3 ก.ค. 2020 เวลา 05:38 • หุ้น & เศรษฐกิจ
EP.088 - จัดพอร์ตหุ้นอย่างไร
จากตอนที่ผ่านๆมา ผมได้เล่าถึงวิธีการประเมินคุณภาพของหุ้นที่เราจะลงทุน รวมไปถึงการทำ Valuation ว่าเราจะลงทุนที่ราคาเท่าไหร่
ในตอนนี้ ผมจะมาเล่าถึงวิธีการจัด Portfolio ว่า ผมมีวิธีการจัดพอร์ตอย่างไร
วิธีการจัดพอร์ตแบบนี้ เป็นเพียงแนวทางนึงของการจัดพอร์ตลงทุนเท่านั้นนะครับ ซึ่งในส่วนตัวของผมเอง ผมใช้วิธีการนี้ในการจัดพอร์ตลงทุนหุ้นอเมริกาครับ
ตอนที่ผมลงทุนหุ้นไทย ผมก็ใช้วิธีการจัดพอร์ตหุ้นแบบปกติ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ผมจะถือหุ้นอยู่ประมาณ 3-5 ตัว มีบางครั้งที่ผมถือหุ้นแบบตีแตกโดยการถือตัวเดียวเลยในกรณีที่ผมมั่นใจมาก หรือถือหุ้นตัวเดียวมากกว่า 50% ของพอร์ตเพราะหุ้นที่ลงทุนมีราคาถูกและมีความเสี่ยงต่ำ
แต่พอผมย้ายไปลงทุนในอเมริกา การจัดพอร์ตแบบนี้มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก เนื่องจากหุ้นที่ผมลงทุนส่วนใหญ่ มักจะมีราคาที่แพง ยังไม่มีกำไรเลย เพราะฉะนั้น การถือหุ้นตัวเดียวในพอร์ต หรือถือมากกว่า 50% ของพอร์ต ถ้าหากมีการผิดพลาด อาจจะส่งผลกระทบต่อพอร์ตรวมเป็นอย่างมาก
ฉะนั้น ผมเองต้องมานั่งคิดใหม่ว่า ผมควรจะจัดพอร์ตอย่างไรดี
อย่างที่เคยเล่ามาแล้ว ผมเริ่มลงทุนในอเมริกามาตั้งแต่ปลายปี 2017 ตอนนั้น ผมก็เน้นลงทุนในหุ้นใหญ่ กลุ่ม FAAANMG ก่อน เพราะหุ้นมีความแข็งเเกร่ง มีกำไรในมั่นคง โอกาสเสียหายน้อย ในระหว่างนั้น ผมก็พยายามนั่งคิดว่า ถ้าผมจะลงทุนในหุ้น Mid/Small Cap ผมจะทำอย่างไรดีในเรื่องของการจัดพอร์ต
จนกระทั่งผมได้เรียนวิชา Venture Capital อาจารย์ได้สอนแนวคิดในเรื่องของการ Valuation แบบ VC Method ทำให้ในที่สุดผมก็ปิ๊งไอเดียในที่สุดว่า ผมจะทำอย่างไรดี
1
ก่อนจะไปถึงการจัดพอร์ต ผมของเล่าวิธีการที่เรียกว่า VC Method ก่อนครับ
VC Method คือการทำ Valuation ของ VC เวลาจะลงทุนใน Startup โดย Startup ที่จะลงทุนในช่วงนั้น มักจะไม่มีกำไร ไม่มีกระเเสเงินสด และบางครั้งยังไม่มีรายได้อีกด้วย ทำให้ไม่สามารถใช้ P/E DCF หรือ P/S ในการ Valuation ได้ จึงได้พัฒนาหลักการใช้ VC Method ขึ้นมาใช้ในการประเมิน
จากสถิติที่ผ่านมา โดยปกติแล้ว จะมี Startup แค่ประมาณ 10% เท่านั้นที่สามารถที่จะดำเนินกิจการจนถูกขายให้กับบริษัทใหญ่ หรือ เข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ได้ และ ทำให้ VC Fund สามารถได้เงินกลับคืนมาได้ นั่นแปลว่า ถ้าหากเราลงทุน Startup ไปจำนวน 10 บริษัท จะมีแค่ 1 บริษัทเท่านั้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ และ 1 บริษัทนี้แหละ ที่จะสร้างผลตอบแทนทั้งหมดให้กับ Portfolio ของ VC Fund แทน Startup อีก 9 ตัวที่ล้มลงไป
1
Model ในการคิด VC Method จะเป็นแบบนี้ครับ
1. VC Fund มีอายุ 7 ปี
2. ผลตอบแทนให้นักลงทุนคิดเป็น ROI 30%(ผลตอบเเทนทบต้นของนักลงทุนอยู่ที่ 30%ต่อปี)
3. มีเงินแค่ 10% ของที่ลงทุนไปที่จะสร้างผมตอบแทนทั้งหมดให้กับกองทุน (ลงทุน 10 ตัว ได้เงินกลับมาแค่ 1 ตัว แต่สร้างผลตอบแทนทั้งหมดให้กองทุน)
ถ้าหากนักลงทุนลงเงินไป 100 บาท และได้ผลตอบแทนปีละ 30% เมื่อครบ 7 ปี จะได้เงินกลับมาเท่ากับ 627 บาท
ฉะนั้น เงินลงทุนที่กองทุนจะนำไปลง 10 บาท (10% ของ Port ทั้งหมด) จะต้องกลายเป็นเงินมูลค่าประมาณ 627 บาทภายในเวลา 7 ปี
2
แสดงว่า เงิน 10 บาทที่เราลงทุนไป จะต้องได้ผลตอบแทนประมาณ 62.7 เท่าภายใน 7 ปี (คิดเป็น ROI ประมาณ 80% ต่อปี)
ซึ่ง VC ก็จะใช้ Mindset แบบนี้ว่า ทุกการลงทุนของเค้า จะต้องมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนประมาณ 60 เท่า เพราะถ้าหาก 10% ของเงินลงทุนที่เค้าลงทุนไปทำได้ตามที่เค้าคาด ผลตอบแทนของ VC Fund ก็จะเป็นไปตามเป้าหมายนั่นเอง
หลังจากที่ผมได้เรียนรู้และเข้าใจถึงหลักการลงทุนของ VC และการใช้ VC Method แล้ว ผมก็กลับมาลองนั่งคิดดูว่า หลักการนี้ มันเหมาะกับการลงทุนในพอร์ตที่มีความเสี่ยงสูงนี่นา ซึ่งเอาจริงๆแล้ว มันก็ตอบโจทย์กับพอร์ตหุ้น Mid/Small Cap ที่ผมต้องการจะลงทุนในหุ้นอเมริกาพอดี
นั่นทำให้ผมพบหนทางในการจัดพอร์ตของผมแล้ว ว่าถ้าหากจะลงทุนในพอร์ตที่มีความเสี่ยงสูง เราจะทำอย่างไร
หลักการคิดของผมเป็นแบบนี้ครับ
1. เนื่องจากว่า VC Fund จะลงทุนใน Startup โอกาสที่จะล้มหรือไปต่อไม่ได้มีสูง แต่หุ้นที่ผมจะลงทุนในตลาดหุ้นมักจะผ่าน Stage นั้นมาแล้ว และน่าจะมีความมั่นคงระดับนึง ไม่ได้ล้มหายตายจากไปแบบ Startup เพราะฉะนั้น จำนวนเงินลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนได้จะมากกว่า 10% อาจจะมากถึง 50% ของเงินลงทุนทั้งหมด เมื่อจำนวนเงินต้นที่สร้างผลตอบแทนมีมาก ผลตอบเเทนของหุ้นแต่ละตัวที่เราต้องการก็ลดลงมาอยู่แค่ 10 เท่าก็ได้
2. VC Fund ลงทุนกระจายมาก เพราะเค้าต้องกระจายความเสี่ยงให้เยอะ อาจจะแบ่งเงินลงไปได้ถึง 15-20 ตัว แต่ในพอร์ตหุ้น ความเสี่ยงจะน้อยกว่า เพราะเป็นคนละ Stage กันแล้ว ฉะนั้น เราไม่ต้องกระจายขนาดนั้นก็ได้ แบ่งไป 5-7 ตัวก็พอ กำลังดี
ผมประมาณการไว้แบบนี้ครับว่า ถ้าหากผมแบ่งเงินลงทุนหุ้นไป 5 ตัว ตัวละ 20 บาท
ใน 5 ตัวนี้ จะมีแค่ 2 ตัวที่ทำผลตอบแทนได้ตามที่ผมคิด = โตเป็น 10 เท่าภายใน 7 ปี
อีก 2 ตัวทำผลตอบแทนได้งั้นๆ คือ พอดีๆ ไม่ได้เยอะตามที่คิด = โตเป็น 2 เท่าภายใน 7 ปี
ส่วนตัวสุดท้าย เท่าตัว คือ ไม่ได้กำไรอะไรเลย = เท่าทุน
1
ถ้าคิดด้วย Model แบบนี้ แสดงว่า เงินลงทุน 100 บาทของผม ภายใน 7 ปี จะกลายเป็นเงินเท่ากับ (2x20x10)+(2x20x2)+(1x20) = 500 บาท หรือคิดเป็นพอร์ตโต 5 เท่าภายในเวลา 7 ปี หรือคิดเป็น ROI ประมาณ 26% ต่อปีนั่นเอง
เพราะฉะนั้นแล้ว วิธีการที่ผมใช้เลยเป็นดังนี้ครับ
1. แบ่งพอร์ตลงทุนลงทุนในหุ้นประมาณ 5-7 ตัว เพื่อที่จะกระจายความเสี่ยง แต่ก็ไม่ได้กระจายมากเกินไป
2. หุ้นแต่ละตัวที่ผมจะลงทุน ผมจะเลือกเฉพาะตัวที่มี 10X Potentail หรือมีโอกาสที่จะเติบโตเป็น 10 เท่าได้ภายใน 7 ปี
แน่นอนว่า ระหว่างทางเราอาจจะมีซื้อขายหุ้นเปลี่ยนตัวได้บ้างเป็นธรรมดา แต่ว่าหุ้นที่เราจะเอามาเข้าพอร์ต ก็ควรจะเป็นไปตามนี้ เพื่อที่จะได้ผลตอบแทนตามที่เราคาดหวัง
ข้อดีของการลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกาก็คือ ตลาดมีหุ้นคุณภาพดีจำนวนมาก ทำให้เราสามารถหาหุ้น 10X ได้เป็นจำนวนมาก ถ้าใครไม่เชื่อลองไปดูราคาหุ้นย้อนหลังดูครับ มีหุ้นจำนวนเยอะมากๆที่ราคาโตกว่า 10 เท่าตัวภายใน 5-7 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การที่เราจะเข้าใจหุ้นตัวนั้นได้จริงๆว่า จะสามารถเติบโตได้เป็น 10X เราจะต้องเข้าใจอุตสาหกรรมและกิจการนั้นๆอย่างถ่องแท้ เพราะฉะนั้น ผมไม่เเนะนำวิธีการนี้ให้กับคนที่ไม่พร้อมที่จะทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อศึกษากิจการอย่างจริงๆจังๆครับ
แนวทางการจัดพอร์ตแบบนี้ สรุปคือ ผมประยุกต์เอาแนวทางของ VC มาใช้ในการจัดพอร์ตหุ้นครับ อาจจะไม่ตรงตามตำราหรือหนังสือสอนการลงทุนหุ้นส่วนใหญ่ทั่วไป หรือ กูรูหุ้นทั้งหลายเคยเล่าให้เพื่อนๆฟัง
ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่า วิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกต้อง เพราะผมเองก็เพิ่งเริ่มใช้วิธีนี้เมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมานี่เอง เรื่องนี้คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการพิสูจน์ รวมถึงการเลือกหุ้น 10X จะเป็นตัวแปรที่สำคัญมากว่า เราจะสามารถหาหุ้นแบบนี้ได้ไหม
อย่างไรก็ตาม ผ่านมาแล้วครึ่งปี จากการที่ผมลงทุนในหุ้น ไป 7 ตัว ผลตอบแทนของหุ้นทั้ง 7 ตัวเป็นดังนี้ครับ
1 ตัว บวก 200% หรือกลายเป็นหุ้น 3X
2 ตัว บวก 100% หรือกลายเป็นหุ้น 2X
1 ตัว บวก 50%
1 ตัว บวก 35%
2 ตัว บวก 15%
ถ้าตามโมเดลที่เราคิดเอาไว้ ก็ถือว่าเป็น Traction ที่ดีที่จะพิสูจน์ว่า เเนวทางนี้มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาวได้บ้างละครับ
ติดตามอ่านบทความตอนเก่าๆได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา