14 ก.ย. 2020 เวลา 21:49 • ปรัชญา
๑๑. อันเนื่องกับทางไท (บทคัดย่อที่ ๑-๑๒)
อนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจัน ควรเป็นสิ่งสะท้อนคุณธรรมความกล้าหาญของกลุ่มวีรชนผู้รักอิสรภาพ ไม่ใช่รูปลักษณ์ของผีโหดถมึงทึงกู่ตะโกนด้วยเคียดแค้นดังที่ปรากฏอยู่
 
สิ่งที่สมควรในแรกเริ่มนั้นก็คือ การวางรูปแบบให้งดงาม เรียบง่าย และลางเลือน เพียงเพื่อให้ได้รำลึกถึงความกล้าหาญและความดี ไม่ใช่ความสะใจที่ได้ฆ่าพม่า
เนติธรรมเนียมแต่ครั้งอดีตของไทยมีอยู่ว่า เมื่อพระมหากษัตริย์รบศึกได้ชัยชนะที่ใดแล้ว อาจจะทรงรับสั่งให้สร้างพระสถูปหรือเจดีย์ขึ้นบูชาธรรม เป็นอนุสรณ์ยืนยันว่าการสู้รบนั้นเพื่อปกป้องดินแดนและพระพุทธศาสนา เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม
อีกทั้งยังเป็นอนุสติเตือนให้สลดในการทำศึกสงครามอันนำหายนะมาสู่ชีวิตด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่ได้ทำเพื่อฝากฝังรอยแค้น
สถูปหรือเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพแม้ได้มาด้วยสงครามก็ตาม
ไทไม่มีประตูชัยตามอย่างประเทศอื่นโดยเฉพาะในยุโรป แต่เราเคยมีสถูปและเจติยสถาน(เจดีย์) ไม่ใช่เพื่ออวดอหังการ์ของชาติ
ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะทำให้กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ในภูมิภาค จะต้องประดับประดา ตกแต่งด้วยประติมากรรมใหญ่ ๆ ทุกหัวถนน เพียงเพื่อให้ดูคล้ายโรม ฟลอเรนซ์ หรือปารีส
เราน่าจะสืบสานความหมายแห่งอวิหิงสาธรรม ทั้งอาจพัฒนารูปลักษณ์ของสิ่งสุนทรนี้ได้กว้างไกล รูปลักษณ์ที่เป็นทั้งประติมากรรมและสถาปัตยกรรมแทนความดีความงาม และความจริงใจได้อย่างเต็มภาคภูมิ แม้ในยุคสมัยข่าวสารอันมีพลวัตสูงก็ตาม
อันเนื่องกับทางไท (พุทธิปัญญาสู่งานศิลป์ มรดกของแผ่นดินไทย ที่คนไทยทุกคนควรรู้)
โฆษณา