24 ก.ย. 2020 เวลา 09:43 • ท่องเที่ยว
ช๖๘_วัดส้ม
ปรางค์องค์แรกของอยุธยา
....ด้านหลังโรงพยาบาลอยุธยา มีวัดร้างเล็กๆอยู่วัดหนึ่งแฝงตัวอยู่ในชุมชนในซอยแคบๆสำหรับคนนอกพื้นที่อาจจะงงว่าโรงพยาบาลอยุธยาอยู่ตรงไหน จะบอกว่าโรงพยาบาลอยุธยาอยู่ตรงข้ามฝั่งน้ำเจ้าพระยาวัดพุทไธสวรรย์ เดี๋ยวจะพาลงงกันอีกแต่ถ้าบอกว่า หน้าโรงพยาบาลเป็นร้านขายโรตีตลอดแนวทุกคนที่เคยเข้ามาในอยุธยาคงร้องอ๋อ หน้าวัดทางตะวันตกเป็นถนนสองเส้นมีคลองเล็กแต่สมัยก่อนสำคัญมาชื่อคลองฉะไกรใหญ่ คลองนี้พุ่งยาวไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ๆวัดเชิงท่า ฝั่งขวามือของคลองคือวังหลวงอยุธยาฝั่งด้านซ้ายก็เป็นส่วนของอุทยานประวัติศาสตร์ วัดร้างเล็กๆที่ดูไม่ค่อยมีใครสนใจและรู้จักนี้ไม่ได้อยู่กลางทุ่งไกลบ้านเมืองแต่อยู่กลางเกาะเมืองอยุธยาเลยทีเดียว เห็นเล็กๆอย่างนี้นี่เล็กพริกขี้หนูเพราะสิ่งสำคัญของวัดนี้คือปรางค์และวันหนึ่งข้างหน้าปรางค์องค์นี้อาจจะเป็นตัวไขปัญหาของเมืองอโยธยาที่ยังมีข้อมูลไม่ชัดเจนก็เป็นได้
ดั้น
 
๏๑.รายรายรื่นรมย์เร้น......งำปรางค์
เริงเริงลอดริมลาง.............แมกไม้
กลางกลางเกาะเมืองต่าง...บานเจต
เขม่นเขม้นอยุธยาไท้........ฤาขอม ฯ
๏๒.ธรรมเนียมแรกตั้งราก.ปักปรางค์
กลางเมืองชุมชนล้อม.......เจื่องเจ้า
สำแดงเจตเจิดพ่าง...........พื้นดิน
สืบสร้างสานส่งเค้า...........อโยธยา ฯ
๏๓.ต่างล้วนหาเหตุครั้ง....ปักราก
ต่างสันนิษฐานนานมา......พระเจ้า อู่ทอง
ซุกซ่อนงำคดีหลาก.........ล้นเรื่อง
วันหน้าอาจคลายเค้า.......ที่นี่ ฯ
๏๔.นี่ปรางค์แรกฤายั้ง.....กรุงศรีฯ
ปรางค์น้อยปักลงชี้..........ก่อนย้อน
ลพบุรีอู่ทองมี..................เรื่องราว
ใครใคร่ตีความข้อน.........เชิญเค้น ฯ
ในบรรดาปรางค์รุ่นเก่าของอยุธยาเท่าที่เราเห็นน่าจะคุ้นกันอยู่สององค์องค์หนึ่งคือวัดพระรามซึ่งมีความน่าจะเป็นว่าสร้างในยุคขุนพะงั่วหรือพระราเมศวร อีกองค์หนึ่งคือที่วัดมหาธาตุซึ่งน่าจะสร้าง
ใกล้เคียงกันคือยุคขุนพะงั่ว ส่วนวัดราชบูรณะซึ่งถือว่าเก่าแก่ในยุคต้นอยุธยาเหมือนกันองค์หลังนี่มาในยุคประมาณเจ้าสามพระยา ปรางค์สามองค์ถือเป็นสิ่งคู่บ้านเมืองของอยุธยามาแต่ยุคต้น สิ่งที่น่าสนใจสำหรับปรางค์ที่ยิ่งใหญ่ของอยุธยาทั้งสามองค์ก็คือการพัฒนาการออกมาจากต้นทางคือขอม ไปบ้างแล้วทั้งสัดส่วนและรูปทรง ถ้าเราคาดเดาว่าอโยธยาคือกลุ่มความเจริญแถวลพบุรี หรือลวปุระ เราก็ต้องลองกลับไปดูปรางค์ที่วัดมหาธาตุลพบุรีดูเพราะทีลพบุรีก็เคยเป็นเมืองของขอมและพัฒนามาเป็นอาณาจักรลพบุรี ถึงมีพัฒนาการในการออกแบบองค์ปรางค์ก็ยังคงไม่ต่างกับวิธีคิดที่ขอมออกไปมาก ต้นทางปรางค์ของขอมใช้หินเป็นวัสดุ แต่พอมาในพื้นที่อยุธยาหรือลพบุรีก็ต้องสร้างตามวัสดุที่มีในพื้นที่ ปรางค์ก็ถูกสร้างขึ้นเป็นอิฐ การดูปรางค์ก็ไม่เพียงดูที่ตัวแท่งของปรางค์และรายละเอียดย่อยเพียงองค์เดียว แต่องค์ประกอบของปรางค์เป้นตัวสำคัญตัวหนึ่งที่ถูกนำมาพิจารณา ถ้าเราดูปรางค์ที่ยิ่งใหญ่ในอยุธยาและลพบุรีเราคงเห็นพัฒนาการขององค์ประกอบปรางค์จะเรียกมุขก็ดูจะไม่ใช่เรียกปีกดีกว่า ปีกที่แตกตัวออกมาจากองค์ปรางค์หลักแต่ละที่มีวิธีคิดแตกต่างกัน จวบจนปรางค์รุ่นรัตนะ ผมไม่ใช่นักศึกษาเรื่องนี้แต่อาศัยใช้ดูเปรียบเทียบของปรางค์ที่ผ่านตามาที่มีหลักแต่ไม่มีหลัก(เอพูดยังไงน่ะ) อย่างไรก็ดีผมก็มีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับปรางค์เขมร
ปรางค์วัดมหาธาตุ อยุธยา ก่อนล้ม ขอบคุณรูปจากห้องประวัติศาสตร์
ปรางค์วัดราชบูรณะ อยุธยา
ปรางค์ที่วัดมหาธาตุลพบุรี
ปรางค์วัดพระราม อยุธยา
.....เมื่อเรากลับมามองปรางค์ที่วัดส้ม เราจะเห็นว่าแตกต่างจากจากปรางค์สามองค์ที่ผมยกมาที่อยู่ในอยุธยา มากพอสมควรในรายละเอียด แต่กลับดูละม้ายกับปรางค์วัดมหาธาตุที่ลพบุรีในรายละเอียดจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่เมื่อกลับไปอ่านโพยเขาบอกไว้เพียงว่าเป็นปรางค์....ผมยก
เอาข้อความตามโพยมาก่อนดีกว่า
..... "วัดส้มไม่ปรากฏหลักฐานทางด้านเอกสารเกี่ยวกับประวัติการสร้างวัด ได้แก่ปรางค์ประธาน วิหาร และเจดีย์รายจากการศึกษาโครงสร้างของสถาปัตยกรรมที่เป็นปรางค์ก่ออิฐและมีการสร้างทับหลัง รวมทั้งลวดลายปูนปั้นประดับองค์ปรางค์วัดส้ม พบว่ามีวิวัฒนาการมาจากโครงสร้างและลวดลายในสถาปัตยกรรมขอม ซึ่งมีอายุการสร้างอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่๑๘ แสดงให้เห็นว่าปรางค์ประธานวัดส้มนั้นอาจจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา มีอายุเก่ากว่าปรางค์องค์อื่นๆในสมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.๑๙๑๗) และวัดราชบูรณะ (พ.ศ.๑๙๖๗) เล็กน้อย"
.....ในแง่มุมของงานสถาปัตยกรรม ปรางค์ที่เมืองขอมกับปรางค์ในพื้นที่ด้านเรานี้มีข้อน่าสนใจที่ยังไม่เห็นใครค้นคว้าไว้คือการเปลี่ยนแปลงวัสดุ ก่อสร้าง จากหินมาเป็นอิฐ เพราะพื้นที่แถบนี้ของเราเป็นดินเหนียวดินโคลน นี่ยังไม่พูดถึงแถวสุโขทัยศรีสัชนาลัยที่เกิดวัสดุประเภทแลงขึ้นมาอีก การใช้วัสดุุใหม่ๆในยุคต้นช่างจะต้องพลิกแพลงเทคนิคการทำเรื่องเดียวกันแต่ต่างวัสดุกัน เช่นรูปประติมากรรม ทับหลัง เมื่อยุคสมัยที่ศาสนาเปลี่ยนไป รูปเคารพแบบขอมก็กลายเป็นพุทธ แต่วิธีคิดในพระสุเมรุยังคงใช้วิธีคิดเดิมแม้อิทธิพลเจดีย์จากลังกาจะมาพร้อมกับกระแสเถรวาท แต่ปรางค์ก็ยังคงอยู่ตลอดมาจวบรัตนะ และดูเหมือนจะเป็นมาร์คเกอร์ ขออภัย สิ่งบ่งชี้สัญลักษณ์ของเมืองหลักในอาณาจักรอยุธยา
ผมคงไม่ต้องพูดถึงความเก่าแก่ของปรางค์ที่วัดส้ม(เพราะได้ยกข้อความตามโพยของผู้รู้มาแล้ว) ด้วยฐานความคิดว่า ท่านมาเป็นรุ่นแรกของการสร้างเมือง โดยยังไม่มีการพัฒนาออกไปจากต้นทางคือขอมหรืออู่ทอง(ลพบุรี)มากนัก เราอาจจะมองเห็นในแง่มุมหลายอย่างจากท่าน โดยเฉพาะการเคลื่อนที่มาของชุมชนเล็กๆแล้วปักปรางค์ไว้ในจุดเริ่ม เพื่อเป็นสื่อสัญลักษณ์ใดใดก็แล้วแต่ ผมนึกไปไกลถึงปรางค์น้อยองค์หนึ่งใกล้บ้านผมคือปรางค์ที่นนทบุรี ที่วัดปรางค์หลวง วิธีคิดของผู้คนไม่น่าจะต่างกันผมเริ่มเขียนบทความจากการที่ได้เห็นปรางค์ที่นนทบุรีองค์นี้องค์นี้แล้วลื่นไหล ไปไกลถึงวัดมหาธาตุตาม
เมืองต่างๆของเมืองบริวารในอยุธยา และจะวนมาที่(น่าจะเป็น)จุดเริ่มคือวัดส้ม มีอะไรต่อเนื่องกันไหม
.....สิ่งที่น่าสนใจของวัดส้มคือลวดลายที่ประดับองค์ปรางค์ ยังถือว่าสมบูรณ์มากลวดลายที่นี่ถูกนำไปใช้อ้างอิงในงานวิชาการอยู่บ้าง คนที่ชอบนั่งมองลายหรือศึกษาเรื่องลายมองไปก็เพลิดเพลินแล้ว เป็นที่หนึ่งอย่างที่หลายคนเคยถามผมว่ามาอยุธยาไปไหนดีในอยุธยา หรือบางคนที่เบื่อวัดที่มีคนมากมายในอยุธยา ลองแวะวัดนี้ดูเหมือนเราไปดูปรางค์แถวโคราชหรือลพบุรีเลยเพียงแต่ที่นี่ปรางค์องค์เล็ก แต่สถานที่ปลอดภัยอยู่กลางเมืองเงียบสงบ และอาจจะแปลกใจว่าของดีดีอย่างนี้และอยู่กลางเมืองทำไมไม่ค่อยมีคนไปดูไปชมเลย พวกเรามัวแต่จะไปดู ของแปลกหรือของที่ unseen กัน ไม่ค่อยมีใครมาดูความเรียบง่ายที่มีเนื้อหา
๏๕.เชิญเพื่อนชมเช่นชั้น......วัดส้ม
กลางเกาะเกาะกลางสาว......สืบค้น
อารามร้างกรานกราบก้ม......สุดสมัย
ทางมาอยุธยาด้น.................กลางใจ ๚ะ
1
เขียนวัด
โคลงชมวัด
๒๕๕๘_๒๕๖๓
โฆษณา