5 ก.ย. 2020 เวลา 02:37 • ธุรกิจ
“แซม วอลตัน (Sam Walton)” ตำนานแห่งอาณาจักรค้าปลีกโลก
หลายคนน่าจะรู้จัก “วอลมาร์ท (Walmart)” อาณาจักรค้าปลีกยักษ์ใหญ่ระดับโลก
ถึงแม้วอลมาร์ทจะไม่มีสาขาในไทย แต่เชื่อว่าหลายคนรู้จักอาณาจักรค้าปลีกนี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับผู้ที่เคยไปสหรัฐอเมริกา
ผู้ก่อตั้งวอลมาร์ทคือ “แซม วอลตัน (Sam Walton)”
แซมเกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) ที่โอคลาโฮม่า สหรัฐอเมริกา
ครอบครัวของแซมนั้นเป็นเจ้าของฟาร์ม โดยพ่อของแซม นั่นคือ “โทมัส วอลตัน (Thomas Walton)” ใช้ชีวิตอยู่ในฟาร์มมาตลอดชีวิต
บ้านเกิดของแซม
ส่วนแม่ของแซมคือ “แนนซี ลอว์เรนซ์ (Nancy Lawrence)” ได้เคยมีโอกาสศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งในยุคนั้น การที่ผู้หญิงได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย นับเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ แนนซีจึงเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา
แซมนั้นช่วยงานในฟาร์มมาตั้งแต่ยังเด็ก และในปีค.ศ.1921 (พ.ศ.2464) “เจมส์ วอลตัน (James Walton)” หรือที่ทุกคนเรียกว่า “บั๊ด (Bud)” น้องชายของแซมก็ได้เกิดมา โดยสองพี่น้องนั้นเล่นและช่วยงานในฟาร์ม
แซมและบั๊ด
การทำฟาร์มนั้นเป็นสิ่งที่ยากและเสี่ยง ยิ่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 จบ ปีต่อมา ยอดขายข้าวสาลี ข้าวโพด รวมทั้งผลผลิตอื่นๆ นั้นตกลงอย่างมาก
ในช่วงสงคราม ชาวไร่และนักธุรกิจอเมริกันต่างประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี พวกเขาสามารถขายเสบียงให้กองทัพอเมริกันได้เป็นจำนวนมาก หากแต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ยอดขายก็ตกลง ธุรกิจและฟาร์มหลายแห่งต้องล้มละลาย รวมทั้งโทมัส พ่อของแซมเองก็ต้องประสบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก
โทมัสนั้นต้องคิดหนัก เขารักชีวิตในฟาร์ม แต่เขาก็มีครอบครัวที่ต้องดูแล
ลุงของโทมัสนั้นทำงานในบริษัทที่รับซื้อฟาร์มของชาวนา โทมัสจึงตัดสินใจขายฟาร์มและเข้าทำงานในบริษัทของลุง โดยครอบครัววอลตันต้องย้ายไปยังเมืองสปริงฟิลด์ รัฐมิสซูรี่ ก่อนที่ในปีต่อมา จะย้ายไปยังเมืองมาร์แชลล์
เมืองมาร์แชลล์
การได้มาอาศัยอยู่ในเมืองนั้นแตกต่างจากตอนที่อาศัยอยู่ในฟาร์ม โดยแซมเองนั้นยังคงต้องการจะช่วยครอบครัวหาเงิน และเขาก็ต้องหาทางที่จะหาเงินในเมืองแห่งนี้
แซมเพิ่งจะเรียนอยู่ชั้นเกรดสอง (ป.2) แต่เขาก็อยากจะทำงานแล้ว โดยแซมได้ใช้เวลาหลังเลิกเรียน ขายนิตยสาร ทำให้แซมเรียนรู้การพูดคุยกับผู้ใหญ่ และเรียนรู้การโน้มน้าวให้ลูกค้าซื้อสินค้า
ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ผู้คนนับล้านตกงานและสิ้นเนื้อประดาตัว
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
แซมนั้นมักจะไปกับโทมัสผู้เป็นพ่อ โดยโทมัสต้องแวะไปหาผู้ที่ยืมเงินมาจ่ายค่าที่ดินหรือฟาร์มของตน ซึ่งหลายรายก็ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายคืนได้
แซมเห็นผู้คนต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินมาจ่ายหนี้ และรู้ถึงความยากลำบากในการหาเงิน
นอกจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว ชาวนาจำนวนมากยังต้องเผชิญกับความแห้งแล้งอีกด้วย
ด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำพ่วงด้วยความแห้งแล้ง ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาติดลบอย่างหนัก และแซมเองก็ต้องทำงานหลายอย่างเพื่อหาเงิน แบ่งเบาภาระของครอบครัว
แซมและแม่ได้เริ่มขายนมจากวัวที่พวกเขาซื้อมาและเลี้ยงไว้ที่สวนหลังบ้าน โดยแซมเป็นคนรีดนมวัว ส่วนแนนซีเป็นคนที่นำนมไปทำเป็นครีม และจัดการเรื่องแพ็กเกจจิ้ง
นอกจากเลี้ยงวัวแล้ว แซมยังเลี้ยงกระต่ายและส่งขาย อีกทั้งยังส่งหนังสือพิมพ์ โดยแซมนั้นมีเส้นทางที่ต้องส่งหนังสือพิมพ์หลายเส้นทาง และเยอะมากจนแซมต้องจ้างเด็กคนอื่นๆ มาช่วย
ถึงแม้ว่าแซมจะทำงานหนักมาก แต่เขาก็ได้เข้าร่วมกับหน่วยลูกเสือ และได้รับเหรียญเกียรติยศและได้ขึ้นเป็นหัวหน้าหน่วยอีกด้วย
ขณะที่กำลังจะขึ้นชั้นมัธยมปลาย ครอบครัวของแซมก็ได้ย้ายบ้านอีกครั้ง คราวนี้ไปเมืองโคลัมเบีย
โคลัมเบียเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดที่ครอบครัววอลตันเคยอาศัย และหนึ่งในสาเหตุที่ครอบครัวเลือกเมืองนี้ ก็เนื่องจากเมืองนี้เป็นที่ตั้งของ “มหาวิทยาลัยมิสซูรี่ (University of Missouri)” โดยแม่ของแซมต้องการให้ลูกๆ ศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย
ขณะเรียนอยู่ในชั้นมัธยมปลาย แซมเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล และแซมยังได้เข้าชมรมต่างๆ มากมาย ทำให้เขาเป็นคนดัง มีเพื่อนฝูงมากมาย อีกทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นประธานนักเรียน
ต่อมา แซมได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมิสซูรี่ ซึ่งที่นี่ เขาก็ยังคงได้รับเลือกให้เป็นประธานนักศึกษาและเป็นที่รักของเพื่อนๆ
หนึ่งในบทเรียนที่แซมได้เรียนรู้จากการเร่ขายนิตยสารและการเป็นสมาชิกชมรมต่างๆ นั่นก็คือ
“หนึ่งในความลับในการเป็นผู้นำ คือจงทัก พูดคุยกับคนที่เดินสวนมา ก่อนที่เขาจะทักคุณ”
ขณะที่ใกล้จะเรียนจบ แซมมีความต้องการจะศึกษาต่อทางด้านธุรกิจ แต่เขาก็รู้ดีว่าครอบครัวคงไม่มีเงินพอที่จะส่งเขาเรียนต่อ
แซมต้องหาเงินเรียน และในปีค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) แซมก็ได้พบกับบริษัทที่บริหารห้างค้าปลีกอยู่สองบริษัท นั่นคือ “เจซี เพนนีย์ (J.C. Penney)” ที่ตั้งอยู่ในนิวยอร์ก ส่วนอีกบริษัทคือ “เซียร์ส (Sears)” ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่และเก่าแก่และตั้งอยู่ในชิคาโก้
เจซี เพนนีย์ (J.C. Penney)
เซียร์ส (Sears)
ทั้งเจซี เพนนีย์และเซียร์ส ต่างเสนองานให้แซมทำ ซึ่งแซมในวัย 22 ปีก็ตกลงจะทำงานกับเจซี เพนนีย์
แซมเริ่มต้นทำงานที่ร้านเจซี เพนนีย์ สาขาไอโอวา
พนักงานในร้านต่างทำงานหนัก มักจะเริ่มงานตอนหกโมงครึ่ง และทำงานจนถึงหนึ่งทุ่ม ทำงานสัปดาห์ละหกวัน และแม้แต่วันอาทิตย์ที่เป็นวันหยุด พนักงานก็ยังต้องไปประชุมที่บ้านของผู้บริหาร
แซมนั้นทุ่มเทกับงานอย่างหนัก แม้แต่เวลาพักกลางวัน เขาก็มักจะไปสอดส่องร้านคู่แข่ง ดูว่าร้านคู่แข่งมีการบริหารงานแตกต่างจากเจซี เพนนีย์อย่างไร
ขณะทำงานที่เจซี เพนนีย์ แซมได้มีโอกาสพบกับ “เจมส์ แคช เพนนีย์ (James Cash Penney)” เจ้าของและผู้ก่อตั้งเจซี เพนนีย์
เจมส์ แคช เพนนีย์ (James Cash Penney)
เพนนีย์เป็นตำนานนักธุรกิจอเมริกันคนหนึ่ง โดยเขาได้ก่อตั้งบริษัทในปีค.ศ.1902 (พ.ศ.2445) โดยเริ่มจากร้านในไวโอมิงเพียงไม่กี่ร้าน ก่อนจะขยายเป็นเครือข่ายร้านค้าทั่วประเทศ
แซมเห็นเพนนีย์แพ็คของโดยใช้หนังยางให้น้อยที่สุด ทำให้แซมได้บทเรียนเรื่องการประหยัด โดยให้ประหยัดที่สุด แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย
แซมยังได้บทเรียนจากเพนนีย์อีก นั่นก็คือ “ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างถูกต้อง ช่วยเขาประหยัดเงิน แล้วเขาจะกลับมาอีก”
ร้านค้าของเจซี เพนนีย์นั้น ไม่ได้พยายามจะขายสินค้าในราคาที่สูงที่สุด หากแต่ร้านจะเน้นการขายในปริมาณมากและมีสินค้าหลากหลาย
ในช่วงที่แซมทำงานที่เจซี เพนนีย์ สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้เริ่มขึ้นในยุโรปและเอเชีย
ในปีค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) ได้มีการเกณฑ์ทหารในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) แซมจึงรู้ตัวว่าตนนั้นอาจจะถูกเรียกไปเกณฑ์ทหารได้ทุกเมื่อ
แซมได้ลาออกจากเจซี เพนนีย์และย้ายไปทำงานในโอคลาโฮมา
วันหนึ่ง แซมได้พบกับหญิงที่ชื่อ “เฮเลน ร็อบสัน (Helen Robson)”
เฮเลนนั้นเป็นบัณฑิตคนหนึ่ง และเธอก็มีเพื่อนคนเดียวกับแซม ทั้งคู่จึงสนิทสนมและพัฒนากลายเป็นความรัก
แต่ขณะที่ความรักกำลังสุกงอม แซมก็ถูกกองทัพเรียกตัวให้เข้าประจำการในปีค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) แต่ด้วยความที่ผลการตรวจร่างกายไม่ผ่าน เนื่องจากเขามีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ถึงแม้จะไม่ร้ายแรงมากแต่ก็ไม่สามารถออกรบได้ แซมจึงไม่ต้องไปรบ หากแต่ประจำการในสหรัฐอเมริกา
แซมต้องไปประจำการที่แคลิฟอร์เนีย ก่อนจะกลับมาแต่งงานกับเฮเลนในปีค.ศ.1943 (พ.ศ.2486)
แซมและเฮเลนในวันแต่งงาน
ตลอดสองปีหลังจากแต่งงาน แซมและเฮเลนต้องย้ายไปประจำฐานต่างๆ โดยหน้าที่ของแซมคือการรักษาความปลอดภัย ปกป้องฐานจากการโจมตีของศัตรู รวมทั้งดูแลวินัยทหาร อีกทั้งยังต้องปกป้องโรงงานผลิตเครื่องบินและอาวุธอีกด้วย
ค.ศ.1944 (พ.ศ.2487) ทั้งคู่ได้ให้กำเนิดลูกคนแรก นั่นคือ “ซามูเอล ร็อบสัน วอลตัน (Samuel Robson Walton)” หรือที่คนในครอบครัวเรียกว่า “ร็อบ (Rob)”
ซามูเอล ร็อบสัน วอลตัน (Samuel Robson Walton)
ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) สงครามโลกครั้งที่สองจบลง แซมจึงออกจากกองทัพ และเฮเลนก็คิดว่าควรจะปักหลักอยู่ที่ใดที่หนึ่งอย่างถาวร ไม่ต้องการย้ายไปไหนอีกแล้ว
แซมคิดว่าน่าจะถึงเวลานำความรู้ที่ได้จากการเรียนบริหารธุรกิจและประสบการณ์จากการทำงานที่เจซี เพนนีย์มาใช้ในการทำธุรกิจของตัวเอง และก็นับว่าเป็นจังหวะพอดี ทั้งคู่พบร้านค้าที่กำลังประกาศขายในอาร์แคนซัส
แซมได้ขอยืมเงินพ่อตา บวกกับเงินเก็บทั้งหมดของตนมาทำร้าน
วันที่แซมได้เป็นเจ้าของธุรกิจเองจริงๆ คือวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488)
ร้านค้าของแซมนั้น เป็นร้านในเครือของบริษัท “เบน แฟรงคลิน (Ben Franklin)”
เบน แฟรงคลินจะช่วยให้ผู้ที่ต้องการมีร้านเป็นของตัวเอง สามารถตั้งร้านของตนเองได้ โดยจะมีการเทรนนิ่ง ทำแผนธุรกิจให้ แต่ร้านค้าต้องซื้อของจากเบน แฟรงคลินเข้ามาขายในร้าน
ร้านเบน แฟรงคลินของแซมขายของเบ็ดเตล็ด มีทั้งจานชาม เครื่องครัว ลูกกวาด เครื่องเย็บผ้า ของเล่น อุปกรณ์ต่างๆ และของตกแต่งบ้าน
เรียกได้ว่าขายแทบทุกอย่าง
แซมนั้นมีความกะตือรือร้น หาทางที่จะขายสินค้าได้เยอะๆ โดยแซมได้พบว่า หากเขาไปซื้อสินค้าราคาถูกจากที่อื่นที่ไม่ใช่ของเบน แฟรงคลิน และนำมาขายในราคาถูกลงกว่าเดิมเล็กน้อย เขาจะสามารถขายได้ในปริมาณที่มากขึ้น
หลักคิดนี้ นั่นก็คือการขายในปริมาณมาก แต่ขายในราคาถูก เป็นระบบการขายที่แซมใช้ตลอดชีวิต
แซมยังมีความครีเอท โดยเขาได้ตั้งตู้ขายข้าวโพดคั่วหน้าร้าน และเมื่อคนได้กลิ่นหอมของข้าวโพดคั่ว ก็จะเดินตามมาจนถึงหน้าร้าน
ในขณะที่ร้านของแซมเริ่มจะขายดี แซมเริ่มจะงานยุ่ง แต่ครอบครัวของแซมก็ได้ขยายใหญ่ขึ้น โดยแซมมีลูกเพิ่มขึ้นมาอีกสามคน ซึ่งแซมก็ยุ่งกับงานและปล่อยให้เฮเลนดูแลลูกทั้งสี่
แซมคิดที่จะขยายสาขาร้านของตนไปยังเมืองอื่นๆ และเขาก็มักจะขับรถไปดูที่ๆ สนใจ และยังซื้อของเข้าร้านอีกด้วย
แต่การเดินทางไปแต่ละที่ก็ต้องใช้เวลานาน แซมจึงเริ่มจ้างเครื่องบินขนาดเล็กให้ขับพาเขาไปดูที่ต่างๆ
หลังจากผ่านไปห้าปี ร้านของแซมก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก เป็นร้านที่โด่งดังและขายดีที่สุดในละแวกนั้น
แต่โชคร้าย เจ้าของตึกที่แซมเช่าเปิดร้านนั้น เห็นว่าร้านของแซมขายดี จึงต้องการให้ลูกชายเข้าเทคโอเวอร์ร้านเบน แฟรงคลิน และปฏิเสธที่จะให้แซมเช่าตึกต่อไป
แซมนั้นเสียใจมาก หากแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ โดยแซมได้กล่าวว่า “นี่เป็นจุดตกต่ำในชีวิตธุรกิจของเขา”
แซมรู้สึกเหมือนว่าทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ศูนย์
แซมต้องหาที่ตั้งร้านใหม่ ซึ่งเขาก็ได้พบสถานที่ๆ จะตั้งร้านใหม่ในเมืองเบนตันวิลล์ รัฐอาร์คันซอ โดยในบริเวณนั้นมีร้านค้าอยู่แล้วสามร้าน หากแต่แซมก็ไม่กลัว
ร้านใหม่นี้ยังคงเป็นร้านในเครือของเบน แฟรงคลิน หากแต่แซมตั้งชื่อว่า “Walton’s 5&10”
แซมนั้นได้บทเรียนเรื่องค่าเช่าที่มาจากร้านเก่าแล้ว ดังนั้นคราวนี้ เขาจึงทำสัญญาเช่าตึกเป็นเวลา 99 ปี
ในยุค 50 (พ.ศ.2493-2502) ร้านค้าดูแตกต่างจากปัจจุบัน ลูกค้าจะไม่สามารถหยิบสินค้ามาดูได้ ต้องเรียกให้พนักงานหยิบให้ โดยสินค้าจะอยู่หลังเคาน์เตอร์
แต่แซมก็ได้ยินว่ามีร้านค้าอื่นได้ลองขายแบบให้ลูกค้าบริการตัวเอง แซมจึงเดินทางไปดูงานที่ร้านอื่น และเมื่อกลับมา เขาก็ทำให้ร้านของเขา เป็นร้านที่ลูกค้าบริการตนเองเช่นกัน
นอกจากนั้น แซมยังซื้อเครื่องบินเป็นครั้งแรกในปีค.ศ.1954 (พ.ศ.2497) และเรียนการขับเครื่องบินด้วยตนเอง โดยสาเหตุที่เขาซื้อเครื่องบินก็เพื่อจะขับไปดูร้าน
ไม่กี่ปีต่อมา แซมก็ได้ซื้อเครื่องบินลำใหญ่ขึ้น และการขับเครื่องบินไปร้านด้วยตนเอง ก็ได้กลายเป็นสิ่งที่แซมทำเป็นปกติ
การบินทำให้แซมใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น เขาสามารถเปิดร้านเพิ่มและบินไปดูแลร้านแต่ละสาขาได้ โดยในยุค 50 (พ.ศ.2493-2502) แซมได้เปิดร้านเพิ่มอีกหลายสาขา โดยแต่ละร้านจะอยู่ในเมืองเล็กๆ ในอาร์คันซอและรัฐใกล้เคียง
ไม่เพียงแต่แซมที่ทำงานหนัก หากแต่เฮเลนก็วุ่นกับการเลี้ยงดูลูกๆ และลูกๆ ของแซมเองก็มักจะมาช่วยงานที่ร้าน โดยกฎสำคัญของร้านคือ
“ลูกค้าถูกเสมอ”
เมื่อเข้าสู่ยุค 60 (พ.ศ.2503-2512) แซมก็เริ่มจะมีแนวคิดใหม่
แซมคิดว่าเขาสามารถทำราคาสินค้าให้ต่ำลงได้ด้วยการสร้างร้านให้ใหญ่ขึ้น ทำให้เขาสามารถขายสินค้าจำนวนมากให้คนจำนวนมาก และเขาก็สามารถขายในราคาถูกลงแต่ยังคงทำกำไร
แซมได้นำไอเดียนี้ไปเสนอกับผู้จัดการของเบน แฟรงคลิน หากแต่ผู้จัดการก็ไม่สนใจ แซมจึงคิดว่าถึงเวลาที่ต้องออกมาทำเองแล้ว
แซมได้ทำการหาที่ และพบที่ใหม่สำหรับทำร้าน อยู่ที่เมืองโรเจอร์ รัฐอาร์คันซอ
แซมได้กู้เงินจากธนาคาร และยืมเงินจากเพื่อนและครอบครัวมาใช้ในการตั้งร้านใหม่นี้ และตั้งชื่อร้านว่า “วอลมาร์ท (Walmart)”
วันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) วอลมาร์ทสาขาแรกเปิดทำการ
แซมทำราคาสินค้าให้ต่ำ และหาสินค้าหลากหลายมาจำหน่าย และเพียงแค่วันแรก ร้านของแซมก็เป็นที่นิยม มีคนมาต่อคิวเข้าไปซื้อของในวอลมาร์ทเป็นจำนวนมาก
ในไม่ช้า แซมก็ขยายสาขาวอลมาร์ท โดยเปิดสาขาวอลมาร์ทเพิ่มเรื่อยๆ และยอดขายก็เพิ่มขึ้นตลอด
บั๊ด น้องชายของแซมได้เข้ามาช่วยแซมในการเปิดสาขา และภายในสิ้นสุดยุค 60 (พ.ศ.2503-2512) แซมก็ได้เปิดวอลมาร์ทไปแล้ว 38 สาขา
ถึงแม้วอลมาร์ทจะเติบโตจนกลายเป็นบริษัท หากแต่แซมยังยืนยันที่จะมีส่วนร่วมในทุกส่วนการทำงาน โดยแซมจะแวะไปเยี่ยมแต่ละสาขาในทุกๆ ปี ตรวจสินค้าที่ขายอย่างละเอียด และแซมยังติดป้ายชื่อบนหน้าอก ไม่ต่างจากพนักงานคนอื่นๆ
แซมเรียกพนักงานของวอลมาร์ทว่า “เพื่อนร่วมงาน” โดยแซมกล่าวว่าพวกเขาไม่ใช่แค่พนักงาน แต่แซมต้องการให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของทีม
พนักงานวอลมาร์ทเรียกแซมว่า “คุณแซม”
แต่วอลมาร์ทก็ไม่ใช่ร้านค้าปลีกเพียงรายเดียวที่กำลังผงาดในตลาด ในยุค 60 (พ.ศ.2503-2512) บริษัทใหญ่ๆ ก็ได้เปิดร้านที่ขายสินค้าในราคาถูกและหลากหลาย
สำหรับแซม แซมมองว่าร้านค้าเหล่านั้นเป็นเหมือนทีมอื่นๆ ที่เขาต้องเอาชนะให้ได้ และในขณะที่ร้านค้าของบริษัทอื่นมุ่งเปิดร้านยังเมืองใหญ่ๆ แซมก็มุ่งไปยังเมืองเล็กๆ แทน
ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) วอลมาร์ทได้เปิดขายหุ้นเป็นครั้งแรก โดยครอบครัววอลตันยังคงเป็นเจ้าของหุ้นเกือบทั้งหมด แต่การขายหุ้นก็ทำให้แซมได้เงินมาเปิดสาขาของวอลมาร์ทเพิ่มมากขึ้น
ภายในปีค.ศ.1977 (พ.ศ.2520) แซมก็เปิดวอลมาร์ทไปแล้วถึง 190 สาขา และภายในปีค.ศ.1982 (พ.ศ.2525) ก็มีมากกว่า 500 สาขา
ดูเหมือนทุกอย่างกำลังไปได้ดี หากแต่ในปีนี้เอง แซมก็ตรวจพบว่าตนเป็นมะเร็ง แต่แซมก็ไม่ยอมแพ้หรือเสียกำลังใจ
แซมนั้นเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ฝีมือดี รับการรักษาและยาที่ทันสมัย และในไม่ช้า แซมก็มีอาการดีขึ้นอย่างมาก
ผู้คนในเบนตันวิลล์ต่างตื่นเต้นดีใจที่แซมหายดี และในวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ.1983 (พ.ศ.2526) เมืองเบนตันวิลล์ก็จัดงาน “ขอบคุณแซมและเฮเลน วอลตัน (Sam and Helen Walton Appreciation Day)”
ประชาชนจัดงานให้เพื่อขอบคุณครอบครัววอลตัน เนื่องจากครอบครัววอลตันได้เปลี่ยนเมืองเล็กๆ แห่งนี้ให้ดีขึ้น คึกคักขึ้น
ผู้คนจากทั่วประเทศส่งจดหมายมาแสดงความยินดีกับแซม แม้แต่ประธานาธิบดี “โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan)” ก็ยังโทรศัพท์มาแสดงความยินดีกับแซมและเฮเลน
แซมนั้นสนุกกับงานที่ประชาชนจัดให้ หากแต่เขาก็รีบกลับไปทำงาน โดยแซมนั้นมักจะท้าทายลูกน้องเสมอ
ต้นปีค.ศ.1983 (พ.ศ.2526) แซมท้าทายลูกน้อง โดยเขากล่าวว่าหากกำไรของวอลมาร์ทโตขึ้นถึงแปดเปอร์เซ็นต์ เขาจะเต้นฮูล่ากลางวอลล์สตรีทในนิวยอร์ก
ปรากฎว่ากำไรของวอลมาร์ทโตถึงแปดเปอร์เซ็นต์จริงๆ และในวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ.1984 (พ.ศ.2527) แซมก็ได้ใส่กระโปรงชาวเกาะ มงกุฎดอกไม้ และเต้นฮูล่ากลางวอลล์สตรีทจริงๆ
กำไรที่มากขึ้น ทำให้วอลมาร์ทเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และภายในปีค.ศ.1987 (พ.ศ.2530) วอลมาร์ทก็มีมากกว่า 1,000 สาขา
แต่หากย้อนกลับไปในปีค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) ก็ได้มีสิ่งที่น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นกับครอบครัววอลตัน
นั่นก็เพราะนิตยสาร Forbes จัดอันดับให้แซมเป็นบุคคลที่รวยเป็นอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา โดยหุ้นที่แซมถือครองในวอลมาร์ทมีมูลค่ามากกว่า 2,800 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 84,000 ล้านบาท) ซึ่งมากกว่าทรัพย์สินของชาวอเมริกันคนอื่นๆ ในเวลานั้น
ในไม่ช้า แซมก็กลายเป็นคนดังระดับโลก มีแต่คนอยากทราบเรื่องราวของเขา หากแต่แซมก็รักษาความเป็นส่วนตัว สิ่งที่เขาสนใจคือการดูแลครอบครัว ร้าน เพื่อนร่วมงาน มีเพียงเท่านี้
นอกจากนั้น แซมยังใช้ชีวิตเรียบง่าย เขายังคงขับรถคันเก่า เวลาเดินทางไปติดต่อธุรกิจ เขาก็ยังคงพักร่วมห้องกับคนอื่นเพื่อประหยัดค่าห้อง อีกทั้งเขายังขับเครื่องบินด้วยตนเอง
แซมมุ่งความสนใจไปยังการทำให้วอลมาร์ทเป็นเครือข่ายร้านค้าที่ใหญ่และดีที่สุดในประเทศ และวอลมาร์ทก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และภายในปีค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) วอลมาร์ทก็มีสาขามากกว่า 1,500 สาขา
เดือนมกราคม ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533) แซมก็ได้ประกาศข่าวร้ายให้พนักงานทราบ
เขาป่วยด้วยมะเร็งอีกครั้ง คราวนี้เป็นที่กระดูก
แซมกล่าวว่าเขากำลังเข้ารับการรักษาและหวังที่จะกลับไปเยี่ยมพนักงานทุกคนโดยเร็ว
ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533) แซมทำได้สำเร็จ วอลมาร์ทเอาชนะร้านค้าปลีกอื่นๆ ขาดลอย กลายเป็นเครือข่ายร้านค้าที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา
แต่ในปีค.ศ.1991 (พ.ศ.2534) อาการป่วยมะเร็งของแซมก็แย่ลง ทำให้แซมต้องเพลาๆ การทำงาน ไม่สามารถไปเยี่ยมร้านค้าแต่ละแห่งได้ หากแต่แซมก็ใช้เวลากับครอบครัว โดยในเวลานี้ แซมก็มีหลานมากถึง 10 คน
แซมและเฮเลนเริ่มทุ่มเทกับการกุศล โดยครอบครัววอลตันได้ช่วยสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ให้ทุนการศึกษา และบริจาคเงินอีกจำนวนมาก
วันที่ 17 มีนาคม ค.ศ.1992 (พ.ศ.2535) ประธานาธิบดี “จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช (George H.W. Bush)” เดินทางมาอาร์คันซอเพื่อมอบเหรียญเกียรติยศให้แซม
สามสัปดาห์ต่อมา 5 เมษายน ค.ศ.1992 (พ.ศ.2535) แซม วอลตันเสียชีวิต โดยในเวลาที่แซมเสียชีวิต เขาและครอบครัวมีทรัพย์สินกว่า 23,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 690,000 ล้านบาท) มีร้านวอลมาร์ททั่วสหรัฐอเมริกาจำนวน 1,735 ร้าน ในเม็กซิโกอีกสองร้าน
เฮเลนเสียชีวิตในปีค.ศ.2007 (พ.ศ.2550) โดยครอบครัววอลตันก็ยังถือหุ้นวอลมาร์ทเป็นจำนวนมาก
ค.ศ.2018 (พ.ศ.2561) ครอบครัววอลตันมีทรัพย์สินรวมกันกว่า 163 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.890 ล้านล้านบาท) โดยลูกๆ ของแซมต่างติดอันดับคนรวยในนิตยสาร Forbes
ภายในสิ้นปีค.ศ.2018 (พ.ศ.2561) วอลมาร์ทมีสาขามากกว่า 11,000 ร้าน และยังขยายสาขาไปนอกสหรัฐอเมริกาอีก 27 ประเทศ มีพนักงานในสหรัฐอเมริกากว่า 1.5 ล้านคน นอกสหรัฐอเมริกาอีก 700,000 คน
ความสำเร็จเหล่านี้มาจากวิสัยทัศน์ของชายผู้เดียว
นั่นคือ “แซม วอลตัน”
เขาสร้างอาณาจักรค้าปลีกขนาดมหึมาโดยยึดหลักการที่ว่า “ขายสินค้าที่จำเป็นต่อผู้คนในราคาที่ต่ำที่สุดที่จะเป็นไปได้ และปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างถูกต้อง”
และในทุกวันนี้ ชื่อของแซม วอลตัน ก็ยังคงเป็นบทเรียนธุรกิจที่หลายๆ คนยึดถือเป็นต้นแบบ
โฆษณา