22 ก.ค. 2020 เวลา 12:44 • การศึกษา
หลายท่านอาจจะเคยได้ยินคำว่า "ผู้จัดการมรดก" แต่ท่านรู้จักคำนี้จริงๆมั้ยครับ...
รูปภาพจาก pixabay.com
คนเราเมื่อใช้ชีวิตไปจนถึงเวลาหนึ่ง คนรอบๆตัวของเราก็จะต้อง
มีการจากลากันเป็นธรรมดา แต่จะ "จากลา" กันแบบไหนเท่านั้นเอง
เมื่อพูดถึงการ จากลา ในแง่ของที่มีบุคคลใดเสียชีวิตลง
ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามทุกคนล้วนแต่หนีความตายไม่พ้น
ซึ่งบุคคลนั้นอาจเป็นคนที่เรารู้จัก
ซึ่งเรื่องนี้หากจะให้เห็นภาพ คือ คนใกล้ๆตัว ของพวกเรานี่แหละครับ
เพราะทุกครอบครัวเมื่อถึงเวลาอาจจะต้องมีใครซักคนที่ได้ "เสียชีวิตลง"...
ไม่ว่าจะเป็นเป็นปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ พี่น้อง หรือแม้แต่คู่สมรสของเรา หรือ
คนที่เรารู้จัก
ไม่ว่าจะเป็นด้วยโรคชรา โรคภัยไข้เจ็บ หรือไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม
รูปภาพจาก pixabay.com
เนื้อหาขอเรามันเริ่มกันที่จุดนี้ล่ะครับ...
ในโพสต์นี้เราจะมาพูดกันให้เห็นภาพกันครับว่า "ผู้จัดการมรดก" จะเกี่ยวข้อง
กับตัวเราอย่างไรบ้าง
เมื่อมีใครซักคนที่เสียชีวิต บุคคลที่ตายไปนั้น ส่วนใหญ่แทบทุกคนก็มักจะมี
ทรัพย์สมบัติ ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง บ้าน ที่ดิน หุ้น หรือแม้กระทั่งปืน(ถ้ามี)
ล้วนแต่เป็นทรัพย์สินของผู้ตาย(เจ้ามรดก)
ซึ่งตามหลักกฎหมายกำหนดไว้ว่า
บรรดาทรัพย์สินของเจ้ามรดกนั้นตกทอดแก่ "ทายาท"
("ทายาท" ตามกฎหมายมีทั้ง "ทายาทโดยพินัยกรรม" และ "ทายาทโดยธรรม"
หากเจ้ามรดกมีการทำ "พินัยกรรม" ไว้ บรรดาทรัพย์สินต่างๆก็ตกแก่
ผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกตามที่ปรากฎอยู่ในพินัยกรรม (ทายาทโดยพินัยกรรม)
หากเจ้ามรดก "ไม่ได้ทำพินัยกรรมทิ้งเอาไว้" บรรดาทรัพย์สมบัติต่างๆก็ย่อมตก
แก่ "ทายาทโดยธรรม" ซึ่งก็ได้แก่
คู่สมรส(ที่จดทะเบียน) , บุตร หรือบิดามาดารของเจ้ามรดก เป็นต้น
ซึ่งตามหลักกฎหมาย ทรัพย์มรดกก็จะแก่ทายาททันที
แต่ในทางปฎิบัติ เวลาเราจะไป โอนที่ดิน ถอนบัญชีธนาคาร หรือแม้แต่โอนปืน
อันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเอามาเป็นของทายาทนั้น
ก็มักจะได้ยินจากบรรดาเจ้าหน้าที่ทั้งหลายว่า
ให้ไปเอา คำสั่งศาล มาก่อน...
ให้ไป ตั้งผู้จัดการมรดก มาก่อน...
เพื่อนำหลักฐานดังกล่าว มาใช้การประกอบการทำการโอนที่ดิน
หรือปิดบัญชีธนาคาร ฯลฯ เพื่อนำมาอยู่ในชื่อของบรรดาทายาท
นั้นแหละครับ เป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องไปดำเนินการเรื่อง
ตั้งผู้จัดการมรดกกัน
(เหตุผลที่เจ้าหน้าที่ปฎิเสธ ก็มีเหตุผลนะครับไม่ใช่ว่าเป็นการปฎิเสธลอยๆ
เหตุส่วนหนึ่งก็มีส่วนมาจาก เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองต้องไปผัวพันในคดี
หากภายหลังมีการโต้แย้งกันในเรื่องมรดกหรือนิติกรรมต่างๆ ฯลฯ)
คราวนี้เรามาเข้าในเนื้อหา "ผู้จัดการมรดก" กันเลยครับ
ผู้จัดการมรดก คืออะไร มีหน้าที่อะไรบ้าง
เชื่อว่าหลายๆท่านยังเข้าใจคลาดเคลื่อนกันอยู่บ้าง
บางท่านเข้าใจไปถึงขนาดว่าว่าผู้จัดการมรดกนั้นสามารถจะโอนที่ดิน
หรือยกสมบัติให้ตัวเอง หรือให้ใครก็ได้
ซึ่งความจริงนั้นเป็นอย่างไรเรามาดูกันครับ
ผู้จัดการมรดก คือ ?
บุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล เพื่อทำหน้าที่
รวบรวม จัดการทรัพย์สิน และแบ่งปันทรัพย์มรดก ให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก...
ฉะนั้น "ผู้จัดการมรดก" อาจเกิดได้จาก
การที่เจ้ามรดกระบุตั้งเอาไว้ในพินัยกรรม หรือ จากคำสั่งศาล ก็ได้
ผู้จัดการมรดก มีหน้าที่ อะไรบ้าง ?
นอกจากจะมีหน้าที่ รวบรวม จัดการทรัพย์สิน และแบ่งปันทรัพย์มรดก ให้
ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก ตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว
ผู้จัดการมรดกยังมี ขอบเขต-หน้าที่ อาทิเช่น
จัดทำบัญชีทรัพย์มรดก
ทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการ และแบ่งปันมรดกแก่ทายาททั้งหมด
ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จจากกองมรดก เว้นแต่ พินัยกรรม
หรือทายาทจำนวนเสียงข้างมากจะได้กำหนดไว้ (ป.พ.พ. มาตรา 1721)
จะทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้ เว้นแต่
พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้หรือได้รับอนุญาตจากศาล (ป.พ.พ. มาตรา 1722)
ต้องจัดการมรดกด้วยตนเอง เว้นแต่ ... (ป.พ.พ. มาตรา 1723)
เป็นต้น ฯลฯ ตามที่กฎหมายระบุไว้
ซึ่งในทางปฎิบัติจริงๆ ก็ไม่ค่อยจะยุ่งยาก หรือต้องทำหน้าที่ยิบย่อยอะไร
แบบนี้เท่าไรนัก เนื่องจาก
หากผู้จัดการมรดกได้ทำหน้าที่ จัดการรวบรวม และแบ่งปันทรัพย์มรดก
ให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิ์ ได้อย่างถูกต้อง ก็มักจะไม่ค่อยมีปัญหา
และไม่ต้องจุกจิกในเรื่องของรายละเอียดกฎหมาย เพราะทายาททุกคน
ได้รับมรดกอย่างถูกต้องกันหมดแล้วนั้นเอง
หากจะเป็นปัญหากัน ก็มักจะเกิดขึ้นมาจากการที่ผู้จัดการมรดก มักจะไป
โอนเป็นชื่อตัวเอง หรือก็โอนให้แก่บุคคลภายนอก
ไม่ว่าจะเป็นโอนขายหรือให้ หรืออย่างไรก็ตาม
ซึ่งทำให้เกิดกรณีพิพาทขึ้นโรงขึ้นศาลกันอีก
ซึ่งตรงนี้ก็ต้องกลับมาดูในรายละเอียดของกฎหมายกันว่าผู้จัดการมรดก
ทำหน้าที่บกพร่องอย่างไรกันบ้าง ซึ่งในส่วนรายละเอียดลึกๆของกฎหมายพวกนี้
ก็ควรยกให้เป็นหน้าที่ของทนายความกันไปครับเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคดีความ
เพราะทนายจะทราบดีในเรื่องของกฎหมาย
ใครบ้างเป็น "ผู้มีสิทธิ" ยื่นคำร้องต่อศาล ขอตั้งผู้จัดการมรดก ?
ตอบ :
1. ทายาท (ทายาทโดยธรรม หรือโดยพินัยกรรม)
2. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์มรดก เช่น ภริยาที่ไม่จดทะเบียนสมรส เป็นต้น
3. พนักงานอัยการ
คุณสมบัติ ของผู้ที่สามารถเป็นผู้จัดมรดก ?
1. บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปี บริบูรณ์)
2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ
3. ไม่่เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
4. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
*** หมายเหตุ เมื่อคุณสมบัติของผู้จัดการมรดกไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายว่า
จะต้องเป็นทายาท หรือผู้มีส่วนได้เสียด้วย
ฉะนั้น ผู้จัดการมรดก "จะเป็นใครก็ได้" ครับ
ขอเพียงมี คุณสมบัติ ตามที่ระบุไว้ข้างต้น
แต่อย่างไรก็ตามบุคคลที่่จะ ยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก นั้น
ก็จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งก็คือ ทายาท , ผู้มีส่วนได้เสีย
หรือ อัยการ เท่านั้น ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ถึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องฯ
โดยปกติทั่วไปก็มักจะให้ "ทายาท" กันเองนี่แหละครับเป็นผู้จัดการมรดก
เพราะถือว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดกัน ก็น่าจะมีความไว้วางใจได้ในระดับหนึ่ง
รูปภาพจาก pixabay.com
ไปยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ได้ที่ไหน ?
ตอบ : ที่ศาล ณ ภูมิลำเนาของเจ้ามรดก ขณะถึงแก่ความตาย
หรือตอบภาษาง่ายๆ คือ ในเขตศาลที่เจ้ามรดกมีชื่อในทะเบียนบ้าน
เช่น เจ้ามรดก มีทะเบียนบ้านอยู่อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร
ก็ต้องไปยื่นคำร้องต่อ ศาลจังหวัดพิจิตร เป็นต้น
*จริงๆแล้วยังมีประเด็นเรื่อง หากเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาหลายแหล่งจะยื่นที่ไหน.
ก็บอกได้ว่า สามารถยื่นได้ตามภูมิลำเนา
ซึ่งเป็นสถานที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญได้ครับ
เรื่องรายละเอียดพวกนี้ไว้สอบถามทนายดีกว่าครับเพราะต้องมีการพิสูจน์กันอีก
หากเจ้ามรดก ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยล่ะยื่นที่ไหน ?
ตอบ : ให้ยื่นคำร้องต่อศาล ที่ทรัพย์มรดกตั้งอยู่ในเขตศาล
หากจะตั้งผู้จัดการมรดก สามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ?
1. ดำเนินการ ด้วยตนเอง
(สำหรับบุคคลที่พอที่จะทราบรายละเอียดขั้นตอนบ้างพอสมควร)
2. ให้ อัยการ ดำเนินการให้
3. ให้ ทนายความ ดำเนินการให้
รูปภาพจาก pixabay.com
หากเราต้องการที่จะ "ดำเนินการด้วยตนเอง" มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ?
อธิบายคร่าวๆ พอให้เห็นภาพนะครับ
1.รวมรวมเอกสารหลักฐานที่จำเป็น เช่น
บัตรประชาชน + ทะเบียนบ้าน
ของทายาทผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกทุกคน และของผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดก
ใบสูติบัตร
ของทายาทผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกทุกคน และของผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดก
(กรณีเป็นทายาทด้วย)
ใบมรณบัตร
ของเจ้ามรดก และของทายาทผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดก(หากมี)
ใบสำคัญการสมรสระหว่างเจ้ามรดกและภริยา หรือ ใบสำคัญการหย่า(ถ้ามี)
หนังสือให้ความยินยอม
ของทายาทผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกทุกคน
เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินของเจ้ามรดก
เช่น โฉนดที่ดิน สมุดบัญชีคู่ฝาก เล่มทะเบียนรถ เป็นต้น(เท่าที่มี)
ใบเปลี่ยนชื่อนามสกุล (ถ้ามี)
บัญชีเครือญาติที่ถูกต้องตามความเป็นจริง
พินัยกรรม(ถ้ามี)
ฯลฯ
2. ร่างคำร้องฯ และเตรียมเอกสารทางกฎหมายให้ครบถ้วน เช่น
2.1 คำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกฯ
(ตัวอย่างคร่าวๆนะครับ สไตล์การร่างมักจะไม่เหมือนกัน แต่หลักๆที่ต้องมี
ก็จะมีเหมือนกัน)
เช่น
ผู้ร้องมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับผู้ตายอย่างไร
ผู้ตายถึง ตายด้วยสาเหตุอะไร ตายที่ไหน ตายเมื่อไร
ขณะถึงแก่ความตาย ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน
ผู้ตายมีทายาทกี่คน ใครบ้าง
มีทรัพย์มรดกอะไรบ้าง (เท่าที่ทราบ)
ทายาททุกคนไม่คัดค้าน และได้ยินยอมให้ผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดก
เป็นผู้จัดการมรดก
มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกอย่างไร
ผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ไม่เป็นบุคคลขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย
ขอให้ตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดก
คำลงท้าย
เป็นต้น คร่าวๆก็จะประมาณนี้
2.2 ทำบัญชีพยาน
2.3 ทำคำแถลงขอประกาศหนังสือพิมพ์
(บางศาล อาจไม่ต้องเพราะมีประกาศทางอิเล็กทรอนิกส์ต้องสอบถามดู)
2.4 ทำคำเบิกความพยาน
ฯลฯ เป็นต้น
3. เมื่อเตรียมเอกสารและพยานหลักฐานพร้อมแล้วก็รวบรวม
นำไปยื่นคำร้องต่อศาลในเขตอำนาจโดย
ยื่นคำร้อง+เอกสารต่างๆที่ งานรับฟ้อง รอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ หากผ่าน
ก็จ่ายค่าธรรมเนียมศาล :
ค่าขึ้นศาล 200 บาท
ค่าลงประกาศหนังสือพิมพ์ 500 บาท แล้วรอรับใบเสร็จรับเงิน
แล้วก็กลับมาที่เดิม(งานรับฟ้อง)แล้วก็รอรับเลขคดี และ
ขอสำเนารับกลับ(ซึ่งเราเตรียมสำเนาอีกชุดไปเอง
แล้วให้เจ้าหน้าที่ประทับตรา แล้วนำกลับบ้าน)
พร้อมทั้งรอทราบ วันนัดไต่สวนฯ เมื่อทราบแล้วก็กลับบ้านได้
รูปภาพจาก pixabay.com
4. เมื่อถึงวันนัดไต่สวนฯ
ก็ไปนัดไต่สวนตามนัดของศาล ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไปแต่เฉพาะ
ผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดก เพราะทายาทอื่นๆได้ลงชื่อยินยอมไว้หมดแล้ว
หากจะแห่กันไปก็ไม่มีใครห้ามนะครับ
** อย่าลืมนำเอกสารพยาหลักฐาน(ฉบับจริง)ไปด้วย
แต่งตัวชุดสุภาพไปได้ รองเท้าหุ้มส้นก็จะดี
หากจำเป็น ฐานะไม่อำนวย จะเสื้อยืด หรือรองเท้าแตะก็ไม่ห้ามนะครับ
เข้าไปก็ไม่ต้องถอดรองเท้านะครับ ฝ่าเท้าของท่านจะเปื้อนโดยใช่เหตุ
ต่อไปเป็นวิธีคร่าวๆนะครับ ให้ได้พอเห็นภาพเวลาไปศาล
ควรไปถึงศาลก่อนเวลานัด เพื่อเตรียมความพร้อม
สอบถามเจ้าหน้าที่ โดยแจ้งว่า จะมาคดีเลขที่นี้ๆ
เดวเจ้าหน้าที่จะแจ้งเลขที่ห้องพิจารณา(บัลลังก์)ให้
ที่เราจะเข้าไปในห้องพิจารณาเพื่อไต่สวนครับ
(หรือจะหาห้องพิจารณาเองก็ได้ครับ จะมีปิดประกาศไว้ให้ดูครับ)
เมื่อทราบก็จะไปนั่งรอหน้าห้องบัลลังก์ก็ได้ หากมีเวลาเหลืออาจไป
หาร้านนั่งทานน้ำทานข้าวให้ผ่อนคลายก่อนก็ได้ครับ
เมื่อใกล้ๆถึงเวลา ก็ให้ไปคอยที่หน้าบัลลังก์ ของเราได้เลยครับ
ตามเลขที่บังลังก์ที่เจ้าหน้าที่แจ้ง หรือที่เอกสารที่ปิดประกาศไว้บอก
จากนั้นก็นั่งรอหน้าห้องพิจารณาครับ
พอใกล้ๆเวลาจะมีเจ้าหน้าที่ศาล(หน้าบังลังก์)นำสำนวน
เข้ามาในห้อง เราก็แจ้งเจ้าหน้าที่ศาลว่า เรามาคดีเลขที่นั้นเลขที่นี้
จากนั้นก็หาที่นั่งตามสบายครับ
ปกติจะต้องปั้มฯ หมาย ร.และลงเลข แต่คดีจัดการมรดกส่วนใหญ่
บางที่จะทำไว้ให้หมดแล้ว บางที่ยังพับๆหน้า ส่วนที่เป็นเอกสาร
เพื่อที่เราจะได้เรียงเอกสารฉบับจริง นำเสนอต่อศาล
หากไม่มีทำให้ ก็ต้องทำเอง หากทำไม่เป็น
ก็อาจไปสอบถามเจ้าหน้าที่ศาลหรือ ทนายในห้องนั้นได้เลยครับมีเยอะแน่นอน
ให้ลองสอบถามดู หากทนายเข้าไม่ติดลูกกความของเขา ก็อาจจะตอบเราก็ได้ครับ
พอใกล้ๆเวลา ควรปิดโทรศัพท์มือถือไว้ก่อนนะครับ
จากนั้นเมื่อผู้พิพากษาจะขึ้นบัลลังก์ เราก็ยืนทำความเคารพ
แล้วเด๋วท่านก็จะบอกให้นั่ง
จากนั้นเราก็นั่งแล้วก็รอคิว เรียกชื่อครับ
เพราะเชื่อว่าในวันไต่สวนคดีผู้จัดการมรดกนั้น
มักจะมีคดีเป็นจำนวนมาก บางบัลลังก์อาจมีถึง 20 กว่าคดีกันเลยทีเดียว
ขึ้นอยู่กับปริมาณคดีของแต่ละศาล
เมื่อถึงคิวเรียกชื่อของเรา
เราก็ลุกขึ้นครับ เดินเข้าไปใน คอกพยาน
ยังไม่นั่งลงนะครับ เพราะเราจะต้องกล่าวคำสาบาน(ตามแต่ละศาสนา)ก่อน
(มีกระดาษปิดไว้บนโต๊ะครับ ยื่นอ่านได้เลย อ่านให้เสียงดังๆฟังชัดๆเลยครับ)
จากนั้น ท่านผู้พิพากษาก็จะให้เรานั่งลงในคอกพยานจะนั่งพิงหรือไม่พิงก็
ตามสะดวกท่านครับ
ไม่ต้องเกร็งครับ ใหม่ๆก็อาจมีเกร็งบ้างเป็นเรื่องธรรมดา
เด๋วผู้พิพากษาจะชวนคุยครับ(ซักถามเล็กๆน้อย) เช่น
ถามชื่อ-นามสกุล อายุ ที่อยู่ อาชีพ ฯลฯ ครับ
และจากนั้นท่านผู้พิพากษา ก็อาจจะสอบถามข้อเท็จจริงอื่นๆบ้าง
เราก็ตอบไปตามความเป็นจริงครับ ไม่มีอะไรยากครับ
หรือบางที หากเรามี"คำเบิกความพยาน"ไปด้วย
ศาลอาจถามแค่ว่า ผู้ร้องจะยืนยันตามคำเบิกความนี่มั้ย ?
ถ้าเราตอบ "ยืนยันตามนี้" ครับ/ค่ะ ท่านฯ
เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จแล้วครับ สำหรับการเบิกความในวันนัดไต่สวนฯ
(แล้วแต่ที่นะครับ แต่ละที่อาจแตกต่างกันบ้าง)
เมื่อศาลท่านฯ ซักถาม เสร็จแล้ว
จากนั้นเราก็ลุกขึ้นครับ
ก่อนลงจากคอกพยานก้มหัวเล็กน้อยให้ความเคารพท่านก็ดีไม่น้อยนะครับ
จากนั้นก็ให้เดินมาที่เก้าอี้ม้านั่งหลังห้องครับ หากไม่มีที่นั่งก็ยืนคอยได้ครับ
หากไม่มีที่ยืนอาจต้องคอยนอกห้องรอครับ
แต่อย่าเพิ่งรีบกลับบ้าน!!! นะครับ
ยังมีขั้นตอนอีกนิดนึงคือ ต้องลงชื่อใน "รายงานกระบวนพิจารณา" ก่อนครับ
อาจต้องรอซักเล็กน้อยนะครับ หากมีคดีเยอะ
แต่เจ้าหน้าที่หน้าบังก์มีคนเดียวช้าบ้างก็ไม่เป็นไรนะครับ
เมื่อเจ้าหน้าที่พิมพ์เสร็จแล้ว เด่วเจ้าหน้าที่จะเรียกชื่อ เราก็เดินไปลงชื่อครับ
เมื่อลงชื่อใน "รายงานกระบวนพิจารณา"เสร็จแล้ว
ให้เราบอกเจ้าหน้าที่ ขอสำเนารายงานกระบวนพิจารณา
เพื่อเราจะเก็บไว้ครับ เมื่อได้รับสำเนาแล้ว
ก่อนกลับ สำรวจสิ่งของ และเอกสารหลักฐานตัวจริงให้เรียบร้อย
หากครบแล้วก็กลับบ้านได้ครับ
เป็นอันจบขั้นตอนวันไต่สวนฯ
5. รอให้ครบ 1 เดือน หรือโทรมาสอบถามก็ได้ครับ จะได้ไม่ต้องไปหลายรอบ
เพื่อมาขอคัด "คำสั่งศาล" และ "ใบรับรองคดีถึงที่สุด" ทีเดียวครับ
เมื่อได้ "คำสั่งศาล" และ "ใบรับรองคดีถึงที่สุด"มาแล้ว ก็เป็นอันจบสิ้นขั้นตอน
ทั้งหมดแล้วครับ
จากนั้นก็นำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการทำนิติกรรมต่างๆได้ครับ
สาระน่ารู้ :
อำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดก เริ่มตั้งแต่เมื่อใด ?
ตอบ : ให้เริ่มนับตั่งแต่วันที่ ได้ฟังคำสั่งศาล หรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว
หากมีการ "ยื่นคำร้อง" จัดตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว มีการคัดค้านขึ้นมา
คดีจะกลายเป็น "คดีที่มีข้อพิพาท"
รู้หรือไม่ว่าคดี "ขอจัดการมรดก" ที่ขึ้นสู่การพิจารณาขอศาล
ในปี 2562 มีประมาณ 103,782 คดี
ในปี 2563 เดือนมกราคม-เมษยน มีประมาณ 32,228 คดี

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา