24 พ.ย. 2020 เวลา 01:08 • ท่องเที่ยว
ช๑๐๑_วัดปรางค์หลวง มหาธาตุแห่งนนทบุรี
○มหาธาตุหมุดหมายเมือง○
มหาธาตุแห่งนนทบุรี
โคลงดั้น
๏๑.สืบนามปรางค์หนึ่งนั้น นนทบุรี
สืบสมัยสันนิษฐาน อยุธยาต้น
อู่ทองรามาธิบดี ที่หนึ่ง
ก่อนชื่อ"วัดหลวง"ค้น เปลี่ยนนาม ฯ
๏๒.กรมพระยาวชิรญาณฯ*เจ้า เสด็จมา
ชมปรางค์อ่าโอ่งาม ประวัติกล้า
สืบความอาจก่อนท้า อโยธยา
เปลี่ยนนามปรางค์หลวงจ้า สรีนนท์ ฯ
*สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส
๏๓.ว่าสมัยอู่ทองเจ้า หนีโรค
ก่อนพาพักชุมชน เมืองแก้ว
ก่อนเสกอยุธเยศโภค ไคสูรย์
ก่อนหยั่งอาณาจักรแพร้ว เพริศพราย ฯ
๏๔.สมัยนั้นสายน้ำ เจ้าพระยา
เลาะเลี้ยวโค้งคดผาย ที่นี้
ปราสาททองตดดผ่า เชื่อมลดด
คลองอ้อมนนทบุรีชี้ นานนม ฯ
๏๕.อิฐสอดินเจ็ดช้นน ย่อมุม
ไม้ยี่สิบซอยจม รอบค้นน
จระนำสี่ทิศคุ้ม รูปพุทธ
เพ่งดูลายปูนป้นน สมัยไหน ฯ
๏๖.อาณาจักรแรกต้งง นำปรางค์
เป็นแบบระเบียบใส่ ศรัทธาห้นน
รวมชนชุมนุมสว่าง สมานใจ
รวมร้อยรวมคามช้นน สืบศรีอโยธยา ฯ
๏๗. ต่างยุคสมัยล้วน เปลี่ยนแปร
แม่น้ำกลายคลองกว่า เลาะอ้อม
ถนนตดดผ่านกระแส กลางเมือง
เสาะโบราณสถานน้อม ซ่อนเร้น ๚ะ
......ตั้งแต่ผมย้ายบ้านจากกลางเมืองกรุงเทพฯมาอยู่ที่ชานเมืองนนทบุรีปีนี้ก็เข้าปีที่สิบสี่ งานอดิเรกก็คือการหาวัดและของกินในนนทบุรีทานกลางวัน วัดในพื้นที่ของคลองอ้อมซึ่งเคยเป็นเมืองเก่ายุคอยุธยาสมัยพระเจ้าปราสาททอง ชื่อบ้านตลาดขวัญ เคยเข้าไปมาเป็นหลายวัด บางวัดเป็นวัด สร้างใหม่ บางวัดเป็นวัดรุ่นที่เรียกว่าโบราณสถานแต่ครั้งปลายอยุธยา วัดหลักๆนี้ส่วนใหญ่จะอยู่บนเส้นทางที่เป็นคลอง ใช้ชื่อว่าคลองอ้อมนนทบุรี ซึ่งคือเจ้าพระยาในสมัยอยุธยาก่อนตัดคลองลัด แทบจะทำให้เราเห็นวิถีชุมชนในสมัยโบราณที่ใช้ทางน้ำเป็นหลัก วันดีคืนร้ายความเจริญเข้ามาตั้งแต่ถนนหนทางหมู่บ้านจัดสรร (ผมก็เป็นส่วนหนึ่งของความเจริญนั้นด้วยการที่อพยพจากเมืองออกสู่ชานเมือง) ซุปเปอร์สโตร์ขนาดใหญ่ วิถีของถนนใหม่นั้นทำลายชุมชนเดิมออกไป ยิ่งมีถนนระดับไฮเวย์เช่นถนนราชพฤกษ์และกาญจนาภิเษกชุมชนก็กระจุย กระจาย ซอยหลากหลายซอย ที่ชุมชนเก่าอยู่รวมกัน ต้องแตกกลายเป็นเยอรมันตะวันตกและตะวันออก เนื่องจากไฮเวย์ตัดผ่านแล้วชีวิตผู้คนสังคมก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีหมู่บ้านจัดสรรเข้าไปลงก็น่าจะทุกพื้นที่แล้วกระมัง ยังพอมีร่องรอยของชุมชนเดิมๆอยู่กระจายตัว แตกกลุ่มแตกก้อนออกไป
.......ในพศ.นี้ยังพอหาก๋วยเตี๋ยวทานอยู่ริมน้ำในคลองอ้อมอันเงียบสงบ ที่นานๆจะมีเรือหางยาวโผล่มาสักลำได้ แต่ยุคหลังก็เกิดร้านอาหารร้านกาแฟในชุมชนที่ไม่ได้เจาะจงขายผู้คนในชุมชนแต่ขายต่อผู้คนต่างถิ่นที่มากับการเดินทางที่สะดวกสบายและมีจีพีเอสนำทาง อ้าวนั้นสะพานแห่งใหม่ของนนทบุรี(เจษฎาบดินทร์)ตัดผ่ากลางชุมชนคลองอ้อมในอดีตเสร็จมาสามสี่ปีแล้ว ทางขึ้นลงเป็นถนนหกเลนใหญ่โต....นั่นรถไฟฟ้าสายสีม่วงบางใหญ่บางซื่อเสร็จได้หลายปี แล้วชุมชนริมคลองอ้อมจะทานกระแสความเจริญ ไปได้อีกนานแค่ไหน
+พื้นที่วัด
1.ตำแหน่งปรางค์
2.คลองอ้อม
3.ถนนซอยเข้ามาจากกาญจนาภิเษก
จริงๆไม่ได้อยากให้ดูถนนเท่าไรนักแต่อยากให้ดูเปรียบเทียบเรื่องแม่น้ำเจ้าพระยาโบราณยุคกรุงศรีอยุธยา
การตัดคลองลัด(แม้แต่สมัยก่อน)และการออกแบบถนนที่ดูจะทำลายวิถีชุมชนไปโดยอัตโนมัติ
1.สะพานพระนั่งเกล้า
2.ถนนกาญจนาภิเษก
3.วัดปรางค์หลวง
4.สะพานพระรามที่5(นครอินทร์)
5.บางใหญ่
ถูกตีความว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง
วัดนี้อยู่ในซอยจากถนนกาญจนภิเษกช่วงบรมราชนนี-บางใหญ่ เข้ามาสักกิโลหนึ่งได้กายภาพก็ยังติดน้ำ ในคลองอ้อม ลักษณะปรางค์ไม่ใหญ่โตมากนัก ดูรายละเอียดจัดว่าประวัติและยุคสมัยน่าจะ มีมูลอยู่ แต่อาจจะไม่เก่าเท่านั้นหรือมีการซ่อมแซมข้ามยุคมาบ้าง เป็นที่มีรูปซุ้มรอบตัวทั้งสี่ด้านในซุ้มมีรูปองค์พระยืนดูเป็นอู่ทองหรือเรียกว่าต้นอยุธยาได้ ไม่เคยเห็นประวัติหรือ ข้อมูลของที่นี่จากสายของโบราณคดีและศิลปากร(หรือผมไม่ทราบเองก็ได้) มี ข้อมูลจากวัดและจังหวัดเรื่องพระเจ้าอู่ทองมาตั้งชุมชนจากการหนีโรคระบาดก่อนตั้ง อยุธยานั้น แต่ไม่เห็นมีหลักฐานอะไรอ้างถึงชัดเจน อาจจะเป็นการตีความจากสถาปัตยกรรมที่ปรากฏ ลำพังแค่หลักฐานในชั้นอยุธยาตอนต้นนี่ในอยุธยา ก็หากันลำบากลำบนกันทีเดียว นี่เป็นวัดหัวเมืองหลักฐานคงลำบากพอดูและเนื่องจากความเป็นผู้ไม่รู้ของผมก็ยกประโยชน์ให้ทางจังหวัดและวัดก่อน
ทางแก้ว
โคลงชมวัด
วาดวัด
๒๕๕๗~๒๕๖๓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา