25 ส.ค. 2020 เวลา 08:51 • สิ่งแวดล้อม
นำเรื่อง สัตว์สงวน มาให้คุณ
EP.04 กูปรี
กูปรี หรือ โคไพร
(ชื่อสามัญ: Kouprey)
(ชื่อวิทยาศาสตร์: Bos sauveli)
กูปรีเป็นสัตว์จำพวกวัว ความยาวหัวถึงลำตัว 210-223 เซนติเมตร หนัก 681 ถึง 910 กิโลกรัม
กูปรีตัวผู้ความสูงที่หัวไหล่ 170-190 เซนติเมตร หางยาว 100 เซนติเมตร ตัวผู้มีเอกลักษณ์โดดเด่นคือเหนียงคอห้อยยาน ซึ่งต่างจากวัวควายชนิดอื่น เหนียงคอบางตัวยาวเรี่ยพื้นดินถึง 40 เซนติเมตร มีรอยบากที่รูจมูก ช่วงใต้ลำตัวและขาท่อนล่างมีสีซีด มีเขาทั้งตัวผู้ และตัวเมียแต่รูปร่างต่างกัน เขาตัวผู้กางออกกว้างแล้วโค้งไปด้านหน้าพร้อมกับช้อนขึ้นบน ปลายเขาแตกเป็นพู่ เขาของตัวผู้อาจยาวได้ถึง 80 เซนติเมตร ส่วนตัวเมียเขาเล็กกว่าของตัวผู้มาก มีรูปร่างคล้ายพิณไลร์ดังแบบเขาของแอนทิโลปบางชนิดในแอฟริกา ยาวได้ประมาณ 40 เซนติเมตร บิดเป็นเกลียวและชี้ขึ้นบน
กูปรีหากินตอนกลางคืน คาดว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับมนุษย์ เมื่อถึงรุ่งเช้าก็จะกลับเข้าป่าทึบไป นอนพักผ่อนตอนบ่ายโดยจะล้อมกันเป็นวงเล็กๆ และแน่นหนา ตกเย็นจึงออกมาที่ทุ่งหญ้าหากินอีกครั้ง หากเป็นในฤดูฝนกูปรีอาจเข้าป่าทึบน้อยลงเนื่องจากเลี่ยงแมลงรบกวน อาหารได้แก่ ไผ่ หญ้าข้าวเปลือก และหญ้าในสกุลหญ้าโรด
กูปรีอาศัยกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งประกอบด้วยตัวเมีย และเด็ก ส่วนตัวผู้จะแยกออกไปรวมจับกลุ่มเป็นฝูงชายล้วนต่างหาก ในฤดูแล้งจึงมาร่วมฝูงกับตัวเมีย ฝูงหนึ่งอาจมากถึง 20 ตัว กูปรีมีนิสัยตื่นตัวไม่อยู่นิ่ง ชอบขุดดิน และแทงตอไม้ ซึ่งเป็นเหตุที่ปลายเขาแตกเป็นพู่ เปรียบเทียบกับวัวแดงแล้ว กูปรีตื่นตัวมากกว่า และมีท่วงท่าการวิ่งสง่างามกว่า บางครั้งกูปรีก็หากินร่วมกับวัวแดง และควายป่า ชอบลงโป่ง และตาน้ำ เดินหากินคืนหนึ่งอาจไกลถึง 15 กิโลเมตร สมาชิกในฝูงมีการแยกออก และกลับมารวมกันอยู่เสมอ
กูปรีพบมีเขตกระจายพันธุ์อยู่ในเทือกเขาพนมดงรัก บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา-ลาว-เวียดนาม อาศัยอยู่ในป่าเปิด ทุ่งหญ้าสลับป่าทึบ คาดว่าในฤดูฝนฝูงกูปรีจะอพยพขึ้นที่สูง
ในปีพ.ศ. 2549 มีรายงานฉบับหนึ่งเปิดเผยการวิเคราะห์ดีเอ็นเอไมโตคอนเดรียของกูปรี พบว่าใกล้เคียงกับวัวแดงมาก ทำให้สันนิษฐานว่า แท้จริงกูปรีอาจเป็นเพียงลูกผสมระหว่างวัวแดงเลี้ยง กระทิง หรือวัวซีบู หาใช่สัตว์ชนิดหนึ่งแยกออกมาต่างหาก อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ต่อมายืนยันว่ากูปรีไม่ใช่ลูกผสม ผู้วิจัยในรายงานข้างต้นก็ยอมรับผลการวิเคราะห์ใหม่นี้เช่นกัน
ฤดูผสมพันธุ์ของกูปรีจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ออกลูกราวเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ตั้งท้องนาน 8-9 เดือน เมื่อถึงเวลาออกลูก แม่กูปรีจะปลีกออกจากฝูงไป ออกลูกครั้งละตัว เมื่อออกลูกแล้วได้หนึ่งเดือนก็จะกลับเข้าฝูงอีกครั้ง ลูกกูปรีมีสีส้มแดง แต่เมื่อโตขึ้นถึงหกเดือน สีตัวจะค่อยเปลี่ยนเป็นสีเทา และสีก็จะเข้มขึ้นตามอายุ ตัวผู้เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่จะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้ม ตัวผู้ปลายเขาเริ่มแตกเป็นพู่เมื่ออายุได้ 3 ปี กูปรีมีอายุเฉลี่ยราว 20 ปี
ปัจจัยการถูกคุกคามของกูปรี
- สภาวะสงครามอินโดจีน เนื่องจากพื้นที่อาศัยของกูปรีเป็นรอยต่อของกลุ่มประเทศอินโดจีน จากผลของสงครามทำให้ที่อยู่อาศัยของกูปรีถูกทำลาย และถูกฆ่าตายโดยไม่สามารถประเมินได้
- การบุกรุกพื้นที่ป่าจากชาวบ้าน ทำให้กูปรีสูญเสียที่อยู่อาศัย และโรคระบาดจากสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านที่ถูกปล่อยไปหากินในพื้นที่ที่มีกูปรีอาศัยอยู่
- การล่าสัตว์ เพื่อยังชีพ และการค้าจากกะโหลก เขา เนื้อของกูปรี ซึ่งชนพื้นเมืองท้องถิ่นจะชอบล่ากูปรีเนื่องจากเนื้อมีรสชาติที่ดี และส่วนต่างๆ ของกูปรีมีราคาในตลาดที่ค่อนข้างดี
ปัจจุบันคาดว่าเหลือกูปรีอยู่ประมาณ 100-300 ตัวเท่านั้น
ไอยูซีเอ็นจัดสถานภาพไว้ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CE)
ไซเตสจัดกูปรีไว้ในบัญชีหมายเลข 1
ในประเทศไทยกูปรีเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน
ทิ้งท้ายเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
จากข้อมูลที่กล่าวว่าเขาของตัวเมียมีรูปร่างคล้ายเขาของแอนทิโลปบางชนิดในแอฟริกา ผมจึงนำภาพของแอนทิโลปมาฝากทุกท่านครับ
EP.05 จะมาในวันพรุ่งนี้ คอยติดตามกันนะครับ
ขอบคุณทุกท่านที่อ่านจนจบ แล้วกลับมาพบกันใหม่
นำเรื่องมาให้คุณ ขอม้าไปก่อน แฮร่~ ลาไปก่อน
ด้วยภาพของกูปรี 🤗🐃

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา