28 ส.ค. 2020 เวลา 09:09 • ท่องเที่ยว
พระราชวังมัณฑะเลย์
...ในวันที่เงียบเหงาวังเวง
chapter 6
ในวันที่เราได้เข้าไปเยือน ที่นี่แทบไม่เหลืออะไรให้ดูนัก เพราะทุกอย่างถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับการท่องเที่ยว นอกจากเราแล้ว เห็นมีหนุ่มสาวพม่าอยู่สองสามกลุ่มที่มาเที่ยว
พระราชวังที่เคยมีชีวิตชีวา
นึกถึงยามที่พระราชวังแห่งนี้เต็มไปด้วยเหล่านางกำนัล เสนาบดี ที่รื่นเริงไปกับเสียงปี่พาทย์ ประโคมกลอง แทรกด้วยเสียงกรีดร้องโหยหวนของเหล่าเชื้อพระวงศ์ ที่ถูกพิฆาตด้วยแผนของพระราชินี ‘soup plate’
เมื่อไร้ผู้คนที่นี่ก็ดูเวิ้งว้างและเงียบเหงา
ในหนังสือพม่าเสียเมือง ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่ากำแพงเมืองมัณฑะเลย์ทั้งสี่ด้าน แต่ละด้านมีสามประตู รวมเป็นสิบสองประตู ที่เสาประตูเมืองและที่สำคัญอื่นๆ ได้ฝังคนเป็นๆ ไว้ด้วย ท่านว่ากรุงมัณฑะเลย์สร้างทีหลังกรุงเทพฯหลายสิบปี ตอนสร้างกรุงเทพฯ นั้นประเพณีฝังคนได้เลิกไปแล้ว
เมืองมัณฑะเลย์นั้นย้ายมาจากอมรปุระ โดยพระเจ้ามินดง ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 4 ของไทย ทรงมีพระชายามากถึง 45 พระองค์ แต่องค์ที่มีผลต่อประวัติศาสตร์ของพม่าคือพระมเหสีองค์รอง ซึ่งเป็นพระมารดาของพระราชินีองค์สุดท้ายของพม่าที่ชื่อพระนางศุภยลัต พระองค์ทรงจัดการให้พระราชธิดาอภิเษกกับเจ้าชายธีบอ หรือ สีป่อ ผู้อ่อนแอ
ฉันพลิกดูหนังสือที่วางขายอยู่ตรงบันไดทางขึ้นพระราชวัง ด้วยความอยากเห็นรูปจริงของพระนางศุภยลัต ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร มีเจ้าหน้าที่สองสามคนนั่งอยู่หน้าตาปราศจากรอยยิ้ม เธอพลิกหน้าหนังสือแล้วชี้ให้ดู ฉันเพ่งมองดวงหน้ารูปไข่ สองแก้มเปล่ง ตายาวรี ผิวหน้าดูเนียนแน่น นึกไม่ออกว่าเป็นผู้หญิงที่โหดร้ายไปได้ยังไง
พระนางศุภยาลัต ภาพคัดลอกมาจาก Wikipedia®
ฉันยืนมองหอคอยที่พระนางศุภยาลัตเสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรเรือรบอังกฤษให้เห็นกับตา ด้วยไม่เชื่อว่าราชวงศ์ของพระองค์จะต้องพ่ายแพ้แก่ข้าศึก แต่ทรงเชื่อในคำสอพลอของพวกขุนนางว่าพม่าจะต้องชนะ ด้วยพระบารมีของพระองค์
ฉันนึกภาพตามตัวหนังสือที่ท่านคึกฤทธิ์ บรรยายไว้ในเรื่องพม่าเสียเมือง
“พระนางศุภยาลัตหันพระพักตร์กลับและเสด็จลงจากหอคอยทันที...ความจริงที่เข้ามาทำลายโมหะแห่งพระนางศุภยาลัตก็ท่วมท้นพระราชหฤทัย ทรงร้องขึ้นด้วยเสียงอันดัง แล้วก็ทิ้งทอดพระองค์ลงกับพื้นดินและทรงกันแสงทุบพระอุระอยู่
ณ ที่นั้น...........เพียงครู่เดียวพระนางก็ได้สติ ทรงลุกขึ้นยืนและจับพระเกศาให้เรียบร้อยเข้าที่ แล้วเสด็จอย่างนางพระยา"
เมื่ออังกฤษเข้ายึดกรุงมัณฑะเลย์ได้ ก็ไม่ได้เห็นความสำคัญของพระราชวังว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป ซ้ำยังใช้เป็นสโมสร ที่อาศัยของข้าหลวงอังกฤษเสียอีก
เราเดินออกจากพระราชวังมัณฑะเลย์ ที่วันนี้แสนจะเงียบเหงา มีเสียงดังก้องขึ้นมาในหัว เป็นฉันเองที่ร้องถามอยู่ในใจว่า เหล่าเทพเทวดาที่คอยคุ้มครองพระราชมณเฑียรสถานยังสถิตอยู่ที่นี่หรือไม่หนอ
อังวะ..ที่สุดแห่ง slow life
ช้าๆ ที่...อังวะ
ถ้ามัณฑะเลย์ทำให้เราวุ่นวายเกินไป ก็ออกไปนอกเมืองดีกว่า
โทนี่พาเราแยกซ้ายเข้าสู่ถนนที่ร่มรื่นด้วยกิ่งไม้สองข้างทางที่โค้งมาจบกันเป็นอุโมงค์
เดินลอดอุโมงค์ต้นไม้ คือวิถีสัญจรของชาวเมืองที่นี่
ไม่นานเราก็ถึงท่าน้ำมยิตแหง่ เสียเงินคนละ 1000 จัตต์ข้ามเรือไปฝั่งตรงข้ามที่มองเห็นได้ไม่ไกลนัก
เรากำลังไปอินน์วะ หรือ อังวะ หรืออีกชื่อว่ารัตนบุรี
แดดร้อนแรงเสียจนพวกเราไม่ต้องเสียเวลาคิดให้ยุ่งยาก เมื่อที่นี่มีบริการรถม้าให้เที่ยวชมปราสาทราชวังสมัยอังวะ พวกเราต่างตะกายขึ้นที่นั่งด้านหลังอย่างไม่รีรอ
เส้นทางที่่พาเราข้ามเวลาไปหาอดีต
หนุ่มพม่าท่าทางแบบจิ๊กโก๋อารมณ์ดี ขับม้าพาเราไปตามเส้นทางขรุขระ ลุ่มๆดอนๆ เรานั่งกันคันละสองคน สภาพของเราไม่ต่างจากรถม้าคันหน้า เมื่อเห็นเพื่อนหัวโยกหัวคลอน ก้นกระเด้งกระดอนจนแทบไม่ติดเบาะ
มันก็สนุกดีหรอกนะ ถ้าเป็นอะไรแบบนี้บ้างบางช่วง แต่ดูเหมือนเราต้องนั่งเต้นระบำไปอีกเกือบครึ่งชั่วโมง
ถนนแคบๆ ในหมู่บ้านที่ร่มรื่น
ระหว่างทางเราผ่านบ้านเรือนริมทาง บางบ้านนั่งถักทอเสื่อจากหญ้าแห้ง มองไม่ถนัดว่าเป็นหญ้าอะไร ที่ทำเสร็จแล้วก็วางขายเป็นตั้งๆอยู่หน้าบ้าน
เจ้าหนุ่มเลี้ยวซ้ายเข้าไปทางที่แคบและขรุขระกว่าเดิม ท้องนาเขียวขจีอยู่สองข้างสลับกับดงไม้รกเรื้อ ทุ่งข้าวนั้นสวยสบายตาอยู่หรอก ว่าแต่จะพาไปถึงไหนฮึ!พ่อหนุ่ม ฉันอดถามไม่ได้ ในขณะที่มือต้องยึดราวไว้แน่น เด็กหนุ่มบุ้ยใบ้ไปข้างหน้า แล้วพักม้าไว้ใต้ร่มไม้ใหญ่
Bagaya Monaster อารามไม้สักสีเข้ม
จากทางทุรกันดาร ใครจะคาดคิดว่ามีอารามไม้สักสีเข้มทะมึนซ่อนตัวอยู่ ตรงบันไดทางขึ้นมีป้ายบอกว่าที่นี่คือ Bagaya Monastery สร้างในปี 1834 ในสมัยกษัตริย์บากะยีดอ
เราถอดรองเท้าเดินบนพื้นไม้สักเก่าแก่ แว่วเสียงเด็กท่องอาขยานอยู่แถวปลายเรือน เดินผ่านหอเล็กทางซ้ายมือ ในห้องโถงเล็กๆ ฉันหยุดมองตามเงาแดดส่องสามเณรสองรูปที่กำลังอยู่ในสมาธิท่องจำบทเรียน เรือนไม้สักดูมีชีวิตขึ้นมาทันที แต่เณรน้อยคงไม่รู้ตัว
วัดบากายา ทำให้เราอึ้งกับเสาไม้สักจำนวน 267 ต้น ท่อนที่ใหญ่ที่สุดนั้นสูง 60 ฟุต อยู่ในอาคารใหญ่ ส่วนท่อนที่อ้วนใหญ่เส้นรอบวง 9 ฟุต นั้นอยู่ตรงหัวมุมของชานด้านนอก
แสงเงาลอดเข้ามาภายในเรือนเสาไม้สักขนาดใหญ่
ลวดลายแกะสลักตามประตูหน้าต่าง เชิงชายหลังคาชั้นบนสุด บ่งบอกถึงความเป็นเลิศทางศิลป์สมัยอังวะ
เป็นงานที่ประณีตและให้ความรู้สึกอลังการ
เป็นงานไม้ล้วนๆ ทำให้เราทึ่งกับฝึมือช่างโบราณ
พวกเราต่างรู้สึกคุ้มค่าและหายเหนื่อยจากรถม้าดีดกระโหลกเป็นปลิดทิ้ง
เรากำลังถูกดีดตัวขึ้นๆลงๆ อีกครั้ง เมื่อรถม้าลากเราไปดูหอสังเกตการณ์ นันมยิ่น-มะหน่าวสิ่น นี่คงเป็นหอคอยดูข้าศึกสมัยโบราณ ไม่แน่ใจว่าเขาให้ขึ้นไปหรือเปล่า ดูมันเอนๆ ยังไงชอบกล
หอเอนอยู่ท่ามกลางดงหญ้า
ไม่ไกลจากนี้นัก วัดสีเหลืองอ่อนที่ชื่อว่า วัดมหาอ่องมเหย่บองซาน ป้ายหน้าวัดที่หลุดลอกอ่านพอได้ใจความว่าพระราชินีสร้างให้กับพระอาจารย์ เมื่อปี 1822 ต่อมาได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวเมื่อปี 1838 และถูกบูรณะใหม่โดยธิดาของพระราชินี
หญิงสาวเอนกายสบาย หน้าวัดมหาอ่องมเหย่บองซาน
วัดนี้สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน หนังสือบางเล่มบอกว่าพระนางสร้างให้กับพระอาจารย์ที่เป็นชู้รัก นั่นน่ะซิ ลวดลายปูนปั้นถึงได้ดูชดช้อยอ่อนหวานทีเดียว หรือพยายามคิดไปให้มันเข้าเค้า ก็ทำให้การเดินชมวัดแห่งนี้น่าสนใจไปอีกแบบ
เด็กๆ ไม่อายที่ถูกบันทึกภาพ
ดูเราจะคุ้นเคยกับคำว่า อังวะ มากกว่า ฉันไม่เคยคิดมาก่อนว่า เมืองอังวะจะเป็นยังไง ฉันไม่ได้เห็นอังวะอย่างทั่วถึง เห็นก็แต่เฉพาะตามเส้นทางที่ถูกจัดให้เที่ยวชม ก็ทำให้พวกเราฉงนปนสงสัย ว่าทำไม อังวะ ถึงหลุดโลกได้ขนาดนี้
อังวะยังหมุนรอบตัวเองอยู่รึเปล่า หรือว่าตามเส้นทางรถม้าที่ผ่านมาเป็นฉากที่จัดไว้สำหรับการท่องเที่ยว อังวะไม่ได้ซ่อนความคึกคักวุ่นวายไว้หลังชายป่าทึบหรอกนะ ฉันคิดอย่างกังขา
จะยังไงก็เถอะ ฉันมองอังวะเล่าเรื่องตัวเองแบบตรงไปตรงมา ไม่สนใจอดีตอันยิ่งใหญ่ของตัว ต้นไม้ใหญ่ ทุ่งนา ป่าไผ่ทั้งหลายอยู่ของมันอย่างนั้น ด้วยจริตที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ
ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ความดิบ และสันโดษ นี่แหละคือเสน่ห์ที่ชวนหลงใหลของอังวะ
รถม้ามาส่งเรากลับที่ท่าเรือ โลกย้อนเวลาของที่นี่ทำให้ชีพจรเของเราเต้นช้าลง ค่ำนี้เราจึงมุ่งหน้าไปเมืองสะกาย เมืองเล็กๆ ที่ให้เราผ่อนลมหายใจได้อีกเมืองหนึ่ง
เรื่องราวที่เกิดขึ้นและภาพถ่ายทุกภาพถูกบันทึกเมื่อเดือนตุลาคม 2549 ด้วยกล้องnikon D200 เป็นการเดินทางเที่ยวพม่าในขณะที่ประเทศนี้ยังไม่เปิดรับการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบเหมือนในปัจจุบัน
เล่าเรื่องโดย สีละมัน
ถ่ายภาพโดย อนุพันธ์ สุภานุสร
#ถ่ายรูปเล่าเรื่อง #fototeller #keepshooting #เที่ยวพม่า #เที่ยวมัณฑเลย์ #เที่ยวเมียนมาร์ #เที่ยวอังวะ #เที่ยวพุกาม #เที่ยวภูเขาโปปา #เที่ยวตลาดยองน์อู #เที่ยวสะกาย #เที่ยวมินกุน #เที่ยวอินเล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา