5 ส.ค. 2020 เวลา 22:55 • ประวัติศาสตร์
ช_๐๒๑_วัดขุนเมืองใจ
ใจเมืองอยุธยาข้างถนน
....สมัยที่ผมได้งานชิ้นหนึ่งในอยุธยา น่าจะประมาณยี่สิบปีเศษแล้วตอนนั้นยังไม่ได้สนใจเกี่ยวกับเรื่องวัดวาอารามมากนัก แต่ก็พอรู้เรื่องบ้างเมื่อมาอยุธยาเป็นประจำ ก็ต้องมาศึกษาเพิ่มเพื่อใช้ประกอบกับการทำงาน แม้จากนั้นมาจนทุกวันนี้เราก็นึกถึงแต่วัดเด่นๆในเมืองที่รู้จักมักคุ้น เชื่อไหมครับบนถนนสายอริยะของท่านจอมพลผู้นำพาไทยไปเป็นมหาอำนาจนี้ มีวัดสำคัญวัดหนึ่งซึ่งผมก็เห็นผ่านตาไปทุกครั้งที่ไปทำงานแต่ไม่ได้สนใจอะไรนักด้วยว่าอยู่ข้างถนนและดูไม่มีอะไรน่าสนใจ
.....นี่ผมไม่ได้พูดไปเรื่อยน่ะครับ แต่ภูมิสถานที่มองเห็นเป็นอย่างนั้นจริงๆ และเป็นทางที่ขับรถผ่านอยู่ประจำเป็นเวลายี่สิบกว่าปีก็เห็นเป็นเหมือนกองอิฐเจดีย์เก่าๆชิ้นเล็กๆชิ้นหนึ่ง ด้านหลังและด้านข้างพื้นที่ดูจะมีชุมชนแวดล้อม โดยเฉพาะด้านข้างนี่ประชิดตัววัดเอาทีเดียว จนกระทั่งกลางเดือนก่อนนี้เองผมจึงแวะเข้าไปเดินดูรอบและถ่ายรูปมา
....ขณะที่เขียนเรื่องอยุธยาเวลาอ่านงานอ่านประวัติวัดบางแห่งโดยเฉพาะวัดในต้นทางของการตั้งเมืองอยุธยา รุ่นที่ก่อนหน้าเป็นอโยธยาจะมีอ้างอิงถึงวัดนี้ด้วยเป็นหลายครั้ง "วัดขุนเมืองใจ"นี่เอง
......คนสมัยก่อนต้องมีตำรับตำราสร้างเมือง เช่นเดียวกับงานสถาปัตยกรรมหรืองานออกแบบผังเมืองในปัจจุบัน เพียงแต่ซ่อนอยู่ในวิชาของพวกพราหมณ์หรือไสยเวทย์ ที่เข้ามาทำพิธีกรรมต่างกับราชสำนัก เช่นเดียวกับทางเมืองเชียงใหม่ก็มีวัดที่เป็นภูมิทักษาหรือโฉลกตามตำแหน่งต่างๆในเมือง ขนาดอยุธยาจะไปตีเมืองเชียงใหม่ยังต้องส่งคน(สายลับ)ไปทำลายตำแหน่งที่ดีของเชียงใหม่ และตอนนั้นรุ่นพระบรมไตรโลกนาถก็เข้าไปทำลายตำแหน่งศรีของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งอยู่บริเวณวัดแจ่งศรีภูมิซึ่งมีต้นไทรใหญ่เป็นศรีอยู่ สายลับก็เข้าไปทำลายต้นไทร อย่าเพิ่งหัวเราะน่ะครับ การณ์พวกนี้ใช้เวลาเป็นห้าปีสิบปี คนสมัยก่อนนี่มีระบบเหตุผลที่พวกเรามองข้ามไปอยู่เยอะ
.....เมื่อกลับมาที่อยุธยา คำว่าเมืองใจก็คือใจเมือง ใจเมืองก็คือกลางเมืองคือศรีเมือง ตำแหน่งนี้เป็นศรีเมืองของอยุธยาหรือเปล่าแต่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นศรีเมืองของเมืองอโยธยาที่เป็นรุ่นก่อนอยุธยา พอได้ ส่วนเรื่องรายละเอียดว่าทำไมอย่างไรพอจะหาหลักฐานได้ด้วยว่ามีอยู่ในพงศาวดารว่าเป็นวัดสำคัญในหลายหลายวัดของกรุงศรีอยุธยา ผมออกจะแปลกใจอยู่สองเรื่องว่าตำแหน่งไทรที่แจ่งศรีภูมิก็ดีหรือที่นี่ก็ดี ทำไมไม่เปิดพื้นที่ใหม่เพื่อซ่อมแซมศรีเมืองเก่า ให้กว้างกว่าเดิม และบำรุงรักษาให้เสมือนว่าเป็นศรีเมืองใหม่ หรือว่าเราใช้ฐานการคิดของฝรั่งหรือคนรุ่นใหม่เข้าไปใช้ก็ไม่ทราบ
.....เคยอ่านเรื่องซินแสเฟิงสุยหรือฮวงจุ้ยชื่อดังของฮ่องกง บอกว่าขนาดคนจีนมีศาสตร์หลายแขนงที่สามารถพลิกสถานการณ์ของสิ่งต่างๆได้แล้ว ทำไมอังกฤษถึงชนะจีน ซินแสแกบอกว่าเพราะที่ตั้งของสถานกงศุลอังกฤษอยู่ในชัยภูมิที่ดีมากอยู่บนเนินเขาตำแหน่งธาตุต่างๆตามตำราจีนครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วฝรั่งก็ปลูกสร้างตาม
ทฤษฎีของตน ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับฮวงจุ้ยจีน เรื่องนี้ต้องต่อว่าซินแส คงไม่ใช่คนที่มาสัมภาษณ์ ว่าไม่ได้ดูแลชัยภูมิหลักของเมืองจีนเลยหรือไม่ได้ส่งคนไปทำลายชัยภูมิของฝรั่งตอนสู้รบกันเลย ที่นี่ดูแล้วเหมือนถูกถนนอริยะเฉือนพื้นที่วัดเดิมออกไปด้วยซ้ำ ท่านจอมพลไปผาติกรรมหรือเปล่าไม่ทราบ เพราะมีรูปวิหารและเจดีย์ เห็นแนวเจดีย์รายข้างวิหารเป็นฐานอยู่หลายองค์แต่ทางเข้าวัด และแนวที่น่าจะมีในจุดต่างๆหายไป และความเป็นข้างถนนอยู่นี้ก็เป็นอันตรายต่อเจดีย์
ด้วยเป็นทางผ่านของรถทัวร์ขนาดใหญ่ที่เข้าไปชมเมืองเก่าวันวันมีเป็นจำนวนมาก รถหกล้อ (เขาให้สิบล้อเข้าไปกลางเกาะเมืองหรือเปล่าผมไม่แน่ใจแต่ไม่น่าจะให้) ไม่ต้องพูดถึงประเด็นน้ำท่วม ที่เป็นประจำและบ่อยครั้งเลยดูแล้วเจดีย์องค์น้อยข้างเจดีย์ใหญ่ ที่เอียงอยู่ตามสภาพ ที่เพิ่งถ่ายรูปมา(มีนาคม๒๕๕๘)ก็คงทรุดตัวเสียโครงสร้างไปในเวลาไม่นานนัก
๏๑.อโยธยายศย่ยมฟ้า.....แทกสรวง
ทิ้งรอยสรีเมืองสวรรค.......ซุกซ้อน
ทิ้งเมืองใจใจเมืองตวง.......กลางเมือง
ซากอิฐสืบทางย้อน...........ยศย่ยม ฯ
๏๒.เปรียบปานปานเปรียบเร้น....ราชินี
พระแก้วเมืองสรรคอ่ยม.............อ่าช้นน
ปราสาทห้ายอดเจดีย์................มงกุฎเกษ
เทียบองค์เทียบเสมอค้นน..........โยงราก ฯ
๏๓.ฉีกแย้มดาวดึงส์เร้น......ชลอดิน
อโยธยาฝันฝาก..................ทยมรุ้ง
มหาธาตุปรางค์เจดีย์อิน......รุ่งแสง
ยังแต่ซากอิฐฟุ้ง..................ทายสวรรค์ ฯ
....วันไหนที่ท่านพาลูกหลานไปไหว้พระที่อยุธยา พอวนวนเข้ามาบนถนน ฌ้องอลิเช่ของอยุธยาจาก
ศาลาว่าการเดิมพุ่งเข้าหาสะพานปรีดีธำรง ชลอความเร็วลงนิดหนึ่งเพราะในความเร็วทั่วไปท่านคงเห็นเป็นเหมือนกองอิฐกองหนึ่งอยู่ข้างทาง แต่เมื่อท่านหยุดลงแล้วดูท่านจะเห็นฐานเจดีย์อันใหญ่โต ด้านซ้ายขวามีพระพุทธรูปยืนที่สมบูรณ์บ้างไม่สมบูรณ์บ้าง แต่ก็จะเห็นร่องรอยอันน่าอัศจรรย์ ดูอย่างช้าช้า ก็จะทึ่งกับรูปแบบในทรวดทรงของท่าน ผู้ดูอย่างเราๆที่ไม่ใช่นักโบราณคดีก็จะตอบได้ว่านั่นเป็นพระรุ่นอู่ทองเลย โห้นั่นก่อนสมัยตั้งอาณาจักรอยุธยาเลยน่ะ(ตอบเช่นนั้นได้หรือเปล่าครับ) แต่ถ้ามองเฉพาะองค์เจดีย์ที่รูปทรงเดาไม่ค่อยออกอาจทำให้จินตนาการติดขัดแต่ถ้าผมนำรูปเจดีย์องค์หนึ่ง ซึ่งองค์เจดีย์จะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้แต่รูปฐานคล้ายกัน ที่นักโบราณคดีประวัติศาสตร์เรียกว่า"ราชินีแห่งเจดีย์" เจดีย์ที่วัดพระแก้วเมืองสรรค์ หรือวัดพระแก้วแห่งแพรกศรีราชาที่เสนอกันมาหลายตอนแล้ว มาให้ชมโดยรายละเอียดอาจจะแตกต่างกันอยู่บ้าง
แต่แนวทางของชิ้นงานที่มาที่ไป ยุคสมัยและแนวความคิดหลักไม่น่าจะต่างกันมากนัก หวังว่าท่านผู้อ่านคงสามารถเข้าไปในดินแดนอโยธยาดินแดนที่เชื่อมต่อกับทวารวดีภาพของเจ้าชายสายน้ำผึ้งแม่เจ้าสร้อยดอกหมากที่หลายท่านอาจคิดว่าเป็นเพียงตำนานเรื่องเล่า เมืองรุ่นก่อนตั้งอยุธยาที่พวกเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับท่านมากเท่าที่ควรในพงศาวดารไม่ได้กล่าวอะไรกับวัดนี้โดยเฉพาะเรื่องการสร้างนอกจากบอกว่าเคยเป็นสถานที่ถือน้ำพิพัฒนสัตยา นักโบราณคดีพูดถึงแม่ลายและลวดลายที่พบที่นี่เป็นรุ่นต้นอยุธยา และนักโบราณคดีก็พบชิ้นส่วนขององค์พระอยู่สององค์ ซึ่งตีความว่าเป็นงานรุ่นทวารวดี
๏๔.อิฐทาบทบท่ามซ้อน.....เสกสรร
แฝงเจดีย์ฝากฝัน..............เสียดฟ้า
สิริเมืองใจพลัน.................สว่าง
ยังแต่สรีส่องท้า.................ทายอิน ฯ
๏๕.คือ ลูกหลานเด็กน้อย...อาจเห็น
ผ่านร่องแนวอิฐยิน.............สดับได้
อดีตก่อนฝากข่าวเช่น........ทิพยวิเศษณ
มองซิมองตาไว้..................ข้ามกาล ฯ
ตลอดเวลาของอยุธยา(แม้แต่ในช่วงรัตนะ) สถานที่แห่งนี้คงมีการปรับปรุงเป็นหลายครั้งการซ้อนทับของอิฐ รูปทรงอาคารและเจดีย์อาจเป็นไปได้ นักโบราณคดีที่จะบอกว่าเป็นงานรุ่นอโยธยาได้นั้นคงจะต้องประกอบองค์ความรู้หลายๆด้านจากสิ่งที่พบในสถานที่ เช่นชิ้นส่วนขององค์เจดีย์ ชิ้นส่วน
ของลวดลายประดับ พระพุทธรูปและที่สำคัญอันหนึ่งคือการก่ออิฐ ที่นี่มีทั้งรูปงานก่ออิฐแบบชิดไม่สอปูนและสอปูนปะปนกัน เป็นการยากเหมือนกันที่จะมองรายละเอียดดังกล่าวด้วยสายตาของผู้ไม่มีความรู้ แต่ใจของผู้ไม่รู้ที่เต็มไปด้วยจินตนาการบางครั้งก็อาจทำให้เราเห็นแง่มุมอันหลากหลาย ในส่วนตัวเวลาไปดูโบราณสถานผมชอบไปดูการก่ออิฐที่รูปเสา เราจะเห็นวิธีเรียงอิฐเพื่อให้ขึ้นมาเป็นเสาที่สูงโดยเฉพาะในงานของอยุธยาเสาแต่ละต้นในโบสถ์วิหารสูงมาก และกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้โครงสร้างพังทลายอยู่เหมือนกัน อิฐที่ใช้แต่ละก้อนถูกเผาเพื่อมาใช้เป็นเสาโดยเฉพาะ เสาแปดเหลี่ยมบ้างเสากลมบ้างหรือเสาสี่เหลี่ยมทั่วไปในอยุธยาบ้าง ในแง่มุมที่หลากหลายไม่เจาะจงว่าเฉพาะผู้เชี่ยวชาญที่สามารถตีความประวัติศาสตร์ได้ บางครั้งโลกอาจจะได้รับข่าวสารใหม่จากประวัติศาสตร์ก็เป็นได้ อาจจะเป็นเด็กน้อยตัวเล็กๆที่พ่อแม่พาไปเดินเล่นที่โบราณสถานข้างถนนที่สามารถเชื่อมกระแสชีวิตปัจจุบันกับประวัติศาสตร์ได้ในสถานที่ ที่ผู้คนละเลยและไม่ค่อยรับรู้และสนใจกองอิฐเล็กกลางเมือง
เรื่องนี้เคยเขียนไว้นานมาแล้วเอามาปัดฝุ่นใหม่_ในรุ่นที่เลยวัยทำงานไปนานแล้ว
ทางแก้ว
๒๕๖๓
.
โฆษณา