล้ว)... เป็นต้น
😀ขั้นที่สาม คือ เติมความรู้ ในมุมมอง ไตรลักษณ์ ต่อจากขั้นที่สองด้วย..
ในส่วนนี้ เพื่อนๆต้องมีความรู้ไตรลักษณ์มาก่อนสักนิด..."อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ค่อยๆฝึกที่จะมองขันธ์5 ในกรอบมุมมอง3แบบนี้ จะมองมุมไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับจิตเพื่อนๆจะเปิดในมุมไหนมากกว่ากัน
เช่น.. เห็นความโกรธ(สังขาร)เกิดขึ้น คงอยู่สักพัก แล้วก็หายโกรธ ไปคิดเรื่องอื่นแทน..เห็นไหม ความโกรธ เป็น"อนิจจัง" มันก็ไม่เที่ยง ไม่มีใครโกรธได้ตลอดเวลาหรอก..
หรือ ร่างกาย(รูป) เจ็บป่วยไม่สบาย ก็ให้เห็นว่า มันเป็น"ทุกข์' มันถูกบีบเค้นตลอด..ร่างกายนี้นั่งนิ่งๆเฉยๆก็ไม่ได้ เดี๋ยวก็ปวด เดี๋ยวก็เมื่อย เดี๋ยวก็คัน ก็ต้องขยับเปลี่ยนท่า ใช้มือเกามันบ้าง จะได้หายทุกข์
เดินผ่านร้านที่เคยมากับแฟนเก่า ที่ตอนนี้เลิกลากันไปแล้ว ก็เลยนึกถึงหน้าแฟนเก่าโดยมิได้ตั้งใจจะนึกถึงเลย(สัญญา ทำงาน) เห็นไหม จิตมันเป็น "อนัตตา" มันควบคุมไม่ได้ จู่ๆมันจะนึกขึ้นมา มันก็นึกได้เอง แม้ว่าเราจะไม่อยากก็ตาม..
ทั้งหมดนี้ คือการฝึกในชีวิตประจำวัน
เพื่อให้จิตเกิดความจางคลายจากการยึดในขันธ์5 ด้วยการเห็นความจริงซ้ำๆ บอกตัวเองซ้ำๆ ..ในทางวิทยาศาสตร์ มันก็คล้ายกับการฝังความคิดลงจิตใต้สำนึก...เหมือนคนที่พร่ำบอกตัวเองหน้ากระจก ว่า ฉันเก่ง ฉันเลิศ..
แต่ทางพุทธแตกต่างตรงที่ บอกให้เห็นความจริง
เพื่อให้ลดละ วางตัวตนลง
เพื่อนๆลองสังเกตุได้เลย ไม่ว่าเรื่องราวใดๆในชีวิตเพื่อนๆ ที่เคยผ่านมาแล้ว หรือกำลังเผชิญอยู่ ถ้าเพื่อนๆคิดอะไรก็ตามแล้ว มีคำว่า "ตัวกู ของกู" มีคำนี้เมื่อไหร่ ทุกข์ครอบงำทันที.. "
"ทำไมกู ต้องมาเจอแบบนี้"
"ทำไม ไม่เข้าใจกูบ้าง"
"ทำไม กูผิดตรงไหน"
"กูไม่น่าเกิดมาเลย"
"กูเกิดมาทำไม"
"อย่าหวัง จะแย่งของกู"
"กูไม่ยอมหรอก"
มันคือ อัตตาตัวตน ..ที่เราควรละวางลงเพื่อให้จิตเป็นอิสระ หลายๆคนไม่เข้าใจสิ่งนี้ โดยเฉพาะ นักเขียนแนวกระตุ้นจิตใจ หรือกลุ่มคนช่างฝัน ที่ฝันถึงความสุขที่ตนควร ขวนขวาย ไขว่คว้า พยายามให้ได้รับมันมา แทนที่เรียนรู้เพื่อละวางตัวตนลง กลับกลายเป็น เสพสิ่งที่เพิ่มตัวตน เพิ่มอัตตาตัวเอง มันเป็นการสร้างตัวตนใหม่ มาครอบทับตัวตนเดิมซ้อนไปอีก..จนสุดท้าย ก็เต็มไปด้วยอัตตาหลายชั้นโดยไม่รู้ตัว คนเหล่านี้ยากที่จะพบความสุขสงบที่แท้จริงได้
สุดท้ายนี้ อยากจะบอกว่า หากเพื่อนๆได้อ่านบทความใดก็ตาม ขอให้พิจารณา ว่า บทความนั้น เพิ่มอัตตาให้ หรือ ลดอัตตาลง..แต่มันก็ไม่ผิดนะ ที่จะเพิ่มอัตตา เพราะงานเขียนหลายอย่างในเชิงธุรกิจ การลงทุน การตลาดทั้งหลาย มันก็มักจะเพิ่มอัตตาให้ทั้งนั้น แต่แค่ให้รู้ทัน สติที่รู้ทันอัตตาที่เพิ่มขึ้น มันจะทำหน้าที่กลั่นกรอง ตัดทอนอัตตาที่เพิ่มเข้ามาเอง
จำไว้เสมอว่า ความสุขสงบทางจิต
"มันต้องลดอัตตา..ไม่ใช่เพิ่ม.."
ใครต้องการอ่านความรู้เรื่องขันธ์5
ศึกษาต่อได้ ที่ลิงค์ด้านล่างนี้นะ
(เนื้อหายาวพอสมควร แม้เขาจะบอกว่า เข้าใจง่าย แต่อ่านแล้วก็มีบางมุมเข้าใจยากอยู่ ) เหมาะสำหรับคนที่ชอบอ่านนะ ใครไม่ชอบอ่าน ข้ามเลยจ้า ไปหาคลิปวิดีโออื่นๆฟังดีกว่า..ในyoutube มีผู้รู้อธิบายเรื่องขันธ์เยอะมาก
ฉบับการ์ตูน ขันธ์๕ (แบบเข้าใจง่ายและละเอียด) | วิถีธรรมะ DhammaWay
📱ช่องทางติดต่อ..แนะนำ,ติชม,พูดคุย..😀
มาเป็นเพื่อนกันที่..Line Open Chat
"จิตสอนธรรม" 👇 คลิกลิงค์ด้านล่างนี้เลยจ้า

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา