27 ส.ค. 2020 เวลา 10:19 • ท่องเที่ยว
อูเป็ง
สะพานไม้สักที่ยาวและเก่าแก่ที่สุดในโลก
chapter 5
เราออกจากมัณฑะเลย์ไปอมรปุระ ซึ่งเป็นเมืองใกล้กัน
รถแท็กซี่พาเราซอกซอนไปตามท้องถนนที่แออัดและบางทีก็คับแคบ ดูมันเหมือนๆกันไปหมด ถนนที่ไม่มีช่องระบายน้ำ ขยะเก่าๆ
street food ริมทางในเมืองมัณฑะเลย์ ก่อนออกไปเมืองอมรปุระ
ริมทางคลุกอยู่กับดินโคลนเปียกแฉะมีให้เห็นตั้งแต่ออกจากมัณฑะเลย์ จนถึงเขตอมรปุระโดยไม่รู้ตัว
โทนี่คนขับรถพาเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาในซอยแคบๆ ก่อนทะลุลานโล่งครึ้ม ทางซ้ายมือเห็นเวิ้งน้ำนิ่งสีคล้ำ ตัดกับเงาสะพานที่ทอดยาวไปไกลสุดตา
สะพานอูเป็ง สะพานไม้สักที่ยาวและเก่าแก่ที่สุดในโลก มีอายุกว่า 167 ปี และมีความยาวกว่า 1.2 กิโลเมตร สร้างขึ้นจากไม้สักจำนวน 1,086 ต้น ซึ่งเป็นไม้ที่เหลือจากการรื้อพระราชวังกรุงอังวะ
สะพานอูเป็งยังเป็นสถานที่ซึ่งชาวพม่าใช้สัญจรไปมาในชีวิตประจำวัน
ในพม่ายังมีให้เราได้เห็นจักรยานเก่าๆ แบบที่สองหนูน้อยจูงไปขายของที่สะพานอูเป็ง
วิถีชีวิตริมน้ำของประมงพื้นบ้าน
การก่อสร้างสะพานอูเป็งเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1849 และสิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1851 เชื่อกันว่าขุนนางที่ควบคุมการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ มีนามว่า ”อูเบียน” จึงกลายเป็นที่มาของชื่อสะพานในปัจจุบัน
เรือรับจ้างที่พานักท่องเที่ยวชมบรรยากาศกลางทะเลสาบตองตะมานรอบสะพานอูเป็ง
เด็กๆ ก็ใช้สะพานแห่งนี้สัญจรไปโรงเรียน
สาวน้อยประแป้งแต่งหน้า มาให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปเธอเป็นที่ระลึก
เจดีย์กตอคยี ซึ่งอยู่อีกฟากของทะเลสาบ
เราเดินผ่านประตูไม้ ก้าวไปตามแนวไม้ที่พาดวาง ไปไกลถึง 1.2 กิโลเมตร ถ้าเราเดินไปจนสุดปลายสะพานจะได้พบกับวัดกตอคยี ไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นไม้สักจำนวน 1,086 ต้น ซึ่งเป็นไม้ที่เหลือจากการรื้อพระราชวังกรุงอังวะ เพื่อนำมาทำเป็นสะพาน ที่ยิ่งใหญ่ยาวไกล นึกถึงว่าหากเป็นวัง จะใหญ่โตสักเพียงใด
จากนี้เดินทางไม่ไกลกันนัก มีวัดแห่งหนึ่งที่มีการเลี้ยงเพลพระจำนวนมาก หากเราโชคดี จะได้เห็นว่าเป็นอย่างไรนะ ตักบาตรพระเป็นร้อยๆพันๆ รูป
ไปใส่บาตรเลี้ยงเพล
ที่..วัดมหากันดายงค์
เมื่อมาถึงบริเวณวัด เราต่างก็นั่งเล่น บ้างก็อ่านหนังสือกันอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ลานวัดมหากันดายงค์ รอเวลาเมื่อไหร่พระจะลงมารับบิณฑบาตให้เห็นเยอะๆ สักที
โชเฟอร์กับรถคู่ใจของเขา
ป้ายTaxi สไตล์พม่า
รถTaxi วินเทจสีสันสะดุดตา
มองรอบๆ บรรยากาศเหมือนวัดที่เคร่งครัดของไทย แต่ก็มีพื้นที่ให้ฆราวาสอย่างเราๆ ได้เข้ามาพักกายในชายคาวัด โทนี่คนขับรถก็พลอยได้ผ่อนคลายไปกับเราด้วย
อยากรู้ว่ารอบๆวัดมีอะไรให้ดูบ้าง จึงพากันเดินออกไปทางด้านหลังหอฉัน แอบมองพระเณรที่แง้มหน้าต่างชะโงกหน้าออกมาอย่างน่าเอ็นดู
เณรน้อยไร้รอยยิ้มเหมือนถูกช่างภาพบังคับยังไงไม่รู้
ด้านหลังมีคนค่อนข้างพลุกพล่าน อยากรู้ว่าเขาทำอะไรกัน เดินเข้าไปอีกสักหน่อยจึงเห็นโรงครัว ถัดไปเป็นเรือนโรงทาน พวกเราทำหน้าอยากรู้อยากเห็นจังว่า คนพม่าทำบุญในวัดกันอย่างไร
เสียงร้องบอกให้เข้ามาเลย เชิญๆ เข้ามาทานข้าวกันก่อน เป็นภาษาพม่า ฟังไม่ออกหรอก แต่เรารู้ด้วยกริยาท่าทางของผู้เฒ่าที่ผายมือนำเราขึ้นไปบนเรือนศาลาหลังวัด
โรงครัวของวัด ตั้งไฟหุงข้าวหม้อใหญ่
กาน้ำร้อนในตำนาน
แขกเหรื่อมากมายกำลังกินอาหารที่เจ้าภาพเตรียมมาใส่บาตรพระตอนเพล สำรับกับข้าวถูกวางไว้เป็นชุดๆ เขาเตรียมให้เราอย่างรวดเร็วเสร็จเกือบจะทันทีที่เรานั่งลงบนพื้น ฉันคิดในใจ เอาละวา เป็นบุญจริงๆ ที่ได้กินข้าววัด ประหยัดกันไปมื้อนึง
แกงกะหรี่มันแผล็บ แก้เลี่ยนด้วยน้ำพริกกุ้งเสียบ อร่อยจนลืมเพื่อนไปเลย นึกขึ้นได้ว่ายังมีคนเดินโต๋เต๋ถ่ายรูปตรงกุฎิวัดอีกคน กำลังจะไปตามให้มากินข้าวฟรี ผู้เฒ่าก็จูงมือให้มาร่วมวง ทันเวลาพอดี
พระเณรจำนวนมากมาย ตั้งแถวรอ
สำรับอาหารถูกเรียงถวายพระเป็นแถวยาว
พออิ่มดีแล้วก็มีคนเก็บสำรับให้เราเสร็จสรรพจนฉันเกรงใจ ฉันสังเกตว่าผู้คนที่นี่แต่งตัวมาวัดอย่างพิถีพิถัน แม้แต่โสร่งผู้ชายก็แฝงลายปักเหลื่อมวาวด้วยไยไหม ไม่ใช่โลงจีธรรมดาที่เห็นทั่วไป เอ..หรือว่าเป็นงานบุญงานบวชลูกหลานของพวกเขากันนะ
"วัดนี้ต้องเป็นคนมีสตางค์ถึงจะมาทำบุญเลี้ยงพระเป็นร้อยเป็นพันรูปได้ และต้องจองคิวเป็นเดือนนะ...จะบอกให้" เสียงเพื่อนร่วมทางบรรยายประกอบภาพที่อยู่ตรงหน้า
อืมม..จะอย่างไรก็เถอะ พวกเรารู้สึกทึ่งกับประเพณีและพิธีการเลี้ยงเพลของที่นี่ที่อลังการสมคำร่ำลือ นอกจากจะอิ่มท้องแล้วยังพลอยอิ่มบุญไปกับพวกเขาอีกด้วย
ท้องอิ่มแล้ว เวลาก็มีเหลือ เราจึงมุ่งหน้าไปที่พระราชวังมัณฑะเลย์ สถานที่ประวัติศาสตร์แห่งกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า
เรื่องราวที่เกิดขึ้นและภาพถ่ายทุกภาพถูกบันทึกเมื่อเดือนตุลาคม 2549 ด้วยกล้องnikon D200 เป็นการเดินทางเที่ยวพม่าในขณะที่ประเทศนี้ยังไม่เปิดรับการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบเหมือนในปัจจุบัน
เล่าเรื่องโดย สีละมัน
ถ่ายภาพโดย อนุพันธ์ สุภานุสร
#ถ่ายรูปเล่าเรื่อง #fototeller #keepshooting #เที่ยวพม่า #เที่ยวมัณฑเลย์ #เที่ยวเมียนมาร์ #เที่ยวอังวะ #เที่ยวพุกาม #เที่ยวภูเขาโปปา #เที่ยวตลาดยองน์อู #เที่ยวสะกาย #เที่ยวมินกุน #เที่ยวอินเล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา