13 ก.ย. 2020 เวลา 09:19 • ปรัชญา
๘. อันเนื่องกับทางไท (บทความ) (บทคัดย่อที่๑-๑๒)
วัดเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชนและเป็นแหล่งกลางในทางให้การศึกษาถ่ายทอดศิลปะวิทยาการ และธรรมะแก่ผู้คนมาทุกยุคสมัย
วัดเป็นแหล่งเพาะมหาบุรุษผู้สืบสายธารแห่งความรู้แจ้งประจักษ์ อันอาจแสดงออกในศิลปกรรมและกิจกรรมอื่น ๆ
ในอดีตนั้นงานศิลปกรรมล้ำค่ามักถูกเนรมิตสร้างสรรค์โดยพระภิกษุ หรือผู้เคยผ่านการบวช เรียนรู้ธรรมวินัยของสงฆ์ รู้หลักภาวนาอีกทั้งมีใจรักการช่าง
วิถีชีวิตของบรรพชิตนั้น แม้ส่วนหลักคือกิจภาวนาโดยตรง แต่พร้อมกันนั้นก็มิได้ละเลยการสืบสานจรรโลงพระพุทธศาสนาโดยการสร้างหรือสนับสนุนศิลปกรรมในแทบทุกสาขา พระสงฆ์จึงมีความรู้ความเข้าใจในสุนทรียภาพได้อย่างดี
วิถีชีวิตของนักบวชคือวิถีทางแห่งการรู้แจ้งเห็นจริงทั้งทางโลกและทางธรรม พระสงฆ์ในอดีตเป็นกลุ่มบุคคลที่สร้างฐานสุนทรีย์และประสานช่องว่างระหว่างชนชั้นได้อย่างมีประสิทธิผล จากชีวิตที่อิสระจากอามิสและถือความรักความกรุณาเป็นเครื่องนำทาง
แม้ชุมชนจะมีลักษณะทางชนชั้น แต่ร่วมความรู้สึกสุนทรีย์ในศิลปกรรมระดับเดียวกัน ทั้งมีหุ้นส่วนชีวิตต่อกันและกันในศรัทธาต่อพุทธธรรม
แบบอย่างศิลปะชั้นสูงไม่ได้แบ่งแยกผู้คนออกแต่กลับรวมขวัญเข้าสู่เอกภาพด้วยศิลปกรรมสนองศรัทธาในพระศาสนา
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
โฆษณา