18 ส.ค. 2020 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่โลก สบช่องธุรกิจปรับตัว ขยายบริการคลาวด์ไปธุรกิจยานยนต์
ฟังทาง youtube
เรื่องของคลาวด์คอมพิวติง (Cloud Computing) ดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นของธุรกิจในการสร้างความแข็งแกร่งและความอยู่รอดยุคนี้ไปแล้ว และไม่ได้จำกัดเพียงแค่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ทางด้านผู้ให้บริการคลาวด์เองก็ต้องขยันหาลูกค้า พันธมิตร เจาะตลาดใหม่ๆ อย่างบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์ ท่ามกลางภาวะที่หลายค่ายประสบปัญหา หลายค่ายต้องมีการปรับกลยุทธ์กันเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ยุคโควิด-19
อะเมซอน (Amazon.com) แม้จะเป็นอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ ก็มีหน่วยธุรกิจที่ให้บริการคลาวด์เช่นเดียวกัน นั่นคือ Amazon Web Services (AWS) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคลาวด์ที่ครอบคลุมและนำมาใช้มากที่สุดในโลก โดยนำเสนอบริการอันโดดเด่นเต็มรูปแบบกว่า 175 บริการจากศูนย์ข้อมูลต่างๆ ทั่วโลก ลูกค้ากว่าหลายล้านคน ทั้งสตาร์ทอัพที่เติบโตเร็วที่สุด องค์กรที่ใหญ่ที่สุด และหน่วยงานราชการชั้นนำ ต่างใช้ AWS เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความคล่องตัว
เมื่อเดือนก.ค. ทาง AWS ได้ประกาศการขยายความร่วมมือกับ โฟล์คสวาเก้น (Volkswagen AG) ค่ายรถจากเยอรมนี เพื่อที่จะช่วยพัฒนาซอฟท์แวร์ที่ใช้บนคลาวด์ในการรวบรวมดาต้าทั้งหมดจากเครื่องจักร โรงงาน และระบบ จากที่ตั้งของโฟล์คสวาเก้น กรุ๊ป 122 แห่ง ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการผลิตดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมายการผลิตตามที่ตั้งเป้าไว้ได้สำเร็จ โดยในระยะยาว บรรดาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มากกว่า 30,000แห่ง จากซัพพลายเออร์ 1,500 รายของโฟล์คสวาเก้น จะมีการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งความร่วมกับ AWS นี้ โฟล์คสวาเก้น จะสร้าง Industrial Cloud เปิดเป็นแพลทฟอร์มสำหรับอุตสาหกรรมซึ่ง พันธมิตรอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ และการขาย สามารถใช้ร่วมกันได้ในอนาคต จะเป็นมาร์เก็ตเพลสของอุตสาหกรรม
Volkswagen Industrial Cloud
ทาง AWS ยังได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ให้บริการเกี่ยวกับรถยนต์อย่าง Aptiv, Panasonic Corp และ Nvidia Corp รวมถึงผู้ให้บริการรถเช่าและรถโดยสารยักษ์ใหญ่ เช่น Uber และ Avis และยังมีสตาร์ทอัพผู้ให้บริการรถบรรทุกขนาดใหญ่ขับเคลื่อนอัตโนมัติอย่าง Embark และ TuSimple ของจีนด้วย
ล่าสุดอะเมซอน (Amazon) ได้ร่วมมือกับโตโยต้า มอร์เตอร์ (Toyota Motor) ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมผ่านรถยนต์ที่มีการเชื่อมต่อข้อมูลทั้งหมดของโตโยต้าเพื่อพัฒนาบริการอัตโนมัติบนยานยนต์ใหม่
การขยายความร่วมมือของอะเมซอนและโตโยต้านี้ โตโยต้ามีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะติดตั้งหน่วยการสื่อสารทางข้อมูลในรถยนต์ทุกคันที่ขายในประเทศญี่ปุ่น จีน และสหรัฐฯภายในสิ้นปีนี้ และจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมมาได้ด้วยการใช้หน่วยคลาวด์ของ Amazon.com
การใช้การเรียนรู้ของเครื่องจักร หรือ Machine Learning คือการที่ระบบสามารถเรียนรู้ได้จากตัวอย่างด้วยตนเองโดยปราศจากการป้อนคำสั่งของโปรแกรมเมอร์ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีอื่นๆนี้ โตโยต้ามุ่งหวังจะพัฒนากระบวนการออกแบบและสนับสนุนการบริการต่างๆ เช่น การบำรุงรักษา และบริการแบ่งปันรถ หรือ Car-Sharing พูดง่ายๆคือการให้เช่ารถระยะสั้น จนไปถึงการทำประกันที่มาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่
ก่อนหน้านี้ โตโยต้าได้ใช้บริการแพลทฟอร์ม Azure ของ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เป็นหลักสำหรับความต้องการด้านคลาวด์ คอมพิวติง (Cloud Computing) หรือ ระบบคอมพิวเตอร์ในคลาวด์ ซึ่งคือระบบที่ให้บริการคอมพิวเตอร์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตที่สามารถเข้าถึงและใช้บริการได้จากทุกสถานที่และได้ทุกเวลา อย่างเช่น เซิร์ฟเวอร์ที่เก็บข้อมูล ฐานข้อมูล โดยความร่วมมือกับยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีอย่างไมโครซอฟท์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 และก่อนหน้านี้บริษัทลูกของโตโยต้าได้มีข้อตกลงกับ AWS และขยายความร่วมมือต่อเนื่องล่าสุดกับกลุ่ม Amazon และการทำข้อตกลงนี้ ทำให้ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซสยายปีกไปสู่ธุรกิจยานยนต์ได้มากขึ้น
การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของบรรดาองค์กรใหญ่ๆที่มีแนวโน้มในการใช้กลยุทธ์ มัลติคลาวด์ (Multi-cloud) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีคลาวด์จากหลากหลายผู้ให้บริการ มาใช้รวมกัน เพื่อปรับให้เกิดความเหมาะสมกับประเภทของธุรกิจที่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงให้ความปลอดภัยต่อข้อมูลที่มีความสำคัญต่อองค์กรเป็นอันดับแรกๆ โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของผู้ให้บริการคลาวด์เหล่านั้น และคาดว่าจะมีบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์อีกหลายแห่งหันมาใช้บริการคลาวด์เพิ่มมากขึ้น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา