2 ก.ย. 2020 เวลา 01:00 • ธุรกิจ
คุณจะยอมแพ้ไหม? ถ้าคุณทำธุรกิจแล้วเจ๊งถึงสองครั้ง คุณจะลุกขึ้นมาได้อย่างไร? ในวันที่บริษัทกำลังจะไปไม่รอด และคุณต้องทุ่มเงินส่วนตัวเกือบทั้งหมดมาใช้ประคองบริษัทให้ไปต่อ นี่คือเรื่องราวของการล้มลุกคลุกคลานของสตาร์ทอัพไทย Globish โกลบิช ภาษาอังกฤษสำหรับวัยทำงาน สถาบันสอนภาษาอังกฤษที่เริ่มต้นจากอุดมการณ์ในการมอบการศึกษาที่ดีและราคาจับต้องได้ให้เบ่งบานในประเทศไทย
#จุดเริ่มต้น
Globish คือสถาบันสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ ซึ่งใช้ Business Model ที่ประสบความสำเร็จมาจากประเทศญี่ปุ่น โมเดลที่ว่าคือการเรียนภาษาอังกฤษกับครูชาวฟิลิปปินส์ผ่านวิดีโอคอลไร้สาย โดย “คุณทรอย” เพื่อนจากค่าย Asian Leadership Academy และ CEO คนปัจจุบันของ Globish ได้ชักชวนคุณจุ๊ยให้มาร่วมงานกัน ในตอนนั้นคุณจุ๊ยกำลังรอผลสมัครงานที่ UNIQLO รู้สึกถูกชะตากับคุณทรอย บวกกับกำลังว่างงาน เมื่อถูกชวนให้มาร่วมงานจึงตัดสินใจเข้าร่วมทันที แม้จะไม่ได้มี Passion ด้านการศึกษาก็ตาม Globish กำเนิดจากไอเดียของนายทุนญี่ปุ่นท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ให้เงินลงทุนแรกเริ่ม หรือ Pre-Seed Investment จำนวน 1 ล้านบาทกับคุณทรอย โดยในช่วงเริ่มต้น Globish แบ่งบริษัทอยู่สองประเทศ ทางฝั่งฟิลิปปินส์จะดูแลการสมัครคุณครู ส่วนทางประเทศไทยจะเน้นไปที่การหานักเรียน
#UNIQLOorGlobish?
ในระหว่างที่ปั้น Globish ให้เติบโตนั้นคุณจุ๊ยก็ยังทำ UNIQLO ไปด้วย ด้วยการทำงานเป็นกะเวลาจึงสามารถจัดตารางชีวิตได้ง่าย ช่วงนอกเวลางานและวันหยุดเธอจะมอบให้กับ Globish ทำอยู่อย่างนั้นถึง 4 เดือนเต็มจึงตัดสินใจลาออกและมาทุ่มให้ Globish เต็มตัว เธอเก็บเงินจากโปรแกรม Manager Candidate ได้ค่อนข้างเยอะ ในขณะที่นายทุนญี่ปุ่น (ที่ขณะนั้นถือหุ้น Globish 100%) ก็ยังให้เงินเดือนเธอด้วย ทำให้เก็บเงินได้หลายแสน จนกระทั่ง Globish ขาดสภาพคล่องและนายญี่ปุ่นหยุดให้เงินลงทุน คุณจุ๊ยตัดสินใจไม่รับเงินเดือนนานถึง 6 เดือน และถอนเงินเก็บในบัญชีออกมาช่วย Globish จนเหลือเงินในบัญชีเพียงหลักร้อย ตอนนั้นเธอเชื่อมากๆ ว่าธุรกิจจะเติบโตขึ้นได้อีก
#สุดท้ายGlobishก็เจ๊ง!
แม้ว่าทางฟิลิปปินส์จะสามารถหาคุณครูมาสอนได้กว่า 400 คน แต่ทางฝั่งไทยใช้เงินสนับสนุนจากญี่ปุ่นไปกว่า 1 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่สามารถหาคนมาเรียนได้เลย เมื่อไม่เห็นความคืบหน้า ทางฝั่งนายทุนญี่ปุ่นจึงหยุดการให้เงินทุน ทั้งคู่จึงต้องหาหนทางว่าจะทำยังไงให้ได้เงินทุนเพิ่ม ทางรอดของทั้งสองคนในตอนนั้นคือการพา Globish ไปสู่สายตานักลงทุนและไปร่วมงานสัมนาเพื่อเจรจาธุรกิจ การเข้าร่วมงานสัมนาในครั้งนั้นคือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของ Globish
#จุดเปลี่ยน
ที่นั่นพวกเขาได้พบเข้ากับ คุณพจน์และคุณออม และหลังจากนั้นก็ติดต่อกันเป็นประจำ และมักนัดเจอกันตามบาร์ยามค่ำคืน รุ่นพี่ทั้งสองได้สอนความรู้เกี่ยวกับสตาร์ทอัพมากมาย และชวนทั้งคู่ไปออดิชั่นรายการ “เสือติดปีก” รายการที่นักธุรกิจสตาร์ทอัพมาร่วม Pitch ธุรกิจต่อหน้าคณะกรรมการ โดยผู้ชนะจะได้รับเงินทุนไปสานต่อธุรกิจ เมื่อได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ทั้งคู่เลยมีไฟที่จะปั้น Globish ให้ไปต่อ ก่อนที่จะเข้าร่วมรายการเสือติดปีก คุณจุ๊ยและคุณทรอยได้ตัดสินใจเจรจากับนายทุนญี่ปุ่นว่าจะขอปรับสัดส่วนการถือหุ้น จากนายทุนถือ 100% ปรับเป็น 10% และทั้งสองจะถือหุ้นในสัดส่วน 90% เพื่อไประดมทุนกับนักลงทุนต่อไป ซึ่งคำตอบที่ได้รับก็เกินความคาดหมายมากๆ เพราะนายทุนตอบตกลงกลับมา
“นายทุนญี่ปุ่นคือผู้ก่อตั้ง Globish เป็นผู้เริ่ม Passion ที่แท้จริง และนำเงินส่วนตัวมาลงทุน บินไปกลับญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์อยู่บ่อยๆ สุดท้ายก็ยอมรับข้อเสนอเพราะมีอุดมการณ์อยากช่วยประเทศที่กำลังพัฒนา ให้เยาวชนในประเทศนั้นๆ ได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น” พี่จุ๊ยกล่าว
#เงินทุนและการเติบโตของเพจGlobishอังกฤษแนวใหม่ใครๆก็พูดได้
ในขณะที่ธุรกิจกำลังล้มลุกคลุกคลาน คุณจุ๊ยและคุณทรอยก็พยายามประคองบริษัทไว้หลายวิธี ทั้งทดลองทำคอร์สสำหรับคนพิการ ไปจนถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญคือการคือการรับผลิต OEM สื่อการสอนให้กับ “คุณชัย ชัยพนธ์ ชวาลวณิชชัย” เจ้าของสถาบันสอนภาษาอังกฤษ Mind English ในขณะนั้นและเจ้าของเพจ ENG Me Please โดยมีคุณชัยเป็นผู้หาลูกค้า และทั้งสองจัดทำสื่อการสอนและหาคุณครู ทำให้แม้ทั้งคู่จะไม่มีความรู้ทางด้าน Digital Marketing เลย แต่ก็สามารถทำเงินได้กว่า 500,000 บาท และใช้งบการตลาดเพียงศูนย์บาทเท่านั้น
ทั้งคู่ยกเหตุการณ์นี้ขึ้นมาเล่าเป็นไม้ตายและถามนักลงทุนเหล่านั้นว่า ด้วยงบศูนย์บาทยังทำกำไรได้มากขนาดนั้น หาก​ Globish มีงบประมาณการตลาด Globish จะสามารถเติบโตได้ขนาดไหน ทั้งคู่คว้าชัยชนะจากรายการเสือติดปีกในท้ายที่สุด ได้รับเงินจากนักลงทุนกว่า 4 ล้านบาท จากนั้นตัดสินใจขอซื้อเพจ ENG Me Please จากคุณชัยซึ่งในขณะนั้นมียอดไลค์กว่าแสนไลค์แลกกับหุ้น Globish และขอบริหารเพจต่อเอง โดยเปลี่ยนชื่อจาก ENG Me Please เป็น Globish อังกฤษแนวใหม่ใครๆ ก็พูดได้ และเป็น Globish โกลบิช ภาษาอังกฤษสำหรับวัยทำงาน ในปัจจุบัน
#ผิดจากที่วางแผนไว้
ทั้งคู่บอกในรายการว่าคอร์สเรียนของ Globish ราคาเพียง 80 บาทเท่านั้น จึงคาดหวังว่าหลังจากเสือติดปีกออกอากาศ คนจะต้องซื้อคอร์สถล่มทลาย แต่ในความเป็นจริงยอดขายกลับไม่ได้พุ่งขึ้นตามที่คิดไว้ อย่างไรก็ตามทั้งคู่พบพฤติกรรมที่น่าสนใจของลูกค้านั่นคือ การโทรเข้ามาสอบถามก่อนตัดสินใจ ผนวกกับในตอนนั้นมีเด็กแลกเปลี่ยนชาวต่างชาติจากโครงการ AIESEC เข้ามาฝึกงานที่บริษัทและอาสาวัดระดับภาษาของลูกค้าให้ คุณจุ๊ยจึงสร้างกลยุทธ์ใหม่โดยเริ่ม Customer Journey จากการให้ผู้สนใจได้วัดระดับภาษาจากชาวต่างชาติจริงๆ มาผสานกับงานขายและการให้คำปรึกษา วิธีนี้ทำให้ยอดการเติบโตพุ่งสูงมาก
“ทุกอย่างเกิดขึ้นจากความบังเอิญและการไม่มองข้ามทุกโอกาสที่เข้ามา การจัดทีม Sales + Consultant ขึ้นมาเป็นหมากที่สำคัญมากๆ เพราะตามหลักการตลาดแล้ว มันคือการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก หรือ Consumer Insight ได้ดีมากๆ” คุณจุ๊ยกล่าว และนี่ยังเป็นกลยุทธ์ที่สร้างลูกค้าให้ Globish มาจนถึงปัจจุบัน
#ทำไมถึงยังอยากทำในเมื่อจะเจ๊งหลายรอบ?
คุณจุ๊ยเชื่อใน Pain Point มากๆ เพราะตนเองพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ ทุกวันนี้ก็ยังพูดให้เหมือนเจ้าของภาษาไม่ได้สักที จึงมี Pain Point จากชีวิตส่วนตัวในสมัยเด็กที่อยากเรียนภาษาอังกฤษมาก แต่คอร์สมีราคาสูง และเคยมีประสบการณ์ไม่ดีจากสถาบันราคาถูกมาก่อน
“มันต้องมีคนแบบเรา ที่อยากเรียนภาษาอังกฤษ แต่หาที่เรียนไม่ได้”
“ที่ถูกๆ ก็ไม่ดี ที่แพงๆ ก็จ่ายไม่ไหว”
คุณจุ๊ยเคยไปนั่งอยู่หน้าสถาบันสอนภาษาในสยาม เพราะอยากทำ Consumer Interview สัมภาษณ์ไปกว่าร้อยคนจนได้ข้อสรุปมาว่า คนไม่ได้อยากเรียนภาษาอังกฤษเพราะอยากพูดได้ แต่อยากเรียนเพราะอยากเลื่อนขั้น อยากช่วยคนอื่น หรืออยากไปเที่ยวต่างประเทศ​ การทำ Market Research เชิง Qualitative แบบนี้ทำให้มีข้อมูลมากกว่าสถาบันสอนภาษาอังกฤษอื่นๆ
#เจอคู่แข่ง #จะเลิกหรือไปต่อ?
คนส่วนใหญ่ที่ทำธุรกิจแล้วเจ๊ง มักติดกับดักชุดความคิดที่ว่าต้อง “สมบูรณ์แบบ” ซึ่งการทำบางอย่างให้ออกมาสมบูรณ์ไร้ที่ติมักจะใช้เงินเยอะและใช้เวลานาน ไม่ตอบโจทย์การเป็นสตาร์ทอัพที่ต้องเคลื่อนตัวให้ไว อีกทั้งยังต้องเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และลองทำอะไรที่แหวกจากความกลัวบ้าง เช่น หลายคนไม่รู้ว่า CTO ของบริษัท 4 ปีที่แล้วคือนักศึกษาคณะวิศวะกรรมศาสตร์ชั้นปีที่สอง หรือตอนที่ Globish เคยมีระบบการจองเวลาที่ยังไม่ดีนัก คุณจุ๊ยก็ลอกไอเดียที่คิดว่าเวิร์คมาจากคู่แข่งเอาดื้อๆ เลย
“การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญมาก เราต้องเป็นนักปรับตัวแห่งชาติ ต้องสังเกตดูคู่แข่งและปรับใช้สิ่งที่ดี” คุณจุ๊ยกล่าว
ครั้งหนึ่ง Globish เคยไปขายงานกับนักลงทุน แต่กลับต้องตะลึงจนกลับมาประชุมด่วนที่บริษัท เพราะเจอคู่แข่งที่ขายคอร์สราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่ง เย็นนั้นคุณจุ๊ยและคุณทรอยถามทุกคนในห้องประชุมว่า จะเลิกหรือไปต่อ? ทุกคนก็ตกตะกอนทางความคิดจนเจอจุดแตกต่างของ Globish “เป้าหมายของนักเรียนแตกต่างกัน เราไม่ได้อยากทำของที่ถูกที่สุด แต่เราจะทำของที่ดีที่สุดและแตกต่าง” คุณจุ๊ยกล่าว
ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มี Passion ในด้านการศึกษา แต่เมื่อได้เข้ามาลงมือทำ ได้สัมผัส และพบเจอเรื่องราวความสำเร็จของนักเรียน เธอจึงได้พบว่า นั่นแหละคือความสำเร็จที่แท้จริงของ Globish
#careerfact
…………………………
สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ ต่อได้ที่ Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว (อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเท้นท์ดีๆ)
Subscribe Career Fact - https://bit.ly/CareerFactYT
โฆษณา