Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Storyteller
•
ติดตาม
28 มิ.ย. 2020 เวลา 11:27 • ประวัติศาสตร์
“การต่อต้านญี่ปุ่นของไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2” Ep.2 ขบวนการใต้ดินและไทยผู้(ไม่)แพ้สงคราม
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่างก็เกิดขบวนการใต้ดินที่เคลื่อนไหวอยู่ในหลายๆประเทศ
ขบวนการเหล่านี้เคลื่อนไหวอยู่ภายใต้จมูกของศัตรู
ขบวนการเหล่านี้ถือเป็นหน่วยจารกรรมข้อมูลที่สำคัญของแต่ละฝ่าย
และขบวนการบางขบวนการสามารถพลิกจากประเทศที่แพ้สงคราม ให้กลับมาเป็นประเทศที่ชนะสงครามได้เลยทีเดียว...
ทุกท่านครับ นี่คือเรื่องราวภาคต่อของเรื่องราว การต่อต้านญี่ปุ่นของไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2...
เรื่องราวการประสานงานรวมตัวขบวนการใต้ดินที่ชื่อว่า เสรีไทย...
เรื่องราวการจารกรรมข้อมูลจากกองทัพญี่ปุ่น...
เรื่องราวการล้มรัฐบาลจอมพล ป.
เรื่องราวการตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ของไทย...
เรื่องราวแผนการวัน D-day ทางฝั่งแปซิฟิกของฝ่ายสัมพันธมิตร...
เรื่องราวการพยายามแบ่งประเทศไทยของมหาอำนาจ...
เรื่องราวการใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการทูตของไทยในการหลุดพ้นจากมหาอำนาจเหล่านั้น...
และนี่ คือเรื่องราว Ep.2 ขบวนการใต้ดินและไทยผู้ (ไม่) แพ้สงคราม
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
จากตอนที่แล้วที่ขบวนการทั้ง 3 สาย ต่างปฏิบัติการเพื่อจุดหมายเดียวกัน คือ การต่อต้านญี่ปุ่นและให้การประกาศสงครามของไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ
ขบวนการทั้ง 3 สาย ซึ่งได้แก่ ขบวนการที่อยู่ในไทย ขบวนการไทยอิสระสายอเมริกา และขบวนการไทยอิสระสายอังกฤษนั้น...
ในที่สุดพวกเขาก็มารวมตัวกันภายใต้ชื่อ “ขบวนการเสรีไทย”
เมื่อรวมตัวกันแล้ว ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้มีการติดต่อกับลอร์ดหลุย เมาท์แบทเทน ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลอร์ดหลุยได้บอกว่า “ต่อจากนี้ไปขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นทั้งภายในและภายนอกประเทศไทยต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน และผมจะให้มิสเตอร์ปรีดีเป็นผู้นำขบวนการนี้ พร้อมใช้โค้ดเนมของตัวเองว่า ‘รู๊ธ’
และงานสำคัญงานแรกของขบวนการเสรีไทย คือ การล้มรัฐบาลจอมพล ป. นั่นเองครับ...
ภาพจาก Marie Claire (ลอร์ดหลุย เมาท์แบทเทน)
จริงๆแล้วรัฐบาลจอมพล ป. นั้น โดนดิสเครดิตไปเยอะพอสมควรแล้วครับ จากนโยบายต่างๆในการเข้าร่วมกับญี่ปุ่น
แต่นโยบายที่ทำให้ตัวของจอมพล ป. และรัฐบาลถึงกับล้ม คือ การย้ายเมืองหลวงใหม่ครับ...
จอมพลป. คิดจะสร้างเมืองหลวงขึ้นมาใหม่ เพื่อต้องการที่จะต่อต้านญี่ปุ่นโดยเฉพาะ! เพราะตัวของจอมพลป.คิดต่อต้านญี่ปุ่นแต่แรกอยู่แล้ว ที่เข้าร่วมกับญี่ปุ่นในตอนแรก เพราะมันจำเป็นเท่านั้น! ซึ่งจอมพลป.ได้บอกไว้แบบนั้นครับ
แต่ด้านขบวนการเสรีไทยต่างบอกว่าเป็นเพียงแค่ข้ออ้าง โดยจอมพลป.ตอนแรกมีใจเอียงไปทางญี่ปุ่นจริงๆ แต่พอญี่ปุ่นเริ่มแย่ ก็ทำเป็นจะต่อต้านญี่ปุ่นเพื่อให้ตัวเองรอดเท่านั้น!
ต่างฝ่ายก็ต่างความคิดนะครับ ซึ่งผมก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าแท้จริงแล้วจอมพลป.คิดอะไรกันแน่
จอมพลป. ได้มีการเสนอเมืองหลวงที่จะสร้างขึ้นหลายเมืองด้วยกัน ซึ่งตัวเลือกแรกคือ สระบุรีและอยุธยา แต่ก็มาคิดทีหลังว่า ทั้งสองที่ไม่ปลอดภัย เพราะใกล้กับกองทัพญี่ปุ่นเกินไป จึงเปลี่ยนที่ใหม่ที่ดีกว่านี้และไกลจากกองทัพญี่ปุ่น
แล้วหวยก็ไปลงที่จังหวัดเพชรบูรณ์...
โดยจอมพลป. บอกว่าเพชรบูรณ์นี่แหละอย่างเหมาะ! ยุทธศาสตร์ดีสุดๆ มีทั้งภูเขาล้อมรอบ อีกอย่างมีทางเชื่อมไปตีญี่ปุ่นที่พม่าอีกด้วย
และแล้วจอมพลป.ก็ได้สั่งให้เริ่มสร้างเมืองหลวงใหม่อย่างเพชรบูรณ์ให้เหมือนกับกรุงเทพทุกอย่างทันที...
การสร้างเมืองหลวงที่เป็นฐานทัพต่อต้านญี่ปุ่นของจอมพลป.นั้น แทนที่จะเป็นผลดีกับตัวเอง แต่กลับเป็นผลร้ายที่ทำให้จอมพลป.ตกจากเก้าอี้นายกเลยล่ะครับ!
เนื่องจากการสร้างเมืองหลวงใหม่ไม่ใช่เรื่องที่จะเสกให้เกิดขึ้นมาง่ายๆ ต้องมีการเกณฑ์แรงงานคน และทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อมาสร้างเพชรบูรณ์ อีกทั้งคนก็ไม่ค่อยอยากย้ายไปอยู่เพราะมีแต่ป่ากับภูเขา ที่วันดีคืนดีก็เกิดไข้ป่าระบาดอีก! สุดท้ายการสร้างเพชรบูรณ์ให้เป้นเมืองหลวงก็ล้มเหลว พร้อมเสียงบไปบานเบอะอย่างเปล่าประโยชน์
และจากความล้มเหลวในการสร้างเมืองหลวงใหม่นี่แหละครับ ทำให้เครดิตของจอมพลป.หายไปจนหมดเกลี้ยง ถึงกับต้องลาออกจากการเป็นนายก อีกทั้งโดนถอดตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกด้วย
คราวนี้แหละครับทำให้ขบวนการเสรีไทยได้เข้ามามีบทบาทแทรกแซงในคณะรัฐบาล โดยมีการตั้งให้ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ร่วมมือกับญี่ปุ่นเพียงหน้าฉาก
แต่หลังฉากนั้น ได้มีการตั้งรัฐบาลเงาขึ้นมาโดยมีทวี บุญเกตุ เป็นผู้มีอำนาจสั่งการแทนนายกเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น
แต่ก็ยังมีเบื้องหลังของเบื้องหลังอีกที คือมีรู๊ธ หรือปรีดีเป็นผู้สั่งการรัฐบาลทั้งหมดอีกขั้นหนึ่ง!
เรียกได้ว่า มืออีกข้างของไทยจับมือกับญี่ปุ่นอยู่ แต่มืออีกข้างดันถือมีดไว้ข้างหลังพร้อมที่จะจ้วงแทงอยู่ตลอดเวลา...
ภาพจาก Thaipost (การตั้งเสาหลักเมืองของเมืองหลวงใหม่อย่างเพชรบูรณ์)
หลังจากมีอำนาจสูงสุดแล้วนั้น ปรีดีก็ได้ส่งผู้แทนไปติดต่อทั้งฝ่ายเมริกาและอังกฤษหลายรอบมากๆเลยล่ะครับ ซึ่งแต่ละรอบก็เสี่ยงอันตราย สูญเสียบุคคลไปค่อนข้างเยอะเช่นกัน แต่ก็สามารถพัฒนาความเชื่อใจของฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีต่อไทยให้มากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะอเมริกาที่เชื่อใจขบวนการเสรีไทยสุดๆ มีการส่งผู้แทนอย่าง ดิ๊ก กรีน และจอห์น เวสเตอร์เข้าไปพบปรีดีในไทยโดยเฉพาะเลยล่ะครับ
และทั้งสองฝ่ายก็มีการตกลงกัน โดยอเมริกาได้มีการส่งอาวุธพร้อมฝึกทหารของเสรีไทยให้และจะรับรองว่าการประกาศสงครามของไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นเป็นโมฆะเมื่อสงครามจบลงแล้ว
ส่วนฝ่ายเสรีไทยก็ช่วยอเมริกาในการล้วงข้อมูลของฝ่ายญี่ปุ่น มีการส่งแผนที่ที่ตั้งของฐานทัพญี่ปุ่นในไทย พร้อมส่งคนจากเสรีไทยไปเป็นพลชี้เป้าให้เครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดในไทย
อีกทั้งฝ่ายเสรีไทยก็มีการสร้างสนามบินลับกว่า 14 แห่งเพื่อรองรับเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตร
เรียกได้ว่า ขบวนการเสรีไทยนั้นได้ใจฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะอเมริกาไปพอสมควรเลยล่ะครับ...
1
และแล้วเหตุการณ์ก็เริ่มถึงจุดไคลแม็กซ์ เมื่อโซเวียตได้บดขยี้เบอร์ลินจนราบคาบ ทำให้เยอรมนีประกาศยอมแพ้ในวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1945
ฝ่ายอักษะในตอนนี้จึงเหลือเพียงแค่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่ไม่ยอมแพ้ และยังดิ้นรนสู้ต่อไป
ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงมีแผนในการยกพลขึ้นบกที่ญี่ปุ่นเหมือนกับการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีซึ่งเรียกว่า วัน D-day นั่นเอง...
ภาพจาก ThoughtCo (โซเวียตพิชิตกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี)
วัน D-day ของญี่ปุ่น จะเป็นการยกพลขึ้นบกครั้งใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตร ในชายฝั่งที่ญี่ปุ่นได้ครอบครองทั้งหมด...
โดยทางอเมริกามีการตกลงกับขบวนการเสรีไทยครับว่า เมื่อแผนการวัน D-day ของญี่ปุ่นเกิดขึ้น ให้ขบวนการเสรีไทยได้ทำการเปิดตัวและลุกฮือขึ้นรบกับญี่ปุ่นในไทย
ทางขบวนการเสรีไทยก็มีการเตรียมตัววางแผนกันอย่างจริงจังสุดๆเลยล่ะครับ เพื่อแสดงให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเห็นว่าไทยมีใจจะต่อต้านญี่ปุ่นจริงๆ อีกอย่างคือต้องการแสดงผลงานให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเห็น เพื่อที่เมื่อสงครามจบ ไทยจะได้ไม่โดนหนักที่ไปเข้ากับญี่ปุ่นในตอนแรก
โดยแผนการวัน D-day นั้น อเมริกาได้บอกว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน และอเมริกาเสนอแผนแก่เสรีไทยว่า “ในวัน D-day อเมริกาจะส่งเรือรบที่ประกอบด้วย เรือลาดตระเวน เรือประจัญบานและเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าสู่อ่าวไทย และทำการยกพลขึ้นบกในไทยที่ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรี”
แน่นอนครับว่า การเตรียมการที่ใหญ่ขนาดนี้ของฝ่ายสัมพันธมิตรกับเสรีไทยก็ไม่สามารถปิดฝ่ายญี่ปุ่นได้ทั้งหมด โดยญี่ปุ่นนั้นโกรธไทยมาก หาว่าไทยไร้เกียรติและชอบแทงข้างหลัง...
จนในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1945 สถานการณ์ก็เริ่มตึงมากยิ่งขึ้น! ทั้งญี่ปุ่นและเสรีไทยต่างพากันสร้างแนวป้องกันและป้อม พร้อมกับมีข่าวลือแพร่ในหมู่ประชาชนว่าไทยกำลังจะรบกับญี่ปุ่น!
แต่ทว่าทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่อโซเวียตส่งกองทัพแดงบุกเข้าแมนจูเรียและเกาหลี พร้อมกับจะยกพลขึ้นบกที่ฮอกไกโด...
ทางด้านอเมริกาจึงจำเป็นที่จะต้องจบสงครามกับญี่ปุ่นโดยเร็วที่สุด ก่อนที่โซเวียตจะเข้าไปมีอิทธิพลในญี่ปุ่น ซึ่งจะเลื่อนแผนการวัน D-day เข้ามาก็เสียเวลาและไม่พร้อม อเมริกาจึงตัดสินใจใช้ระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิซะเลย เพื่อบีบให้ญี่ปุ่นรีบๆยอมแพ้ซะ!
แล้วก็ได้ผลครับเมื่อญี่ปุ่นโดนนู๊กถล่ม ก็ประกาศยอมแพ้ทันทีในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1945 ก่อนที่โซเวียตจะยกพลขึ้นบก
ทำให้แผนการวัน D-day ทางฝั่งแปซิฟิกไม่ได้เกิดขึ้นจริง (ว่ากันว่าถ้าเกิดขึ้นจริงคงจะเป็นการยกพลขึ้นบกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยิ่งกว่านอร์มังดีเลยล่ะครับ)
และเมื่อแผนวัน D-day ไม่เกิดขึ้น ขบวนการเสรีไทยก็ไม่ได้แสดงผลงานอันยิ่งใหญ่ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เห็น
ดังนั้น เมื่อสงครามจบ ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรก็เสียงแตกและทะเลาะกันครับว่า...
“ตกลงแล้ว ไทยเป็นฝ่ายอักษะหรือฝ่ายสัมพันธมิตรกันแน่?”
ภาพจาก ICRC (เมืองฮิโรชิมาหลังจากโดนระเบิดปรมาณู)
หากแผนการวัน D-day ทางฝั่งแปซิฟิกเกิดขึ้นจริง และเสรีไทยได้ลุกขึ้นต่อต้านและรบกับญี่ปุ่นอย่างเต็มรูปแบบ คงทำให้ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับไทยอย่างไม่ยากเย็นอะไร
แต่ทว่า เมื่อแผนการนี้ไม่ได้เกิดขึ้น ประเทศสัมพันธมิตรโดยเฉพาะจีนและอังกฤษต่างก็ต้องการให้ลงโทษไทยเหมือนกับประเทศฝ่ายอักษะ
โดยอังกฤษได้เสนอให้ไทยต้องลดบทบาทและกลายเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งอังกฤษจะเข้าไปดูแลจัดการปลดอาวุธในไทย และถึงแม้จะมีขบวนการเสรีไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่นจริง แต่สิ่งที่ไทยร่วมมือกับญี่ปุ่นในตอนแรก ก็สร้างความเสียหายกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างมากเช่นกัน!
แล้วจีนก็กระโดดเข้ามาร่วมด้วยพร้อมบอกอังกฤษว่า “ไม่ได้! จีนต้องมีส่วนร่วมในไทยด้วย เพราะไทยก็สร้างความเสียหายให้จีนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเรามาแบ่งประเทศไทยเป็นสองส่วนกันเถอะ โดยใช้เส้นขนานที่ 16 เหนือเส้นจีนจะเข้ามารับผิดชอบ ส่วนใต้เส้นอังกฤษจัดการไป”
2
แต่อเมริกาก็เข้ามาสกัดขาจีนซะก่อน เพราะไม่มีเหตุผลที่จะต้องแบ่งไทยเป็นสองสวน อีกทั้งจีนก็ไม่ได้มีสิทธิ์หรืออิทธิพลขนาดนั้น
2
แผนการแบ่งไทยจึงไม่เกิดขึ้น ทำให้มีเพียงอังกฤษกับอเมริกาที่ได้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทย...
ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ ทำให้คนจีนในไทยไม่พอใจครับ ทำการก่อจราจลขึ้น เนื่องจากหวังที่จะให้จีนเข้ามามีอิทธิพลในไทย (ในสมัยจอมพลป. มีนโยบายการต่อต้านคนจีนอยู่พอสมควรครับ ทำให้คนจีนในไทยไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้เท่าที่ควร)
คนจีนในไทยต่างประดับธงจีนหน้าบ้าน แต่ไม่มีธงไทยร่วมอยู่ด้วย ทำให้คนไทยก็ไม่พอใจเช่นกัน จึงมีการตีกันระหว่างคนจีนกับคนไทยเกิดขึ้น! รัฐบาลต้องเข้ามาจัดการและผลักดันนโยบายที่ให้สิทธิคนจีนในไทยมากขึ้น ความวุ่นวายจึงสงบลง...
หลังจากนั้น ปรีดีและม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้มีการส่งทูตไปเจรจากับอเมริกาและอังกฤษอยู่หลายครั้งเลยล่ะครับ ที่จะไม่ให้ไทยต้องตกอยู่ในสถานะผู้แพ้สงคราม
จนในที่สุดก็ตกลงกับอเมริกาได้ครับ โดยทางอเมริกาจะถือว่าไทยนั้นอยู่ฝ่ายอักษะ แต่ว่าไม่อยู่ในสถานะของผู้แพ้สงคราม! คือ ไม่โดนลงโทษหนักเท่าประเทศฝ่ายอักษะอื่นๆ
แต่ทางอังกฤษนั้นก็ยังไม่ยอมจบ โดยอังกฤษบอกว่า “จะยอมรับว่าไทยไม่แพ้สงครามก็ได้ แต่ไทยต้องส่งข้าว 1,500,000 ตันให้กับอังกฤษแบบฟรีๆ (ซึ่งมูลค่าในขณะนั้น คือ 700 ล้านบาท) และไทยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับเชลยสัมพันธมิตร และความเสียหายที่ก่อไว้กับอังกฤษทั้งหมด!”
ไทยจึงยินยอมตามข้อตกลงอย่างช่วยไม่ได้ครับ...
สรุปแล้ว ไทยต้องรับภาระส่งข้าวให้ UN จำนวน 24,000 ตัน และส่งข้าวให้อังกฤษ 1,500,000 ตัน พร้อมกับจ่ายค่ารับรองของทหารฝ่ายสัมพันธมิตรที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทยวันละ 1,000,000 บาท ตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ.1945 - เดือนตุลาคม ค.ศ.1946
1
ทั้งหมดทั้งมวลนี้แลกกับการที่ไทยไม่ต้องตกอยู่ในสถานะผู้แพ้สงคราม และไม่เสียอธิปไตยให้กับประเทศสัมพันธมิตรเหมือนกับประเทศฝ่ายอักษะอื่นๆ...
ภาพจาก Line today (การสวนสนามของทหารเสรีไทย)
ต้องยอมรับครับว่า จากวีรกรรมของขบวนการเสรีไทยและการทูตของไทยที่ลู่ไปตามสายลม ทำให้ไทยรอดจากการเป็นผู้แพ้สงครามมาได้...
ซึ่งหากเหตุการณ์เปลี่ยนไปอีกรูปแบบ ไทยคงไม่พ้นจากการต้องเสียอธิปไตยให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร...
หากเป็นแบบนั้นประวัติศาสตร์ก็อาจเปลี่ยนไปอีกหน้านึงเลยก็ได้...
1
และนี่ คือเรื่องราว “การต่อต้านญี่ปุ่นของไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2” Ep.2 ขบวนการใต้ดินและไทยผู้(ไม่)แพ้สงคราม
ภาพจาก Manager online
อ้างอิง
แสงประทีป. ขบวนการเสรีไทย. กรุงเทพฯ : บันดาสาร์น, 2516.
สุพจน์ ด่านตระกูล. ชีวิตและงานของปรีดี พนมยงค์. พระนคร : ประจักษ์การพิมพ์, 2514.
อัญชลี สุขดี. ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นของไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2484-2488). วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2525.
F.C Jones. Japan’s New Order in East Asia. London : Oxford University Press, 1945.
Willson A., David. The United States and the Future of Thailand. Pareger Published, New York, 1970.
44 บันทึก
125
11
34
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
South East Asia Story
ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นของไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2
44
125
11
34
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย