9 ส.ค. 2020 เวลา 14:55 • ประวัติศาสตร์
“Hasekura Tsunenaga” ซามูไรผู้เปรียบเสมือน “Marco Polo” แห่งญี่ปุ่น
“Hasekura Tsunenaga” เป็นซามูไรในสมัยศตวรรษที่ 17 ผู้มีชีวิตที่น่าสนใจ
เขาออกเดินทางไปเกือบจะทั่วโลก โดยเป็นชาวญี่ปุ่นกลุ่มแรกๆ ที่ได้เดินทางไปคิวบา ได้พบกับพระสันตะปาปา และยังได้ถือสัญชาติโรมันอีกด้วย
แต่ชีวิตช่วงแรกของเขาไม่ไคร่จะน่าพิศมัยนัก
เขาเกิดมาในครอบครัวขุนนางระดับกลาง โดยพ่อของเขานั้นได้ก่อการทุจริต และถูกบังคับให้ฆ่าตัวตาย
ในเวลาต่อมา “Date Masamune” เจ้านายของ Tsunenaga ได้วางแผนจะส่งเรือไปยังตะวันตกเพื่อติดต่อทางการค้า และเพื่อขอให้มิชชันนารีศาสนาคริสต์เดินทางเข้ามาในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างดินแดนคริสเตียนกับญี่ปุ่น ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นได้ฆ่าชาวคริสต์จำนวน 26 คนในปีค.ศ.1597 (พ.ศ.2140)
Date Masamune
Tsunenaga ออกเดินทางจากญี่ปุ่นในปีค.ศ.1613 (พ.ศ.2156) และจะไม่ได้กลับญี่ปุ่นเลยเป็นเวลาถึงเจ็ดปี
เรือของ Tsunenaga นั้นได้ล่องไปยังหลายดินแดน โดยเริ่มจากไปยังบริเวณที่ปัจจุบันคือแคลิฟอร์เนีย และล่องเรือไปเรื่อยๆ จนถึงคิวบา
Tsunenaga และลูกเรือเป็นชาวญี่ปุ่นกลุ่มแรกที่ได้มาเยือนคิวบา
ค.ศ.1614 (พ.ศ.2157) Tsunenaga ได้มาถึงสเปน
ที่สเปนนี้ Tsunenaga ได้รับการต้อนรับอย่างดี โดยเขาได้รับการเข้ารีตในนิกายคาทอลิก พร้อมได้รับชื่อเป็นภาษาสเปนอีกด้วย
แต่ถึงจะได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ แต่เขาก็ไม่สามารถโน้มน้าวให้สเปนเปิดการค้ากับญี่ปุ่น รวมทั้งส่งมิชชันนารีมาได้
แต่ถึงอย่างนั้น ชาวญี่ปุ่นที่ได้เดินทางมากับ Tsunenaga ก็ได้ตัดสินใจที่จะตั้งรกรากอย่างถาวรอยู่ที่สเปน และลูกหลานของพวกเขาก็ยังคงอยู่ในสเปนจนถึงทุกวันนี้
เมื่อภารกิจในสเปนไม่สำเร็จ Tsunenaga ก็ได้เดินทางไปยังโรมเพื่อเข้าพบพระสันตะปาปา โดย Tsunenaga ได้นำจดหมายจากเจ้านายมาถวายพระสันตะปาปา
จดหมายถึงพระสันตะปาปา กล่าวว่าทางญี่ปุ่นได้อนุญาตให้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ได้ โดยในการนี้ Tsunenaga ก็ได้รับสัญชาติโรมัน นอกจากนั้น ยังได้รับการยอมรับให้อยู่ในชนชั้นขุนนางของโรมอีกด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น พระสันตะปาปาก็ปฏิเสธที่จะเปิดการค้ากับญี่ปุ่น ทำให้ Tsunenaga ต้องเดินทางกลับญี่ปุ่น
เมื่อกลับมาถึงญี่ปุ่น ท่าทีของญี่ปุ่นที่มีต่อศาสนาคริสต์ก็ได้เปลี่ยนไป
มีการห้ามนับถือศาสนาคริสต์ ใครขัดขืนจะต้องถูกประหาร และญี่ปุ่นก็ได้ทำการปิดประเทศเป็นเวลานานเกือบ 200 ปี
ภายหลังจากกลับมายังญี่ปุ่นได้สองปี Tsunenaga ก็ได้ล้มป่วย และเสียชีวิตในปีค.ศ.1622 (พ.ศ.2165)
ภายหลังจากที่ Tsunenaga เสียชีวิต ภรรยาและลูกๆ รวมถึงคนรับใช้ของเขาก็ถูกประหารชีวิต เนื่องจากพวกเขานับถือศาสนาคริสต์
แต่ถึงจะจบไม่สวย แต่เรื่องราวของ Tsunenaga ก็ยังถูกเล่าขานจนถึงทุกวันนี้ ในฐานะของชาวญี่ปุ่นที่เดินทางไปเกือบรอบโลกและมีชีวิตที่น่าตื่นเต้น
โฆษณา