13 ก.ย. 2020 เวลา 21:39 • ปรัชญา
๙. อันเนื่องกับทางไท (บทคัดย่อที่ ๑-๑๒)
ช่วงเฉื่อยนิ่งทางวัฒนธรรม พร้อมกับกระแสบริโภคนิยมเข้มข้น วิถีชีวิตของพระสงฆ์เริ่มหันเห กิจภาวนาในตนไม่มีกำลังพอที่จะต้านกระแสโลก ประกอบกับศูนย์รวมทางวัฒนธรรมเปลี่ยนจากวัดไปสู่หน่วยงานของรัฐ
บทบาทพระสงฆ์ถูกลดลง และเริ่มไม่เป็นตัวของตัวเอง โอนเอนเข้าอิงทางโลกย์มากขึ้น ยิ่งมีระบบสมณะศักดิ์เกิดขึ้นด้วยแล้ว เพศภาวะของผู้อยู่เหนืออามิสค่อย ๆ กลายลักษณะเป็นขุนนางมากกว่าผู้รักสันโดษและติดดิน ไม่อาจสะท้อนภูมิปัญญาแห่งองค์รวมได้ นอกจากความรู้ในระดับเดียวกับผู้นำทางปัญญาทั่วไป และอาจจะถึงกับล้าหลังตามไม่ทันเอาทีเดียว
เนื่องแต่สภาพสังคมเปลี่ยนไป กิจภาวนาและการสร้างสรรค์ศิลปะจรรโลงพระศาสนาหมดความจำเป็นลง สิ่งจำเป็นกลับเป็นศาสนพิธีอันโอ่อ่า ไร้เสน่ห์ ไร้ความหมาย และไม่คงทนต่อการตรวจสอบของคนรุ่นใหม่
กระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะตกเป็นภาระของสถาปนิก ศิลปินที่มีพื้นความรู้แปลกแยกจากรากเหง้าวัฒนธรรมเดิม ไม่รู้ถ่องแท้และไม่ลึกพอเพียง
ครั้นความต้องการจะสร้างสรรค์ศิลปะในรูปแบบใหม่แม้ตระหนักที่จะสืบสานคุณค่าเก่าไว้ ก็เกิดการประยุกต์แบบแกน ๆ ที่ผิวเปลือก ทั้งต่อสถาปัตยกรรม ดนตรี จิตรกรรม ประติมากรรม และนาฏศิลป์ ฯลฯ
ส่วนพระสงฆ์ผู้ขาดความรู้ความเข้าใจในสุนทรียภาพอาศัยเพียงศรัทธาและทุนทรัพย์ของทายกทายิกา สร้างศิลปกรรมลอกเลียนของเก่า หรือไม่ก็สร้างใหม่โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ปรากฏผลเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับความงาม นั่นคือสภาพอัปลักษณ์ เป็นอนุสรณ์แห่งความล้มสลายทางภูมิปัญญาและสุนทรียภาพ
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
ขอบคุณภาพ: อินเทอร์เน็ต
โฆษณา